วงดนตรี "สุนทราภรณ์" ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2485
โดยก่อนหน้านั้น 3 ปี เคยรวมตัวกันในชื่อวง "ไทยฟิล์ม" เพื่อบรรเลงเพลงประกอบหนังให้กับบริษัทไทยฟิล์มภาพยนตร์
มีเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง ทำหน้าที่เป่าแซกโซโฟน มีสมาชิกในวงรวม
12 คน
เมื่อกิจการของบริษัทไทยฟิล์มยุบตัวเองลงเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
(2482) เป็นจังหวะเดียวกับที่กรมประชาสัมพันธ์ต้องการตั้งวงดนตรีประจำกรมขึ้น
วิลาศ โอสถานนท์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์คนแรก จึงชวนครูเอื้อมาเป็นหัวหน้าวง
ซึ่งครูเอื้อได้ตอบตกลงพร้อมชวนนักดนตรีทั้งทีมของไทยฟิล์มเข้ามาทำงานประจำด้วยกัน
พร้อมกับเปลี่ยนหน้าที่ของตัวเองจากการเป่าแซกโซโฟนมาเล่นไวโอลิน และใช้ไวโอลินในการคุมวงตั้งแต่นั้นมาจนถึงแก่กรรม
ในยุค 30-40 ปีก่อน วงดนตรีสุนทราภรณ์มีงานบรรเลงแสดงตามโรงมหรสพ อาทิ
โอเดียน และพัฒนาการ เป็นการเล่นสลับการฉายภาพยนตร์ซึ่งมีฉายน้อย งานบอลล์ทุกงานในสมัยนั้นจนมีชื่อว่าเป็นวงดนตรีที่ดังและมีงานมากที่สุด
บางวันมีถึง 3-4 งาน ขนาดต้องแบ่งสมาชิกในวงที่มีถึง 20-30 คน และหาคนจากวงอื่นมาเสริมให้ครบวงจรเพื่อไปแสดงตามงานต่างๆ
และออกอากาศตามสถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์ จนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
คำว่า "สุนทราภรณ์" นอกจากจะเป็นชื่อวงดนตรียังเป็นคำที่เกิดจากความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง
เพราะเกิดจากการสนธิระหว่างคำว่า "สุนทร" อันเป็นคำแรกของนามสกุลสุนทรสนาน
กับคำว่า "อาภรณ์" ชื่อภรรยาของครูเอื้อ ที่ต้องใช้เวลากว่า 10
ปีจึงจะสมหวังในการครองคู่ และครูเอื้อยังใช้เป็นนามแฝงในการขับร้องเพลง
ส่วนชื่อและสกุลจริงจะใช้สำหรับแต่งทำนองเพลงเพียงอย่างเดียว
โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี
นอกจากเสียงเพลงของสุนทราภรณ์ที่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน สิ่งที่ครูเอื้อสร้างไว้ยังมีในส่วนของโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี
ซึ่งเปิดกิจการเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2512 อันเป็นวันที่สุนทราภรณ์มีอายุครบ
30 ปี ตั้งอยู่ในรั้วบ้านของครูเอื้อ ในซอยสุจริต 2 ถนนพระราม 5 ที่ยังดำเนินงานอยู่จนถึงปัจจุบัน
มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยส่งเสริมและดึงให้เยาวชนที่รักดนตรีได้เรียนรู้ทฤษฎีและหลักปฏิบัติตามตำราโน้ตสากลที่ถูกต้อง
ซึ่งจะทำให้นักร้องมีความรู้เกี่ยวกับการร้องเพลงที่ได้มาตรฐานทั้งยังเป็นการเทรนคนเพื่อสืบทอดแนวเพลงสุนทราภรณ์ต่อจากคนรุ่นเก่า
ที่นับวันจะต้องแก่ตัวลง
อติพร เสนะวงศ์ กล่าวว่า สภาพของโรงเรียนยังคงดำเนินงานตามปกติ โดยอาศัยเงินค่าบำรุงบางส่วนจากเงินค่าลิขสิทธิ์เพลง
เพราะรายได้เฉพาะของโรงเรียนมีไม่มาก และนับจากวันเปิดกิจการจนถึงปี 2538
โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรีมีนักเรียนที่ผ่านการฝึกอบรมทั้งการขับร้องและการดนตรีจำนวนกว่า
3,044 คน
"เครื่องดนตรีมีคนมาฝึกน้อยมาก ที่ยังดีอยู่ก็คือ ด้านขับร้อง ซึ่งก็มีสภาพที่แตกต่างจากอดีตอย่างเห็นได้ชัด
คนสมัยใหม่มีความมานะบากบั่นในการฝึกเป็นนักร้องนักดนตรีน้อยลงมาก บางคนฝึกได้เพลงสองเพลง
พอมีความรู้สึกว่าหากินได้ก็ไป ที่จะตั้งหน้าตั้งตาเอาดีจริงๆ อย่างสมัยก่อนมีน้อย"
ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนสอนดนตรีที่มีเปิดสอนกันมาก
ทั้งเครื่องดนตรีสากลและดนตรีไทย โรงเรียนสอนขับร้องเองก็มีเปิดตัวเพิ่มขึ้นๆ
เพราะนักร้องเป็นอาชีพที่ยังมีคนใฝ่ฝันจะเป็นอีกมากมาย และคนที่จะมาเรียนร้องเพลงกับโรงเรียนสุนทราภรณ์
แน่นอนต้องเป็นผู้ที่รักในแนวเพลงของสุนทราภรณ์
"การเทรนนักร้อง เราจะเทรนเฉพาะในแนวของสุนทราภรณ์เท่านั้น เป็นลักษณะของการสืบทอดเพราะสุนทราภรณ์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการร้องและบรรเลง
ใครที่ต้องการจะร้องเพลงสุนทราภรณ์ได้ถูกต้อง ต้องได้รับการฝึกฝน ส่วนใหญ่ถ้าจะร้องเอง
หัดเอง ยากที่จะออกมาได้ดีเพราะเพลงบังคับ" อติพรกล่าวถึงความสำคัญที่จะต้องมีโรงเรียนสอนการดนตรีในแนวสุนทราภรณ์
นักเรียนดนตรีและขับร้องของโรงเรียนในปี 2538 มีประมาณ 10-20 คน ค่าสมัครเรียนคนละ
100 บาท ค่าเรียนเดือนละ 1,500 บาท โดยเปิดสอนเฉพาะช่วง 13.00-15.00 น. ทุกวันเสาร์-อาทิตย์
มีครูสมคิด เกษมศรี เป็นผู้สอน
ครูสมคิด เกษมศรี เป็นทั้งนักร้องและนักดนตรีประจำวง ทำหน้าที่เป็นครูสอนต่อเพลงและดนตรี
มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงเรียนและเป็นครูคนเดียวที่เหลืออยู่จากครูชุดแรกที่มีทั้งหมด
8 คน
การเรียนเริ่มจากฝึกการร้องแล้วให้ออกงานช่วงแรกจะเป็นการร้องหมู่เพื่อพัฒนาให้เสียงเข้าที่เมื่อร้องหมู่นาน
พอที่เสียงเข้าที่จึงจะเริ่มแยกออกมาร้องเพลงเดี่ยว
อาจจะด้วยการเคี่ยวกรำในการฝึกฝน ทำให้วงดนตรีสุนทราภรณ์ยังคงเป็นดนตรีวงเดียวในเมืองไทยที่มีมาตรฐาน
เอกลักษณ์และน้ำเสียงการขับร้องที่เป็นของตัวเอง อย่างที่จะหาวงไหนเทียบยาก
แม้จะมีวงดนตรีเกิดขึ้นอีกมาก ทั้งนี้ย่อมปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่า ส่วนสำคัญที่ทำให้สุนทราภรณ์ยืนหยัดมาถึงจุดนี้ได้
คือความสามารถและผลงานที่ฝากไว้ของครูเอื้อนั่นเอง