งานเพลงของเอื้อ สุนทรสนาน นับแต่เข้ารับราชการเมื่อ พ.ศ.2481 มีทั้งเกิขึ้นในฐานะข้าราชการและความพึงพอใจส่วนตัว
ซึ่งอติพร เสนะวงศ์ ทายาทคนเดียวของครูเอื้อ เล่าว่า การแต่งเพลงของครูเอื้อเกิดขึ้นได้ไม่เลือกเวลาและสถานที่
นึกจะเขียนที่ไหนเมื่อไรก็ได้ทำให้มีเพลงที่ครูเอื้อแต่งขึ้นไม่ต่ำกว่า 2,000
เพลง โดยสามารถแยกหมวดหมู่ของเพลงได้ถึง 11 ประเภทดังนี้
1. เพลงปลุกใจและสดุดี เกิดขึ้นในช่วงแรกของชีวิตราชการ (พ.ศ.2481-2483)
เพื่อรับใช้นโยบายรัฐบาลยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เช่น เพลงสดุดีชาติไทย
ดอกไม้ของชาติ ฯลฯ
2. เพลงสถาบันต่างๆ อาทิ สถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น เพลงราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น
เพลงมหาวิทยาลัย เช่น เพลงของ ม.ธรรมศาสตร์ เพลงขวัญโดม โดมในดวงใจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ลาแล้วจามจุรี จุฬาแซมบ้า หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชน ฯลฯ รวมเพลงสถาบันต่างๆ
แล้วมีถึง 300 เพลง
3. เพลงจากวรรณคดี เช่น เพลงดำเนินทราย จากเรื่องลิลิตพระลอ เพลงสกุนตลา
ฯลฯ
4. เพลงเยาวชน เช่น เพลงหน้าที่เด็ก มาร์ชเยาวชนชาติไทย ตาอินกะตานา ฯลฯ
5. เพลงเทศกาลและประเพณี เป็นเพลงประภทที่ตลาดต้องการ เช่น เพลงวันเพ็ญเดือนสิบสอง
ลอยกระทง สวัสดีปีใหม่ เก่าไปใหม่มา ฯลฯ ซึ่งโดยมากเป็นจังหวะรำวงที่ทำให้นักวิชาการและนักแต่งเพลงทั่วไปยกย่องครูเอื้อว่าเป็นผู้มีอัจฉริยะพิเศษในการแต่งเพลงจังหวะนี้
6. เพลงชาวนาและชาวประมง เช่น เพลงเกี่ยวข้าว ชาวทะเล กสิกรไทย ฯลฯ ซึ่งแต่งในสไตล์เพลงลูกกรุงเพื่อเลี่ยงจากประเภทเพลงลูกทุ่งอันเป็นทำนองนิยมของเพลงเกี่ยวข้าวกับชาวนาและชาวประมง
โดยแต่งจังหวะรำวง
7. เพลงคติธรรมและปรัชญาชีวิต เช่น เพลงกังหันต้องลม ความหมุนเวียน เย็นลมว่าว
ละครชีวิต ฯลฯ เป็นเพลงประเภทที่แต่งไว้ไม่มากเพราะต้องอาศัยผู้แต่งคำร้องที่เข้าใจถึงปรัชญาชีวิตและพุทธปรัชญาที่หาไม่ค่อยได้
8. เพลงยกย่องผู้หญิงและชมธรรมชาติ เพลงทั้งสองประเภทนี้ เกิดขึ้นร่วมสมัยกับนโยบายของรัฐบาลจอมพล
ป. พิบูลสงคราม (2481-2487) เพื่อยกย่องหญิงไทยให้รักศักดิ์ศรี พร้อมกับส่งเสริมให้มีเพลงที่บรรยายความงามตามธรรมชาติของแผ่นดินไทย
เพื่อให้คนไทยรักและหวงแหนแผ่นดิน เช่น เพลงดอกไม้ของชาติ ชีวิตหญิง ดอกไม้เมืองเหนือ
ภูกระดึง เกาะลอย ฯลฯ
9. เพลงความรักและพิศวาส เป็นเพลงแต่งโดยความรู้สึกที่หลั่งไหลจากอารมณ์
ความฝันผสมกับอัจริยะของครูเอื้อ ทำให้มีปริมาณเพลงมากกว่าประเภทอื่น มีทั้งเพลงร้องเดี่ยวชายและหญิง
เพลงคู่ เช่น เพลงอุษาสวาท เพลงขอให้เหมือนเดิม ที่รู้จักกันดีแม้ในยุคปัจจุบัน
ซึ่งทั้ง 2 เพลงครูเอื้อเป็นผู้ขับร้องเองด้วย
10. เพลงสะท้อนสังคม เป็นประเภทเพลงที่มีปริมาณน้อยแต่มากกว่าเพลงเยาวชน
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพลงที่เกิดขึ้นตามหน้าที่ในฐานะข้าราชการ แต่ก็มีเพลงที่เด่นและได้รับความนิยมทุกสมัย
เช่น เพลงยามจน ทาสชีวิต สวัสดีบางกอก ข้างขึ้นเดือนหงาย คนเหมือนกัน ฯลฯ
11. เพลงประกอบละคร รีวิว หรือละครเพลงสั้นๆ และภาพยนตร์ ที่ได้รับความนิยมสูงสุด
คือเพลง จุฬาตรีคูณ ในละครเรื่องจุฬาตรีคูณ