แม้เรื่องลิขสิทธิ์จะเพิ่งตื่นตัวเมื่อไม่นานมานี้ แต่สำหรับ "สุนทราภรณ์"
เรื่องของลิขสิทธิ์กลับกลายเป็นปกติธรรมดามากว่าครึ่งศตวรรษ แตกต่างจากคนในวงการเพลงทั่วไป
และรายได้จากค่าลิขสิทธิ์นี้เอง เป็นน้ำหล่อเลี้ยให้ชื่อของ "สุนทราภรณ์"
ยั่งยืนและยังมีผลงานแพร่หลายในวงการจนทุกวันนี้
แม้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ที่เพิ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม
2538 จะส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องในวงการเพลงทั้งในแง่บวกและลบ อาทิ การเพิ่มรายจ่ายเกี่ยวกับการเผยแพร่
หรือในทางตรงกันข้ามการมีรายได้เพิ่มจากการเผยแพร่ แต่สิ่งเหล่านี้แทบไม่มีผลใดๆ
เลยต่อลิขสิทธิ์เพลงของสุนทราภรณ์
เพลงของสุนทราภรณ์เป็นตัวอย่างอันดีของการจัดการความแน่ชัดในเรื่องลิขสิทธิ์ที่เห็นเด่นชัด
แม้จะเป็นเพลงที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นในยุคที่ผ่านมาแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ ในขณะที่ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เพลงของคนรุ่นใหม่มีให้เห็นกันประปรายเสมอๆ
และโดยมากมักจะเกิดจากความไม่แน่ชัดของข้อสัญญา
หรือจะเป็นอย่างคำพูดที่ว่าเพราะศิลปินส่วนใหญ่มักมีอารมณ์เพ้อฝัน เมื่อได้สิ่งที่ตนพอใจก็ถือว่าเพียงพอแล้ว
บางรายขอเพียงให้ได้ร้องเพลงมีเทปที่บันทึกเสียงร้องเป็นของตัวเอง เรียกได้ว่าแค่ให้มีโอกาสทำงานก็ไม่เกี่ยงงอนเรื่องผลประโยชน์
และส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักร้องส่วนใหญ่มีความรู้น้อย โดยเฉพาะศิลปินสมัยเก่าด้วยแล้ว
เรื่องผลประโยชน์จะเป็นเรื่องที่นึกถึงกันเป็นเรื่องสุดท้าย ผิดกับพ่อค้าที่นึกถึงประโยชน์และผลกำไรเป็นอันดับแรก
ตัวอย่างกรณีเพลงของสุรพล สมบัติเจริญ ซึ่งเคยเกิดปัญหาว่าลิขสิทธิ์จะตกแก่ใคร
เมื่อผู้สร้างสรรค์ไม่บันทึกไว้แน่นอน หรือการที่ค่ายเทปต้นกำเนิดของนักร้องดังหลายราย
นำเทปกลับมาอัดขายใหม่เมื่อนักร้องนั้นมีชื่อเสียงล้วนเป็นนามยอกอกที่ผู้สร้างสรรค์งานได้แต่มองดูโดยไม่อาจจะทำอะไรได้เพราะ
ความรอบคอบที่ไม่เคยมีมาก่อนหน้านั้น
อติพร เสนะวงศ์ ผู้ถือลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดของสุนทราภรณ์กล่าวว่า ลิขสิทธิ์เพลงของสุนทราภรณ์เป็นลิขสิทธิ์เดียวที่อยู่รวมกันไม่ต่ำกว่า
2,000 เพลง ที่ครูเอื้อเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นโดยไม่นับรวมในส่วนของเพลงที่แต่งให้กับหน่วยงานราชการ
หรือสถาบันต่างๆ และยังเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์เพลงมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลิขสิทธิ์ที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย
นอกจากนี้ลิขสิทธิ์เพลงของสุนทราภรณ์ถือได้ว่าเป็นลิขสิทธิ์เดียวที่ไม่มีการซื้อขาย
แต่สืบทอดกันมาตลอด โดยครูเอื้อได้ทำลิขสิทธิ์เป็นมรดกให้กับภรรยา "อาภรณ์
สุนทรสนาน" และอติพร ซึ่งเป็นลูกสาวคนเดียว เพราะเชื่อว่าภรรยาและลูกเท่านั้นจะเป็นผู้ปกป้องชื่อเสียงและดูแลสิ่งที่รักไว้ได้ดีที่สุดแต่หากปล่อยไว้ลอยๆ
ก็คงจะถูกใครนำไปใช้อย่างไรก็ได้
"การจัดการลิขสิทธิ์เนื่องจากคุณพ่อเป็นคนที่รอบคอบ ตั้งแต่สมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่
ท่านจะทำสัญญาให้เช่าลิขสิทธิ์กับใครก็จะใช้ทนายคือ สิงห์โต ประไพพาณิชย์
และชมพู อรรถจินดา เป็นผู้ดูแลตลอด เรียกได้ว่าเป็นศิลปินที่ค่อนข้างมีความรู้ด้านกฎหมายมากพอควร
และสัญญาทุกฉบับที่ทำก็จะทำโดยทนายความเป็นผู้ดำเนินการ"
ลิขสิทธิ์เพลงนอกเหนือจากที่เป็นมรดก ยังมีในส่วนของเพลงปลุกใจ ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์จะเป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์
เช่นเดียวกับเพลงที่เกี่ยวกับราชการทั้งหมด และเพลงของสถาบันต่างๆ ส่วนเพลงรักหวานซึ้งทั่วไป
เป็นลิขสิทธิ์ของทายาทซึ่งครูเอื้อแยกไว้ชัดเจน รวมถึงเพลงเฉพาะกาลอื่นๆ
ด้วย เช่น เพลงงานแต่ง งานขึ้นบ้านใหม่ งานวันเกิด
"อาจจะมีคนไม่รู้แล้วพูดกันไม่ว่ากรมประชาสัมพันธ์จะได้ลิขสิทธิ์เพลงรัก
เพราะท่านแต่งในช่วงที่รับราชการ แต่การแต่งเพลงนั้นๆ ไม่ใช่แต่งเพราะได้รับคำสั่งให้แต่งทั้งหมด
เป็นไปไม่ได้ที่กรมประชาสัมพันธ์จะเป็นสั่งให้แต่งทั้ง 2,000 กว่าเพลง จากประสบการณ์ที่เห็น
ท่านคิดแต่งเพลงเองถึง 90% หรือแทบจะ 99% เป็นความคิดของครูเอื้อเองทั้งนั้นเพราะท่านเป็นคนที่แต่งเพลงได้ทุกเวลา
ทุกสถานที่" อติพรกล่าวถึงความแน่ชัดของลิขสิทธิ์เพลงในแต่ละส่วน
แม้เพลงของสุนทราภรณ์จะมีเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แน่ชัดและรู้จักกันทั่วในวงการเพลง
แต่ก็ยังหนีไม่พ้นการถูกละเมิดลิขสิทธิ์อย่างโจ่งแจ้ง
"ที่ผ่านมาถูกละเมิดลิขสิทธิ์ตลอดเวลาและค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นคนที่เรียกว่าลูบหน้าปะจมูก
รู้จักกันแต่ไม่ขออนุญาตให้ถูกต้อง เล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ได้เอาความโดยถือคติที่ครูเอื้อเคยเปรียบไว้ว่าเหมือนตักน้ำรดหัวหมา
ถ้าหมามันสะบัดไปมา ดีไม่ดีเราก็เปียกด้วย แต่ถ้ามีการละเมิดที่ค่อนข้างชัด
เช่น ทำเทป ก็ต้องฟ้องร้องกัน ปีหนึ่งก็มีประมาณ 2-3 ราย ซึ่งก็ไม่มีผลอะไรมากเหมือนเป็นการเตือน"
อติพรกล่าวถึงวิธีการจัดการกับผู้ละเมิดลิขสิทธ์เพลงสุนทราภรณ์ที่ผ่านๆ มา
ค่าลิขสิทธิ์เพลง น้ำเลี้ยงสุนทราภรณ์
กฎหมายลิขสิทธิ์ที่ออกมารองรับและปกป้องสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์นั้นยังมีเรื่องต้องพิจารณากันอีกมาก
ทั้งตัวกฎหมายเองว่าจะมีความศักดิ์สิทธิ์เพียงใด รวมถึงตัวผู้ใช้ที่จะปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่
เพราะถ้าคนไม่ปฏิบัติกฎหมายก็คงจะใช้ไม่ได้
การดูแลเรื่องลิขสิทธิ์เพลงของสุนทราภรณ์ที่ผ่านมา มีเพียงเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้ดูแลแต่เพียงผู้เดียว
ส่วนค่ายเทปต่างๆ เป็นเพียงผู้แทนจำหน่ายเทปเพลง ซึ่งสุนทราภรณ์ยังมีสัญญาอยู่กับหลายบริษัท
เช่น เมโทร, นิธิทัศน์, แกรมมี่ และบริษัทเล็กๆ บางแห่ง บางรายทำสัญญาตั้งแต่สมัยครูเอื้อยังมีชีวิตอยู่
ซึ่งเมื่อหมดอายุสัญญาก็มีสิทธิ์จะต่อสัญญาหรือไม่ก็ได้
"สัญญาจะมีเป็นตลับๆ ไปอย่างแกรมมี่มีทั้งเทปและซีดีของเมโทร จะมากหน่อยมีทั้งเทป
ซีดี วิดีโอ คาราโอเกะ ส่วนนิธิทัศน์ ที่ผ่านมาก็มีเป็นผลงานของดนุพล แก้วกาญจน์
และรวงทอง ทองลั่นทม"
อติพรกล่าวว่า รายได้ที่ได้จากค่าเทป ได้ไม่มากเท่าที่หวังไว้แต่ก็อยู่ในระดับที่พอใจ
เพราะเท่าที่ผ่านมาผู้ประพันธ์จะเป็นคนที่ได้ส่วนแบ่งน้อยที่สุด ถ้าเทียบกับนักร้อง
นักร้องจะได้มากกว่า คนแต่งอย่างเก่งก็ได้ตลับละ 1 บาท นักร้องจะได้ 7-8
บาทต่อตลับ แล้วแต่มีชื่อเสียงมากน้อยแค่ไหน
"เงินค่าลิขสิทธิ์ ส่วนใหญ่ได้มาในลักษณะของน้ำซึมบ่อทราย ประเมินรายได้
ได้ไม่แน่ชัด ขึ้นกับเศรษฐกิจ เศรษฐกิจดีไม่ดีก็มีคนติดต่อเข้ามาเยอะ แต่ติดต่อแล้วก็หายไป
เพราะการจะอนุญาตให้ใครเอาเพลง จะต้องพิจารณาว่าเพลงที่ต้องการเป็นเพลงลักษณะใด
เอาไปทำอะไร ให้ใครร้อง ใครบรรเลง ค่ายเพลงมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีคนเช่าค่อนข้างน้อย
อย่างปีที่ผ่านมาไม่แน่ใจว่าให้เช่าไปถึงตลับหรือเปล่า ทั้งนี้เงินค่าลิขสิทธิ์ยังเป็นเงินที่ต้องแบ่งไปใช้บำรุงโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรีที่มีรายได้เข้ามาน้อยลง
และวงดนตรีด้วย"
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่กฎหมายลิขสิทธิ์มีผลบังคับใช้ แล้วสุนทราภรณ์ได้สมัครเป็นสมาชิกกับบริษัท
ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้กับสมาชิกนั้น
จะทำให้สุนทราภรณ์มีรายได้จากการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ไม่เคยได้อะไรจากส่วนเหล่านี้
ทั้งเพลงที่ถูกนำไปเปิดในสถานีวิทยุ โทรทัศน์ ร้านอาหาร ทั้งในและต่างประเทศซึ่งจากการสำรวจของบริษัทลิขสิทธิ์ดนตรี
พบว่า มีเพลงของสุนทราภรณ์ถูกนำไปเล่นทั้งตามสถานีวิทยุในและต่างประเทศ ตามห้องอาหารไทย
เช่น ในประเทศเยอรมนี
ในขั้นแรกอติพรได้เลือกเฉพาะเพลงที่ทำเป็นเทปหรือแผ่นดสียงไว้ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดมากหน่อยไปจดสมาชิกก่อนประมาณไม่ถึง
100 เพลง และจะทยอยจดในส่วนที่เหลือแต่ไม่ใช่ทั้ง 2,000 กว่าเพลงเพราะบางส่วนไม่ได้บันทึกเสียงไว้
วันนี้ของสุนทราภรณ์
ถ้าจะนับรุ่นแฟนเพลงของสุนทราภรณ์ กลุ่มผู้ฟังส่วนใหญ่ยังเป็นคนร่วมสมัยคือ
กลุ่มผู้ฟังเดิมจะมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ต่ำกว่านั้นลงมาจะน้อยมาก จะมีบ้างในกรณีที่บางครอบครัวที่พ่อแม่เป็นแฟนเพลงอย่างเหนียวแน่นแล้วเลยซึมซับมาถึงลูก
ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นหลังที่มีน้อยและเป็นเรื่องน่าหวั่นใจว่า หากแฟนเพลงรุ่นเก่าหมดไป
สุนทราภรณ์จะมีชื่ออยู่อย่างไรถ้าไม่มีคนฟัง
รายการชีวิตกับเพลงของอัจฉรา กรรณสูต ทางช่อง 7 ประจำงานเดียวของสุนทราภรณ์
นับเป็นเวทีเผยแพร่ชั้นดีของเพลงสุนทราภรณ์ให้รู้จักในวงกว้างมากขึ้นสู่คนรุ่นหนึ่ง
ด้วยกลยุทธ์การนำดารารุ่นใหม่ๆ เข้ามาเป็นแม่เหล็กให้คนติดตาม เป็นผลให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสรู้จักเพลงของสุนทราภรณ์มากขึ้น
อาจจะไม่ชอบเสียทีเดียวแต่อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าเพลงบางเพลงค่อนข้างไม่ล้าสมัยเสียทีเดียว
สำหรับวงดนตรีซึ่งยังคงมีสภาพเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่จดทะเบียนมาตั้งแต่สมัยครูเอื้อ
ยังคงรับงานเป็นปกติแต่ไม่สามารถเรียกราคาได้ตามที่ต้องการ เพราะการแข่งขันสูงและมีวงดนตรีลักษณะคล้ายกันหลายวงทำให้ปริมาณงานไม่สม่ำเสมอ
แล้วแต่ภาวะเศรษฐกิจ โดยมากจะมีงานชุกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ประปรายจนถึงเดือนเมษายน
หน้าฝนจะมีเพียง 2-3 งาน
"สาเหตุที่งานยังขึ้นอยู่กับฤดูเพราะวงสุนทราภรณ์จะเป็นฟูลแบนด์จะต้องใช้ผู้เล่นอย่างต่ำ
15 คน ถ้าเป็นสุนทราภรณ์ที่แท้จริงจะต้องเป็นวงดนตรีวงใหญ่ซึ่งเล่นกลางแจ้งที่จะยังมีรูปแบบงานอย่างนี้มากในต่างจังหวัด
ส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ นอกจากงานคอนเสิร์ตซึ่งจัดไม่บ่อย งานกาชาดและงานการกุศลแล้วมักจะเล่นในโรงแรมแบบวงเล็กเพราะเสียงสะท้อนไม่สามารถบรรจุเครื่องดนตรีได้ครบ"
อติพรกล่าวถึงอุปสรรคการเล่นดนตรี
การรับงานของสุนทราภรณ์จะแบ่งวงดนตรีเป็น 2 ขนาด วงเล็ก 15 คน ประกอบด้วยนักดนตรี
6 คน นักร้อง 6 คน นักร้องชายหญิงอย่างละ 3 คน ค่าจ้าง 8,000 บาทขึ้นไป สำหรับระยะเวลา
3 ชั่วโมง (18.00-21.00 น.) หรือประมาณ 25,000 บาท ถ้าเล่นทั้งวันและถ้าเป็นวงใหญ่
30 คน จะเพิ่มเป็นประมาณ 15,000 บาท/3 ชั่วโมง
โดยมีนักร้องและนักดนตรีประจำประมาณ 25 คน แบ่งเป็นนักร้อง 12-15 คน ที่เหลือเป็นนักดนตรีประมาณ
20 คน ถ้าเล่นวงใหญ่พิเศษจะต้องจ้างนักดนตรีเพิ่มซึ่งนักร้องนักดนตรีจะไม่มีเงินเดือนประจำ
แต่จะแบ่งผลประโยชน์ทุกครั้งที่ไปเล่น นักร้องและนักดนตรีมีงานประจำ บางส่วนเป็นข้าราชการมาตั้งแต่สมัยครูเอื้อยังอยู่
บางส่วนเป็นนักเรียนก่อนที่ครูเอื้อเกษียณ ซึ่งถือว่าตนเกิดจากสุนทราภรณ์
เมื่อมีงานก็จะมาช่วยเล่นในฐานะนักดนตรีอิสระ
อย่างนี้แล้วจึงเป็นห่วงสำหรับวงฟูลแบนด์อย่างสุนทราภรณ์จะยังคงรักษาสถานภาพของตนเองได้นานเพียงใด
ท่ามกลางการแข่งขัน และกระแสความนิยมดนตรีที่เปลี่ยนไป แม้ว่าสุนทราภรณ์จะมีรายได้ตลอดกาลจากค่าลิขสิทธิ์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง