Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2538








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2538
วีดีโอการ์ตูนญี่ปุ่น กำลังถูกพลิกโฉม             
โดย เดือนเพ็ญ ลิ้มศรีตระกูล
 


   
search resources

Entertainment and Leisure




เด็กๆ ที่นิยมชมชอบหนังการ์ตูนทุกคน น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักชื่อบริษัท วิดีโอสแควร์ เพราะวิดีโอการ์ตูนญี่ปุ่นมากมายที่เด็กๆ ชื่นชอบนั้นล้วนแล้วแต่เป็นลิขสิทธิ์ของวิดีโอสแควร์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโดราเอมอน อิกคิวซัง ดรากอนบอล หรือเซเลอร์มูน ที่เป็นขวัญใจของคุณหนู

คนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวิดีโอสแควร์คือ ร.ต.อ.อำพล ภูมิวสนะ ซึ่งสะสมวิทยายทุธ์ในวงการการ์ตูนมาเกือบ 20 ปี ก่อนที่จะมาเป็นผู้อำนวยการบริษัทวิดีโอสแควร์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

อำพลเริ่มเข้าสู่โลกหนังการ์ตูนญี่ปุ่นหลังจากได้รับการชักชวนจาก "ประมุท สูตระบุตร" ในสมัยนั้นเป็นผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชน ให้เข้ามาร่วมงานในตำแหน่งหัวหน้าแผนกธุรกิจที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ขณะนั้นอำพลยังรับราชการตำรวจอยู่ แต่ด้วยความที่อยากใช้วิชาการบริหารธุรกิจที่ร่ำเรียนมาให้เกิดประโยชน์เขาจึงลาออกจากราชการมาทำงานให้ช่อง 9 ตามคำชักชวน

ภารกิจสำคัญที่อำพลได้รับมอบหมายให้ทำคือการทำให้เรตติ้งของช่อง 9 ซึ่งอยู่ในสภาพที่ตกต่ำมากกระเตื้องขึ้นมาให้ได้ ยุคนั้นภาพยนตร์กำลังภายในของช่อง 3 เป็นที่นิยมชมชอบของผู้ชมทั่วประเทศโดยเฉพาะเรื่องกระบี่ไร้เทียมทาน กระแสความนิยมดังกล่าว ทำให้ช่อง 9 ซึ่งเคยเป็นผู้ผลิตละครดังๆ อยู่ในสถานะลำบาก

ช่วงแรกอำพลคิดแก้ปัญหาด้วยการนำภาพยนตร์ชีวิตรักอมตะของจีนนำเข้ามาฉายเพื่อดึงคน แต่ก็ไม่ได้รับความนิยม แม้ต้องลงทุนถึงขนาดฝืนกฎ กบว. ด้วยการถ่ายทอดเสียงภาษาจีนทางวิทยุเพื่อหวังดึงดูดความสนใจจากคนจีนก็ตาม

เมื่อไม่ประสบความสำเร็จกับหนังหนังอมตะของจีน อำพลก็ตัดสินใจนำหนังการ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามาฉาย เพราะได้ความคิดจากการสังเกตพฤติกรรมของลูกชาย 4 คนของเขาที่วันๆ สนใจดูแต่หนังการ์ตูนอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อได้รับความเห็นชอบจากประมุท เขาก็เริ่มนำหนังการ์ตูนประเภทหุ่นยนต์ต่างๆ เข้ามาฉาย

"หนังการ์ตูนที่ผมซื้อมาฉายในช่วงแรกเป็นประเภท Super Natural ทั้งหลาย เพราะต้องการเอามาสู้กับหนังกำลังภายในของช่อง 3 ตอนนั้นเราไม่ได้คิดถึงผลประโยชน์ที่ อ.ส.ม.ท.จะได้ ต้องการเพียงดึงเรตติ้งก่อน นอกจากนี้เอเยนซี่ที่เราไปขายโฆษณาก็ไม่สนใจ เขาว่าเด็กเป็นกลุ่มผู้ชมที่ไม่มีอำนาจซื้อ ขณะที่ผมมองในมุมกลับกันว่าเด็กนี่แหละที่จะลงไปนอนดิ้น เพื่อบีบบังคับให้พ่อแม่ควักกระเป๋าซื้ออะไรทุกสิ่งที่เขาต้องการได้แต่ช่วงนั้นความคิดของผมยังไม่ได้ผล" อำพลย้อนอดีตให้ฟัง

แต่ในที่สุดความคิดของเขาก็เป็นผล หลังจากนำหนังการ์ตูนหุ่นยนต์มาฉายได้ประมาณ 1 ปี เขาก็ไปได้ลิขสิทธิ์หนังการ์ตูนเรื่องโดราเอมอน แมวมหัศจรรย์มาในช่วงที่หนังสือการ์ตูนเรื่องนี้กำลังอยู่ในความสนใจของนักอ่าน

และแมวโดราเอมอนนี่แหละที่เข้ามาช่วยชุบชีวิตของช่อง 9 ไว้ได้ หลังจากที่โดราเอมอนดังแล้ว หนังการ์ตูนญี่ปุ่นทุกเรื่องที่มาฉายทางช่อง 9 ขายดีหมด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่สถานีโทรทัศน์สามารถหารายได้หลักได้จากหนังการ์ตูน จากอดีตที่ฉายเป็นของแถม

นอกจากช่อง 9 จะได้ดีกับหนังการ์ตูนแล้วตัวอำพลเองก็กลายเป็นผู้ที่มีสายสัมพันธ์กับบริษัทที่ขายการ์ตูนของญี่ปุ่นที่ดีที่สุดในประเทศไทยคนหนึ่งไปด้วย โดยเฉพาะสายสัมพันธ์กับนายฮิโนชิ คอนโด ผู้บริหารระดับสูงของแอนิเมชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังการ์ตูนญี่ปุ่นสำหรับฉายทางโทรทัศน์และวิดีโอรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ลิขสิทธิ์หนังการ์ตูนดังๆ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโดราเอมอน อิคคิวซัง นินจาฮาโตริ ดรากอนบอล รวมทั้งเซเลอร์มูนก็ล้วนแต่อยู่ในมือเขาทั้งสิ้น

หลังจากสร้างความสำเร็จให้กับช่อง 9 แล้ว อำพลก็โบกมืออำลา อ.ส.ม.ท.มาทำธุรกิจส่วนตัว คือ เปิดบริษัทจำหน่ายเครื่องมือสื่อสาร รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาซึ่งรับผิดชอบหน้าที่ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์หนังจีนและหนังการ์ตูนญี่ปุ่นให้กับบริษัทผู้ผลิตวิดีโอในเมืองไทยควบคู่กันไปด้วย

"ผมเป็นคนแรกที่ทำวิดีโอลิขสิทธิ์ในประเทศไทยโดยติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์หนังกำลังภายในจากทีวีบีให้กับบริษัทเบสท์ ซึ่งเป็นผู้ทำวิดีโอลิขสิทธิ์เจ้าแรกในไทยเช่นกัน เริ่มจากเรื่องกระบี่ไร้เทียมทานและอื่นๆ อีกมากมาย"

หลังจากเบสท์เลิกราวงการไป วิดีโอสแควร์ก็ดึงตัวอำพลมานั่งเป็นที่ปรึกษา หน้าที่หลักของเขาคือ การติดต่อซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนญี่ปุ่นเพื่อมาทำวิดีโอ ซึ่งเดือนๆ หนึ่งวิดีโอสแควร์ผลิตวิดีโอการ์ตูนออกสู่ตลาดประมาณ 15 เรื่อง เกือบทั้งหมดเป็นวิดีโอที่ถูกลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น

"แม้ว่าจะพูดว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยมีปัญหาลิขสิทธิ์เพราะเราเป็นเจ้าเดียวที่ติดต่อซื้อลิขสิทธิ์วิดีโอ แต่ก็มีบางเรื่องที่การขอลิขสิทธิ์ล่าช้า เราจึงต้องผลิตออกไปขายก่อนที่จะย้อนไปเสียค่าลิขสิทธิ์หลังจากที่ตำลงกันได้ เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นก็จะมีบริษัททำการ์ตูนผีจริงๆ ออกมาก่อน ดังนั้น ในช่วงที่กฎหมายลิขสิทธิ์จะมีผลบังคับในวันที่ 21 มีนาคม 2538 เราก็มีการการรองรับ คือ ตั้งบริษัทนีโอ อินเตอร์เนชั่นแนล ขึ้นมาใหม่เพื่อทำหน้าที่ขอลิขสิทธิ์โดยเฉพาะ"

นอกจากนี้วิดีโอสแควร์ยังกำลังเผชิญกับการท้าทายจากบริษัท ไรท์ พิคเจอร์ ซึ่งเริ่มหันมาจับตลาดการ์ตูนในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากไรท์ พิคเจอร์ พยายามที่จะเข้ามาสู่ตลาดนี้ ด้วยการเสนอซื้อลิขสิทธิ์กับผู้ผลิตในราคาแพงกว่าที่วิดีโอสแควร์เคยซื้อได้ เพื่อแก้ปัญหาที่บริษัทไม่สามารถซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนได้ในช่วงแรกเพราะไม่เป็นที่รู้จัก

การเข้ามาของไรท์ พิคเจอร์ นอกจากจะทำให้ราคาลิขสิทธิ์วิดีโอหนังการ์ตูนญี่ปุ่นสูงขึ้นมา 4-5 เท่าแล้ว ญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการขายลิขสิทธิ์จากเดิมที่ขายในราคาเหมาเรื่องละประมาณ 500-1,000 ดอลลาร์ในช่วงเวลากาถือครองลิขสิทธิ์ 3-5 ปี มาเป็นการคิดค่าลิขสิทธิ์เป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดผลิตคูณด้วยราคาขาย โดยค่าลิขสิทธิ์คงจะอยู่ระหว่าง 8-15% ซึ่งจะทำให้ราคาลิขสิทธิ์สูงขึ้นอย่างแน่นอนด้วย

"ตลาดนี้เป็นตลาดที่เราคุมมานาน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราก็ต้องปรับตัวให้อยู่ในตลาดนี้ให้ได้" อำพลยืนยันสถานภาพให้กับวิดีโอสแควร์

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us