"การ์ตูนญี่ปุ่น" เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องหลอกเด็ก แต่มาวันนี้กลับกลายเป็นตลาดชิ้นใหญ่มูลค่ามหาศาลที่ยักษ์เกือบทุกค่ายโดดลงมาเล่น
และเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเมื่อการเผชิญหน้ากันนั้นใช้เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์เป็นเครื่องมือ
ทั้งที่เมื่อก่อนมีแต่คนส่ายหน้า
โฉมหน้าตลาดตลาดการ์ตูนญี่ปุ่นในประเทศ ภายหลังการมีผลบังคับใช้ของกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแก้ไขใหม่
ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2538 กำลังเป็นที่จับตากันว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
หลังจากที่ผู้ประกอบการด้านนี้เริ่มมีปฏิกิริยาตอบสนองกับเรื่องนี้ตั้งแต่ปลายปี
2535 แล้ว
วิบูลย์กิจได้ดี เพราะกลับตัวก่อน
การเปลี่ยนแปลงของตลาดหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นเริ่มปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรกเมื่อชัยอารีย์
สันติพงษ์ไชย ประธานบริษัท แอ็ดวานซ์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ออกมาประกาศว่าเขาได้ลิขสิทธิ์หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นจากหลายสำนักพิมพ์
และจะฟ้องทุกบริษัทที่ละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือของเขาคำประกาศของชัยอารีย์ครั้งนั้น
ทำให้วงการการ์ตูนไทยป่วนมาก เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นต่างๆ
ที่พิมพ์ออกมาจำหน่ายล้วนแล้วแต่เป็นการ์ตูนละเมิดลิขสิทธิ์หรือการ์ตูนผีทั้งสิ้น
วิบูลย์กิจซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่และยึดตลาดนี้มานานกว่า 10 ปี ดูเหมือนจะมีอาการสนองตอบมากที่สุด
ถึงขนาดประกาศปิดตัวเอง 1 เดือน เพื่อติดต่อเจรจาขอลิขสิทธิ์การ์ตูนที่ถูกต้องจากสำนักพิมพ์ต่างๆ
ที่ญี่ปุ่น ก่อนที่ปัญหาความยุ่งยากจะตามมาภายหลัง
นับว่าเป็นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ามาก เพราะขณะนี้วิบูลย์กิจได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นมากที่สุดในประเทศไทย
และชื่อเสียงของวิบูลย์กิจเป็นที่รู้จักและยอมรับของบรรดาสำนักพิมพ์หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างมาก
สำหนักพิมพ์การ์ตูนที่ให้ลิขสิทธิ์กับวิบูลย์กิจ อาทิ โคดันฉะ, ชูเอฉะ,
อากิระ โชเต็น, โชกากุคัง, โทคุม่า โชเต็น, ฮากุเซ็นฉะ, ฟูตาบาฉะ, และเทซุกะ
โพรดักชั่นส์ ส่วนบริษัท แอ็ดวานซ์ฯ ของชัยอารีย์นั้นปรากฏว่าถึงขณะนี้ยังไม่มีการพิมพ์หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นที่เขาอ้างว่าได้ขอลิขสิทธิ์ไว้แล้วอย่างถูกต้องออกมาสักเล่ม
รวมทั้งมีข่าวว่าเจ้าของลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่ได้ถอนลิจสิทธิ์การ์ตูนของที่นี่แล้ว
อาทิ โซกากุคัง ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะให้ลิขสิทธิ์รันม่าฮาฟท์แก่สำนักพิมพ์ใดแทน
เพราะแอ็ดวานซ์ไม่พิมพ์หนังสือที่ได้รับอนุญาตภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้
ผลกระทบจากลิขสิทธิ์รายเก่าตายรายใหม่เกิด
พร้อมๆ ไปกับการปรับตัวของวิบูลย์กิจ บริษัท สยามอินเตอร์ คอมิกส์ จำกัด
บริษัทในเครือสยามสปอร์ต พริ้นติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าตลาดการ์ตูนอีกรายหนึ่งก็ปรับตัวเรื่องการขอลิขสิทธิ์เช่นกัน
สยามอินเตอร์ คอมิกส์ ได้ลิขสิทธิ์จากหลายๆ สำนักพิมพ์ อาทิ อิเคดะ ริโยโกะ
โปรดักชั่น, โคดันฉะ, ฟูตาบาฉะ, นิฮอนบุงเกฉะ, โซกากุคัง, ชูเอฉะ, ฮากุเซ็นฉะ
ดูเหมือนจะมีเพียงวิบูลย์กิจและสยามอินเตอร์ คอมิกส์ เท่านั้นที่มีการปรับตัวเพื่อรักษาความอยู่รอดในธุรกิจนี้ต่อไป
เพราะสำนักพิมพ์การ์ตูนอื่นๆ อย่างมิตรไมตรี ยอดธิดา อะนิเมทกรุ๊ป ดาวพระเสาร์
ล้วนแล้วแต่เริ่มเดินจากตลาดนี้ไปทั้งสิ้น เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวได้
รวมทั้งยังไปเสียแล้วสำหรับการกลับตัวหันมาทำหนังสือการ์ตูนลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง
เพราะญี่ปุ่นไม่ยอมให้โอกาสกับผู้ที่กลับตัวกลับใจช้าเช่นนี้ แม้ว่าจะมีหลายค่ายที่พยายามติดต่อขอลิขสิทธิ์ในช่วงหลังแต่ก็ไม่ได้รับการอนุญาต
มีเพียงหมึกจีนเท่านั้นที่ยังเดินหน้าทำการ์ตูนละเมิดลิขสิทธิ์ต่อไปเพียงลำพัง
อย่างไรก็ดีการหายไปของคู่แข่งรายเก่าถูกแทนที่อย่างรวดเร็วด้วยคู่แข่งใหม่ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ
ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทธนาชัย แอนด์ เอ็นพีจี กรุ๊ป ของค่ายเดอะเนชั่น
ซึ่งขณะนี้ได้ลิขสิทธิ์การ์ตูนดังๆ อาทิ โดเรมอน ดรากอนบอล มาไว้ในมือ
เช่นเดียวกับค่ายบางกอกโพสต์ที่รู้จักกันในนาม โพสต์คอมิกส์ ก็หันมาทำการ์ตูนญี่ปุ่น
โดยเริ่มจากการ์ตูนประเภทสาระของโคดันฉะเรื่องเอดส์ ก่อนที่จะรุกทำการ์ตูนบันเทิงในปี
2538
นอกจากนี้ยังมีค่ายอมรินทร์ พริ้นติ้ง จำกัด ในนาม อมรินทร์ คอมิกส์ ซึ่งเริ่มเข้าสู่ตลาดนี้ตั้งแต่ปี
2536 ด้วยการ์ตูนประเภทความรู้ 2 ชุด คือชุดเจาะจักรวาลชีวิต และชุดพิภพมหัศจรรย์
รวมทั้งการ์ตูนบันเทิงของสำนักพิมพ์เอนิกส์ 11 เรื่อง อาทิ ดรากอนเควสต์,
นากัสมังกรพิฆาต ของค่ายชูเอฉะ 2 เรื่อง คือเทพตะเกียงอาละดิน และคุณปู่กระดูกเหล็ก
ล่าสุดที่มีการเปิดตัวในเดือนมีนาคม 2538 ภายใต้เครื่องหมายการค้า "มังก้าบุ๊กส์"
ก็คือบริษัทนิวเจนเนอเรชั่น มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
เรียกได้ว่าขณะนี้ตลาดการ์ตูนญี่ปุ่นเปรียบเสมือนเค้กชิ้นโตที่ผู้ประกอบการในธุรกิจสิ่งพิมพ์รายใหญ่จ้องตะครุบส่วนแบ่งตาเป็นมัน
โดยทุกบริษัทวางแผนที่จะรุกตลาดการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างจริงจังทั้งสิ้น
ชูวิทย์ มังกรพิศม์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สยามอินเตอร์ คอมิกส์ จำกัด
กล่าวว่า นอกจากการออกการ์ตูนรวมเล่มเดือนละ 20-30 เล่มแล้วปี 2538 บริษัทออกหนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์
รายปักษ์ และรายเดือน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มี ซี-คิดส์ ฮันนี่ และสวีทแล้ว
คือในส่วนของรายสัปดาห์นั้นบริษัทได้ลิขสิทธิ์โชเนนซันเดย์ รายปักษ์ได้ลิขสิทธิ์หนังสือโซโจ
คอมิกส์ ซึ่งเป็นของโซกากุคังทั้งเล่ม นอกจากนี้ยังได้ลิขสิทธิ์หนังสือรายเดือนอาฟเตอร์นูนจองโคดันฉะอีก
1 เล่ม
ศรีกัญญา มงคลศิริ ผู้จัดการโครงการการ์ตูนของบางกอกโพสต์ กล่าวว่า ปี
2538 โพสต์จะบุกตลาดการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างจริงจัง โดยจะหันมาจับแนวการ์ตูนบันเทิงบ้าง
เริ่มจากไซโปลิสของโซกากุคัง คาดว่าในปี 2538 จะมีหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นออกมาทั้งหมดประมาณ
10 เรื่อง ในจำนวนนี้จะมีหนังสือพิมพ์การ์ตูนสาระ 1-2 เล่ม
กวิน คทวณิช ผู้จัดการโครงการอมรินทร์ คอมิกส์ กล่าวว่า ปี 2538 บรษัทมีโครงการที่จะออกหนังสือการ์ตูนความรู้อีกหลายชุด
เช่น คณิตศาสตร์ และแนวเพศศึกษาของสำนักพิมพ์จึสุเงียว โน นิปปอนฉะ รวมทั้งหนังสือชุดบุคคลสำคัญของชูเอฉะด้วย
นอกจากนี้หนังสือการ์ตูนรายปักษ์อย่างแอคชั่น บอย และกันกันซึ่งหยุดทำตลาดไประยะหนึ่งก็จะกลับมาออกใหม่โดยอาจจะรวมเป็นเล่มเดียว
ศรวนีย์ จินายน บรรณาธิการอำนวยการ และเกียรติชัย ประเสริฐศรีศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป
บริษัท นิวเจนเนอเรชั่น พับลิชชิ่ง จำกัด ร่วมกันเปิดเผยว่า หนังสือการ์ตูนชุดแรกที่บริษัทจะออกเป็นการ์ตูนที่ได้รับลิขสิทธิ์จากบริษัท
มีเดีย เวอร์ค 5 เรื่อง คือ ไร นักสู้อหังการ สงครามปีศาจอลเวง ฟอร์จูน เควส์แดนสนธยา
ตำนานอสูร ไฟและดอกไม้ในแดนนรก และการ์ตูนเรื่องสามก๊กชุด 60 เล่มจบจากอุชิโอ
ชัปปัน ซึ่งเป็นการ์ตูนสามก๊กที่โด่งดังที่สุดในญี่ปุ่นเพราะได้รับการตีพิมพ์แล้ว
42 ล้านเล่ม
นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการติดต่อขอลิขสิทธิ์การ์ตูนกับอีกหลายๆ สำนักพิมพ์โดยในปีแรกคาดว่าตีพิมพ์ออกมาประมาณ
120-140 ปก
ทำอย่างไรจึงจะได้ลิขสิทธิ์?
การติดต่อขอลิขสิทธิ์หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นค่อนข้างเป็นเรื่องที่ยุ่งยากในตอนแรกโดยเฉพาะบริษัทที่ไม่เคยทำหนังสือการ์ตูนมาก่อน
"ตอนที่เราไปติดต่อขอลิขสิทธิ์ครั้งแรกเราต้องตอบคำถามมากมาย เพราะเขาอยากจะดูว่าเรารักการ์ตูนจริงๆ
หรือรักที่จะทำเงินจากการ์ตูนเท่านั้น" กวินจากค่ายอมรินทร์ คอมิกส์
กล่าว
ด้านนิวเจนเนอเรชั่นซึ่งไม่เคยทำหนังสือการ์ตูนมาก่อนก็ได้รับความยุ่งยากไม่แพ้กัน
เกียรติชัยเล่าให้ฟังว่า นอกจากถูกสอบประวัติความเป็นมาของบริษัทว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่แล้ว
ยังได้รับแบบทดสอบให้ทำการสำรวจตลาดการ์ตูนในประเทศไทยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งกว่าจะได้ลิขสิทธิ์ต้องใช้เวลาในการติดต่อนานประมาณ
1 ปี
นอกจากการทดสอบทั่วๆ ไปแล้วบางสำนักพิมพ์ยังให้ความสนใจในเรื่องที่แตกต่างกันไป
เช่น ชูเอฉะ จะให้ความสนใจอย่างมากในเรื่องคุณภาพการผลิต ไม่ยอมให้มีการปรับแต่งต้นฉบับปกและให้ความสนใจเรื่องลิขสิทธิ์มากที่สุด
เช่นเดียวกับสำนักพิมพ์โทคุมา โซเต็น ที่ให้ความสนใจสำนักพิมพ์ไทยที่จะช่วยปราบปรามผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยให้กับเขาเป็นพิเศษ
สำหรับโชกากุคังจะให้ความสนใจสำนักพิมพ์ที่สนใจเรื่องการพัฒนาการ์ตูนไทยควบคู่ไปกับการทำหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น
ความยุ่งยากในการขอลิขสิทธิ์การ์ตูนญี่ปุ่นอีกประการหนึ่งก็คือ สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นจะมีคนรู้ภาษาอังกฤษน้อยมาก
เช่น ชูเอฉะ ซึ่งใหญ่มากแต่ก็มีเพียงแค่คนเดียว
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่สำนักพิมพ์ไทยแต่ละแห่งจะต้องจัดหาผู้บริหารที่รู้ภาษาฐี่ปุ่นดีไว้เพื่อความสะดวกในการติดต่อ
บางบริษัทก็ส่งพนักงานไปเรียนที่ญี่ปุ่นเพื่อทำหน้าที่เป็นล่ามให้ผู้บริหารและจัดส่งหนังการ์ตูนที่น่าสนใจมาให้บริษัทพิจารณาด้วย
หรือบางแห่งก็ให้หุ้นส่วนชาวญี่ปุ่นช่วยเหลือ เช่น นิวเจนเนอเรชั่น ซึ่งมีไดนิปปอน
พริ้นติ้ง ช่วยติดต่อให้ รวมทั้งมีบางส่วนที่ติดต่อผ่านเอเจนซี่ในประเทศไทยอย่างทัทเทิล
โมริ ซึ่งเป็นเอเย่นต์ให้กับหนังสือการ์ตูนของชูเอฉะ โคดันฉะ โชกากุคัง
การติดต่อขอลิขสิทธิ์นั้นต้องยื่นขอเป็นเล่มๆ โดยค่าลิขสิทธิ์อยู่ระหว่าง
6-10% ของยอดพิมพ์คูณด้วยราคาจำหน่ายโดยต้องพิมพ์อย่างต่ำ 5,000 เล่มขึ้นไปอายุลิขสิทธิ์ประมาณ
2-3 ปี
จะเห็นได้ว่าค่าลิขสิทธิ์ที่ญี่ปุ่นได้นั้นไม่ใช่ตัวเลขที่สูงอะไร เมื่อเทียบกับปริมาณการขายในประเทศญี่ปุ่นเอง
ซึ่งมีหนังสือมากมายที่พิมพ์ขายสัปดาห์ละหนึ่งล้านเล่มขึ้นไป แต่สิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นยอมให้ลิขสิทธิ์เนื่องจากต้องการแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เคยมีมากมายในอดีต
รวมทั้งต้องการเผยแพร่ผลงานของเขาให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
บทเรียนคนทำการ์ตูนลิขสิทธิ์
การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสิ่งที่ผู้ทำการ์ตูนถูกต้องทุกรายต้องประสบอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
มีทั้งถูกละเมิดลิขสิทธิ์ก่อนพิมพ์และหลังพิมพ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่กระทบกับยอดขายและภาพพจน์ของหนังสือทั้งสิ้น
อย่างค่ายโพสต์คอมิกส์ หลังจากประกาศว่าจะพิมพ์การ์ตูนเรื่องไซโปลิศความยาว
7 เล่ม
จบไม่นานก็ปรากฏว่ามีสำนักพิมพ์ผี 2 แห่งพร้อมใจกันพิมพ์ไซโปลิศผีออกวางขาย
ที่น่าช้ำใจคือ บริษัทไม่สามารถจัดการทางกฎหมายได้สะดวกนักเพราะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เวอร์ชั่นญี่ปุ่น
เนื่องจากโพสต์คอมิกส์ยังไม่ได้พิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมาจำหน่ายเป็นภาคภาษาไทย
เช่นเดียวกับค่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสยามอินเตอร์ คอมิกส์ เนชั่น อมรินทร์
คอมิกส์ หรือนิวเจนเนอเรชั่น ล้วนแล้วแต่ประสบปัญหานี้ทั้งสิ้น โดยสยามอินเตอร์
คอมิกส์ นั้นถูกละเมิดลิขสิทธิ์เรื่อง จอมคนทะลุโลก หน้ากากแก้ว (วิบูลย์กิจเคยทำออกมาในชื่อนักรักโลกมายา)
ในขณะที่เนชั่นนั้นดรากอนบอลหรือโดราเอมอนที่ได้ลิขสิทธิ์มาเมื่อปีที่แล้วก็สร้างความร่ำรวยให้กับคนทำการ์ตูนผีมามากมายมหาศาลแล้วหรือ
ไร นักสู้อหังการ ของนิวเจนเนอเรชั่น และคุณปู่กระดูกเหล็กของอมรินทร์ คอมิกส์
ก็ล้วนแล้วแต่เจอผีทั้งสิ้น
ทางแก้ออกเป็นนิตยสาร
สำหรับทางแก้ไขปัญหานั้นดูเหมือนจะมีการนำกฎหมายเข้ามาจัดการขั้นเด็ดขาดน้อยมาก
ส่วนใหญ่จะแจ้งไปยังสำนักพิมพ์ที่ละเมิดให้หยุดพิมพ์เท่านั้น เพราะส่วนใหญ่ไม่อยากมีเรื่องราวฟ้องร้องและเห็นว่าเป็นเพื่อนในวงการเดียวกันจึงไม่อยากทำร้ายกันเอง
อย่างไรก้ดี ทางแก้ปัญหาที่เป็นที่นิยมของบรรดาสำนักพิมพ์ต่างๆ ก็คือ การซื้อลิขสิทธิ์หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นที่ออกมาในรูปของนิตยสารมาพิมพ์ชนิดเล่มต่เล่มกันเลย
วิธีการนี้นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างได้ผลวิธีหนึ่งเพราะสามารถพิมพ์ออกมาได้ทันทีเป็นตอนๆ
ในระยะเวลาใกล้เคียงกับที่ออกในญี่ปุ่นแล้ว ยังเป็นตัวสร้างรายได้หลักให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆ
อย่างดีด้วย เพราะหลายๆ เล่มยอดพิมพ์สูงถึง 50,000 เล่มต่อสัปดาห์หรือต่อปักษ์
ไม่ว่าจะเป็นซีคิดส์ของสยามอินเตอร์ คอมิกส์ หรือบูมของเนชั่น ซึ่งการ์ตูนใน
2 เล่มนี้คัดมาจากโซเน็น-จัมป์ ซึ่งเป็นแม็กกาซีนรายสัปดาห์ของชูเอฉะที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดในญี่ปุ่น
คือ 6.3 ล้านเล่ม
ดูเหมือนว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ยากที่จะทำให้การ์ตูนผีหมดไปจากประเทศไทย สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้ก็คือ
การพลิกโฉมหน้าจากเดิมที่เป็นการแข่งกันของค่ายการ์ตูนเล็กๆ มาเป็นบริษัทสิ่งพิมพ์ใหญ่เท่านั้น