"ถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องมีกฎหมายลิขสิทธิ์"
ยรรยง พวงราช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ปัญหาของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่แล้วมามีสาเหตุมาจาก 1. กฎหมายยังไม่ชัดเจน
ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำให้ครอบคลุมได้เพราะจะทำให้เกิดข้อจำกัดขึ้นได้
2. เจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้
สินค้าขาดตลาดหรือไม่ครบตามความต้องการเท่าที่ควร
3. เจ้าของลิขสิทธิ์กำหนดเงื่อนไขในการซื้อขายที่มีข้อจำกัดหรือมีข้อปลีกย่อยมากเกินไป
เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ด้วยการเพิ่มข้อกำหนดโดยให้ความคุ้มครองซอฟต์แวร์จัดอยู่ในประเภทของงานวรรณกรรม
จึงทำให้เกิดผลดีหลายทางทั้งด้านกฎหมายซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้น
ในด้านของธุรกิจซอฟต์แวร์จะทำให้มีซอฟต์แวร์จากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก
เพราะผู้ผลิตเกิดความมั่นใจ ทำให้ผู้ใช้ได้มีทางเลือกและมีโอกาสในการเรียนรู้มากขึ้น
เกิดการพัฒนาโปรแกรมภาษาไทยในประเทศ เกิดการขยายตัวทางด้านการผลิตซอฟต์แวร์ในประเทศ
รวมไปถึงการพัฒนาตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศ
"การให้ความคุ้มครองซอฟต์แวร์ ควรแยกเป็นเอกเทศ"
ชัยวัธ มะระพฤกษวรรณ ทนายความสำนักกฎหมายชัยวัธบัณฑูรย์
ปัญหาการดำเนินคดีของกฎหมายลิขสิทธิ์ จะประกอบไปด้วยหลายส่วน โดยเฉพาะขั้นตอนของการสืบพยานที่จะต้องใช้พยานที่เป็นเอกสารและบุคคล
ซึ่งต้องใช้เป็นจำนวนมาก และจะต้องผ่านขั้นตอนการรองรับความถูกต้อง ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายมากเพราะแต่ละคดีแยกจากกันคู่ความจะอ้างคำให้การของพยานในคดีอื่นไม่ได้ทั้งๆ
ที่เป็นคดีลักษณะเดียวกันต้องนำพยานมาสืบค้นใหม่ทำให้การดำเนินคดีต้องใช้ระยะเวลานาน
วิธีการแก้ไขปัญหาหากมีการตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้น น่าจะมีข้อกำหนดในเรื่องของพื้นฐานของเอกสารบางประเภท
หรือคำให้การของพยานที่ควรจะมีการรับรองความถูกต้อง และสามารถใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีที่มีลักาณะคล้ายคลึงกัน
สำหรับกฎหมายฉบับใหม่แม้ว่ามีความกระชับมากขึ้น และข้อความไม่กำกวมเหมือนฉบับที่แล้วแต่ในเรื่องของการคุ้มครองซอฟต์แวร์ไม่ควรจัดอยู่ในงานวรรณกรรม
ควรแยกเป็นเอกเทศเนื่องจากซอฟต์แวร์มีลักาณะเฉพาะตัว
"ทนายความบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี่ ที่ปรึกษากฎหมาย กลุ่มบีเอสเอ"
ประวิทย์ มังคละธนะกุล
สิ่งสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องควรจะดำเนการในเวลานี้คือ การให้ความรู้กับประชาชนว่ากฎหมายลิขสิทธิ์มีไว้
เพื่อให้ความคุ้มครองและเคารพสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้มีการคิดค้น
และสร้างสรรค์ซอฟต์แวร์มากขึ้นและจะส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่นี้จะส่งผลดีในเรื่องของการใช้กฎหมายที่จะได้รับความสะดวกและชัดเจนมากขึ้น
เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ ซึ่งเป็นผู้ใช้กฎหมายโดยตรงเพราะตราบใดที่ยังไม่มีความเข้าใจซอฟต์แวร์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ควรได้รับการคุ้มครอง
การพิจารณาคดียังคงเป็นปัญหาต่อไป
ยกตัวอย่างในกรณีของการจับกุมผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ 8 รายของกลุ่มบีเอสเอ
ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด ยังไม่สามารถตัดสินคดีความได้เพราะยังใช้กฎหมายฉบับเก่าอยู่ซึ่งมีความคลุมเครือทำให้การพิจารณาเป็นไปค่อนข้างยากลำบาก
ส่วนการดำเนินงานของกลุ่มบีเอสเอในระหว่างนี้ จะเป็นในเรื่องของการเก็บข้อมูลทั้งในส่วนของผู้ละเมิดจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ใช้ที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่และร้านจำหน่ายก๊อบปี้ซอฟต์แวร์
การดำเนินของกลุ่มบีเอสเอเน้นไปในเรื่องการจัดสัมมนาให้ความรู้กับผู้ใช้เป็นส่วนใหญ่
และการหาข้อมูลซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานกฎหมาย เบเคอร์ ทีมงานนักสืบ และทีมงานสำรวจตลาดของกลุ่มบีเอสเอหาข้อมูลเพื่อดำเนินการในระยะต่อไป
"กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ใช้ซอฟต์แวร์ก๊อบปี้ลดลงจาก 97% เหลือ 80%
น่าจะพอใจแล้ว"
ชูชาติ ใช้บุญเรือง ผู้จัดการทั่วไป บริษัทไทยซอฟท์
การมีกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่จะทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เติบโตมากขึ้นจะมีซอฟต์แวร์จากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกันจะมีอุตสาหกรรมการผลิตซอฟต์แวร์ในประเทศ
เขายอมรับว่า ปัญหาในเรื่องของบุคลากรจะเป็นส่วนหนึ่งของการสกัดกั้นการผลิตซอฟต์แวร์ในประเทศ
ในส่วนของผู้ใช้ บริษัทจำหน่ายคอมพิวเตอร์ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ก๊อบปี้จะได้รับผลกระทบและจะถูกจับตามอง
เช่นเดียวกันผู้ใช้ประเภทองค์กรขนาดใหญ่เพราะเป็นกลุ่มที่เคยมีการก๊อบปี้ซอฟต์แวร์ใช้งานกันเป็นจำนวนมาก
เป็นผลให้ลูกค้าเหล่านี้จะต้องหันมาซื้อซอฟต์แวร์ต้นฉบับกันมากขึ้น
ส่วนผู้ใช้ประเภทส่วนบุคคลจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะมูลค่าตลาดมีอยู่ไม่มาก
เพื่อเทียบกับลูกค้า 2 ประเภทแรก
ทางด้านผู้ค้าจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดให้มีการใช้ซอฟต์แวร์ต้นฉบับมากขึ้น
อาทิ การจำหน่ายซอฟต์แวร์ในราคาพิเศษ หรือแม้แต่โปรแกรมที่ให้ลูกค้าทดลองใช้งานก่อนที่จะมีการซั่งซื้อจริง
อย่างไรก็ตาม เขาไม่คิดว่าช่วงแรกที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์ออกมาจะช่วยให้กฎหมายลดการก๊อบปี้ลงถึง
100% แต่หากลดลงจาก 97% เหลือเพียง 80% ก็น่าจะเป็นที่พอใจแล้ว
"ลูกค้าต้องซื้อซอฟต์แวร์แพงขึ้นแน่ แต่ได้ใช้ของมีประสิทธิภาพมากขึ้น"
ณรงค์ อิงค์ธเนศ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเดอะแวลลู ซิสเต็มส์
แม้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่จะมีข้อกำหนดและเพิ่มบทลงโทษมากขึ้น แต่จะสัมฤทธิผลเพียงใดขึ้นอยู่กับความเข้มงวดของรัฐบาลที่จะบังคับใช้กฎหมายได้มากน้อยเพียงใด
ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก ผู้จำหน่ายก๊อบปี้ซอฟต์แวร์
กลุ่มที่ 2 ร้านค้าคอมพิวเตอร์ กลุ่มที่ 3 ผู้ใช้คอมพิวเตอร์
ในส่วนของผู้ใช้นั้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะได้รับผลกระทบก่อนในระยะแรก
ตามมาด้วยบริษัทธุรกิจหน่วยงานราชการจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในเวลาต่อมา
กลุ่มผู้ใช้ทั่วไปจะเป็นกลุ่มผู้ใช้ที่จะได้รับผลกระทบเป็นอันดับสุดท้ายเพราะผู้ผลิตจะพุ่งเป้าไปที่
2 กลุ่มแรกมากกว่าเพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังเงินเพียงพอจะซื้อซอฟต์แวร์ต้นฉบับ
สำหรับแรงจูงใจที่สำคัญที่จะให้กลุ่มผู้ใช้ทั่วไปหันมาใช้ซอฟต์แวร์ ประกอบไปด้วยปัจจัยในเรื่องของราคา
การพัฒนาให้เป็นภาษาไทยและต้องมีการซัปพอร์ต มีการสาธิต การจัดสัมมนาที่ดี
บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่จะได้รับผลประโยชน์มากที่สุดคือ ไมโครซอฟท์ โนเวลล์
และโลตัส เพราะซอฟต์แวร์ของบริษัทเหล่านี้ถูกก๊อบปี้มานาน
ต้องยอมรับว่าผู้ใช้จะต้องลงทุนซื้อซอฟต์แวร์แพงขึ้นแต่จะได้รับผลประโยชน์ในเรื่องของบริการหลังการขายและประสิทธิภาพของซอฟต์แวร์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม
"ผลดีของการมีกฎหมายลิขสิทธิ์ดีกว่าผลเสียแน่นอน"
ศันษนีย์ อัษฎาธร กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยแอพพลิเคชั่น ซอฟท์แวร์
ความเข้มงวดของกฎหมายใหม่ ทั้งในเรื่องของบทลงโทษนั้นรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลให้ปริมาณการก๊อบปี้ลดน้อยลง
โดยเฉพาะผู้ก๊อบปี้ซอฟต์แวร์หรือผู้จัดจำหน่ายรวมทั้งผู้ใช้ซอฟต์แวร์ก๊อบปี้ที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่
เช่น สถาบันการเงิน หรือราชการที่จะต้องถูกเพ่งเล็งเป็นอันดับแรกๆ
การลดปริมาณการก๊อบปี้จะส่งผลให้ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ขึ้นในไทย และผู้ใช้มีโอกาสมีกำลังใจในการพัฒนาโปรแกรมและจะมีซอฟต์แวร์จากต่างประเทศเข้ามาให้คนไทยได้เลือกใช้และเรียนรู้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์คงจะค่อยเป็นค่อยไป คงไม่เติบโตเพิ่มเป็นหมื่นล้านหรือแสนล้านในระยะเวลาอันรวดเร็วแน่นอน