เมื่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ประกาศใช้ ขั้นตอนในการดำเนินคดีกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์คงจะต้องเปลี่ยนแปลงตามลักษณะกฎหมายที่มีการคลุมถึงซอฟต์แวร์อย่างชัดเจน
ยรรยง พวงราช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ถึงขั้นตอนในการดำเนินคดีว่า ผู้เสียหายซึ่งจะต้องเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทนทางกฎหมาย
สามารถดำเนินการได้ 2 วิธี
วิธีแรก ยื่นฟ้องศาลเองซึ่งจะยากลำบากต่อการหาหลักฐาน เพราะผู้เสียหายจะต้องหาหลักฐานเอง
วิธีที่สอง แจ้งความไปยังสถานีตำรวจทุกแห่งรวมทั้งกองกำกับการคดีสืบสวนสอบสวนทางเศรษฐกิจซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ดำเนินคดีต่อไป
ทั้งนี้กฎหมายใหม่นี้เอื้ออำนวยในเรื่องของการจัดตั้งเจ้าหน้าที่ในการตรวจค้นหาหลักฐานและยึดของกลางได้
ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่มีอำนาจในการจับกุม ดังนั้นหากจะให้สมบูรณ์ควรจะไปพร้อมกับเจ้าหน้าตำรวจซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเป็นผู้ประสานงานกับตำรวจให้
โดยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จะมีอำนาจในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เหล่านี้ซึ่งจะแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญหา
และกระทรวงพาณิชย์ เช่น กรมการค้าภายใน สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค
"ขณะนี้กรมเสนอเรื่องไปยังรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์แล้วแต่ต้องรอให้กฎหมายบังคับใช้ก่อนจึงมีการแต่งตั้งได้เพราะประกาศออกตามกฎหมาย"
ยรรยงกล่าว
หน่วยงานที่จะเป็นผู้พิจารณาคดีในระหว่างที่รอการจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาจะตกเป็นหน้าที่ของศาลแพ่งและศาลอาญา
จะเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาคดี
โดยการจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายเพื่อเสนอรัฐมนตรีอนุมัติ
ซึ่งใช้เวลามาแล้ว 2 ปีกว่าแต่คงจะใช้เวลาไม่เกิน 4 ปี
ศาลทรัพย์สินทางปัญญามีความจำเป็นมาก เพราะจะมีความถูกต้องและทำให้ระยะเวลาในการพิจารณารวดเร็วขึ้น
เนื่องจากจะเป็นศาลที่พิจารณาในเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะซึ่งแต่เดิมการพิจารณาอาจจะต้องใช้เวลา
2-3 ปี
จัดทำตัวอย่างสัญญาซื้อขายไม่ให้ผู้ผลิตเอาเปรียบผู้ซื้อ
แม้การมี พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ที่จะให้ความคุ้มครองผู้พัฒนาซอฟต์แวร์มากขึ้น
แต่อาจจะเกิดผลในทางตรงกันข้ามเพราะผู้ผลิตอาจจำกฎหมายไปใช้เอารัดเอาเปรียบผู้ซื้อ
เพื่อไม่ให้เป็นปัญหากรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้จัดทำร่างอนุสัญญาตัวอย่างในการอนุญาตให้ใช้ซอฟต์แวร์โดยร่วมกับเจ้าของลิขสิทธิ์
สมาคมคอมพิวเตอร์ นักวิชาการ นักธุรกิจ
ยรรยงให้เหตุผลว่ากฎหมายทุกฉบับต้องกำหนดไว้กว้างๆ ไม่สามารถเขียนให้ละเอียดได้
จึงต้องหาแนวทางปฏิบัติอาจจะเกิดปัญหาผู้ผลิตเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้ขึ้น เพราะในอนาคตหากมีการใช้อำนาจการเกินขอบเขตหรือมากไป
ร่างสัญญาตัวอย่างการอนุญาตใช้ซอฟต์แวร์จะมี 2 ประเภท ตามลักษณะการใช้งาน
คือ 1. ร่างสัญญาอนุญาตใช้โปรแกรมสำหรับการซื้อขายซอฟต์แวร์เพื่อใช้งานคนเดียวกับ
2. ร่างสัญญาอนุญาตให้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับผู้ใช้หลายคน
ทั้งนี้ ร่างสัญญาจะยึดบรรทัดฐานของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์เป็นหลักจะประกอบไปด้วยส่วนหลักๆ
คือ 1. การอนุญาตใช้โปรแกรมซึ่งจะระบุชื่อเจ้าของซอฟต์แวร์และจำนวนผู้ใช้
2. สิทธิของคู่สัญญาที่จะกำหนดไว้ว่าผู้รับอนุญาตจะไม่นำซอฟต์แวร์ไปให้เช่าหรือทำซ้ำ
ดัดแปลง โดยไม่ได้รับค่วามยินยอมจากผู้อนุญาต หรือผู้รับอนุญาตมีสิทธิทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้
1 ชุด เพื่อป้องกันการสูญหายในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเท่านั้น
เว้นแต่ทำสำเนามากกว่า 1 ชุด จะได้รับความยินยอมจากผู้อนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร
เป็นต้น
3. ข้อจำกัดการรับผิดและการรับประกัน จะระบุถึงการรับประกันการใช้ซอฟต์แวร์
ซึ่งหากมีปัญหาผู้อนุญาตจะต้องรับผิดชอบ อาทิ การคืนเงินให้ผู้รับอนุญาตหรือเปลี่ยนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ชำรุดบกพร่อง
4. การรักษาความลับทางการค้า ซึ่งจะระบุว่าผู้รับอนุญาตจะไม่เปิดเผยข้อมูลหรือเทคนิคเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันเป็นความลับทางการค้าที่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้อนุญาต
5. การต่อสู้คดีในกรณีที่มีบุคคลอื่นฟ้องร้องหรือใช้สิทธิฟ้องร้องผู้อนุญาตจะต้องแจ้งให้ผู้รับอนุญาตทราบภายใน
10 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้รับอนุญาตทราบ เป็นต้น
สำหรับสัญญาอนุญาตใช้คอมพิวเตอร์กับระบบเครือข่ายจะมีคล้ายคลึงกับสัญญาอนุญาตใช้งานเพียงคนเดียว
แต่จะเพิ่มเติมรายละเอียดในเรื่องของจำนวนเครื่องที่จะใช้กับซอฟต์แวร์และรายละเอียดของค่าตอบแทน
รวมทั้งยังระบุถึงการที่ผู้อนุญาตจะต้องแสดงซอฟต์แวร์ที่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น
จากรากฐานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวพันกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์เดิมแก่ผู้รับอนุญาตด้วย
โดยมีการตกลงค่าตอบแทนใหม่
หรือผู้รับอนุญาตจะมีสิทธิที่จะใช้ หรือโอนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เฉพาะส่วนที่พัฒนา
และมีหน้าที่ต้องเสนองานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นจากรากฐานโปรแกรมตามสัญญาแก่ผู้อนุญาต
โดยผู้อนุญาตจะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้รับอนุญาตตามที่ตกลง
ยรรยงกล่าวว่า ร่างสัญญาตัวอย่างเหล่านี้จะไม่มีการบังคับใช้ แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญาหวังว่าในระยะยาวจะมีการนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในการทำสัญญาซื้อขายเพราะส่วนหนึ่งของการละเมิดลิขสิทธิ์
คือ 1. หาตัวเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่เจอ 2. สัญญามีขั้นตอนมาก
เป็นที่คาดหวังไว้ว่าการมีร่างสัญญาตัวอย่างจะไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันอีกต่อไปและจะช่วยลดปัญหาการดำเนินคดีลงได้