|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หลังจากโมโตโรล่าปิดกิจการในส่วนธุรกิจโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยมาเกือบ 2 ปี ข่าวคราวบริษัทแห่งนี้เหมือนจะเงียบหายไปด้วยเช่นกัน แต่หลังจากโมโตโรล่าบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกาปรับโครงสร้างใหม่และจะเริ่มใช้ในต้นเดือนมกราคม ทำให้โมโตโรล่าในเมืองไทยกลับมาเล่าเรื่องราวใหม่ๆ อีกครั้ง
ในงานเปิดตัวเล็กๆ ของกลุ่มธุรกิจโมโตโรล่า โซลูชั่นส์ บริษัท โมโตโรล่า (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปลายปี 2552 เพื่อแนะนำพอร์ตโฟลิโอโมบายล์ คอมพิวเตอร์ อีดีเอ 2 รุ่น ES 400 และ MC 65 ในตลาด ไทย เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเคลื่อน ไหวของกลุ่มโมโตโรล่าอีกครั้ง หลังจากที่ผ่านมาจะทำตลาดแบบเงียบๆ
หากย้อนอดีตไปไกลเกือบ 20 ปี บริษัท โมโตโรล่าในประเทศไทยมีชื่อเสียงในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคมและโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะตลาดโทรศัพท์มือถือโมโตโรล่าครองแชมป์อันดับหนึ่งเกือบ 10 ปี เพราะมีกลุ่มบริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือยูคอม และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคเป็นผู้จำหน่ายหลัก
ตอนนั้นราวปี 2535-2536 โทรศัพท์ มือถือมีราคาเครื่องประมาณ 1 แสนบาท หรือที่รู้จักและเรียกกันว่า “รุ่นกระติกน้ำ” เพราะมีรูปลักษณ์ขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก หากใครไม่ใช่ระดับเศรษฐีก็มีโอกาสยากจะได้ครอบครอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโนเกียจากประเทศฟินแลนด์ก็เข้ามาเบียดตลาดโมโตโรล่า และคว้าแชมป์ไปครองมาจนทุกวันนี้ ในขณะที่โมโตโรล่ายอดขายเริ่มลดลงเรื่อยๆ
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้โมโตโรล่ามียอดขายน้อยลง อาจเป็นเพราะว่าโทรศัพท์มือถือ มีแหล่งผลิตใหญ่จากประเทศจีนที่มีต้นทุนการผลิตต่ำเนื่องจากค่าจ้างแรงงานถูก จึงทำให้ราคาโทรศัพท์มือถือจากราคาที่ขายในระดับหนึ่งแสนบาท ลดลงมาเหลือไม่กี่หมื่น บาทในเวลาอันสั้น และปัจจุบันโทรศัพท์มือถือบางรุ่นมีราคาไม่ถึงหนึ่งพันบาท จึงทำให้โมโตโรล่าไม่คิดจะร่วมแข่งขันในตลาดที่มีกำไรน้อย
กลุ่มโมโตโรล่าจึงมีแนวคิดจะขายกิจการในส่วนกลุ่มธุรกิจโมบิลิตี้และโทรศัพท์มือถือก็อยู่ในธุรกิจนี้ เพราะโมโตโรล่ามองเห็นว่ากำไรจากโทรศัพท์มือถือลดน้อยลง แต่การแข่งขันจะเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบัน ธุรกิจนี้ก็ยังไม่มีนักลงทุนใดสนใจซื้อ
แต่โมโตโรล่าได้ตัดสินใจปิดธุรกิจในส่วนของโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนธุรกิจด้านเครือข่าย กลุ่มเทเลคอมได้ขายให้กับกลุ่มซีเมนส์ ประเทศเยอรมนี และย้ายพนักงานส่วนนี้เข้าไปทำงานในบริษัทซีเมนส์ด้วย
หลังจากที่บริษัท โมโตโรล่า (ประเทศ ไทย) ได้ปิดธุรกิจส่วนของโทรศัพท์มือถือส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทกลับมีกำไรอีกครั้ง โดยเฉพาะการขายอุปกรณ์สื่อสารให้กับภาครัฐและองค์กรธุรกิจ
แม้ธุรกิจโทรศัพท์มือถือจะปิดกิจการไปแล้วก็ตาม แต่โทรศัพท์มือถือโมโตโรล่ายังมีจำหน่ายในตลาดประเทศไทยประปราย โดยมีตัวแทนจำหน่ายหลักคือ บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) ที่มีร้านค้าจำหน่ายโทรศัพท์มือถือกว่า 210 แห่ง
ทว่าปัจจุบันบริษัท เจมาร์ทได้หยุดขายโทรศัพท์มือถือโมโตโรล่าชั่วคราว เพราะ เห็นว่าคุณสมบัติของโทรศัพท์โมโตโรล่ารุ่นใหม่ๆ ไม่เหมาะสมจะใช้ในประเทศไทย และสิ่งที่เจมาร์ทเป็นห่วงก็คือบริการหลังการขาย เนื่องจากการซื้อขายโทรศัพท์ของเจมาร์ทต้องติดต่อกับโมโตโรล่าในประเทศ สิงคโปร์โดยตรง เพราะสิงคโปร์มีหน้าที่ดูแลตลาดไทย จึงดูเหมือนว่าทุกอย่างมีกระบวนการขั้นตอนลำบากและยุ่งยาก
ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่โมโต โรล่าได้ตัดสินใจปรับโครงสร้างครั้งใหม่ของกรุ๊ปทั้งหมด หลังจากสหรัฐอเมริกาประสบ ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนักในปี 2551
โครงสร้างใหม่จะยังมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจโมโตโรล่าโซลูชั่นส์ และกลุ่มธุรกิจโมบิลิตี้ แต่จากนี้ไปบริษัทจะให้ความสำคัญและมุ่งเน้นทำธุรกิจกลุ่มโมโตโรล่า โซลูชั่นส์ เป็นหลัก
กลุ่มโครงสร้างธุรกิจใหม่เรียกว่า Enterprise Mobility Solutions หรือ EMS โดยมีกลุ่มย่อย 4 กลุ่มคือ กลุ่ม System Radio กลุ่ม PCR ว็อกกี้ ท็อกกี้ กลุ่ม Wireless Network กลุ่ม EMB หรือ Enterprise Mobility Business
จากเดิมได้แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มโมบายล์ กลุ่ม home & network กลุ่ม Government & Public Safety Business และกลุ่ม EMB หรือ Enterprise Mobility Business
จะเห็นได้ว่าโครงสร้างใหม่ของโมโตโรล่าได้ผนวกกลุ่มธุรกิจที่มีอยู่ทั้งหมดเข้าด้วยกัน และตัดธุรกิจที่ไม่สร้างกำไรออกไป เช่น ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่
สำหรับโครงสร้างใหม่ของกลุ่มบริษัท โมโตโรล่าจะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ต้นปี 2554 พร้อมกันทุกประเทศทั่วโลก
ศิวัจน์ โรจนศักดิ์ ผู้จัดการฝ่ายขาย ประจำประเทศไทยและอินโดจีน บริษัท โมโตโรล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพลักษณ์ของโมโตโรล่าคือการทำงานให้กับกองทัพสหรัฐฯ และรับใช้สังคม
เขาหมายถึงธุรกิจของโมโตโรล่าเริ่มต้นจากการผลิตอุปกรณ์สื่อสารให้กับกองทัพสหรัฐฯ การหวนกลับไปเริ่มต้นธุรกิจดั้งเดิมในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีสื่อสาร เป็นจุดแข็งของโมโตโรล่ามาตั้งแต่แรก และการมุ่งจำหน่ายสินค้าเป็นโซลูชั่น ทำให้ภาพของโมโตโรล่าเด่นชัดมากขึ้น
จุดเด่นของโมโตโรล่าอีกอย่างหนึ่งการมีศูนย์วิจัยและพัฒนากระจายอยู่ทั่วโลก 6 แห่ง คือ สหรัฐอเมริกา อิสราเอล โปแลนด์ อินเดีย จีน มาเลเซีย และมีโรงงานอยู่ 4 แห่ง คือ เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และมาเลเซีย ทั้งศูนย์วิจัยและโรงงานทั้งหมดจะยังเป็นฐานธุรกิจของโมโตโรล่าในอนาคต
ผลิตภัณฑ์ของโมโตโรล่าจะเน้นอุปกรณ์สื่อสารฮาร์ดแวร์ที่ผสมผสานซอฟต์แวร์ให้สามารถทำงานด้วยกันได้ในผลิตภัณฑ์เดียวกัน จึงทำให้โมโตโรล่าเสนอจุดเด่นว่าเป็นสินค้าแข็งแรงทนทาน ในขณะที่ซอฟต์แวร์สามารถรองรับระบบการทำงานได้หลากหลาย ดังนั้นสินค้าของโมโต โรล่าจึงเน้นไปยังกลุ่มเป้าหมายภาครัฐและองค์กรธุรกิจ
เหมือนดังเช่น บริษัท โมโตโรล่า (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดตัวโมบายล์ คอมพิวเตอร์อีดีเอ รุ่น ES 400 และ MC 65 เช่น โมบายล์ คอมพิวเตอร์ รุ่น MC 65 เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เป็นทั้งโทรศัพท์มือถือเคลื่อนที่ทำงานภายใต้ระบบ GPS
ขณะเดียวกันสามารถจัดเก็บข้อมูล และประมวลผลและเชื่อมต่อระบบเครือข่ายได้ทุกระบบ และเป็นอุปกรณ์ที่แข็งแรง ทนทาน สามารถตกจากที่สูงลงสู่พื้นคอนกรีตได้ 4 ฟุต สินค้ารุ่นนี้จึงเน้นเจาะกลุ่มธุรกิจที่เน้นทำงานนอกสถานที่
ความเคลื่อนไหวของโมโตโรล่า บริษัทยักษ์ใหญ่สื่อสารโทรคมนาคมที่มีอายุกว่า 80 ปี ได้เขย่าโครงสร้างใหม่เพื่อให้ระบบการทำงานมีความคล่องตัว โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างผลกำไรกลับสู่องค์กร
เรื่องราวใหม่ๆ ของโมโตโรล่าจะเริ่มต้นอีกครั้ง และไปพร้อมๆ กับวิกฤติของสหรัฐอเมริกาที่คาดเดาลำบากว่าจะเป็นเช่นใดต่อไป
|
|
|
|
|