|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
จากผลการสำรวจความเห็นของผู้บริหารระดับสูง ผู้เคยติดทำเนียบ 50 Role Model ของนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ได้สะท้อนบุคลิกของผู้นำในทศวรรษหน้าไว้อย่างน่าสนใจ โดยผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้เห็นพ้องต้องกันว่า ผู้บริหารจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ในการนำพาองค์กรให้เจริญเติบโต อย่างมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น คู่ค้า ลูกค้า และพนักงาน โดยสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนั้น ผู้บริหารจึงต้องหมั่นเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา หมั่นเปิดหูเปิดตาดูและศึกษาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
“ผู้บริหารต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เพราะเมื่อไรก็ตามที่คุณหยุด ขณะที่คู่แข่งกำลังเดินหรือวิ่งอยู่ มันจะทำให้เราล้าหลัง สุดท้ายคุณก็จะหายไปจากธุรกิจ” ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.
ขณะที่ตัน ภาสกรนที ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก. ไม่ตัน มองว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ จะส่งผลถึงความได้เปรียบในการแข่งขันด้านคุณภาพและต้นทุนในการผลิต รวมทั้ง ความก้าวหน้า ขณะเดียวกัน โลกแห่งการสื่อสารสังคมออนไลน์จะมีบทบาทในการดำเนิน ชีวิตของคนยุคใหม่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคในการแสวงหาแหล่งข้อมูลเพื่อเข้าถึงสินค้าและบริการ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้การบริโภคสื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างมากมายในทศวรรษหน้า
“ยุคเทคโนโลยีและโซเชียลเน็ตเวิร์กจะเชื่อมโยงคนบนโลกให้สามารถมีปฏิสัมพันธ์ กันเพียงแค่ปลายนิ้ว และในเวลาเดียวกันก็เป็นช่องทางใหม่ให้กับธุรกิจเพื่อแสวงหาโอกาส ในสังคมออนไลน์ ดังนั้น ผู้นำในทศวรรษหน้าจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและโอกาสที่ตามมา” นิวัตต์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย
ภายใต้การแข่งขันอย่างสูง ผู้นำองค์กรจำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการบริหาร จัดการ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ ตลอดจนแสวงหาโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ เสมอ เพื่อต่อยอดการเติบโตขององค์กร แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเป็นผู้ที่กล้าคิด กล้าตัดสินใจ พร้อมกับสามารถบริหารจัดการกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นให้ดีที่สุด
โลกการค้าเสรีได้เปิดโอกาสให้การทำธุรกิจเชื่อมโยงออกสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น ขณะที่คู่แข่งจากภายนอกก็สามารถหลั่งไหลเข้ามาสู่ตลาดภายในประเทศได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ผู้นำในทศวรรษหน้าจึงควรปรับตัวและนำพาองค์กรไปสู่การเป็น Global Enterprise รวมทั้งนำแนวทางปฏิบัติที่ดีของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จระดับโลกมาปรับใชักับธุรกิจไทย ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับวัฒนธรรม แนวคิด และความเป็นอยู่ของคนไทย
ไม่ว่าจะยุคสมัยใด เรื่องแบรนด์ยังคงเป็นเรื่องสำคัญต่อการทำธุรกิจในระยะยาว ดังนั้น ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการสร้างและรักษาความน่าเชื่อถือของแบรนด์ อันจะส่งผลต่อความจงรักภักดีของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ในอนาคต
นอกจากนี้ ผู้นำในทศวรรษหน้าจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการดูแลบุคลากรเห็น คุณค่าของผู้ร่วมงาน และสร้างระบบปฏิบัติการที่ดีและระบบการสื่อสารภายในองค์กรที่ดี เพื่อให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดบรรยากาศที่ดีในการทำงานเป็นทีมและทำงานได้อย่างมีความสุข ตลอดจนต้องหมั่นหาแนวทางพัฒนาคุณภาพของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พนักงานและองค์กรเติบโตไปด้วยกัน
อีกคุณสมบัติหนึ่งที่ผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการนำ พาธุรกิจให้เจริญเติบโต นั่นคือความมีคุณธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงควรเป็นผู้มีบทบาทในการนำความเปลี่ยนแปลงที่ดีมาสู่สังคม เนื่องจากทุกวันนี้สังคมโลก เรียกร้องให้ธุรกิจตระหนักในการบริหารงานอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล
“ผู้นำควรมีส่วนช่วยผลักดันให้สังคมมีความเจริญอย่างสร้างสรรค์ ทั้งทางด้าน ศีลธรรม ความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อม” สุพล วัธนเวคิน ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน ให้ข้อคิด
ขณะเดียวกันธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร ซีพีกรุ๊ปได้สะท้อนบุคลิกของผู้นำในอุดมคติขององค์กรอย่างซีพี ว่าควรต้องเป็นคนใจกว้าง เสียสละ ยอมเสียเปรียบ คิดถึงประโยชน์ของคนอื่นก่อน รู้จักให้อภัย และที่สำคัญต้องรู้จักตอบแทนบุญคุณ
“ถ้าคนที่ไม่รู้จักตอบแทนบุญคุณ เก่งอย่างไรก็หมด ยิ่งเก่งยิ่งหมดตัว” ธนินท์ฝากไว้
ส่วนก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ได้ให้ทัศนะถึงผู้บริหารธุรกิจไทยในทศวรรษหน้า ว่าควรมีบทบาทในการช่วยเหลือสังคมและร่วมพัฒนาประเทศชาติเป็นสำคัญ โดยไม่ควรมุ่งหวังกำไรแค่เพียงอย่างเดียว แต่ควรส่งเสริมและสนับสนุนระบบคุณธรรมและจริยธรรมแก่สังคมไทย ดังนั้น องค์กรธุรกิจในทศวรรษหน้าจึงควรมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อสังคมและประเทศชาติ
อย่างไรก็ดี ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ให้มุมมองเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้นำองค์กรที่ดี ว่าควรต้องรู้จักวิธีการคิดอย่างเป็นระบบ รู้จักวิเคราะห์เหตุและผลที่เหมาะสม รู้จักการวางแผน เพื่อที่จะทำให้งานบรรลุตามเป้าหมาย ดังนั้น การเตรียมตัวเพื่อเป็นผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่ต้องเรียนรู้งานขององค์กรตนเองทุกด้านอย่างละเอียด เพราะผู้บริหารจะต้องบริหารในภาพรวมและคอยชี้แนะ แก้ไขปัญหา รู้จักจุดอ่อน จุดแข็งขององค์กร เพื่อกำหนดทิศทางให้ถูกต้อง และที่สำคัญต้องเป็นคนที่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และกล้าตัดสินใจสร้างความเปลี่ยนแปลง
สำหรับ Role Model อันดับ 1 ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา อย่างบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย ให้มุมมองเกี่ยวกับผู้บริหารในทศวรรษ หน้าที่ควรค่าแก่การเป็นต้นแบบให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ ควรมีคุณสมบัติ 4 ประการ ดังต่อไปนี้คือ นวัตกรรม, คุณธรรม, ความเสมอต้นเสมอปลาย และความเจียมตน
ทว่า ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ซับซ้อนเช่นปัจจุบัน บัณฑูรสรุปว่า เขาก็ยังไม่เห็นบุคคลใดที่มีคุณสมบัติครบพอจะเป็น Role Model ตามนิยามของเขา!!
|
|
|
|
|