ซอฟต์แวร์ในไทยจะถึงช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ประกาศใช้ในวันที่
21 มีนาคม 2538 "ผู้จัดการ" เสนอภาพการพลิกโฉมอย่างรอบด้าน รวมทั้งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
ทั้งเรื่อง "การ์ตูนญี่ปุ่น" "สุนทราภรณ์" และตลาดซอฟต์แวร์สำคัญในอนาคตคือ
"เกม"
21 มีนาคม 2538 จะเป็นวันที่ซอฟต์แวร์ของไทยถูกวางกติกาอย่างชัดเจน ภายใต้การประกาศใช้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฉบับใหม่
ที่กำหนดให้ซอฟต์แวร์จัดอยู่ในงานวรรณกรรม จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้
และผลพวงทางด้านการตลาดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป
ความเข้มข้นในกติกาของกฎหมายใหม่นี้เองที่จะเป็นกลไกสำคัญทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพตลาดซอฟต์แวร์
บุคคลในวงการคอมพิวเตอร์ทั้งหลายเชื่อมั่นว่า จะเป็นผลดีมากว่าผลเสีย เพราะจะเป็นตัวกระตุ้นอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยให้เติบโตขึ้นอีกมาก
ทั้งการหลั่งไหลของซอฟต์แวร์ต่างประเทศและการผลิตซอฟต์แวร์ขึ้นในไทย
ซอฟต์แวร์พีซีถูกก๊อบปี้มากที่สุด
การใช้ซอฟต์แวร์ของไทยในหลายปีที่ผ่านมา จะเป็นการนำเข้าซอฟต์แวร์สำเร็จรูปจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่การใช้ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทยยังมีอยู่น้อยมาก
ผู้ใช้ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นบุคคล บริษัท ห้างร้าน หรือแม้แต่หน่วยงานราชการมักนิยมการก๊อบปี้ซอฟต์แวร์
(Copy Software) ใช้งานแทบทั้งสิ้น เพราะราคาของซอฟต์แวร์ต้นฉบับ (Original
Software) ที่ราคาสูงกว่าซอฟต์แวร์ก๊อบปี้หลายเท่าตัว
แม้แต่ข้อตกลงในการซื้อขายเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ผ่านมา ซอฟต์แวร์ คือ "ของแถม"
ที่ผู้ค้าจะต้อง "ก๊อบปี้" ซอฟต์แวร์ให้กับผู้ซื้อโดยไม่ต้องคิดค่าใช้จ่าย
เรียกได้ว่าคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องของไทยจะต้องมีซอฟต์แวร์ก๊อบปี้บรรจุอยู่ไม่น้อยกว่า
4-5 โปรแกรมแทบทุกเครื่อง
กลุ่มพันธมิตรซอฟต์แวร์ของโลก หรือบีเอสเอ (Business Software Alliance)
เคยประเมินไว้ว่าประเทศไทยมีการก๊อบปี้ซอฟต์แวร์มากถึง 99% หรือประมาณ 3,325
ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดูน่าตกใจ แต่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย
และอินโดนีเซียแล้วไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก เพราะทั้งสองประเทศมีตัวเลขการก๊อบปี้อยู่ถึง
98% และ 99% เช่นเดียวกัน
ซอฟต์แวร์ที่มีการลอกเลียนแบบมากที่สุด คือซอฟต์แวร์ที่ทำงานบนเครื่องพีซีคอมพิวเตอร์
เนื่องจากใช้งานง่ายไม่ซับซ้อนมากนัก ส่วนซอฟต์แวร์ที่ทำงานบนเครื่องมินิและเมนเฟรมมักไม่มีปัญหาเรื่องก๊อบปี้
เนื่องจากเป็นซอฟต์แวร์เฉพาะด้าน ที่ต้องพัฒนาขึ้นเป็นพิเศษเพื่อให้เหมาะสมกับประเภทขององค์กรที่จะนำไปใช้
จากการคำนวณของชมรมผู้ค้า สมาคมคอมพิวเตอร์ไทย และสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์
ประเมินไว้ว่ามูลค่าของซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีในปี 2537 มีอยู่ประมาณ 1,469.6
ล้านบาท
ซอฟต์แวร์บนพีซีสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ซอฟต์แวร์ระบบ (System
Software) จะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของเครื่อง และซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application
Software) จะทำหน้าที่ตามลักษณะงานของผู้ใช้
ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการ (Operating System) เป็นหนึ่งในซอฟต์แวร์ระบบที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก
มูลค่าที่ประเมินไว้ในปี 2537 ของสมาคมคอพิวเตอร์ไทยมีอยู่ราว 26 ล้านบาท
ที่ผ่านมาระบบ MS-DOS ระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ ได้รับความนิยมมากที่สุด
เฉือนปฏิบัติการ OS/2 ของไอบีเอ็มไปอย่างขาดลอย
เมื่อปี 2535 ไมโครซอฟท์ยังได้พัฒนาระบบวินโดว์ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้ควบคุมการทำงานด้วยวิธีการแสดงคำสั่งเป็นรูปภาพ
ทำให้ง่ายต่อการใช้งานยิ่งขึ้น ความนิยมโปรแกรมวินโดว์ของไมโครซอฟท์จึงได้รับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เมื่อระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์สามารถยึดครองตลาดได้อย่างมากมายเช่นนี้
จึงเป็นเรื่องแน่นอนว่าปัญหาการถูกก๊อบปี้โปรแกรมของไมโครซอฟท์ย่อมเพิ่มตามไปด้วย
แม้ว่าในเครื่องคอมพิวเตอร์มียี่ห้อ (Brand Name) จะมีการติดตั้งระบบปฏิบัติการจำหน่ายมาพร้อมกับเครื่องอยู่แล้ว
แต่ยังมีผู้ค้าเครื่องพีซีประกอบเองที่ยังมีการก๊อบปี้กันอยู่เป็นจำนวนมาก
กังวาล กุศลธรรมรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล รีเสิร์ช
คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ไออาร์ซี) ตัวแทนจำหน่ายประเภทโออีเอ็มโปรดักส์ ของไมโครซอฟท์
ซึ่งเป็นการจำหน่ายซอฟท์แวร์ระบบปฏิบัติการ MS-DOS หรือ MS-Windows ให้กับผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ
กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่จะช่วยกระตุ้นยอดขายระบบปฏิบัติการให้เพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะผู้ค้าที่ประกอบเครื่องเอง ซึ่งเคยมีการก๊อบปี้ดอสหรือวินโดว์ให้กับลูกค้า
จะต้องหันมาซื้อซอฟต์แวร์มาตรฐาน (Original Software) อย่างถูกต้องแทน
ในอดีตการก๊อบปี้จากผู้ค้าดังกล่าวมีมากกว่า 50% ของตลาดรวมแต่เชื่อว่าอัตราดังกล่าวจะลดลงแน่
เพราะหลังจากการประกาศใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ไมโครซอฟท์จะทำการตรวจสอบแล้วว่าผู้ค้าฮาร์ดแวร์เหล่านี้ยังมีก๊อบปี้ซอฟต์แวร์อีกหรือไม่
เพราะหากยังมีการก๊อบปี้อยู่คงจะต้องดำเนินการทางกฎหมาย
กังวาลยังกล่าวด้วยว่า แม้ผู้ค้าจะหันมาซื้อซอฟต์แวร์มาตรฐานบรรจุในคอมพิวเตอร์
แต่ไม่ได้ทำให้ราคาฮาร์ดแวร์เพิ่มขึ้น เพราะซอฟต์แวร์ประเภทนี้จะมีราคาต่อหน่วยต่ำกว่าการขายปลีกให้กับผู้บริโภคอยู่มาก
อย่างไรก็ตามแนวคิดของกังวาลสวนทางกับผู้ค้าที่ประกอบเครื่องซึ่งต่างยืนยันว่าราคาของเครื่องพีซีประกอบจะต้องสูงขึ้นแน่นอนเพราะต้นทุนเพิ่ม
ซอฟต์แวร์อีกประเภทหนึ่งคือ ระบบเครือข่าย (LAN : Local Area Network)
เป็นอีก 1 ในซอฟต์แวร์ระบบที่ได้รับความนิยมเป็นจำนวนมาก จากการประเมินพบว่าในปี
2537 มีมูลค่าถึง 108 ล้านบาท เนื่องจากความนิยมการใช้ระบบเครือข่ายบนพีซีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันมีมากขึ้น
ระบบปฏิบัติการระบบแลน (LAN Work Operating) ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด
คงจะหนีไม่พ้นเน็ตแวร์ของโนเวลล์จากสหรัฐฯ ซึ่งส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 90%
ของมูลค่าตลาดระบบเครือข่าย
ที่ผ่านมาโปรแกรมดังกล่าวถูกก๊อบปี้กันอย่างแพร่หลายเช่นเดียวกับระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์
สำหรับซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือซอฟต์แวร์พื้นฐานที่ใช้ในสำนักงาน
ซึ่งจะประกอบไปด้วยซอฟต์แวร์ประมวลคำ (WordProcessing) ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการคำนวณ
และจัดตาราง (Spreadsheet) ซอฟต์แวร์โปรแกรมนำเสนองาน (พรีเซ็นเทชั่น) และซอฟต์แวร์ฐานข้อมูล
(Database)
ซอฟต์แวร์เหล่านี้ล้วนแต่ถูกก๊อบปี้ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย พีซีคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องล้วนมีโปรแกรมเหล่านี้บรรจุอยู่แทบทั้งสิ้น
ซอฟต์แวร์เหล่านี้ประมาณ 80% จะถูกบรรจุลงบนพีซี 250,000 เครื่องหรือคิดเป็นมูลค่าประมาณกว่า
100,000 ชุด ซึ่งการใช้งานส่วนใหญ่จะเป็นการก๊อบปี้แทบทั้งสิ้น
ผู้ผลิตซอผต์แวร์ได้แก้ไขปัญหาด้วยการออกโปรแกรมเป็นชุดที่จะมีซอฟต์แวร์เหล่านี้บรรจุอยู่รวมกันและขายในราคาที่ถูกกว่าการซื้อแยกชนิด
ชุดโปรแกรมไมดครซอฟท์ออฟฟิศของค่ายไมดครซอฟท์จะประกอบไปด้วยเอ็กเซล (สเปรดชีท)
ไมโครซอฟต์เวิร์ด (เวิร์ดโปรเซสซิ่ง) เพาเวอร์พ้อยต์ (พรีเซ็นเทชั่น) และแอคเซส
(ดาต้าเบส)
ชุดโปรแกรมสมาร์ทสูทรุ่นภาษาไทย ของค่ายโลตัส ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น
ประกอบไปด้วย โลตัส 1-2-3 (สเปรดชีท) ฟรีแลนซ์ (พรีเซ็นเทชั่น) เอมิโปร (เวิร์ดโปรเซสซิ่ง)
แอพโพรช 3.0 (ดาต้าเบส)
แม้ว่าราคาของชุดโปรแกรมเหล่านี้จะมีราคาถูกลงและได้รับความนิยมจากผู้ใช้พอสมควร
แต่การก๊อบปี้ยังแพร่หลายอยู่ เนื่องจากราคาระหว่างซอฟต์แวร์มาตรฐานและก๊อบปี้ยังแตกต่างกันอยู่มาก
ซอฟต์แวร์ทางด้านฐานข้อมูลและช่วยเขียนโปรแกรม (DBMS/Tools) เป็นซอฟต์แวร์ประยุกต์อีกชนิดหนึ่งที่มีมูลค่าสูงถึง
150 ล้านบาทในปี 2537
โปรแกรมสร้างฐานข้อมูลที่มีการใช้งานอยู่มากในเวลานี้ประกอบไปด้วย dBase,
FoxPro และ Access
ออราเคิลจากสหรัฐฯ เริ่มมีบทบาทในการพัฒนาซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลและช่วยเขียนโปรแกรมเครื่องพีซี
แทนที่จะเป็นเครื่องระดับมินิหรือเมนเฟรม ซึ่งคาดว่าออราเคิลจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น
อรวรรณ รัตนาวิญญู ผู้จัดการการตลาดและช่องทางจัดจำหน่าย บริษัทออราเคิล
ประเทศไทย กล่าวว่า ออราเคิลจะเพิ่มบทบาทในการพัฒนาซอฟต์แวร์ช่วยในการเขียนข้อมูลและซอฟต์แวร์ช่วยในการเขียนโปรแกรม
(Tool) ที่ทำงานบนเครื่องพีซีมากขึ้น และจะนำซอฟต์แวร์ประเภทดังกล่าวมากขึ้น
อาทิ เพอร์ซันแนล ออราเคิล 7 เป็นฐานข้อมูลสำหรับใช้งานบนพีซีซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับประกาศใช้กฎหมายลิขสิทธิ์พอดี
ซอฟต์แวร์ต่างชาติหลั่งไหลเข้าไทย
เมื่อซอฟต์แวร์บนพีซีถูกก๊อบปี้ใช้งานมากที่สุด การที่กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ออกมาจะเป็นแรงหนุนให้มูลค่าตลาดของซอฟต์แวร์บนพีซีขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต
บุคคลในวงการคอมพิวเตอร์เชื่อมั่นว่าหลังการประกาศใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่จะเป็นแรงหนุนให้มีอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยเติบโต
ทั้งซอฟต์แวร์จากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก
สังเกตได้ว่า บริษัทผู้ผลิตยักษ์ใหญ่จากต่างชาติหลายรายเพิ่มบทบาทการขยายการลงทุนด้วยการตั้งสำนักงานขึ้นในไทย
เริ่มจากออราเคิล ประเทศไทย และไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ล่าสุด โลตัส ผู้ผลิตซอฟต์แวร์อีกรายที่มีกำหนดตั้งสำนักงานในไทยแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์
2538 ตามมาด้วยโนเวลล์ที่มีกำหนดตั้งสำนักงานภายในปี 2539
ชูชาติ ใช้บุญเรือง ผู้จัดการทั่วไป บริษัทไทยซอฟท์ ตั้งข้อสังเกตว่า ไทยมีซอฟต์แวร์ชื่อดังจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดแทบครบทุกยี่ห้อแล้วยังขาดแต่เพียงออลตัส
ซึ่งเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์สร้างภาพ (Photoshop) ที่ใช้งานบนเครื่องแมคอินทอชเท่านั้นเมื่อกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ผ่านมาแล้วน่าจะมีซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ๆ
เข้าสู่ตลาดไทยเพิ่มขึ้นอีกมาก
จับตาตัวแทนขายกลไกสำคัญของตลาด
ตัวแทนจำหน่ายนับเป็นกลไกสำคัญส่วนหนึ่งของการขยายตลาดซอฟต์แวร์ทั้งจากต่างประเทศ
ไทยมีตัวแทนขายซอฟต์แวร์ประมาณ 150 ราย บทบาทที่แล้วมาของตัวแทนเหล่านี้
คือจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ พร้อมกับการร่วมมือกับผู้ผลิตพัฒนาโปรแกรมให้เป็นภาษาไทยซึ่งบางรายอาจมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ประยุกต์ขึ้นมาบ้างแต่มีไม่มากนัก
ไทยซอฟท์และเดอะแวลลู ซิสเต็ม สองผู้ค้าซอฟต์แวร์ของไทยที่สามารถคว้าสิทธิเป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ชื่อดังจากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมากผู้ค้าทั้งสองรายเตรียมขยายธุรกิจทางด้านนี้มากขึ้น
หลังกฎหมายลิขสิทธิ์ประกาศใช้
อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสิร์ช คอร์ปอเรชั่น หรือไออาร์ซี ผู้จำหน่ายและพัฒนาระบบภาษาไทยให้กับไมโครซอฟท์
อาร์ แล็บ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำหน่ายและพัฒนาซอฟต์แวร์ ควอตโตรโปร ฟอร์ วินโดว์
เป็นภาษาไทย ให้กับบอร์แลนด์ ช่องทางจัดจำหน่ายชนิดใหม่ๆ ที่เป็นร้านค้าซอฟต์แวร์โดยเฉพาะจะเริ่มมีให้เห็นในตลาดเมืองไทย
เริ่มจากร้านคอมสแควร์ อันเกิดจากการร่วมทุนกับบริษัททีเคเอส และบุกส์โปรโมชั่น
ซึ่งกำลังปรับเปลี่ยนจากร้านจำหน่ายหนังสือและอุปกรณ์ชิ้นส่วนไปเป็นร้านขายซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ
แผ่นซีดีและนิตยสารคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ และจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม
2538
สุพันธ์ มงคลสุธีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัททีเคเอส กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า หากไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทีเคเอสคงไม่กล้าเสี่ยงเปิดเป็นร้านค้าซอฟต์แวร์เพราะตลาดซอฟต์แวร์ก๊อบปี้ครองส่วนแบ่งตลาดสูงมากขนาดนี้
และที่สำคัญร้านคอมสแควร์จะเน้นการจำหน่ายซอฟต์แวร์บนเครื่องพีซีเป็นหลัก
โดยจะพยายามกวาดมาเข้าร้านให้ได้ทุกโปรแกรมที่มีอยู่ในตลาด
ราคามีแนวโน้มสูงขึ้น นิรโทษกรรมโปรแกรมสุดฮิต
"ราคา" เป็นกลไกสำคัญของการเกิดปัญหาในเรื่องของการก๊อบปี้ซอฟต์แวร์แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าหลังจากประกาศใช้กฎหมายจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ผู้ค้าซอฟต์แวร์เชื่อว่า กลไกตลาดที่เติบโตขึ้น ภายหลังการประกาศใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จะทำให้ราคาของซอฟต์แวร์ลดลง
เพราะเมื่อตลาดขยายตัวขึ้นการแข่งขันย่อมสูงตามไปด้วยและย่อมมีผลถึงการแข่งขันในเรื่องราคาเช่นเดียวกับสินค้าประเภทอื่นๆ
ทั่วไป
แนวคิดดังกล่าวนับว่าสวนทางกับปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ ที่เริ่มขยับขึ้นราคาซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นภาษาไทยไปบ้างแล้ว
โดยผู้ซื้อรายหนึ่งบอกว่า ราคาซอฟต์แวร์วินโดว์ ฟอร์เวิร์คกรุ๊ปของไมโครซอฟท์
ราคาขยับขึ้นไปแล้ว 10%
ตัวแทนจำหน่ายของไมโครซอฟท์รายหนึ่งกล่าวว่า การขึ้นราคาของไมโครซอฟท์อาจจะมีสาเหตุมาจากการที่ไมโครซอฟท์เคยยอมจำหน่ายซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นภาษาไทยในราคาถูกมานาน
แต่เมื่อมีกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ประกาศใช้ ถึงเวลาแล้วที่ไมโครซอฟท์จะขยับราคารุ่นภาษาไทยให้เท่ากับราคาของซอฟต์แวร์ต้นฉบับภาษาอังกฤษ
ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้ไม่ได้ถือว่าเป็นการขึ้นราคาแต่เป็นการขยับราคาให้เข้าสู่ภาวะปกติ
ขณะเดียวกันผู้ผลิตซอฟต์แวร์ค่ายอื่นๆ มีแนวโน้มว่าจะมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อสร้างแรงจูงใจในรูปแบบต่างๆ
สรุปได้ดังนี้คือ 1. โปรแกรมนิรโทษกรรมที่มีกำหนดให้ผู้ที่เคยก๊อบปี้ซอฟต์แวร์สามารถซื้อซอฟต์แวร์ต้นฉบับในช่วงเวลาที่กำหนดได้ในราคาพิเศษ
2. การให้จัดจำหน่ายในลักษณะการขายไลเซ่นส์ คือการซื้อซอฟต์แวร์มาตรฐาน
1 ชุด และผู้ผลิตจะอนุญาตให้ก๊อบปี้ได้ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้จะเหมาะกับสำนักงานหรือองค์กรที่มีการใช้งานเป็นจำนวนมากๆ
3. การลด แจก แถมสินค้า ไทยแอพพลิเคชั่น ซอฟต์แวร์ ประกาศที่จะทำโปรแกรมนิรโทษกรรมสำหรับซอฟต์แวร์
พาราดอกซ์ ภาษาไทยจำหน่ายในราคา 5,500 บาท รวมทั้งโปรแกรมดีเบส, พาสคาล ในช่วง
3 เดือนแรก
เช่นเดียวกับค่ายเดอะแวลลูที่จะมีโปรแกรมส่งเสริมการขาย และให้ความรู้ออกมา
แวลลูจะออกโปรแกรมนิรโทษกรรม (เอมเมสซีโปรแกรม) สำหรับซอฟต์แวร์เพรสซีโอที่จำหน่ายในราคา
3,000 บาท ปกติ 4,900 บาทในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2538
อย่างไรก็ตาม กระแสการขึ้นราคาซอฟต์แวร์มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ เมื่อมีกฎหมายมาเป็นผู้สร้างกฎเกณฑ์ให้
ผู้ผลิตที่เคยเสียประโยชน์เพราะโดนละเมิดมานาน เช่น ไมโครซอฟท์ เริ่มขยับขึ้นราคาซอฟท์แวร์ขึ้นไปแล้ว
ผู้ค้าเหล่านี้ หวังว่า การประกาศกฎหมายจะกระตุ้นตลาดซอฟต์แวร์มาตรฐานให้เติบโตขึ้นมา
โดยไม่ได้คาดหวังว่าจะมีถึง 100% แต่ขอเพียงแค่ 20-30% ก็พอแล้ว
ผลิตซอฟต์แวร์เกิดจริงหรือ
สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตซอฟต์แวร์ในไทย ผู้ค้าซอฟต์แวร์หลายรายเชื่อมั่นว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัญหาส่วนหนึ่งที่ไม่มีการพัฒนาซอฟต์แวร์คือการไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์คุ้มครอง
ไทยซอฟท์เป็นหนึ่งในผู้ค้าที่ประกาศตัวชัดเจนในเรื่องดังกล่าว การเคลื่อนไหวในเรื่องของการผลิตซอฟต์แวร์
แจ็ค มิน ชุน ฮู ได้เคยกล่าวไว้ว่า เมื่อกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ประกาศใช้เชื่อว่าตลาดซอฟต์แวร์จะเติบโตสูงถึง
200-300% ซึ่งบริษัทจะผลักดันในเรื่องของการพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นเอง ด้วยการจ้างแรงงานในต่างประเทศ
อาทิ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินเดีย ซึ่งมีค่าแรงราคาถูก เขียนโปรแกรมตามสเป็กที่กำหนด
เพื่อขจัดปัญหาค่าแรงงานของไทย และการขาดแคลนแรงงาน
"เราคาดหวังไว้ว่ายอดขายระหว่างการนำเข้าซอฟต์แวร์ และผลิต ซึ่งมีสัดส่วนถึง
85 : 15 จะเปลี่ยนเป็น 50 : 50" แจ็คกล่าว
ชูชาติ ใช้บุญเรือง ผู้จัดการทั่วไปไทยซอฟท์ กล่าวว่า การผลิตซอฟต์แวร์ของสหวิริยาคงจะเน้นในเรื่องของพัฒนาโปรแกรมบัญชี
(จีเนียส)
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทย ยังมัปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้องด้วยโดยเฉพาะปัญหาเรื่องบุคลากร
และความรู้ความสามารถซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญ
บทบาทการพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทยคงจะไปมุ่งเรื่องซอฟต์แวร์ประยุกต์ (แอพพลิเคชั่น)
หรือการร่วมมือกับผู้ผลิตซอฟต์แวร์จากต่างประเทศในการพัฒนาให้เป็นภาษาไทย
ณรงค์ อิงค์ธเนศ กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า แม้ว่าจะมีกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่แล้วก็ตาม
แต่แวลลูจะไม่ผลิตซอฟต์แวร์ขึ้นเอง จะคงบทบาทเป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น
โดยจะมีการร่วมมือกันในเรื่องของการพัฒนาภาษาไทย เพราะบุคลากรไม่พร้อม อีกทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดีควรจะพัฒนาที่ซอฟต์แวร์ระบบไม่ใช่การพัฒนาที่ตัวซอฟต์แวร์โปรแกรม
ซึ่งไทยก็ไม่มีความสามารถถึงในระดับนั้น
ธุรกิจฝึกอบรม-สัมมนาเฟื่อง
นอกจากนี้ผลกระทบอีกส่วนหนึ่งของกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่จะส่งผลให้เกิดธุรกิจการสอน
การฝึกอบรม และสัมมนาเติบโตเพิ่มขึ้นอีกมาก จากตัวเลขในปีที่แล้วธุรกิจในส่วนนี้มีถึง
570 ล้านบาท
ศันษนีย์ อัษฎาธร กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยแอพพลิเคชั่น ซอฟท์แวร์ กล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่าธุรกิจเหล่านี้เป็นมูลค่าเพิ่มที่แฝงมากับการประกาศใช้ของกฎหมายปัจจุบันมีผู้จัดงานสัมมนาในเรื่องเหล่านี้
จนกลายเป็นธุรกิจที่สามารถเก็บรายได้เป็นกอบเป็นกำ
ร้านค้าคอมพ์-ซอฟต์แวร์ เป้าหมายอันดับ 1
ร้านค้าฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ลอกเลียนแบบบนห้างสรรพสินค้า เช่น พันธุ์ทิพย์พลาซ่าและมาบุญครอง
จัดอยู่ในประเภท "บัญชีดำ" ที่จะถูกกวดจับเป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็นแหล่งกระจายซอฟต์แวร์ก๊อบปี้มากที่สุดแหล่งหนึ่งก่อนกฎหมายใหม่ประกาศใช้กลุ่มบีเอสเอเคยได้ดำเนินคดีกับร้านค้าก๊อบปี้ซอฟต์แวร์เหล่านี้ไปแล้ว
8 ราย ส่งฟ้องศาลไปแล้ว 2 รายและต่อมายอมความและยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการ
6 รายซึ่งจนป่านนี้ยังไม่มีบทสรุปว่าจะตัดสินอย่างไร
แหล่งข่าวจากกองกำกับการป้องกันและปราบปรามตำรวจเศรษฐกิจ (ศศก.) กล่าวว่าคดีตัดสินไม่ได้
เพราะกฎหมายเก่าคลุมเครือไม่มีการกำหนดซอฟต์แวร์ไว้ทำให้ผู้ต้องหาอีก 6 รายไม่ยอมความขอสู้คดีต่อ
แม้จะมีการกวาดจับกันไปแล้ว แต่ร้านค้าเหล่านี้ยังไม่เข็ดหลาบยังมีการรับก๊อบปี้ซอฟต์แวร์กันอย่างครึกโครมแต่เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเท่านั้น
แม้ว่าในอีกไม่กี่วัน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่จะประกาศใช้แล้วก็ตาม
ราชการ-องค์กรขนาดใหญ่ ปรับนโยบายรับลิขสิทธิ์
ในส่วนของผู้ใช้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง มีการประเมินว่าจะประกอบไปด้วย
1. กลุ่มผู้ใช้ที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ หน่วยงานราชการ เนื่องจากมีมูลค่าการใช้งานมหาศาล
และที่ผ่านมาก๊อบปี้ซอฟต์แวร์เป็นส่วนใหญ่
กลุ่มผู้ใช้ที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่รวมทั้งหน่วยงานราชการเริ่มเคลื่อนไหวที่จะมีการจัดซื้อซอฟต์แวร์มาตรฐาน
มาใช้งานแทนซอฟต์แวร์ลอกเลียนแบบที่ใช้งานแทน
บริษัทไมโครซอฟท์ได้จัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ให้กับองค์กรใหญ่ๆ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต
บริษัทน้ำมัน ธนาคาร ไปแล้ว รวมทั้งกลุ่มพีซีอยู่ระหว่างการสำรวจจำนวนคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานอยู่ทั้งหมดในเครือ
เพื่อจัดซื้อซอฟต์แวร์มาตรฐานมาใช้ในองค์กร ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดซื้อในลักษณะของการซื้อไลเซ่นส์เพื่อประหยัดต้นทุน
การที่บริษัทเหล่านี้ต้องหันมาใช้เงินลงทุนเรื่องซอฟต์แวร์มาตรฐานเนื่องจากเมื่อปลายปี
2537 ประธานกลุ่มบีเอสเอได้ประกาศกวาดล้างผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในส่วนของผู้ใช้รายใหญ่
หลังจากที่ได้กวาดล้างผู้จำหน่ายก๊อบปี้ซอฟต์แวร์ตามห้างสรรพสินค้ามาบุญครองและพันธุ์ทิพย์พลาซ่ามาแล้วตั้งแต่ในช่วงปี
2536-2537
สำนักงบประมาณจัดทำงบใหม่พ่วงซอฟต์แวร์
สำหรับหน่วยงานราชการเป็นลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ เพราะมีการจัดซื้อคอมพิวเตอร์เป็นจำนวนมาก
สำนักงบประมาณกระทรวงการคลัง ได้มีการจัดหาข้อมูลเพื่อจัดทำงบประมาณใหม่สำหรับปี
2539 ซึ่งจะเพิ่มงบประมาณการจัดซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์รวมอยู่ในการจัดซื้อระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานราชการต่างๆ
หลังจากที่ไม่เคยมีงบประมาณในส่วนนี้มาก่อน
แหล่งข่าวสำนักงบประมาณกล่าวว่า สำนักงบประมาณจะต้องมีการจัดทำข้อมูลเพื่อตั้งงบประมาณในส่วนนี้
โดยมีการสำรวจข้อมูลของหน่วยงานราชการทั้งหมดเพื่อจัดทำ รวมทั้งได้ทำการประสานงานกับผู้ผลิตในเรื่องของการจัดซื้อซอฟต์แวร์มาตรฐาน
"งบประมาณคงต้องเพิ่มขึ้น เพราะเราต้องเปลี่ยนเป็นซอฟต์แวร์มาตรฐานทั้งหมดแต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป"
แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับงบประมาณในปี 2539 ได้มีการจัดสรรงบไปแล้วจึงไม่ทัน หากหน่วยงานใดที่จัดซื้อคอมพิวเตอร์คงจะต้องตัดงบในส่วนอื่นมาใช้ในการซื้อซอฟต์แวร์แทนไปก่อน
โรงเรียนสอนคอมพ์ยอมซื้อของแท้พร้อมปรับราคาค่าเรียน
โรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์เป็นลูกค้าอีกกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบอย่างเต็มๆ
เพราะมีการก๊อบปี้ซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในการสอนเป็นจำนวนมาก
จักรวาล อินทรมงคล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ อีซีซี ประเทศไทย โรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ที่มีสาขา
28 แห่งและเตรียมขยายเพิ่มอีก 30แห่งภายในปี 2538 กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า อีซีซีได้เตรียมพร้อมเรื่องดังกล่าวมานานแล้วในเรื่องของการจัดซื้อซอฟต์แวร์ต้นฉบับ
มากกว่า 50% ของซอฟต์แวร์ที่ใช้งานอยู่เป็นซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์
ส่วนที่เหลืออยู่จะมีการเปลี่ยนให้เป็นซอฟต์แวร์ต้นฉบับทั้งหมดซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนอีก
10-20% ซึ่งจักรวาลยืนยันว่า ไม่มากนักเพราะเทียบกับสิ่งที่นักเรียนจะได้รับกลับมาจะมีมากกว่าในเรื่องของวิชาความรู้
เพราะซอฟต์แวร์ต้นฉบับจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้มีประสิทธิภาพมากกว่าซอฟต์แวร์ก๊อบปี้
ชัยวุฒิ จันมา ผู้อำนวยการฝ่ายวิชากการ สยามคอมพิวเตอร์ โรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์อีกแห่งที่มี
19 สาขา กล่าวว่า สยามคอมพิวเตอร์ประเมินไว้ว่าจะต้องใช้เงินลงทุนกว่า 10
ล้านบาท ในการจัดซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ประมาณ 80-90 โปรแกรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจัดซื้อในลักษณะของการซื้อไลเซ่นส์
เพราะต้นทุนจะถูกกว่า
คงไม่สามารถขึ้นราคาค่าเล่าเรียนได้ คงต้องมีแต่ลด เพราะราคาค่าเรียนในขณะนี้เฉลี่ยราคา
4,500 บาท ต่อ 1 หลักสูตรแล้ว ส่วนสาเหตุที่มีการตัดสินใจซื้อเพราะไม่อยากเสี่ยงกับกฎหมายและชื่อเสียง
สำหรับซอฟต์แวร์ที่จะมีการซื้อมากที่สุดคงหนีไม่พ้นโปรแกรมต่างๆ ของไมโครซอฟท์
เนื่องมีการใช้งานในท้องตลาดเป็นจำนวนมากนั่นเอง
ผู้ใช้ส่วนบุคคลไม่กระทบ
ในส่วนผู้ใช้ส่วนบุคคลคงจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะผู้ผลิตจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการกวดขันกันอย่างจริงจัง
ในระยะเริ่มต้นผู้ที่นิยมการก๊อบปี้ซอฟต์แวร์เหล่านี้คงจะหาแหล่งก๊อบปี้ได้ยากลำบากขึ้นบ้าง
การประกาศใช้กฎหมายจึงเป็นผลกระทบโดยตรงกับตลาดซอฟต์แวร์โดยรวมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ซึ่งผลลัพธ์ย่อมแตกต่างกันไปตามสภาวะแวดล้อมของแต่ละกลุ่ม แต่ที่แน่ๆ ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ยอดนิยมอย่างไมโครซอฟท์
และผู้ผลิตซอฟต์แวร์จากต่างประเทศอีกหลายรายคงงถึงเวลารับทรัพย์กันบ้าง หลังจากโดนละเมิดลิขสิทธิ์มานาน