05.30 น. วันที่ 18 กุมภาพันธ์ วงการรถยนต์ของไทย ต้อง สูญเสียบุคลากรผู้มากด้วยประสบการณ์ไปอีก
1 คน เมื่ออรรถพร ลีนุตพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร ยนตรกิจกรุ๊ป ได้เสียชีวิตลง
ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว
อรรถพร เป็นผู้ให้กำเนิดยนตรกิจกรุ๊ป จากร้านขายเศษเหล็ก และอะไหล่รถเก่าคูหาเล็กๆ
ในย่านเชียงกง ที่ชื่อ "ลี้เล้ง" จนเติบใหญ่ ขยายอาณาจักรมาเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์จากยุโรปถึง
9 ยี่ห้อ ในปัจจุบัน
เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยวัยเพียง 16 ปี โดยร่วมกับ อรรถพงษ์ น้องชายของเขาในการรับช่วงกิจการร้านลี้เล้งต่อจากบิดา
ในปี 2484
ปี 2492 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงไปแล้ว 6 ปี เขาและน้องชายเริ่มมองเห็นช่องทางขยายธุรกิจ
เริ่มจากการนำซากรถที่เหลือใช้ จากสงครามมาจากประเทศอังกฤษ ฮอลแลนด์ อิตาลี
และสิงคโปร์ มาดัดแปลงและปรับปรุงประกอบใหม่ เพื่อขายต่อ
เขาเริ่มก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจรถยนต์อย่างเต็มตัว เมื่อก่อตั้งบริษัท เอเซีย
มอเตอร์บางกอก จำกัด ขึ้น เพื่อนำรถยนต์บีเอ็มดับบลิวจาก ประเทศสิงคโปร์
เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย และประสบความ สำเร็จ รถที่สั่งเข้ามา มียอดขายขยายตัวในอัตราสูง
จนในปี 2504 บริษัทเบเยอร์ริช มอเทอแรนซ์ เวเคอร์ เอจี (บีเอ็มดับบลิว) แห่ง
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ก็ได้แต่งตั้งเขาให้เป็นผู้นำเข้า และ จัดจำหน่ายรถยนต์บีเอ็มดับบลิวอย่างเป็นทางการ
แต่เพียงผู้เดียว ในประเทศไทย
บริษัทยนตรกิจ ได้ถือกำเนิดขึ้นในปีนี้ เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว
จากร้าน "ลี้เล้ง" ต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็น "เล้งไทอู่หั่งกงสี่" และในปี
2504 ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งมาเป็นบริษัทยนตรกิจ จำกัด ทำหน้าที่ ตัวแทนจำหน่ายรถบีเอ็มดับบลิวแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
หลังจากนั้นมากิจการของยนตรกิจได้เจริญเติบโตขึ้นเป็นลำดับ
ปี 2515 ยนตรกิจได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย อย่างเป็นทางการของรถยนต์เปอโยต์
จากประเทศฝรั่งเศส อีก 1 ปี ต่อมาเขาก็ได้ตัดสินใจตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ขึ้นในประเทศไทย
ในนามบริษัทวายเอ็มซี แอสเซ็มบลี
"ตอนนั้น รัฐบาลกำหนดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับรถยนต์ นำเข้าสูงถึง 80% ส่วนรถยนต์ที่ประกอบภายในประเทศ
เก็บเพียง 33% หนทางเดียวที่จะสามารถดำรงอยู่ได้ในตลาดคือ การก่อตั้งโรงงาน
ประกอบรถยนต์ขึ้นเอง" แหล่งข่าวในยนตรกิจเล่ากับ "ผู้จัดการ"
โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 50 ไร่ ในเขตนิคมอุตสาหกรรม ลาดกระบัง
ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแหล่งประกอบรถยนต์หลัก เพื่อป้อน ให้กับบริษัทในเครือยนตรกิจกรุ๊ป
โดยรถยนต์รุ่นแรกที่ออกจาก สายการผลิตของโรงงานแห่งนี้ คือ บีเอ็มดับบลิว
520 หลังจากนั้น คือ เปอโยต์ 504 การรุกเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ของอรรถพร ยังคงดำเนินไปอย่าง
ต่อเนื่อง ปี 2519 เขาได้ลงทุนตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ รถยนต์ในนามบริษัทเอทีพี
อินดัสตรี
"ช่วงนั้นรัฐบาลได้วางมาตรการเพิ่มการบังคับใช้ชิ้นส่วนภายใน ประเทศ" แหล่งข่าวบอกเหตุผลของการตัดสินใจในครั้งนั้น
ปีเดียวกันยนตรกิจยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำเข้าและผู้จัด จำหน่ายอย่างเป็นทางการของรถยนต์ซีตรอง
และในปี 2527 ก็ได้ตั้ง โรงงานผลิตชิ้นส่วนตัวถัง ในนามบริษัทยนตรกิจอุตสาหกรรม
ช่วงปี 2520-2538 ยนตรกิจ ภายใต้การนำของอรรถพร และ อรรถพงษ์ น้องชาย เคยได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งรถยุโรปในประเทศไทย
โดยมีรถบีเอ็มดับบลิว เป็นสินค้าธงนำ
แต่หลังจากสัญญาณการตกต่ำทางเศรษฐกิจเริ่มปรากฏขึ้น ตั้งแต่ปลายปี 2538
ยอดขายรถบีเอ็มดับบลิว ก็เริ่มลดต่ำลง ซึ่งถือ เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของอรรถพรที่ต้องเผชิญ
เพราะหลังจากนั้นบีเอ็มดับบลิว จากเยอรมนี ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุน ตั้งโรงงานประกอบรถยนต์
และทำตลาดในประเทศไทยเองในปี 2541
แม้ว่าการตัดสินใจของบีเอ็มดับบลิวครั้งนี้ จะไม่ส่งผลรุนแรง ถึงขั้นทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างยนตรกิจกับบีเอ็มดับบลิวขาดสะบั้นลง
แต่ก็ทำให้อรรถพร และคนในตระกูลลีนุตพงษ์หลายคนเสียความรู้สึก กับบริษัทรถยนต์จากเยอรมนีแห่งนี้ไม่น้อย
เพราะทั้ง 2 กลุ่มได้ร่วม กันค้าขายในเมืองไทยมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี
ในช่วงนี้ทั้งอรรถพร และอรรถพงษ์ เริ่มมีอายุ และเริ่มปล่อยมือ จากการบริหารงานบริษัทในเครือลงไปมาก
รุ่นลูกของทั้ง 2 คน เริ่มเข้ามามีบทบาทในบริษัท โดยหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในช่วงนี้
เป็นลูกชายคนที่ 9 ของอรรถพร คือ วิทิต ลีนุตพงษ์
แต่ทั้งอรรถพร และน้องชายยังคงมีตำแหน่งเป็นประธาน กรรมการบริหาร และประธานกรรมการบริหารร่วมอยู่ในยนตรกิจกรุ๊ป
เพื่อนำประสบการณ์มาใช้ผสมผสานกับแนวความคิดในการบริหาร ธุรกิจของคนรุ่นใหม่
วิทิต เป็นคนเดินเกมแก้ปัญหาให้กับกลุ่มยนตรกิจ โดยการ เจรจาดึงโฟล์กสวาเกน
เอจี. ซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์จากเยอรมนีเช่นกัน ให้เข้ามาเป็นคู่ค้ารายใหม่แทนบีเอ็มดับบลิว
และในที่สุดรถในกลุ่ม ของโฟล์กสวาเกน ก็ได้กลายเป็นสินค้าหลัก ธงนำตัวใหม่ของยนตรกิจ
ในขณะนี้
ตลอดเวลากว่า 50 ปี ในการสร้างอาณาจักรยนตรกิจให้ เติบใหญ่มาได้จนถึงขณะนี้
อรรถพรถือเป็นบุคคลที่ทำงานหนักมาก แต่ค่อนข้างจะโลว์โปรไฟล์ เขาเปิดตัวต่อสาธารณะน้อยมาก
"ผมไม่อยากเป็นข่าว ไม่อยากพูดเรื่องตัวเอง เพราะคนอื่นเขา อาจหมั่นไส้
ผมชอบอยู่เฉยๆ ทำงานของผมไปเรื่อยๆ มากกว่า" เขาเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้
วันนี้อาณาจักรยนตรกิจกรุ๊ปของเขาเป็นตัวแทนจำหน่าย รถยนต์จากยุโรปถึง
9 ยี่ห้อ ประกอบด้วยโฟล์กสวาเกน ออดี้ เซียท สโกด้า เปอโยต์ ซีตรอง เกีย
โรลส์รอยซ์ แอนด์ เบนท์ลีย์ และบีเอ็ม ดับบลิว มีบริษัทในเครือมากกว่า 20
แห่ง และมีตัวแทนจำหน่ายถึง 84 แห่งทั่วประเทศ การจากไปของเขาในวันนี้ ไม่ได้ทิ้งภาระไว้ให้กับรุ่นลูกและหลาน
เพราะเป็นช่วงที่แต่ละคนก็เติบใหญ่ มีวุฒิภาวะพอที่จะตัดสินใจ ทางธุรกิจได้ด้วยตัวเองแล้ว