|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
พูดกันว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วก็คงเป็นปัจจัยสร้าง “วีรสตรี” หน้าใหม่ให้เข้ามาติดทำเนียบ TOP 10 Role Model ในปีนี้ ทั้งที่จริงแล้ว “ชฎาทิพ จูตระกูล” เป็นแม่ทัพฝีมือดีในธุรกิจค้าปลีกมานานแล้ว
จากความฝันที่อยากเป็นทหารหญิง วันนี้เธอกลายเป็นผู้บริหารศูนย์การค้าแถวหน้าของเมืองไทย
จาก 3 เดือนที่คุณพ่อขอให้เข้ามาช่วยทำบัญชีระหว่างพักฟื้น กลายเป็น 25 ปีที่เธอไม่เคยเสียใจที่ได้บริหารศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์ ให้กลายเป็น shopping destination ของเมืองไทยตลอดมา
จากที่เคยคิดว่าอยากทำงานสบายไม่กดดันมาก ไม่ต้องแข่งขันสูง วันนี้เธอ เป็นผู้บริหารศูนย์การค้าถึง 4 แห่ง มีพนักงานให้ต้องดูแลมากกว่า 3,500 ชีวิต และยังมีอีกหลายปากท้องของเจ้าของร้านค้าและครอบครัวให้ต้องห่วงใย
ปัจจุบัน ชฎาทิพ จูตระกูล ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และเป็นผู้บริหารศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน และพาราไดซ์ พาร์ค ซึ่งเพิ่งเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ทั้งที่ต้นปี สยามพิวรรธน์เพิ่งเจอวิกฤติหนักจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งทำให้หลายศูนย์การค้าในย่านนั้นต้องปิดให้บริการเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน
เฉพาะศูนย์การค้าภายใต้การบริหารของชฎาทิพ สูญเสียรายได้ไปกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งเธอมองว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นวิกฤติร้ายแรงที่สุดไม่ใช่เพียงในรอบ 25 ปีของการบริหารของเธอ แต่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 40 ปีของบริษัทสยามพิวรรธน์ ร้ายแรงกว่าครั้งที่สยามเซ็นเตอร์ถูกไฟไหม้ เมื่อปี 2538 ด้วยซ้ำ
แต่เพราะมีมหาวิกฤติครั้งนี้ หัวใจหญิงเหล็กของชฏาทิพจึงยิ่งดูโดดเด่น
ก่อนที่ห้างจะเปิดได้ ชฎาทิพเชิญสื่อมวลชนมาแถลงข่าวมาตรการกระตุ้นความมั่นใจของนักท่องเที่ยวและนักชอปและมาตรการเยียวยาช่วยเหลือบรรดาร้านค้า งบ 300 ล้านบาทที่เตรียมไว้สำหรับทั้งปี กว่า 1 ใน 3 ถูกเจียดมาใช้บรรเทาฝันร้าย ครั้งนี้ ความช่วยเหลือสภาพคล่องสำหรับผู้เช่าศูนย์เครือสยามฯ ในระยะสั้น เธอตัดสินใจเช่าพื้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และทองหล่อ มิดทาวน์ จัดงาน “S.O.S. Siam Super Sales” ก่อนที่จะมีการสลายการชุมนุมสำเร็จด้วยซ้ำ โดยไม่คิดค่าเช่าจากผู้ค้า
เดือนถัดมาแทบทั้งเดือน เธอเป็นเจ้าภาพจัดงาน “รวมพลคนรักสยามปฏิบัติการคืนรอยยิ้มให้กับคนไทย” นอกจากนั้นก็ยังมีมหกรรมเซลล์และทัวริสต์โปรโมชั่นอีกหลายครั้ง เพื่อกระตุ้นชีพจรการค้าของสยามให้กลับมาโดยเร็ว
ชฏาทิพยังเป็นหัวเรือใหญ่อีกคนในการเจรจาเรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อขอความช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับร้านค้าและกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งมาตรการระยะยาวในการป้องกันการชุมนุม ปิดพื้นที่ในย่านนี้
ในเดือนสิงหาคม ชฏาทิพเคลื่อน ไหวใหญ่อีกครั้งกับการเปิดศูนย์การค้า “พาราไดซ์ พาร์ค” ที่เธอทุ่มเทแรงกายแรงใจ และสมอง ซุ่มทำงานนี้อยู่นาน เพื่อเนรมิตห้างเก่าอย่างเสรีเซ็นเตอร์ให้กลายเป็น “สวนสวรรค์แห่งการชอปปิ้งของกรุงเทพฯ ย่านตะวันออก”
นี่เป็นโอกาสครั้งแรกของสยามพิวรรธน์ในการชิมลางเปิดศูนย์การค้านอก พื้นที่สยาม ซึ่งมีทำเลใจกลางเมืองเป็นแต้ม ต่ออยู่แล้ว และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ที่สยามพิวรรธน์ได้ร่วมงานกับพันธมิตรใหม่ คือ MBK โดยลงทุนกว่า 3 พันล้านบาทครั้งนี้ ถือเป็นโครงการใหญ่ของสยามพิวรรธน์หลังจากว่างเว้นการลงทุนใหม่มานานกว่า 5 ปี
โจทย์ที่ท้าทายชฏาทิพมากก็คือ เปลี่ยนห้างบ้านๆ ให้กลายเป็น “พารากอน” แห่งกรุงเทพฯ ตะวันออก และเพิ่มยอดลูกค้าที่เข้าห้างจาก 7 หมื่นคนต่อวันเป็น 1.5 แสนคน
แต่ที่ท้าทายกว่า ก็เพราะว่าแม้งานนี้เป็นการสร้างศูนย์การค้าใหม่ แต่ก็มีภาพ ความทรงจำดีๆ ของเสรีเซ็นเตอร์ที่เปิดมา นานถึง 15 ปีไว้คอยเปรียบเทียบ Before & After และภาพลักษณ์ “เทรนด์ เซตเตอร์” ของการเป็นผู้บริหารศูนย์การค้าสยามก็กลายเป็นความคาดหวังของลูกค้าที่ติดตาม ตัวเธอมายังห้างชานเมืองแห่งนี้ด้วย
นอกจากเหตุผลทั้งหมดข้างต้น บวกกับความเป็น “Perfectionist” ของชฎาทิพ นี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งบลงทุนในพาราไดซ์ พาร์คบานปลายจาก 2,500 ล้านบาท พุ่งขึ้นสูงกว่า 3,200 ล้านบาท
“อาจเป็นเพราะคุณพ่อสอนมาตั้งแต่เด็กว่า ทำอะไรแล้วต้องทำให้ดีที่สุด อย่าทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ถ้าทำดีที่สุดไม่ได้ก็อย่าทำดีกว่า ฉะนั้นเวลาทำอะไร เราก็เลยต้องดิลิเวอร์สิ่งที่คิดว่าดีที่สุดออกมาให้ได้”
นี่เป็นคำอธิบายจากชฎาทิพถึงที่มาของความนิยมในความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) ที่มักกลายเป็นเหตุผลของเงินลงทุนก้อนโตในหลายๆ โปรเจ็กต์ของเครือสยามฯ อันหมายรวมถึงการรีโนเวตสยามเซ็นเตอร์และสยามดิสคัฟเวอรี่หลายครั้งหลายคราว เพื่อให้คงภาพลักษณ์ของไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ ที่มีความเป็น “เทรนด์ เซตเตอร์” อยู่ตลอด เวลา
ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ข่าวความเคลื่อนไหวของสยามพิวรรธน์เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อชฎาทิพได้เปิดประตูห้างสยามดิสคัฟเวอรี่ต้อนรับพันธมิตรระดับโลก “เมอร์ลิน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ส กรุ๊ป” ที่นำเอาพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซมาเปิดที่นี่ ซึ่งนับเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน
“การลงทุนครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า สยามดิสคัฟเวอรี่ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ประกอบการระดับโลก”
ชฎาทิพเชื่อว่า ไม่ใช่แค่เธอ หรือสยามพิวรรธน์เท่านั้นที่มีสิทธิในความภาคภูมิใจครั้งนี้ แต่การเปิดตัวพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งชื่อดังระดับโลกครั้งนี้ ยังน่าจะเป็นความภูมิใจของคนกรุงเทพฯ และของคนไทยทุกคนด้วย
ไม่เพียง “มาดามทุสโซ” ชฎาทิพยังมีแผนจะเปิดภัตตาคารอาหารลอยฟ้า, “ไอซ์ แพลนแนท” ลานสเกตน้ำแข็งมาตรฐานโอลิมปิก และอีเวนต์ฮอลล์บนพื้นที่ของสยามดิสคัฟเวอรี่ ภายในปีนี้
นอกจากนี้ยังจะสร้างสถาปัตยกรรมสูงเทียบเท่าอาคาร 8 ชั้นด้วยวัสดุ “ETFE” ซึ่งใช้ในอาคารที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในมหานครระดับโลก อย่างวอร์เตอร์ คิวบ์ ในกรุงปักกิ่งมาไว้ด้านหน้าศูนย์ เพื่อให้เป็นไอคอนแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ และเพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ ความเป็นศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์ระดับโลก
ปีที่ผ่านมา นับเป็นอีกปีที่หนักหนาสำหรับชฎาทิพ เธอต้องทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ แทบทุกอาทิตย์มาเกือบตลอดปี เดือนสุดท้ายของปี เธอจึงใช้เวลาเดินทางไปพักผ่อนต่างประเทศกับครอบครัว นอกจากเพื่อทำหน้าที่แม่และภรรยาที่ดี แต่ยังถือเป็นการชาร์จแบตเพื่อเตรียมพร้อมกับการทำงานในปีนี้ ซึ่งเธอก็คงหวังว่าจะไม่หนักเท่ากับปีเสือดุ
ด้วยความเป็นหญิงแกร่งของชฎาทิพ ทำหน้าที่ได้ดีทั้งบทบาท “นักธุรกิจหญิงแถวหน้า” และ “ดอกไม้ประจำบ้าน” เธอจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจและ Role Model ของกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ผู้บริหารสาวแห่งโตชิบา
|
|
|
|
|