|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เรื่องบทบาทและสิทธิของผู้หญิงในสังคมยังคงเป็นปัญหาอยู่ในทุกประเทศ ผู้หญิงมีบทบาทและได้รับสิทธิที่จำกัดในสังคม เช่นในรัฐสภามีจำนวนผู้หญิงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หรือการทำงานในระดับผู้บริหารหรือระดับอาวุโสก็มีผู้หญิงเพียงแค่ไม่กี่คนที่ได้รับโอกาสเข้าไปทำงานในระดับนี้
ในแต่ละปี World Economic Forum ซึ่งเป็นองค์กรอิสระระหว่างประเทศจัดทำรายงานเรื่อง ช่องว่างระหว่างเพศจากทั่วทุกมุมโลก (Global Gender Gap Report) โดยสำรวจเรื่องบทบาทและสิทธิของผู้หญิงในทุกๆ ด้าน เช่น ด้านการเมือง การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ การศึกษาและสาธารณสุข ทั้งหมด 134 ประเทศ ซึ่งจากผลการสำรวจไอซ์แลนด์ยังคงรักษาอันดับที่หนึ่งไว้ได้ ซึ่งได้มาเป็นปีที่สองแล้ว และยังคงเป็นที่หนึ่งในสามด้านของเรื่องสิทธิสตรีกับการเมือง (Political Empowerment) การได้รับการศึกษาของผู้หญิง (Education Attainment) และการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของผู้หญิง (Labour Participation) เรียกได้ว่าไอซ์แลนด์เป็นผู้นำของโลกในเรื่องของสิทธิ ผู้หญิงเลยก็ว่าได้(1)
ถึงแม้ว่าไอซ์แลนด์จะเป็นประเทศเล็กๆ ในทวีปยุโรปที่มีประชากรเพียงแค่ 320,000 คน แต่ไอซ์แลนด์ก็เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีรายได้สูง คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนก็ดี และเป็นหนึ่งใน 33 ประเทศสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือที่เรียกว่ากันว่า OECD) ซึ่งประเทศสมาชิกล้วน แต่เป็นประเทศที่ร่ำรวยกันทั้งนั้น เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น ไอซ์แลนด์จึงถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจอยู่ในระดับดีเลยทีเดียว จึงไม่แปลกเลยที่รัฐบาลไอซ์แลนด์จะหันมาสนใจเรื่องต่างๆ ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตเพื่อทำให้ประเทศไอซ์แลนด์น่าอยู่มากยิ่งขึ้น
เรื่องสิทธิของผู้หญิงจึงกลายเป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสนใจ ด้วยการเพิ่มบทบาทและสิทธิของผู้หญิงในสังคมให้มีมากขึ้น โดยการออกนโยบาย และผ่านกฎหมายหลักๆ 4 อย่างด้วยกัน เพื่อทำให้ผู้หญิงกับผู้ชายมีความเสมอภาคกัน
1-ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้รับการศึกษามากขึ้น
รัฐบาลไอซ์แลนด์ได้พัฒนาคุณภาพการสอนในแต่ละโรงเรียนให้เท่ากันในแต่ละเมือง ทำให้ผู้หญิง ไม่ต้องย้ายเมืองหรือที่อยู่เพื่อเข้ามาเรียน ดังนั้น ในทุกระดับของการศึกษามีจำนวนนักเรียนหรือนักศึกษาผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น และปัจจุบันนี้จำนวนนักศึกษาผู้หญิงก็มีมากกว่าผู้ชายโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา
2-ออกกฎหมายเพื่อเพิ่มจำนวนผู้หญิงที่ทำงานในระดับอาวุโสหรือหัวหน้ามากขึ้น
เรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้หญิงในทุกๆ ประเทศไม่ค่อยมีโอกาสได้รับการเลื่อนขั้นขึ้นไปทำงานในระดับผู้บริหารหรือระดับอาวุโสเหมือนกับผู้ชาย เพราะหลายๆ บริษัทและองค์กรยังคงมีความเชื่อที่ว่าผู้ชายเท่านั้นที่มีศักยภาพและความสามารถ ในการเป็นผู้นำได้ และผู้หญิงคงไม่สามารถทำงานบริหารได้ดีเท่ากับผู้ชาย ดังนั้น เมื่อจำนวนผู้หญิงในไอซ์แลนด์ที่ได้เข้ารับการศึกษามีมากขึ้นและจบออกมามากกว่าผู้ชาย จึงไม่แปลกเลยที่รัฐบาลไอซ์แลนด์จะมีนโยบายเพิ่มจำนวนผู้หญิงที่ทำงานในระดับผู้อาวุโสหรือผู้จัดการมากขึ้น
รัฐบาลไอซ์แลนด์ได้ผ่านกฎหมายการกำหนด จำนวนผู้หญิงขั้นต่ำในบอร์ดบริหารของแต่ละบริษัทเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว โดยกำหนดไว้ว่า ก่อนวันที่ 1 กันยายน 2556 บริษัทที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป และมีผู้บริหารตั้งแต่สามคนขึ้นไป จะต้องมีจำนวนผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงอย่างน้อย 40% และสำหรับบริษัทที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 25 คนขึ้นไปจะต้องเปิดเผยจำนวนลูกจ้างทั้งหมดว่าเป็นผู้หญิงและผู้ชายกี่คนและทำงานอยู่ในระดับผู้บริหารเพศละกี่คน
3-สนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในการเมืองและมีจำนวนมากขึ้นในรัฐสภา
ปัจจุบันนี้ไอซ์แลนด์มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง คือ Johanna Sigurdardottir ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไอซ์แลนด์และเป็นผู้นำคนแรกที่เป็นเลสเบี้ยน Johanna ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาสองปีแล้ว ทำให้จำนวนผู้หญิงในรัฐสภาของไอซ์แลนด์มีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จาก 33% เมื่อปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 43% ภายในเวลา 2 ปี และในขณะเดียวกันจำนวนผู้หญิง ที่ได้เป็นรัฐมนตรีในไอซ์แลนด์ก็มีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน จาก 36% ในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 45% ในปี 2553 นอกจากนี้ไอซ์แลนด์ยังถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 5 ของโลกที่มีจำนวนผู้หญิงมากที่สุดในรัฐสภาซึ่งจัดทำโดยสหภาพรัฐสภา (The Inter-Parliamentary Union หรือที่เรียกกันว่า IPU)(2)
ดังนั้น ไอซ์แลนด์จึงมีจำนวนผู้หญิงและผู้ชายในรัฐสภาเกือบจะเท่ากัน และผู้หญิงกับผู้ชายก็มีอำนาจในทางการเมืองเกือบจะเท่าๆ กันเลย จึงไม่แปลกเลยที่รัฐบาลไอซ์แลนด์จะมีนโยบายต่างๆ ที่ออกมาเพื่อทำให้ผู้หญิงได้รับสิทธิและโอกาสต่างๆ เหมือนกับผู้ชาย
4-มีนโยบายการลาคลอดและการกลับมาทำงานอย่างดีเยี่ยมสำหรับผู้หญิง
เมื่อปี 2543 รัฐบาลไอซ์แลนด์ได้ผ่านกฎหมาย การลาคลอดบุตร โดยอนุญาตให้ลาคลอดบุตรได้ตั้งแต่ 3-9 เดือน ถ้าหากว่าคุณเป็นผู้ชายและภรรยาคลอดบุตร จะต้องลางานอย่างน้อยสามเดือนเพื่อกลับไปดูแลภรรยา และคนที่เป็นสามีไม่สามารถยกยอดวันหยุดทั้งหมดไปให้กับภรรยาได้ เท่ากับว่าผู้ชายก็จะถูกบังคับให้หยุดเพื่อไปดูแลภรรยาและลูกที่เพิ่งคลอด แต่รัฐบาลไม่ได้กำหนดว่าจะต้องลาหยุดทีเดียวสามเดือน ทั้งผู้ชายและผู้หญิงสามารถเลือกได้ว่าในระยะการลาหยุดสามเดือนต้องการที่จะลาตอนไหนบ้าง
เช่นผู้ชายอาจจะขอลาหยุดหนึ่งเดือนแล้วกลับมาทำงานอีกหนึ่งเดือนแล้วค่อยหยุดต่ออีกหนึ่งเดือนและทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งครบสามเดือนก็ได้ เพียงแค่จะต้องลาหยุดให้ครบสามเดือน และในระหว่างที่ลาหยุด ถ้าผู้ชายและผู้หญิงทำงานเต็มเวลาคือ 40 ชั่วโมงต่อหนึ่งอาทิตย์ ก็ยังจะได้รับค่าจ้าง 80% ของเงินเดือนปกติในช่วงเวลาที่ลาหยุดไป
หลังจากที่กฎหมายนี้ได้ประกาศใช้ ผู้ชายไอซ์แลนด์มากกว่า 90% รู้สึกดีใจมากๆ ที่ตัวเองจะได้มีวันหยุดเพื่อดูแลภรรยาและลูก
นอกจากนี้กฎหมายไอซ์แลนด์ยังระบุไว้อีกด้วยว่า ถ้าหากผู้หญิงที่ทำงานในบริษัทหรือองค์กรต่างๆ ลาคลอดบุตร เจ้าของบริษัทหรือหัวหน้าหน่วยงานไม่มีสิทธิ์ที่จะไล่พนักงานหญิงคนนั้นออก ถึงแม้ว่าจะลาคลอดบุตรเป็นเวลา 9 เดือนก็ตาม
กฎหมายนี้ทำให้ประเทศไอซ์แลนด์กลายเป็น ประเทศที่มีจำนวนผู้หญิงทำงานในบริษัทและองค์กรต่างๆ มากที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา
4-นโยบายและกฎหมายหลักๆ เหล่านี้ทำให้ ไอซ์แลนด์กลายเป็นประเทศที่ให้สิทธิกับผู้หญิงเกือบ จะเทียบเท่ากับผู้ชายในทุกๆ ด้าน และยังทำให้ไอซ์แลนด์กลายเป็นประเทศที่ผู้หญิงหลายๆ คนใฝ่ฝันที่จะย้ายมาอยู่ที่นี่ เพราะผู้หญิงจะได้รับโอกาส ที่สามารถทำทุกๆ อย่างได้เหมือนกับผู้ชาย
เมื่อมองย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทยเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า สิทธิผู้หญิงในบ้านเรายังคงห่างไกลกับไอซ์แลนด์อีกเยอะ ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 57 ซึ่งดีขึ้นมาสองอันดับจากเมื่อปีที่แล้ว เพราะจำนวนผู้หญิงในรัฐสภาและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมีเพิ่มมากขึ้น
แต่ปัญหาใหญ่สำหรับเมืองไทยที่ต้องรีบแก้ไขในตอนนี้เป็นเรื่องของจำนวนผู้หญิงที่ทำงานในระดับอาวุโสหรือระดับบริหาร ซึ่งประเทศไทยหล่นไปอยู่อันดับที่ 79 จากปีที่แล้วที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 60 เพราะมีผู้หญิงเพียงแค่ 24% เท่านั้นที่ได้รับโอกาสในการก้าวขึ้นไปทำงานในระดับผู้บริหารหรือระดับอาวุโส ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาล บ้านเราจะเริ่มหันมาให้ความสนใจและหาทางแก้ไขปัญหานี้แบบจริงจังสักที เพราะถ้ารัฐบาลไม่คิดจะแก้ไขปัญหานี้บ้านเราก็จะไม่สามารถลดช่องว่างระหว่างผู้หญิงและผู้ชายลงได้ เช่นรัฐบาลควรจัดตั้งกระทรวงสำหรับดูแลเรื่องปัญหาของผู้หญิงโดยเฉพาะเหมือนกับประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อทำหน้าที่แก้ไขปัญหาต่างๆ สำหรับผู้หญิงในสังคม เช่น Ministry of Women’s Affairs ในประเทศนิวซีแลนด์ ที่ตอนนี้พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องช่องว่างของรายได้
อย่างไอซ์แลนด์แม้ว่าจะเป็นประเทศที่ให้สิทธิผู้หญิงเกือบจะเทียบเท่ากับผู้ชายไอซ์แลนด์ ก็ยังคงมีปัญหาในเรื่องของช่องว่างของรายได้ระหว่าง ผู้หญิงและผู้ชายอยู่ ผู้หญิงไอซ์แลนด์ยังคงมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายอยู่ถึงแม้ว่าจะทำงานเดียวกันและมี คุณสมบัติเหมือนกัน ไอซ์แลนด์ถูก World Economic Forum จัดให้อยู่ในอันดับที่ 29 จากทั้งหมด 134 ประเทศ ในเรื่องความเสมอภาคของรายได้ระหว่างผู้ชายและผู้หญิง โดยผู้หญิงไอซ์แลนด์จะมีรายได้เฉลี่ย น้อยกว่าผู้ชายประมาณ 26% ของผู้ชาย
จากปัญหานี้ทำให้เรามองเห็นได้ว่าไอซ์แลนด์ ก็ไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่หนึ่งของทุกเรื่อง และไม่ได้ดีไปหมดในทุกๆ ด้าน เพียงแต่ว่ารัฐบาลไอซ์แลนด์ใส่ใจและจริงจังที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านี้เพื่อลดช่องว่างระหว่างผู้หญิงและผู้ชายลง ด้วยการผ่านกฎหมายและผลักดันนโยบายต่างๆออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มบทบาทและสิทธิของผู้หญิง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หญิงไอซ์แลนด์ดีขึ้นเรื่อยๆ
คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงหากผู้เขียนจะให้สมญานามไอซ์แลนด์ว่าเป็นดินแดนมหัศจรรย์ของผู้หญิง
ข้อมูลอ้างอิง
(1) World Economic Forum. (2010). The Global Gender Gap Report 2010, http://www.weforum. org/pdf/gendergap/report2010.pdf
(2) The Inter-Parliamentary Union. (September 2010). Women in national parliaments, http://www.ipu.org/wmn-e/classif.htm
อ่านเพิ่มเติม
- Invest in women-Do you see the opportunity? นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกันยายน 2553
- ทำงานเท่ากัน แต่ได้เงินน้อยกว่า นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2553
|
|
|
|
|