Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มกราคม 2554
ปากพาจนกับปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับนิวซีแลนด์             
โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
 


   
search resources

Political and Government




เนื่องจากคำพูดเป็นสิ่งหนึ่งที่เมื่อกล่าวออกไปแล้ว ไม่สามารถเรียกคืนกลับมา เมื่อพูดถึงการใช้คำพูดทำให้นึกถึงโคลงสี่สุภาพของสุนทรภู่ ซึ่งผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคงเคยได้ยินกลอนที่กล่าวไว้ว่า

อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก
แต่ลมปากหวานหูมิรู้หาย
แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย
เจ็บจนตายเพราะเขาเหน็บให้เจ็บใจ

การพูดโดยไม่คิดให้ถี่ถ้วนจะทำให้คนเขาโกรธ และถ้าโกรธแล้วย่อมทำให้เขาเจ็บใจ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ก็ตาม ผมเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นที่เห็นกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งของไทยเมื่อหลายปีก่อนที่ได้ชื่อว่าพูดเร็วแล้วทำให้กลับมาเป็นประเด็นทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอและได้สร้างศัตรูทางการเมืองจำนวนมาก นอกจากนี้แม้แต่รัฐมนตรีหรือ ส.ส.ในรัฐบาลและฝ่ายค้านหลายต่อหลายท่าน แม้ว่าจะมีผลงานดีขนาดไหนหากไปพูดให้ผิดใจต่างประเทศ สื่อมวลชน พรรคร่วมรัฐบาล หรือแม้แต่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองย่อมส่งผลให้เกิดศัตรูขึ้นมาได้อย่างไม่คาดฝันและอาจจะส่งผลถึงเสถียรภาพของทั้งตำแหน่งของตนเอง และของรัฐบาลได้

เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้วประเทศนิวซีแลนด์นั้นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่นักการเมืองหรือข้าราชการไม่ค่อยไปทำอะไรให้ต่างประเทศ เจ็บช้ำน้ำใจ เพราะนักการเมืองและนักการทูตค่อนข้างระมัดระวังการที่จะพูดเรื่องใดๆ ให้กระทบความสัมพันธ์ ยกเว้นแต่เรื่องรักบี้กับออสเตรเลียที่สองประเทศชอบที่จะบลัฟกันเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น แม้ว่านักการเมืองกับนักการทูตจะพยายามขนาดไหนก็ตาม ปัญหาระหว่างประเทศสามารถเกิดได้จากสื่อมวลชนเช่นกรณีหนังสือพิมพ์ในเดนมาร์กที่สร้างความไม่พอใจให้กับประชาคมมุสลิมโลก ขณะที่รัฐบาลเดนมาร์กพยายามที่จะระวังแล้วก็ตาม เพราะเสรีภาพของสื่อมวลชนในต่างประเทศนั้นสูงมากจนรัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้โดยง่าย

ในประเทศนิวซีแลนด์เองก็เช่นกัน แม้ว่าทางการทูตนิวซีแลนด์จะระมัดระวังมากขนาดไหนก็ตาม สื่อมวลชนก็สามารถทำให้เกิดปัญหาได้ ปัญหาหลักๆ ที่จะเกิดขึ้นคือการใช้ ภาษาที่ไม่ถูกกาลเทศะ เช่น การใช้ภาษาอังกฤษที่ไม่ทราบความหมายที่แท้จริง อย่างที่เรามักจะเรียกชาวผิวสีดำว่า นิโกร ซึ่งถ้านำไปใช้ในอเมริกาหรือยุโรปอาจจะถึงขั้นได้รับประทานกระสุนปืนเป็นอาหารได้ เพราะศัพท์ดังกล่าวเป็นคำดูถูกชาวอเมริกันหรือยุโรปที่มีเชื้อสายแอฟริกันอย่างร้ายกาจ หรือแม้แต่ยาสีฟันฝรั่งยิ้ม ยี่ห้อดาร์ลี่ ในอดีตยาสีฟันยี่ห้อดังกล่าวมีชื่อว่าดาร์กี้ มีสัญลักษณ์เป็นชาวแอฟริกันยิ้มโชว์ฟันขาว หรือที่รู้จักกันในชื่อ ไอ้ดำข้างกล่องยาสีฟัน ทำให้มีการเปลี่ยนชื่อและสัญลักษณ์บริษัทกันมาแล้ว พวกฝรั่งในอดีตก็สารพัดค้นหาคำพูดดูถูกคนต่างสีผิวเช่น นิโกร ดาร์กกี้

ชิง กู้ก แจ๊บ ซึ่งศัพท์เหล่านี้ต่างเป็นการสรรหาคำมาสร้างความร้าวฉานทั้งสิ้น นอกจากนี้บรรดาฝรั่งจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบของการใช้ภาษาที่ผิด ยกตัวอย่างเช่นอดีตนักวิเคราะห์ข่าวชื่อดังของนิวซีแลนด์ คือ พอล โฮล์ม ที่เผลอใช้ชื่อยี่ห้อยาสีฟันในอดีต เวลาพูดถึงอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ทำให้โดนถอดรายการมาแล้ว

แต่ที่ฮือฮายิ่งกว่าพอล โฮล์ม หลายเท่าคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์ข่าวชื่อพอล เฮนรี่ ซึ่งได้สร้างวีรกรรมที่เหลือเชื่อคือการสร้างศัตรูให้ประเทศนิวซีแลนด์เพราะความคึกคะนองของเขา ก่อนที่จะมาทำรายการโทรทัศน์ เฮนรี่เป็นพิธีกรรายการวิทยุชุมชน ก่อนที่จะผันตนเองเป็นนักจัดรายการวิทยุคลื่นเอฟเอ็ม ระดับประเทศ โดยมีแฟนรายการจำนวนมากที่ชอบการวิจารณ์การเมืองหรือเรื่องสังคมแบบถึงลูกถึงคนของเฮนรี่ ทำให้เขาได้เข้ามาเป็นพิธีกรร่วมในรายการเบรคฟาสต์ ซึ่งเป็นรายการวิเคราะห์ข่าวตอนเช้าของ ทีวีเอ็นแซด หรือโทรทัศน์สีช่องหนึ่งของนิวซีแลนด์ รายการเบรคฟาสต์ก่อนที่เฮนรี่จะเข้ามาทำนั้นเรียกได้ว่าเป็นรายการพิธีกรพูดจนลิงหลับ เพราะเป็นรายการที่น่าเบื่ออย่างเหลือเชื่อ เมื่อเฮนรี่เข้ามาร่วมทำรายการ เขาได้สร้างมิติใหม่ให้รายการคือ การเชิญนักการเมืองมาสัมภาษณ์และถามคำถามที่ตรงและแรงกว่าฝ่ายค้านในสภา ทำให้รายการได้รับความสนใจมากขึ้น

ต่อมาคือการเพิ่มความตลกร้ายเข้าไปเวลาวิจารณ์ข่าวทำให้รายการเบรคฟาสต์ของเฮนรี่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ตลกร้ายของเฮนรี่จะเป็นในแนว Dirty Joke หรือการพูดโพล่งๆ ในสิ่งที่คนส่วนมากคิด แต่ไม่กล้าที่จะพูดเช่น การวิจารณ์ NGO บางองค์กรตรงๆ ว่าไร้สาระ หรือการที่เขาโจมตีดารานักร้องหลายต่อหลายคน อย่างไม่กลัวใครโกรธ แต่แล้วเฮนรี่ก็จับของร้อนเข้าสองเรื่องที่ทำให้เขาโดนกดดันให้ออกในที่สุด

เรื่องแรกที่เฮนรี่โดนกดดันนั้นเกิดจากปากของเขาโดยตรง นั่นคือการวิจารณ์ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบทที่ 2 ประจำประเทศนิวซีแลนด์ คือ ท่านเซอร์อนันต์ ศัตยนันท์ แน่นอนครับ เมื่อท่านผู้อ่านได้ยินชื่อหลาย ท่านอาจจะสงสัยว่า ผู้สำเร็จราชการท่านนี้มีเชื้อสาย อะไร เพราะไม่ได้มีชื่อเป็นฝรั่ง แต่มีชื่อเป็นภาษาบาลี สันสกฤตแบบชาวไทยเรา แต่ไม่ว่าจะอยากรู้

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าประชาชนทั่วไปคงเกิดอาการอยากรู้แต่ไม่กล้าถาม อย่างไรก็ตาม พอล เฮนรี่ได้ยิงคำถามนี้ไปยังท่านนายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์ตรงๆ โดยแถมด้วยว่าตกลงท่านผู้สำเร็จราชการ เป็นชาวนิวซีแลนด์หรือไม่ ท่านนายกฯ ก็ตอบไปว่าเป็นเพราะควีนแต่งตั้งชาวนิวซีแลนด์ที่ทำคุณประโยชน์อย่างสูงให้เป็นองคมนตรีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่เฮนรี่นั้นดันถามต่อไปว่า ท่านนายกฯ คิดว่าผู้สำเร็จราชการคนต่อไปจะดูเป็น ชาวนิวซีแลนด์และมีชื่อเป็นชาวนิวซีแลนด์หรือไม่ ลงโดนถามแบบนี้เลยกลายเป็นวาระแห่งชาติเพราะท่านนายกฯ ต้องปรามเฮนรี่ว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องสูงและละเอียดอ่อน แต่ถึงกระนั้นฝ่ายค้านก็เอาประเด็นนี้มาโจมตีรัฐบาลเรื่องเหยียดสีผิว เพราะท่านผู้สำเร็จราชการ อนันต์ ศัตยนันท์ เป็นชาวนิวซีแลนด์เชื้อสายอินเดีย แล้วตรงไหนที่ไม่ได้เป็นชาวนิวซีแลนด์ เรื่องนี้มีการขยายผลหมิ่นเหม่ไปถึงความจงรักภักดีและหมิ่นสถาบัน แต่โชคดีที่ท่านนายกฯ เป็นรัฐบาลฝ่าย อนุรักษนิยมจึงรอดประเด็นเบื้องสูงไป และท่านนายกฯ ก็ออกมาให้ข่าวไม่พอใจพอล เฮนรี่ ส่งผลให้เฮนรี่โดนพักงานไปหลายอาทิตย์

แต่ความวัวยังไม่ทันหาย เฮนรี่ก็ไปหาเหาใส่หัวรอบสองหลังจากที่มีข่าวการแข่งกีฬาเครือจักรภพที่กรุงนิวเดลีออกไป ชาวไทยเราอาจจะไม่ค่อยเคยชินกับชื่อกีฬาเครือจักรภพ เพราะว่าการแข่งขัน Commonwealth Games นั้นเป็นมหกรรมกีฬาที่มีชาติเข้าร่วมจากทุกทวีป โดยเป็นประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เรียกได้ว่าความเป็นนานาชาตินั้นเป็นรองแค่โอลิมปิกเท่านั้น ในอดีตที่ผ่านมา กีฬาเครือจักรภพนั้นจัดแต่ในประเทศฝรั่งเช่น อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แต่แล้วประเทศมาเลเซียได้สร้างสีสันด้วยการที่จัดการแข่งขันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ และประสบความสำเร็จอย่าง งดงาม ทำให้ประเทศอินเดียเกิดแรงฮึด โดยได้รับสิทธิให้กรุงเดลีเป็นเจ้าภาพในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปรากฏว่าการดำเนินการเพื่อให้ทันเดลีเกมส์นั้นมีปัญหาตั้งแต่การก่อสร้างเชื่องช้า การจัดการมีปัญหา แม้แต่หมู่บ้านนักกีฬาก็ยังไม่ได้ตกแต่ง ห้องน้ำก็ใช้ไม่ได้ จนกระทั่งเจองูเห่าในห้องพักนักกีฬาในช่วงที่คณะกรรมการไปตรวจสอบ ทำเอาชาติต่างๆ พิจารณาเรื่องถอนตัวกันเป็นแถว และอาจจะทำให้ประเทศอินเดียเสียชื่ออย่างมาก เพื่อแก้ปัญหาให้ทันท่วงที รัฐบาลอินเดียได้แต่งตั้งนางเชลล่า ดิกสิท รัฐมนตรีว่าการกรุงเดลี (Chief Minister of Delhi) ซึ่งน่าจะเทียบเท่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในบ้านเรา เพราะกรุงเดลีเป็นเมือง ใหญ่ที่รัฐบาลอินเดียต้องให้ รมต.เข้ามากำกับดูแล

รัฐมนตรีดิกสิทได้เข้ามาแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและทำให้อินเดียพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพเพียงไม่กี่วันก่อนพิธีเปิด เรียกว่าเป็นฮีโร่มาแก้ปัญหาอย่างน่าทึ่ง แต่ที่ทำให้สื่อมวลชนสนใจมากกว่าคือชื่อของผู้ว่าราชการหญิงท่านนี้ เพราะแม้จะออกเสียงว่า ดิกสิท (Dixit) แต่ตัวสะกดออกมาว่า Dikshit ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านทราบภาษาอังกฤษจะทราบว่าคำว่า ดิก กับ ชิท นั้นเป็นแสลงของคำด่ายอดนิยม คือคำว่า ดิก ซึ่งแปลว่าอวัยวะเพศชายที่พูดแบบหยาบๆ เวลาทะเลาะกัน ส่วนคำว่า ชิท แปลว่า อุจจาระ หรือจะแปลว่า เฮงซวย ก็ได้ ซึ่งเป็นคำด่ายอดนิยมทีเดียว

แน่นอนครับชื่อของรัฐมนตรี เชล่า ดิกสิท โดนเอาไปล้อทางโทรทัศน์ในหลายๆ ประเทศรวมทั้งชาวอินเดียเองที่เก่งภาษาอังกฤษ อย่างเช่นออสเตรเลีย พิธีกรออสซีเอาไปถามทางรายการเพื่อความตลกและจงใจออกเสียงจากดิกสิท เป็นดิกชิท แต่เมื่อพอล เฮนรีเอามาออกอากาศในนิวซีแลนด์ เขาเล่นตลกที่เกินพอดี โดยเริ่มจากการจงใจออกเสียงแค่ดิกชิท ก็เรียกว่าแย่แล้วเพราะไม่พยายามเข้าใจความหมายของภาษาที่แตกต่างและยิ่งเฮนรี่คดีเก่าเรื่องไปถามสัญชาติของผู้สำเร็จราชการ ทำให้พิธีกรร่วมในรายการรู้สึกตะขิดตะขวงใจ และพยายามแก้ชื่อออกอากาศหลายหน แต่ถ้าทำเพียงเท่านั้นอาจจะไม่ร้ายแรงเท่ากับที่เฮนรีเอามุกล้อแขก มาเล่นด้วย โดยใช้คำว่าชื่อดิกชิทนั้นเหมาะสมมากเพราะเป็นชื่ออินเดีย เพราะว่าแขกนั้นเป็นพวก ดิก และ ชิท โดนพูดแบบนี้เข้าไป รัฐบาลอินเดียทำการประท้วงทันที โดยเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์โดนรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียเรียกไปรับหนังสือประท้วง นายกรัฐมนตรีและผู้สำเร็จราชการต้องเดินทางไปทำความเข้าใจกับรัฐบาลอินเดีย ว่าเป็นความเห็นของสื่อมวลชนเพียงคนเดียว

แต่ทางอินเดียก็เหมือนกับว่าจะไม่ยอมจบ ชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยพยายามเผยแพร่คลิปออกไปทางยูทูป ทำให้ ชาวอินเดียในประเทศต่างๆ เกิดความโกรธแค้นเป็นจำนวนมาก ถึงขั้นซัลโวประเทศนิวซีแลนด์เรื่องต่างๆ รวมถึงเรื่องเหยียดสีผิว ตามด้วยชาว อินเดียในนิวซีแลนด์ที่ออกมาแสดงความไม่พอใจและกดดันทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล เพราะทั้งสองพรรคต่างก็มี ส.ส.เชื้อสายอินเดียเท่าๆ กัน และรายการวิเคราะห์ข่าวของอินเดีย ได้นำเอานักข่าวเชื้อสายอินเดียจาก CNN, BBC หรือสื่อของเยอรมนีมาให้ความเห็น โดยผู้จัดรายการพยายามถามถึงความน่าจะเป็นที่จะปลดผู้สื่อข่าวที่เหยียดสีผิว ซึ่งกลายเป็นวาระแห่งชาติที่บรรดารัฐมนตรีและ ส.ส.ของอินเดียออกมากดดันรัฐบาลนิวซีแลนด์อย่างหนัก ทั้งๆ ที่ถ้าเรามองอย่างเป็นธรรมแล้วก็น่าเห็นใจทั้งอินเดียและนิวซีแลนด์ ที่เห็นใจอินเดียเพราะเขาอยู่ดีๆ ก็โดนด่า ตรงนี้น่าเห็นใจที่สุดเพราะเขาไม่ได้ไปทำอะไรนิวซีแลนด์ เลย แต่โดนด่าหน้าตาเฉย แต่ที่น่าเห็นใจนิวซีแลนด์เพราะว่าทั้งรัฐบาล ทั้งนักกีฬา ข้าราชการ นักการทูต ไม่ได้ไปว่าอินเดียเลย มีแค่นักวิจารณ์ข่าวปากเสียที่พูดเพราะความคะนอง แถมเป็นรายการอิสระที่ไม่ได้เป็นของรัฐบาลแต่อย่างใด ถ้ารัฐบาลไปถอดรายการออกก็จะผิดสัญญาและอาจจะโดนปรับเพราะว่าสื่อที่นิวซีแลนด์ นั้นเสรี เรียกได้ว่ากลืนไม่เข้าคายไม่ออก อย่างไรก็ตาม ทางผู้บริหารของทีวีเอ็นแซดได้ให้ข่าวในเวลาต่อมาว่า พอล เฮนรี่ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งและ TVNZ ไปแล้ว การลาออกดังกล่าวได้ลดแรงกดดันจากอินเดียลงได้อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมาคือความแตกแยก ในนิวซีแลนด์โดยความไม่พอใจของชาวนิวซีแลนด์เชื้อสายอินเดีย ทำให้ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องทำงานเพื่อความปรองดอง ทั้งสองฝ่ายต่างออกมาร่วมงานการกุศล หรืองานต่างๆ ที่เกี่ยวกับชาวอินเดีย เพื่อลดแรงกดดันจากชาวอินเดียในประเทศ แม้จะทำอย่างนั้นก็ตามกระแสแอนตี้ฝรั่งในนิวซีแลนด์ได้สร้างปัญหาไม่น้อย เช่นในงานประกวดนางงามอินเดียในนิวซีแลนด์ เมื่อลูกครึ่ง ฝรั่งได้รางวัลก็โดนโห่ไล่จากชาวอินเดีย แม้ว่ากลุ่มคนที่โห่ไล่จะโดนประณามทั้งจากชาวอินเดียและฝรั่งในนิวซีแลนด์เกี่ยวกับความใจแคบแต่นั่นเป็นปลายเหตุของปัญหาเพราะต้นเหตุของความขัดแย้งนั้นมาจากการพูดไม่ดีของสื่อมวลชน

เมื่อหันมามองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยในช่วงที่ผ่านมา ผมเองก็อดที่จะเป็น ห่วงไม่ได้ที่บรรดารัฐมนตรี ส.ส.และโฆษกแต่ละท่าน ที่ออกมาวิจารณ์กันอย่างน่าหวาดเสียว เพราะว่าถ้าเรามาคิดจริงๆ ว่าขนาดประเทศนิวซีแลนด์ที่อยู่โดดเดี่ยวกลางมหาสมุทรแปซิฟิกโดยไม่มีประเทศเพื่อนบ้านติดกันเลย นักการเมืองกีวีก็พยายามที่จะระมัดระวังคำพูดแล้ว สื่อมวลชนยังสามารถทำให้เกิดความวุ่นวายได้อย่างไม่น่าเชื่อ แล้วถ้าประเทศไทย ที่มีเพื่อนบ้านล้อมทั้งสี่ทิศยิ่งต้องควรที่จะระวังการพูดจาขนาดไหน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทั้งนักการเมืองและสื่อมวลชนของเราออกมาวิจารณ์ประเทศต่างๆ ทั้งเพื่อนบ้าน ประเทศต่างๆ ในโลกอย่างสนุกปากจนทำให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศต่างๆ ทั้งในระดับทวิภาคีหรือในวงกว้างกว่านั้นโดยที่เราไม่คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมทำให้เรามีศัตรูหรือประเทศที่ไม่เป็นมิตรจำนวนไม่น้อย โลกในศตวรรษที่ 21 นี้ ประเทศไทยไม่สามารถที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ ในอีกห้าปีข้างหน้าเราต้องปรับตัวให้เข้ากับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และในสิบปีข้างหน้าเราจะต้องก้าวไปเป็นประเทศหลักในเอเชียแปซิฟิกจากการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจตามมติของอาเซียนบวกสาม ดังนั้นการที่เราไปสร้างมิตรสิบประเทศนั้นก็ยังน้อยไป และการที่เราไปสร้างศัตรูแม้กับประเทศเล็กๆ เพียงประเทศเดียวก็มากจนเกินไป

สุดท้ายนี้ผมขอยกเอาคำกลอนของสุนทรภู่จากนิราศภูเขาทองมาเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่า

ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us