Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มกราคม 2554
การแพทย์แผนทิเบต พุทธธรรมคือยา             
โดย ติฟาฮา มุกตาร์
 


   
search resources

Health




ประสบการณ์ต่อการแพทย์แผนทิเบตของฉันครั้งแรก คือคราวที่ท้องเสียปางตายนอนซมอยู่ในเกสต์เฮาส์เล็กๆ ที่เมืองเคย์ลองในรัฐหิมาจัลประเทศทางตอนเหนือของอินเดีย คราวนั้นชาวบ้านผู้มีเมตตาพาฉันไปหาหมอทิเบต ซึ่งเปิดคลินิกอยู่ใกล้ท่ารถ หลังตรวจชีพจรอยู่ไม่กี่นาที โดยแทบไม่ได้ถามอะไร หมอก็จ่ายยาให้พร้อมกับบอกว่าตามธาตุของฉันแล้วไม่ถูกกับอาหารมัน ถั่วแดง และมันฝรั่ง ซึ่งก็คือจานที่ฉันกินเข้าไปก่อนท้องเสียนั่นเอง

แพทย์แผนทิเบตเป็นการแพทย์แผนเก่าแก่ที่แพร่หลายอยู่เดิมในรัฐต่างๆ ของอินเดีย ซึ่งผู้คนนับถือศาสนาพุทธธิเบต อาทิ แคว้นลาดักในรัฐจัมมู แคชเมียร์ เขตลาฮอล์สปิติในรัฐหิมาจัลประเทศ และรัฐเล็กๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างสิกขิม และอรุณาจัลประเทศ ต่อมาในปี 1959 เมื่อจีนส่งกองทหารเข้ายึดทิเบต ทำให้องค์ทะไลลามะที่ 14 ต้องเสด็จลี้ภัยมาประทับในอินเดีย และมีชาว ทิเบตอพยพตามเข้ามาอีกหลายระลอก การแพทย์แผนทิเบตก็ได้รับการฟื้นฟูและแพร่หลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตามหัวเมืองที่ชาวทิเบตเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ขณะเดียวกันรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตได้ก่อตั้ง The Tibetan Medical and Astrological Institute (Men-Tsee-Khang) ขึ้นในปี 1961 ที่ธรรมศาลา ปัจจุบันมีคลินิกสาขาอยู่กว่า 40 แห่งทั้งในอินเดียและยุโรป

แพทย์แผนทิเบตเป็นองค์ความรู้ที่ประสานอยู่ด้วยหลักอายุรเวทของอินเดีย การแพทย์แผนจีน และหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ตามประวัติแล้วถือกันว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนหลักการแพทย์ไปพร้อมกับหลักธรรมนับแต่ปฐมเทศนาที่สารนาถ ดังที่พระสูตรบางบทจากเทศนาธรรมครั้งที่หนึ่ง สอง และสาม รวมถึงบางส่วนของพระวินัย ถือเป็นหัวใจของตำราแพทย์แผนทิเบตที่เรียกกันว่า Four Tantras (rgyud-bzhi)

เมื่อสำรวจประวัติด้านการแพทย์พบว่ากษัตริย์ของทิเบตนับแต่อดีตมา ล้วนให้ความสำคัญ แก่ศาสตร์แขนงนี้ ดังที่ Songtsen Gampo กษัตริย์ ในช่วงศตวรรษที่ 7 ได้เป็นองค์อุปถัมภ์จัดให้มีการสัมมนาทางการแพทย์ โดยเชิญแพทย์ผู้เชี่ยว ชาญจากอินเดีย จีน เปอร์เชียมาแลกเปลี่ยนความรู้กับแพทย์ทิเบต บางแหล่งข้อมูลกล่าวว่า ครั้งนั้นมีแพทย์จากกรีซมาเข้าร่วมการสัมมนาด้วย ขณะเดียวกันพระมเหสีชาวจีนของพระองค์ยังนำตำราแพทย์แผนจีนมาเผยแพร่ และมีการแปลเป็นภาษา ทิเบต ต่อมาในศตวรรษที่ 8 ทิเบตเป็นเจ้าภาพ การสัมมนาทางการแพทย์อีกครั้ง นอกเหนือ จากแพทย์ทิเบต จีน อินเดีย และเปอร์เชีย ยังมีแพทย์จากเติร์กเมนิสถานตะวันออกและเนปาลมาสมทบ ในช่วงศตวรรษต่อๆ มา แพทย์ทิเบตผู้มีชื่อเสียงหลายท่านยังเดินทางไปศึกษาด้านการแพทย์เพิ่มเติมจากจีนและอินเดีย อาทิ Yuthog Yonten Gonpo ผู้ก่อตั้งสถาบันการแพทย์แห่งแรกของทิเบต ขึ้นในปี 763 และ Rinchen Zangpo ซึ่งถือเป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาระลอกที่สองสู่ทิเบต ก็เดินทางไปศึกษาพุทธธรรมพร้อมกับศาสตร์การแพทย์ที่แคชเมียร์ ในช่วงศตวรรษที่ 10-11

ตามทฤษฎีแพทย์ทิเบต สรรพสิ่งในจักรวาลรวมถึงร่างกายของคนเรา ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งห้า ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ และที่ว่าง โดยธาตุแต่ละชนิด มีอิทธิพลเด่นต่ออวัยวะและองค์ประกอบของร่างกาย เช่นที่ดินเป็นธาตุหลักของกระดูกและเซลล์กล้ามเนื้อ น้ำเป็นธาตุหลักของเลือด ลิ้น และประสาทรับรู้รส ไฟควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ผิวพรรณ และประสาทการเห็น ลมเกี่ยวเนื่องกับการหายใจและประสาทสัมผัส สำหรับที่ว่างถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของร่างกายและประสาทการรับเสียง

นอกจากนี้ยังมีหลักของพลังหรือ ‘nyepa’ ในภาษาทิเบต หมายถึงสิ่งที่เป็นโทษหรือเป็นพื้นเดิมของตัวเรา แบ่งออกเป็น 3 ชนิด เรียกว่า ลุง ตริปะ และเปกัน (แปลได้ว่า ลม น้ำดี และเสมหะ) ลุงมีลักษณะเด่นคือ หยาบ เบา เย็น และเคลื่อนไหว ตริปะมีคุณลักษณะร้อน คม กลิ่นฉุน และมัน ส่วนเปกันนั้นเย็น หนัก ทื่อ และเหนียว เมื่อเทียบพลังสามกับธาตุทั้งห้าจะพบว่า ลุงคือธาตุลมและที่ว่าง ตริปะคือธาตุไฟ เปกันคือธาตุดินและน้ำ

กระนั้นการแพทย์ทิเบตมักกล่าวถึงสุขอนามัยของคนไข้จากหลักของพลังสามมากกว่าธาตุทั้งห้า ทั้งมองต้นเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดความป่วยไข้ ว่ามีทั้งปัจจัยระยะสั้นและระยะยาว ปัจจัยระยะยาวก็คืออกุศลจิต โลภ โกรธ หลง ซึ่งมีผลต่อภาวะจิตใจ อารมณ์ ต่อเนื่องมาถึงร่างกาย ปกติแล้วความโลภจะไปกระตุ้นลุง โกรธจะเติมเชื้อแก่ตริปะ และความหลงจะชักนำเปกัน เป็นผลให้เกิดการเสียสมดุลทางจิตและกาย เป็นต้นตอของความป่วยไข้ซึ่งแสดงอาการแตกต่างกันไป ส่วนปัจจัยระยะสั้น ได้แก่ การบาดเจ็บทางกาย การกินอยู่ที่ไม่เหมาะควร การเปลี่ยนแปลงของกาล อากาศ เป็นต้น

สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรค แพทย์จะใช้การสังเกตสภาพร่างกาย ผิวพรรณ สีและลักษณะของปัสสาวะ ประกอบกับการจับชีพจร และซักถามถึงวิสัยการกินอยู่ไปจนถึงสภาวะจิตใจของผู้ป่วย

การหยั่งรู้ของแพทย์แผนทิเบตจากการจับชีพจรชวนให้ฉันอัศจรรย์ใจอยู่เสมอ โดยเฉพาะคราวที่ไปตรวจ สุขภาพที่สิกขิม หมอที่ตรวจครั้งนั้นเป็นแม่ชี อายุยังน้อย แต่ดูใจดีและรอบรู้ หลังจับชีพจรอยู่ครู่หนึ่งเธอถามฉันว่า เคยผ่านการผ่าตัดครั้งใหญ่ใช่หรือไม่ ฉันปฏิเสธ แต่เธอยืนยันว่าร่างกายของฉันเคยได้รับความกระทบกระเทือน ครั้งใหญ่ ทำให้การไหลเวียนของเลือดลมในร่างกายซีกซ้ายอ่อนแรงไป ซึ่งฉันเองก็สังเกตว่ามือและเท้าข้างซ้ายมักจะเย็นกว่าข้างขวา หลายวันต่อมาฉันถึงนึกขึ้นได้ว่า สองปีก่อนหน้านั้นฉันประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์คว่ำและหัวน็อกพื้นจนสลบไป

ในเรื่องนี้ สามเณรี ดร.เชริง พัลโม แพทย์แผนทิเบต ผู้ก่อตั้ง Ladakhi Nuns Association อธิบายว่า การจับชีพจร เหมือนกับการเฝ้าดูผืนน้ำที่ริมทะเลสาบ ระลอกคลื่นแม้เพียงริ้วเล็กๆ ที่กระเพื่อมมากระทบฝั่ง ก็ช่วยบอกได้ว่าเกิดอะไรอยู่ใต้ท้องน้ำหรืออีกฝั่งฟาก

แพทย์แผนทิเบตมองว่าจิตและกายเชื่อมโยงกัน ดังนั้นการเยียวยาจึงไม่ใช่แค่การรักษาตามอาการ แต่มุ่งที่ต้นตอหรือปัจจัยระยะยาว อย่างการปรับเปลี่ยนวิถีการกินอยู่ ต่อเมื่อไม่ได้ผลหรือจำเป็นต้องบรรเทาความเจ็บป่วยเบื้องต้น แพทย์จึงจะอาศัยวิธีการรักษาอื่น เช่น รักษาด้วยยา อาบน้ำแร่หรือแช่น้ำผสมสมุนไพร การนวด การฝังเข็มแบบทิเบต เป็นต้น

บ่อยครั้ง แทนที่จะจ่ายยาให้คนไข้ แพทย์จะแนะนำให้ทำบุญสงเคราะห์ผู้อื่น และฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนา หรือทำควบคู่ไปกับการรักษาทางอื่น เพราะการได้ช่วยเหลือผู้อื่นนอกจากจะทำให้จิตใจเราเบิกบาน ยังเปิดโอกาสให้เราเห็นทุกข์ของผู้อื่น และละวางจากทุกข์หรือความป่วยไข้ของตน ส่วนการปฏิบัติสมาธิภาวนา ย่อมช่วยขัดเกลาจิตลดจริตโลภ โกรธ หลง ทำให้จิตและกายคืนสู่สมดุล ซึ่งถือเป็นรากฐานของสุขภาพที่ดี

และด้วยแนวทางเช่นนี้ ย่อมกล่าวได้ว่าหลักทฤษฎีและยาที่แท้ของการแพทย์แผนธิเบต ก็คือพุทธธรรมนั่นเอง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us