|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
การมีบทบาทในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมช่วยเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้หญิง
Helen Clark อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ระบุก่อนการประชุมสุดยอดปัญหาโลกร้อนที่โคเปนเฮเกนเมื่อ 2 ปีก่อนว่า คนจนทั่วโลกคือผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากปัญหาโลกร้อน และในบรรดาคนจนเหล่านั้น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักกว่าใครคือผู้หญิง
รายงานเรื่อง Women, Gender Equality, and Climate Change ของสหประชาชาติระบุว่า ผู้หญิงมักต้องรับภาระหน้าที่ในการหาฟืน น้ำ และอาหาร สำหรับครอบครัว ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดจากปัญหาโลกร้อน ทั้งป่าที่หดหายจากการตัดไม้ทำลายป่า ความแห้งแล้ง ทะเลทรายขยายตัว ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลและระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง ทำให้ ผู้หญิงต้องพบความยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเสาะหาทรัพยากรมาเลี้ยง ครอบครัว ผู้หญิงจึงเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาโลกร้อน แต่ทว่ากลับไร้อำนาจที่จะปกป้องทรัพยากร ที่สำคัญกับตน
ผู้หญิงเป็นคนที่รู้ปัญหาโลกร้อนดีที่สุด เพราะได้รับผลกระทบโดยตรง จากแม่น้ำที่เป็นพิษ ป่าไม้ที่ถูกทำลาย และพืชผลการเกษตรที่เป็นโรค ขณะนี้บรรดาผู้นำรากหญ้าตั้งแต่แอฟริกาไปจนถึงเอเชียใต้ ต่างกำลังสอนให้ผู้หญิงเป็นผู้นำในการปกป้องน้ำ ไร่นาและต้นไม้ ซึ่งพวกเธอต้องอาศัยเลี้ยงชีพและครอบครัว
การเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้หญิงในลักษณะนี้ มีกำเนิดมาจากองค์กรเอกชนอย่างองค์กร Green Belt Movement ของ Wangari Maathai นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหญิงคนแรกของแอฟริกา ที่ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ Maathai ก่อตั้ง Green Belt Movement มาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เพื่อช่วยหญิงชนบทในเคนยา หลังจากที่เธอได้เห็นผลกระทบของการตัดไม้ทำลายป่า ที่มีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของหญิงชาวบ้านในเคนยา พวกเธอไม่มีฟืน ไม่มีน้ำสะอาด และไม่มีอาหารเพียงพอ “ขั้นแรกเราต้องเข้าไปคุยกับพวกเธอ และสร้างความมั่นใจว่า พวกเธอสามารถลงมือเพื่อทำให้อะไรๆ ดีขึ้นได้” Maathai ให้เงินเล็กน้อยแก่ผู้หญิงเพื่อให้ปลูกต้นไม้ และทำให้ชุมชนได้เห็นว่า ต้นไม้ที่ปลูกนั้นสามารถรักษาดินไม่ให้ถูกกัดเซาะได้ ทั้งยังเป็นการสร้างแหล่งอาหาร และทำให้สัตว์ป่ากลับคืนมา
Green Belt Movement ของ Maathai ประสบความสำเร็จอย่างดี แต่กลับสร้างความโกรธแค้นให้แก่ Daniel arap Moi ประธานาธิบดีเคนยาในขณะนั้น ซึ่งวงศาคณาญาติของเขาร่ำรวยขึ้นจากการตัดไม้ทำซุงและที่ดิน Maathai รอดชีวิตจากการถูกตำรวจทุบตีและการถูกจับขังคุก จากการประท้วงแผนพัฒนาที่ทำลายสิ่งแวดล้อมของ Moi และในปี 2004 Maathai กลายเป็นผู้หญิงแอฟริกันคนแรก และเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพอันทรงเกียรติ
แม้ว่า Maathai จะเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหญิงที่โดดเด่นที่สุดในแอฟริกา แต่ยังมีนักอนุรักษ์หญิงอีกหลายคนที่โดดเด่น ไม่แพ้เธอ Lucy Mulenkei ซึ่งเป็นชาวเคนยาเช่นเดียวกับ Maathai เป็นประธานเครือข่าย Indigenous Women’s Biodiversity Network ซึ่งสอนให้เกษตรกรรู้จักวิธีป้องกันการเสื่อมของดิน
ที่แอฟริกาใต้ Rejoice Mabudafhasi รัฐมนตรีช่วยว่าการหญิงแห่งกระทรวงน้ำและสิ่งแวดล้อมของแอฟริกาใต้ ให้เงินแก่ผู้หญิงเป็นค่าตอบแทนการทำความสะอาดแม่น้ำที่เต็มไปด้วยมลพิษ Fatima Jibrell ผู้บริหารกลุ่ม Horn Relief ในโซมาเลีย ช่วยเกษตรกรหญิงสร้างเขื่อนหินเล็กๆ เพื่อต่อสู้กับปัญหาขาดแคลนน้ำ และสอนการใช้เตาพลังแสงอาทิตย์ เพื่อลดควันจากคาร์บอนซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้หากสูดดมเข้าไป Bisi Ogunleye สมาชิก U.N. Earth Council ก่อตั้งเครือข่ายที่ช่วยให้ผู้หญิงไนจีเรีย เข้าถึงเงินกู้ microcredit เพื่อทำการเกษตรแบบยั่งยืน
การอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรม เป็นงานที่ Vandana Shiva นักอนุรักษ์หญิงจากอินเดีย ทำมาชั่วชีวิต Shiva เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Navdanya ในอินเดีย ซึ่งช่วยผู้หญิงอินเดียรักษาความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองต่างๆ ของอินเดียเอาไว้ ท่ามกลางบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่พยายามจะแทนที่พืชผลในท้องถิ่น ด้วยเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการตัดแต่งทางพันธุกรรมที่จดสิทธิบัตร ไว้ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรต้องจ่ายค่า royalty ให้แก่บริษัทเหล่านั้น
Shiva ทำงานด้านการอนุรักษ์มาอย่างยาวนาน ในทศวรรษ 70 เธอเข้าร่วมกับ Chipko movement ซึ่งช่วยผู้หญิงอินเดียต่อสู้กับบริษัททำไม้ซุงที่ทำลายป่า จากนั้น Shiva ไปช่วยผู้หญิงใน Kerala ประท้วงโรงงาน Coca-Cola ที่สร้างมลพิษแก่แหล่งน้ำ และช่วยชาวบ้านริมฝั่งทะเลที่สูญเสียแหล่งน้ำเพราะอุตสาหกรรม เลี้ยงกุ้ง รวมทั้งโครงการอื่นๆ อีกมากมาย Shiva กล่าวว่า ขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงได้ช่วยปกปักรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับทำให้พวกเธอมีอำนาจเพิ่มขึ้น ในการปกป้องชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองและครอบครัว
แนวคิดของ Shiva คล้ายกับ Bina Agarwal นักเศรษฐศาสตร์หญิงระดับรางวัลของอินเดีย ซึ่งศึกษาว่า ที่ดินและการตัดไม้ทำลายป่าส่งผลกระทบต่อผู้หญิงในชนบทอย่างไร Agarwal พบว่า การที่ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในการปกปักรักษาป่า มีประโยชน์ทั้งในด้านการอนุรักษ์ป่าและการรักษาความหลากหลาย ทางพันธุกรรม เพราะผู้หญิงมักมีความรู้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับพันธุ์พืช ซึ่งพวกเธอเก็บกินเก็บใช้อยู่ทุกวัน
ผลการวิจัยของ Agarwal พบว่า หากให้ผู้หญิงมีส่วนร่วม ในกลุ่มอนุรักษ์ป่าของชาวบ้านประมาณ 25-33% พวกเธอจะเป็นเสียงที่มีพลังมากในกลุ่ม และกลุ่มใดที่ผู้หญิงมีสิทธิ์มีเสียงมากมักสามารถช่วยปรับปรุงสภาพป่าได้อย่างมากและอย่างยั่งยืน แต่ Agarwal ชี้ว่า ปัญหาในขณะนี้คือ ผู้หญิงจะสามารถรักษาความเป็นกลุ่มก้อนนี้ได้นานเพียงใด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการปรึกษาหารือกันภายในครอบครัวของผู้หญิงและภายในชุมชน เพื่อหาการสนับสนุน แม้ว่าเรื่องนี้จะทำได้ยากขึ้น แต่ก็สามารถเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้หญิงได้ในระยะยาว
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค
|
|
|
|
|