ดร.อุดม หงส์ชาติสกุล ผู้อำนวยการโครงการเอแบค คอนซูเมอร์ อินเด็กซ์ บัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ และนายกสมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เผยถึงผลวิจัยสำรวจผู้บริโภคช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2553 ของผู้บริโภคระดับครัวเรือนทั่วประเทศ จำนวน 2,159 ครัวเรือน เกี่ยวกับการจับจ่ายใช้สอย การซื้อสินค้าที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และสินค้าคงทนอื่นๆ รวมไปถึงของขวัญในเทศกาลคริสต์มาสถึงปีใหม่ พบว่า ผู้บริโภคกว่า 59% มองว่าไม่เหมาะสม ส่วนผู้ที่ยังไม่แน่ใจมี 35.8% ขณะที่ผู้มีความเห็นว่าเหมาะสมในการซื้อสิ่งของเหล่านั้นมีเพียง 5.2%
ทั้งนี้ เมื่อสำรวจด้านรายได้ในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.53 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จะเห็นว่า กลุ่มตัวอย่าง 49.8% คิดว่าตนเองมีรายได้แย่ลง 41.9% คิดว่าทรงตัว และมีเพียง 8.3% เท่านั้นที่คิดว่ามีรายได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า ประชาชน 62.6% ไม่มีเงินออม ส่วนที่มีเงินออมมีจำนวนเพียง 37.4% โดยเป็นเงินออมในรูปแบบของการฝากธนาคาร ทำประกัน และซื้อสลากออมสิน ตามลำดับ โดยในช่วงพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้บริโภคจะใช้จ่ายเงินเพื่อซื้ออาหารเฉลี่ยเดือนละ 4,037-4,322 บาท รองลงมาคือการใช้จ่ายด้านเครื่องแต่งกายเดือนละ 1,168-1,382 บาท นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้บริโภค 58.8% มองว่าเศรษฐกิจของประเทศแย่ลง ส่วน 30% มองว่าเศรษฐกิจของประเทศทรงตัว และอีก 11.2% มองว่าเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจเบื้องต้นทำให้ประเมินได้ว่า สถานการณ์การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้จะทรงตัว หรือลดลงบ้างเล็กน้อย เนื่องจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการจับจ่ายมากขึ้น เพราะมองว่าเศรษฐกิจของประเทศยังชะลอตัว และได้รับการกระทบจากวิกฤตการเมืองกับปัญหาน้ำท่วม ทำให้เชื่อว่าช่วงเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่นี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับของขวัญ หรือสินค้าฟุ่มเฟือยอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง โดยอาจมีอัตราการเติบโตที่ลดลงหรือทรงตัว ทั้งนี้ ศิริชัย เลิศสิริมิตร นายกสมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทย และของตกแต่งบ้าน กล่าวว่า อุตสาหกรรมของขวัญ ของตกแต่งบ้าน ซึ่งอยู่ในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ ของขวัญ ของชำร่วย ของตกแต่งบ้าน มีตัวเลขการส่งออกประมาณ 23,000 ล้านบาท โดยช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมา มีการเติบโต 17% จากช่วงเดียวกันของปี 2552
|