|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เมื่อแฟรนไชส์เป็นทางเลือกของทั้งผู้ประกอบการที่คิดจะขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วและนักลงทุนหรือผู้ที่ต้องการหารายได้จากธุรกิจในแบบที่ไม่ต้องนับหนึ่งด้วยตัวเอง ด้วยเหตุนี้ การติดตามภาพรวมของธุรกิจแฟรนไชส์ว่ามีทิศทางความเคลื่อนไหวและแนวโน้มอย่างไร จึงเป็นประโยชน์ของทั้งสองฟากดังกล่าว ซึ่งการนำเสนอเนื้อหาในครั้งนี้เป็นการมองภาพรวมตลอดทั้งปีของปี 2553 ที่ผ่านมา และปี 2554 ที่กำลังมาถึง โดยเน้นไปในส่วนของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสนใจในการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ กับสถานการณ์และแนวโน้มของธุรกิจ
๐ ชี้ปัจจัยส่งอิทธิพลต่อการลงทุน
จากผลสำรวจปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสนใจในการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2553 โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เอ็น ซี กรุ๊ป พบว่า ธุรกิจที่มีผู้สนใจลงทุนเป็นอันดับหนึ่งคือ ธุรกิจเบเกอรี่ โดยปัจจัยแรกคือ สิ่งแวดล้อมทางการตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้น ซึ่งที่เห็นกันอยู่คือเบเกอรี่จากต่างประเทศที่เข้ามาสร้างกระแสให้เกิดการตื่นตัวมากขึ้น อย่าง คริสปี้ครีม ซึ่งส่งผลให้ตลาดในหัวเมืองใหญ่หันมาสนใจธุรกิจโดนัทมากขึ้น ปัจจัยที่สองคือ เงินลงทุนไม่สูง เฉลี่ย 2-3 ล้านบาทเท่านั้น ปัจจัยที่สามคือการคืนทุนที่ค่อนข้างรวดเร็ว โดยใช้เวลาประมาณ 2 ปีกว่าเท่านั้น ประกอบกับรูปแบบร้านที่ดูดีเป็นการสะท้อนภาพลักษณ์เชิงสังคมให้กับผู้ลงทุน
อันดับสองคือ ธุรกิจเครื่องดื่ม ซึ่งกาแฟยังเป็นตัวนำ โดยจากแบบสอบถามพบว่าคนอายุไม่เกิน 40 ปี ประมาณ 27% มีความสนใจมาก แต่กระแสในระยะนี้แผ่วลงไปบ้างทำให้ตกอันดับจากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับที่หนึ่ง เพราะนักลงทุนให้ความเห็นว่ามีร้านกาแฟที่เปิดอยู่เป็นจำนวนมากแล้วในตลาดมีการแข่งขันสูง ทำให้อัตราผลกำไรที่เคยสูงกลับลดต่ำลง นอกจากนี้ ยังหาความแตกต่างของแต่ละรายไม่ได้ทำให้ไม่รู้ว่าจะเลือกแบบไหนดี รวมทั้ง ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบที่ดีคือเมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิก้ามีราคาสูงขึ้น
อันดับสามคือ ธุรกิจร้านก๋วยเตี๋ยว ซึ่งนักลงทุนมีความต้องการชัดมาก แต่เนื่องจากยังไม่มีรูปแบบร้านที่ดีกว่าร้านรถเข็นหรือเหมาะสมกับความต้องการของนักลงทุน เพราะจากข้อมูลการสำรวจพบว่า 90% ของนักลงทุนที่สนใจในธุรกิจแฟรนไชส์จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี จากเดิมที่นักลงทุนกว่า 30% มีความรู้ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ดังนั้น เมื่อนักลงทุนมีการศึกษาสูงจึงต้องการลงทุนให้คุ้มกับเงินลงทุน เวลา และสถานะ นอกจากนี้ ยังพบว่า 26% ของผู้สนใจลงทุนเคยทำธุรกิจมาก่อน และ47% เป็นพนักงาน ชี้ให้เห็นว่าคุณภาพของนักลงทุนสูงขึ้น แฟรนไชส์ขนาดเล็กจึงไม่ค่อยได้รับความนิยม
พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทฯ เปิดเผยอีกว่า ส่วนธุรกิจเด่นที่ได้รับความสนใจตามมา คือ ธุรกิจไอศกรีม และธุรกิจอาหารไทย สำหรับธุรกิจไอศกรีมซึ่งนำโดย “สเวนเซ่นส์” มีผู้สนใจลงทุนมาก จึงส่งผลต่อภาพรวมของธุรกิจไอศกรีม แต่เพราะการลงทุนกับสเวนเซ่นส์ใช้เงินลงทุนสูง ขณะที่ “ไอเบอรี่” ซึ่งเป็นของคนไทยก็ลดการกระตุ้นในเรื่องของแฟรนไชส์ รวมทั้ง รายอื่นๆ ที่เคยผลักดันอย่างแรงก็ลดลงเช่นกัน เช่น ดรีมโคน เป็นต้น เนื่องจากโดยภาพรวมของธุรกิจนี้มีการแข่งขันรุนแรง ส่วนการที่ธุรกิจอาหารไทยได้รับความสนใจเป็นเพราะรายที่เปิดอยู่มีการเติบโตดี เช่น เชสเตอร์กริลล์ สามารถขยายแฟรนไชส์ได้เป็นร้อยสาขา ขณะที่ นักลงทุนเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะผู้บริโภคตัดสินใจซื้อง่าย
สำหรับธุรกิจที่ได้รับความนิยมลดลง คือธุรกิจการศึกษา จากเดิมที่ได้รับความนิยมในอันดับต้นๆ คือประมาณอันดับหนึ่งหรือสอง เหตุผลแรก เป็นเพราะนักลงทุนเห็นว่าบางแห่งลงทุนสูงบางแห่งลงทุนไม่สูง ไม่สามารถหาเหตุผลในการลงทุนได้ และผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คิด รวมทั้ง มีปัญหาให้เห็นเป็นระยะ เช่น มีการปิดตัวของผู้ประกอบการ เป็นต้น เหตุผลที่สอง มาจากความยากในการทำธุรกิจ เช่น ไม่สามารถหาบุคลากรมาดำเนินการ และเหตุผลที่สาม มาจากการที่สภาพตลาดเปลี่ยนไป เนื่องจากระบบการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการสอบเอ็นทรานซ์มีความสับสน ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคต่างจากเดิมเด็กนักเรียนเปลี่ยนไปเน้นเรียนเฉพาะวิชา ไม่เรียนหลายๆ วิชา
นอกจากนี้ คือธุรกิจแฟชั่น เช่น ร้านเสื้อผ้า ร้านเครื่องประดับ และร้านเครื่องสำอาง สำหรับธุรกิจร้านจำหน่ายเครื่องสำอาง ได้รับความนิยมลดลงจากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับที่สาม เพราะนักลงทุนเห็นว่าไม่สามารถแยกความแตกต่างของตัวผลิตภัณฑ์ระหว่างสินค้าทั่วไปที่ผลิตในประเทศกับสินค้าที่มีแบรนด์ และมีการหิ้วของจากต่างประเทศเข้ามาขายมาก รวมทั้ง ผู้บริโภคในปัจจุบันไม่มีความภักดีต่อแบรนด์ ทำให้ร้านที่เปิดเป็นแฟรนไชส์แข่งขันไม่ได้ ขณะที่ ธุรกิจร้านเสื้อผ้า ได้รับความนิยมลดลงเพราะสภาพเศรษฐกิจส่งผลให้ผู้บริโภคใช้จ่ายกับเสื้อผ้าน้อยลงเช่นเดียวกับเครื่องประดับ ส่วนธุรกิจบริการอื่นๆ มีรูปแบบของธุรกิจ (concept) ไม่แข็งแรง เช่น ร้านซักรีด เป็นต้น
๐ ฟันธง “ร้านอาหาร” มาแรง
“บริการ” หลากหลาย
ส่วนผลสำรวจสถานการณ์แฟรนไชส์ในปี 2553และแนวโน้มในปี 2554พบว่า อัตราการเติบโตของธุรกิจในปี 2553จะอยู่ที่ 11.7% โดยมีมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจกว่า 1.6 แสนล้านบาท มีธุรกิจแฟรนไชส์ 563 ราย และจากการคาดการณ์ในปี 2554 ธุรกิจแฟรนไชส์น่าจะมีอัตราการเติบโต 15% หรือมีมูลค่าตลาดรวมไม่น้อยกว่า 1.7แสนล้านบาท มีธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มเป็นประมาณ 600-650 ราย เพราะมีทั้งแฟรนไชส์รายใหม่และรายเก่าที่พัฒนาตัวเอง ซึ่งการเติบโตของธุรกิจจะเน้นไปที่ธุรกิจขนาดใหญ่ โดยมีความโดดเด่นอยู่ที่ “ธุรกิจอาหาร” เป็นหลัก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจเอื้ออำนวยทำให้มีอัตราผลกำไรสูงขึ้นและมีรายที่ปรับตัวไปอยู่ในระดับที่สูงขึ้น เช่น แฟรนไชส์อาหารญี่ปุ่น
นอกจากนี้ “ธุรกิจบริการ” จะมีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น เช่น แฟรนไชส์ธุรกิจรับสร้างบ้าน ซ่อมบ้าน ซ่อมรถ คาร์แคร์ กำจัดแมลง ร้านซักรีด ร้านหยอดเหรียญ และคอนวีเนี่ยนสโตร์ เนื่องจากการมีความพร้อมในการออกแบบรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์และสถานการณ์โดยรวมที่เหมาะสม ประกอบกับ ที่ผ่านมาความสำเร็จจากผู้นำเป็นตัวจุดประกายและตัวกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว เช่น พีดีเฮ้าส์แฟรนไชส์ธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่สามารถขยายได้กว่า 10 สาขา โดยใช้เงินลงทุนในธุรกิจสาขาละ 3-4 ล้านบาทหรือโมลิแคร์แฟรนไชส์ธุรกิจคาร์แคร์ พรู้ฟโค้ทแฟรนไชส์ธุรกิจรับซ่อมบ้าน
ขณะที่ แฟรนไชส์ธุรกิจซักรีดรายเด่นๆ จะกลับมาใหม่ แฟรนไชส์ธุรกิจตู้หยอดเหรียญจะเปลี่ยนรูปแบบ เช่น จากธุรกิจขายเครื่องกรองน้ำจะเกิดเป็นธุรกิจบริการจัดส่งน้ำดื่ม เป็นต้น รวมทั้ง ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนจะได้รับการตอบรับ และธุรกิจเสื้อผ้าระดับราคากลางๆ จะมีแนวโน้มดีขึ้น
สำหรับธุรกิจที่อาจจะมีความยากลำบากในปี 2554 คือธุรกิจประเภทบริการความงาม เช่น สปา ศูนย์ลดความอ้วน ร้านตัดผม คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวต่ำ เพราะตลาดอิ่มตัวจากการที่ได้มีการลงทุนไปมากแล้วก่อนหน้านี้ และนักลงทุนบางส่วนที่ไม่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินธุรกิจนี้จะหันไปสนใจธุรกิจอื่น โดยเฉพาะธุรกิจอาหารซึ่งเป็นธุรกิจพื้นฐาน
ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ที่สำคัญยังมาจากการผลักดันของธนาคารต่างๆ ที่นำร่องโดยธนาคารกสิกรไทยซึ่งตั้งวงเงินสินเชื่อถึง 3,000 ล้านบาทเพื่อให้สินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ตั้งแต่ 1-12 ล้านบาทโดยไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน นับเป็นแคมเปญที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนได้อย่างดี นอกจากนี้ธนาคารอื่นๆ กำลังเตรียมสินเชื่อให้กับธุรกิจแฟรนไชส์เช่นเดียวกัน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารออมสิน เป็นต้น รวมทั้ง การจัดทำไมโครไฟแนนซ์ของไปรษณีย์ไทยจะช่วยให้แฟรนไชส์ขนาดเล็กหรือไมโครแฟรนไชส์เติบโตตามไปด้วย
ที่ปรึกษาธุรกิจแฟรนไชส์แนะนำและเตือนว่า ในด้านของนักลงทุนควรจะต้องศึกษาหาความรู้ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน เนื่องจากการทำธุรกิจต้องใช้เวลาลงไปคลุกคลีไม่น้อย ซึ่งถ้าธุรกิจไม่สามารถก้าวไปได้จะทำให้เสียทั้งเงินและเวลา ส่วนด้านของผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจ ต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในปีหน้า เนื่องจากเมื่อภาพรวมของธุรกิจมีการเติบโตก็จะเกิดปัญหาเรื่องบุคลากร จึงต้องให้ความสำคัญด้วยการเน้นพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้น จะเกิดปัญหาการถดถอยของธุรกิจขึ้นได้จากการขาดความมั่นใจ และยากที่จะรื้อฟื้นให้กลับมาเหมือนเดิม เพราะธุรกิจแฟรนไชส์ต้องอาศัยความเชื่อมั่นเป็นหลักยึดระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อแฟรนไชส์
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการกระจายตัวของการลงทุน แต่หากภาครัฐไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการกำกับดูแลจะก่อให้เกิดปัญหาที่ยากจะแก้ไข ดังนั้น ภาครัฐจึงควรมีการป้องกันไม่ให้เกิดการผิดพลาดทั้งที่เกิดจากความไม่ตั้งใจและตั้งใจจะหลอกลวงของผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ เพื่อให้ธุรกิจแฟรนไชส์เติบโตไปได้อย่างราบรื่น
|
|
|
|
|