Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2538








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2538
หนูน้อย "ทริส" ถึงเวลาเข้าห้องสอบ             
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
 

 
Charts & Figures

ผลงานการจัดอันดับเครดิตของ "ทริส" (ณ วันที่ 10 มกราคม 2538)
การเติบโตอย่างรวดเร็วของ Bond Market


   
search resources

TRIS
ปิ่น จักกะพาก




ทริสคือสถาบันจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่คอยพิพากษาและให้คะแนน A B C D แก่คนอื่นมาตลอดหนึ่งปีครึ่ง จนกระทั่งน้องใหม่อย่างทริสถูก ปิ่น จักกะพาก แห่งกลุ่มเอกธนกิจ ประเมิน จึง "เป็นเรื่อง" ที่วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ เอ็มดีของทริสต้องเข้าห้องสอบบ้าง

"Uncomparable to International Perting"

ประโยคเจ็บๆ ของปิ่น จักกะพาก แห่งเอกธนกิจ ที่กล่าวประเมิน "ทริส" หรือ ไทยเครดิต แอนด์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับเครดิตน้องใหม่กลางที่ประชุมสัมมนาเรื่องการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ที่จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อาจจะเป็นทัศนะที่ถูกต้องเพียงครึ่งเดียว

ทั้งนี้เพราะอีกครึ่งหนึ่งเป็นความจริงที่ปิ่นได้ยอมรับว่า ทริสเพิ่งก่อตั้งสำเร็จเมื่อกลางปี 2535 ระยะเวลาเพียงปีกว่าย่อมสร้างชื่อเสียง และประวัติผลงานสั้นมากแบบที่เรียกว่า short track record

"ขณะนี้เครดิตเรตติ้งเอเยนซี่ (CRA) ของไทยก็มีทริสเพียงแห่งเดียว ผมอยากให้ผู้ออกตราสารหนี้ได้มีโอกาสเลือกใช้ จะเป็น CRA ต่างประเทศก็ได้ ไม่ใช่ถูกบังคับให้ใช้แต่ทริสเท่านั้น" นี่คือเสียงสะท้อนจากผู้บริหารเอกธนกิจที่เป็นผู้ออกตราสารหนี้ (ISSUER)

ที่ผ่านมาเอกธนกิจเคยให้ทริสจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้และหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันมูลค่า 2,400 ล้านบาทที่ได้เกรด AA และ A+ ตามลำดับ และปลายปีที่แล้ว บริษัทเอกโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้ให้ทริสจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัทมูลค่า 2,000 ล้าน ผลปรากฏว่าหุ้นกู้เอกโฮลดิ้งได้อันดับเครดิต BBB+ ซึ่งสะท้อนว่ามีคุณภาพการลงทุนที่ดี มีความสามารถชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย "ค่อนข้างสูง" แต่ฐานะของบริษัทขึ้นอยู่กับความแปรปรวนของตลาดหลักทรัพย์มาก

เอกธนกิจเป็นหนึ่งในลูกค้าของทริส 36 ราย ที่ให้ทริสจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ หุ้นกู้ด้อยสิทธิและหุ้นกู้แปลงสภาพที่ "ไม่มีประกัน" (Unsecured Bond) ซึ่งตราสารที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันจำเป็นต้องให้ทริสประเมินความสามารถชำระคืนเงินเงินต้นและดอกเบี้ยก่อนจะเสนอขายประชาชน (Public Offering) ซึ่งเป็นไปตามกฎของ ก.ล.ต.

น่าสังเกตว่า กิจการที่ให้ทริสจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันชั้นนำระดับ bluechip ทั้งนั้นที่ประกาศต่อสาธารณชนมีเพียง 25 รายเท่านั้นที่มีคุณสมบัติและชื่อเสียงความสามารถเพียงพอในการชำระคืน เช่น แบงก์กสิกรไทย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตซึ่งได้สูงสุด AAA

"ทุกๆ ครั้งที่จะแจ้งเรตติ้งผมถือเป็นมารยาทประเพณีที่จะโทรศัพท์ถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทนั้นๆ โดยส่วนตัว และในบทสนทนาจะเรียนชี้แจงว่าสาเหตุที่เรตติ้งเป็นเช่นนี้ เพราะเราเห็นจุดเด่นและจุดด้อย 3-4 ประการ ในบริษัทนั้นอะไรบ้าง ? อันนี้ผมพยายามทำให้โปร่งใสที่สุดโดยเอาทุกอย่างวางบนโต๊ะให้เห็น ผมยืนยันได้ว่านักธุรกิจไทยใจกว้างและมีเหตุผล" ถึงแม้วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ กรรมการผู้จัดการของทริสจะกล่าวเช่นนี้ แต่โดยความรู้สึกลึกๆ รายที่ถูกประเมินต่ำกว่าที่คิดไว้ย่อมไม่พอใจ

ส่วนที่เหลืออีก 11 รายขอให้ทริสไม่เปิดเผย เพราะได้เครดิตไม่น่าพอใจ ซึ่งจะมีผลต่อภาพพจน์บริษัทและอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ด้วย จึงขอสิทธิ์อุทธรณ์ ก่อนที่จะให้ทริสเรตติ้งอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งเห็นว่ายอมรับไม่ได้แล้วทั้งสองฝ่ายเป็นยุติ

ในสหรัฐฯ เคยมีลูกค้าเข้ามาขอใช้บริการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทุกๆ 6 เดือน เพียงเพื่อปฏิเสธไม่รับผลการจัดอันดับเครดิตครั้งแรก เพราะตนเองไม่ได้อยู่ในระดับ AA

"ผมคิดว่าสถาบันวิเคราะห์ความเสี่ยงและจัดอันดับเครดิตจะไม่มีความถูกต้องมากนัก เพราะในแต่ละหน่วยงานก็มีความชำนาญในธุรกิจที่แตกต่างกันไป ดังนั้น การที่จะมาจัดอันดับว่า บริษัทใดเสี่ยงมากกว่ากัน หรือหุ้นตัวใดเป็นเกรด A B C D น่าลงทุน หรือไม่ จะระบุชัดโดยองค์กรที่ไม่มีประสบการณ์ธุรกิจของบริษัททนั้นๆ ไม่ได้ ผมจึงไม่ค่อยเห็นด้วยนัก" นี่คือหนึ่งในทัศนะของฝ่ายที่ถูกประเมินจากทริส

แต่ในทัศนะของชมรมผู้ค้าตราสารหนี้ (Bond Dealer Club) สุขุม สิงคาลวณิช ประธานชมรมได้กล่าวว่า ทริสไม่ใช่องค์กรชี้นำการลงทุน แต่เป็นตัวสนับสนุนกลไกให้ข้อมูลการตัดสินใจแก่นักลงทุนโดยจัดชั้นความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ตามคุณภาพกิจการที่ออกตราสารหนี้นั้นๆ

สุขุมเป็นกรรมการท่านหนึ่งในคณะกรรมการจัดอันดับเครดิต (Rating Committee) ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษแบบไทยๆ ที่ทริสได้อาศัย "บารมี" และ "ชื่อเสียงที่ดี" สร้างเสริมความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับองค์กร เช่น สังเวียน อินทรวิชัย มารวย ผดุงสิทธิ์ ชีวะ ภาณุพงศ์ ปิติ สิทธิอำนวย ณรงค์ ศรีสะอ้าน อมเรศ ศิลาอ่อน วีระวัฒน์ กาญจนดุล ฯลฯ

"การที่ต้องมีกรรมการภายนอกมาร่วมด้วย เพราะลำพังตัวเลขแม่นยำอย่างเดียวไม่พอในการวิเคราะห์เชิงคุณภาพก็ต้องขอให้ผู้ใหญ่ท่านช่วยแนะนำ โดยไม่ให้เกิด Conflict of Interest เช่นถ้าทริสจัดอันดับเครดิตของกสิกรไทยอยู่ คุณณรงค์ ศรีสะอ้าน ก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย" วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ กรรมการผู้จัดการทริส เล่าให้ฟังถึงการทำงาน

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีชื่อเสียงเก่าแก่มีสองแห่งคือ แสตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ คอร์ปอเรชั่น (เอสแอนด์พี) และ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส

ทริสเองก็เกิดขึ้นโดยสัญญาความร่วมมือระยะ 3 ปี จากเอสแอนด์พี เมื่อปี 2536 แต่เอสแอนด์พีไม่ได้เข้ามาร่วมถือหุ้นด้วยเพราะว่าวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ กรรมการผู้จัดการทริส ยืนยันว่าทริสต้องเป็น "สมบัติของคนไทย"

"เหตุที่เราไม่ยอมให้เขาเข้ามาถือหุ้นในทริส เพราะถ้าเขาเข้ามาเขาต้องการถือหุ้นใหญ่ แต่เจตนาของเราคือต้องการให้ทริสเป็นสมบัติของคนไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าใช้สินค้าเราเฉพาะในตลาดไทย" กรรมการผู้จัดการผู้บุกเบิกงานของทริสเล่าให้ฟัง

ผู้ถือหุ้นทริสมีถึง 60 รายกระจายสักส่วนไปอยู่ในมือสี่ฝ่ายหลักๆ ได้แก่ สมาชิกสมาคมธนาคารไทย สมาชิกสมาคมบริษัทเงินทุน สมาชิกบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งถือคนละ 22% และสถาบันการเงินของรัฐถือ 19% ของทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท

"ทริสเป็นองค์กรที่ผมภูมิใจในผลงาน และนี่คือ vision ของแบงก์ชาติที่ต้องการสนับสนุนให้มีทริส ซึ่งผมคิดว่าเขาจะประสบความสำเร็จมากๆ ในสองปีนี้ เรื่องนี้ต้องให้เครดิตกับดอกเตอร์วุฒิพงษ์ ซึ่งโดยส่วนตัวเราไม่รู้จักกัน" เอกกมล คีรีวัฒน์ เลขาธิการ ก.ล.ต. เล่าให้ฟังอย่างชื่นชม

วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการคนแรกของทริส เพราะคำชักชวนของบัณฑิต นิจถาวร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของแบงก์ชาติซึ่งเป็นเพื่อนเก่า ภูมิหลังของวุฒิพงษ์เป็นนักวิชาการ เคยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษารัฐวิสาหกิจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโลไรนา เคยร่วมงานกับแบงก์กรุงเทพในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายแผนงานด้วย

"ผมมีภารกิจที่ต้องสร้างอยู่สองมิชชั่น อย่างแรก ทริสจะพัฒนาตลาดตราสารหนี้โดยเป็นสถาบันการจัดอันดับเครดิตที่เล็งเห็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และอย่างที่สองพยายามทำมิชชั่นแรกให้สำเร็จในเชิงธุรกิจถ้ามิชชั่นแรกกับที่สองขัดกัน ผมก็ต้องยึดมิชชั่นแรกเป็นหลัก" นี่คือจุดยืนของวุฒิพงษ์ที่มีต่อการบริหารทริส

ด้วยเหตุนี้ ทริสจึงเป็นองค์กรกึ่งธุรกิจ เพราะแม้จะขาดทุนร่วม 20 ล้านไปแล้วในสองปีที่ดำเนินงานมาเนื่องจากธุรกิจจัดอันดับเครดิตเป็นธุรกิจใหม่ ประกอบระยะแรกปริมาณลูกค้ายังไม่มากพอ สิ่งแวดล้อมธุรกิจก็ไม่เอื้ออำนวย เช่น ปริมาณตราสารหนี้ที่มีคุณภาพยังมีจำนวนน้อย ขาดสภาพคล่อง ภาษีอากรซ้ำซ้อน แต่สถาบันจัดอันดับเครดิตอย่างทริสซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญก็จำเป็นต้องดำรงอยู่ต่อไปเพื่อพัฒนาตลาดตราสารหนี้

Vision และ mission ของแบงก์ชาติกับ ก.ล.ต.ได้พยายามเพิ่ม demand และ supply เพื่อพัฒนาตลาดตราสารหนี้ เช่น นโยบายของแบงก์ชาติที่ยกเลิกข้อกำหนดที่ให้แบงก์พาณิชย์ ที่จะเปิดสาขาต้องถือพันธบัตรรัฐบาลในอัตราส่วน 16% ของเงินฝาก โดยทยอยลดลงตั้งแต่ปี 2533 นอกจากนี้ยังยกเลิกเพดานดอกเบี้ย 15% แก้กฎหมายให้เอกชนออกหุ้นกู้ได้ และตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการทำ Securitization โดยเฉพาะกรณีที่เป็น Mortgage Backed Securities และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้าจะต้องระดมเงินสูงถึง 3 ล้านล้านบาท หรือตกประมาณปีละ 3 แสนล้าน

ไม่นับถึงการขยายฐานผู้ลงทุนเช่นบริษัทจัดการกองทุนรวม 7 บริษัท ขณะนี้มีกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารเงินแบบ Fix Income Securities ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงทวีทรัพย์ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์สะสมทรัพย์ ไทยพาณิชย์ทุนทวี 1 และ 2 ล่าสุดกองทุนเปิดธนทวีหรือ บลจ.ไทยพาณิชย์ และกองทุนทีซีเอ็ม พลัส ฟันด์ ของ บลจ.บริหารทุนไทย

"ผมคิดว่าระยะยาวเราจะได้เห็นเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำนาญข้าราชการ (กบข.) และเงินประกันชีวิตเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น" แนวโน้มที่กรรมการผู้จัดการทริสเล่าให้ฟังนี้ จะเพิ่มสีสันนักลงทุนในตลาดรองสำหรับตราสาร

ด้วยเหตุนี้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ ปี 2535 ได้ปูทางให้บริษัทเอกชนสามารถออกตราสารหนี้ หรือหุ้นกู้ได้โดยตรงได้ไม่ว่าเป็นตราสารระยะสั้นไม่เกินหนึ่งปีหรือน้อยกว่า 270 วันที่เรียกว่า Money Market เช่น ตั๋วเงินคลัง ตราสารพาณิชย์ ซิตี้โน้ต เชสโน้ต IFCT Note หรือ TCD

ขณะที่ในตราสารระยะยาวที่มีอายุกว่า 1 ปีขึ้นไปเรียกว่า Capital Market เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ พันธบัตรแบงก์ชาติ หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพตราสารหนี้ลอยตัว

ฉะนั้นเมื่อประตูทางเลือกมีมากกว่าการขอกู้แบงก์ (Debt Financing) ขณะอัตราดอกเบี้ยผันผวน หรือการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่แปรปรวนเจ้าของกิจการยักษ์ใหญ่ของไทย ต่างก็มีทางเลือกใหม่ที่มีความสุขกับการออกหุ้นกู้มูลค่าไม่ต่ำกว่าหลักพันล้านบาท ซึ่งมีความได้เปรียบด้านต้นทุนเงินที่ต่ำกว่าและสามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว แม้การออกหุ้นกู้แต่ละครั้ง จะต้องใช้เวลาและเงินมากกว่าก็ตาม

ตัวเลขหุ้นกู้ที่อรัญ ธรรมโน ปลัดกระทรวงการคลังออกมาแถลงข่าวดีว่า ระยะเวลา 2-3 ปีที่ตลาดตราสารหนี้ของเอกชนเริ่ม take off เพราะมีอัตราเติบโตอย่างน่าทึ่งมากๆ ถึงปีละ 4 เท่า เมื่อเทียบจากสิ้นปี 2535 ตัวเลขยอดหุ้นกู้เอกชนเพียง 5,107 ล้านบาท แต่พอสิ้นปี 2536 ยอดหุ้นกู้เอกชนพุ่งขึ้นเป็น 20,000 ล้านบาทและในสิ้นปี 2537 ยอดหุ้นกู้โตไม่หยุดถึง 118,990 ล้านบาท สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลด้วยซ้ำไป

แนวโน้มอันสดใสจากค่าธรรมเนียมอันเดอร์ไรต์ 1% ที่มีศักยภาพโตมากๆ จาก 364 ล้านในปี 2535 พุ่งขึ้นเป็น 921 ล้านบาทในปี 2537 และคาดว่าในปี 2538 จะเพิ่มเป็น 1,500 ล้านและในปี 2539 คาดว่าจะเป็น 2,500 ล้านบาท นี่คือแหล่งรายได้ใหญ่

คนกลางที่จะทำหน้าที่อันเดอร์ไรเตอร์ก็คือ วาณิชธนกรในชมรมผู้ค้าตราสารหนี้ก็สามารถจะใช้ข้อมูลการจัดอันดับเครดิตของทริสในการวางแผนการกำหนดราคา และชี้ช่องทางจำหน่ายให้แก่ลูกค้าได้ ยิ่งทาง ก.ล.ต.บังคับให้หุ้นกู้ทุกตัวไม่ว่าจะเป็น PO (Public Offering) หรือ PP (Private Placement) ที่ซื้อขายในชมรมผู้ค้าตราสารหนี้ต้องผ่านารจัดอันดับเครดิตจากทริสแล้วยิ่งเป็นข่าวดีสำหรับทริสเพราะมีสินค้าที่ยังไม่เรตติ้งอยู่ในชมรมมากพอควรถึง 20 ตัว

"ถ้าตลาดยังโตมากๆ เช่นนี้ ผมคาดว่าในปี 2000 เราอาจเห็นตลาดตราสารหนี้ใหญ่ๆ พอๆ กับตลาดตราสารทุนได้ ตอนนี้ตลาดอาจจะดูว่าอีกไกล แต่อัตราโตมันเร็วเหลือเกิน จนผมคิดว่าสิ้นปี 38 อาจเห็นเกือบถึง 2 แสนล้าน ทำให้ทริสจะโตตามไปด้วย" อนาคตอันสดใสที่กรรมการผู้จัดการทริสวาดหวังไว้น่าจะไม่ไกลเกินเอื้อม

ผลประโยชน์มหาศาลนี้เริ่มส่งประกายเงินเจิดจ้าขึ้น เมื่อปริมาณธุรกิจมากเพียงพอสำหรับผู้เล่นหน้าใหม่ และคู่แข่งที่จะเข้ามาในตลาดนี้ก็กำลังก้าวเข้ามาแข่งขันกับทริสนั่นก็คือบริษัท ไทยเรตติ้ง เอเยนซี่ (TRA) ซึ่งเดิมเกิดจากความร่วมมือระหว่างสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์กับบริษัทธาราสยาม แต่ขณะนั้นไม่ได้ดำเนินธุรกิจด้านนี้อย่างใดเพราะบริษัทยังไม่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.เนื่องจากผู้บริหารบริษัทเห็นว่า คุณสมบัติที่ ก.ล.ต.กำหนดไว้มีต้นทุนสูงมากจนต้องขาดทุนนานกว่า 5 ปี เช่น กำหนดให้มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และต้องมีที่ปรึกษาจากสถาบันจัดอันดับจากต่างประเทศที่มีชื่อเสียงให้ความร่วมมือ ตลอดจนต้องเตรียมพร้อมทีมงานบุคลากรไว้จำนวนหนึ่งก่อน

การให้ใบอนุญาตใบที่สองแก่สถาบันจัดอันดับเครดิตใหม่นั้น ก.ล.ต.อาจต้องพิจารณาเงื่อนไขที่จะให้ความมั่นใจแก่นักลงทุนได้ว่า ตัวสถาบันจัดอันดับเครดิตนั้น ต้อง "น่าเชื่อถือ" ด้วย ทั้งในแง่โครงสร้างผู้ถือหุ้น ความโปร่งใสในวิธีการให้เรตติ้งนอกเหนือจากจริยธรรมความเป็นกลางที่อิสระจากอิทธิพลใดๆ

"ทริสอยากจะเห็นสถาบันจัดอันดับเครดิตแห่งที่สอง เพื่อจะบอกว่าทริสไม่เคยผูกขาด เพราะที่ผ่านมาตลาดยังเล็กมากและขาดทุน แต่เราจะรอคนอื่นทำเสร็จแล้วทริสค่อยเข้ามาหรือ ? ถ้าคิดอย่างนั้นทุกคนก็เข้าทำนองไก่กับไข่อะไรจะเกิดก่อนกัน ? เราพยายามสร้างตลาดแต่ไม่คุ้ม แค่ตัวเลขง่ายๆ ค่าบริการเครดิตเรตติ้งประมาณ 2 Basis Point หรือประมาณหมื่นละ สองบาท มูลค่าตลาดตอนนี้หลักหมื่นล้านก็จะมีรายได้เพียง 2 ล้านบาท ถ้าแสนล้านก็ 20 ล้านบาท ทริสรายเดียวก็ยังเลี้ยงตัวเองไม่ไหวแล้ว เพราะตลาดตอนนี้ 8.6 หมื่นล้านบาท เราหวังว่าสิ้นปี 2538 นี้จะได้เห็นตัวเลข 2 แสนล้านบาท" วุฒิพงษ์ กรรมการผู้จัดการทริสเล่าให้ฟัง

ปัจจุบันทริสเก็บค่าธรรมเนียมจากบริการจัดอันดับเครดิต (Front Fee-End) และค่าทบทวนผลจัดอันดับปีต่อปีจนสิ้นอายุตราสาร (Monitoring) เริ่มต้นที่ราคาขั้นต่ำแค่ 5 แสนบาทซึ่งเทียบกับฟิลิปปินส์แล้วอัตราราคาของทริสต่ำกว่า เพราะถ้าคิดเทียบจากมูลค่า 1,500 ล้านบาทก็แค่ 3 Basis Point หรือ 0.3% เท่านั้น ขณะที่มาเลเซียสูงถึง 10 Basis Point แล้วทางการมาเลเซียยังบังับด้วย จึงทำให้ปีแรกสถาบันจัดอันดับของมาเลเซียรับทรัพย์กำไรมากๆ ขณะที่ทางทริสก็เริ่มขานรับนโยบายของ ก.ล.ต.ที่เริ่มจะบังคับให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องผ่านทริสจัดอันดับเครดิต

ฉะนั้นเบื้องหลังของทริสที่สามารถ "สอบผ่าน" การประเมินจากผู้ออกหุ้นกู้และนักลงทุนผู้มองโลกในแง่ร้ายใน โลกธุรกิจที่จะหาความน่าเชื่อถือแท้จริงได้ยากนั้นก็เป็นเพราะมีพี่เลี้ยงสองแรงแข็งขันอย่างผู้บริหารแบงก์ชาติและ ก.ล.ต.คอยสนับสนุนเต็มที่นั่นเอง !!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us