Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2538








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2538
6 เขตอันตรายกองทัพบกย้ายกรุงเทพฯ หนีกันดีไหม             
โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล สุชาติ สวัสดิยานนท์
 


   
search resources

Real Estate




พูดกันมานานมากเรื่องย้ายเขตทหารออกนอกเมือง จนกระทั่งมีเรื่อง "เขตปลอดภัยทางทหาร" ซ้อนขึ้นมาอีก ไม่เพียงแต่จะสร้างความยุ่งยากให้แก่บรรดานักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพราะหามาตรฐานในการตัดสินเรื่องต่างๆ ได้ยากเต็มที แต่เมื่อนึกถึงชาวบ้านที่ไปปลูกบ้านใกล้เขตเหล่านี้แล้ว ยิ่งวิตกกังวลมากขึ้น ถึงเวลานี้รอย้ายเขตทหารอาจจะสายเกินไป ย้ายกรุงเทพฯ อาจจะง่ายกว่า

หากคุณเป็นผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ ทราบไหมว่า ทำเลที่ดินที่คุณเล็งไว้จะพัฒนาโครงการโดยเฉพาะเป็นอาคารสูง จะอยู่ในเขตปลอดภัยทางทหารหรือไม่หรือถ้าอยู่จะสร้างได้หรือไม่ สูงแค่ไหนเพียงใด?

จากการสืบค้นของ "ผู้จัดการ" พบว่า การหาบทสรุปดังกล่าวเป็นไปได้ยากยิ่ง การค้นหาโดยไม่ต้องตระเวนไปตามแต่ละเขต ก็พบว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากมากเช่นกัน

หน่วยงานแรกของการสืบค้นเริ่มขึ้นที่กองประชาสัมพันธ์ของกองทัพบก เล่าจุดประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ฟัง สายก็จะถูกโอนให้พูดกับกองเลขานุการกองทัพบก ต่อจากนั้นก็ถูกแนะนำให้ไปติดต่อกับสำนักงานโยธาธิการทหาร แต่หน่วยงานนี้ก็ไม่สามารถให้รายละเอียดอะไรได้เช่นกัน เพียงแต่แนะนำให้ไปสอบถามกับนายทหารพระธรรมนูญ ซึ่งที่นี่ได้ให้ไปติดต่อกับฝ่ายยุทธโยธามณฑลทหารบก 11

ปรากฏว่าข้อมูลทั้งหมดอยู่ที่ฝ่ายนี้ ทางเจ้าหน้าที่เองก็ให้ทาง "ผู้จัดการ" ดูเอกสารและสอบถามข้อมูล แต่ขอถ่ายเอกสารแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปลอดภัยทางทหารไปไม่ได้ แต่แนะนำว่าไปเปิดดูได้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา หรือหนังสือประชุมกฎหมายประจำศก

ซึ่งแน่นอนว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตจุดแรกที่ออกมาตาม พ.ร.บ. ปี 2478 นั้นต้องมีในหนังสือราชกิจจาฯ เล่มแรกๆ ที่เก่ามาก และจะหาได้จากห้องสมุดแห่งชาติที่เดียวเท่านั้น

แต่ความจริงที่พบก็คือราชกิจจาฯ เล่มที่ต้องการเก่าและกรอบ มีแผนที่ที่ขาดกระรุ่งกระริ่ง บางฉบับขาดขาดหายไปเลย จาก 6 เขตสามารถค้นได้จากห้องสมุดแห่งชาติได้เพียง 3 เขตเท่านั้น

ภาพในการที่จะลงทุนในเขตปลอดภัยทางทหารอาจจะยังดูมืดมัวต่อไป เพราะในที่สุดแม้จะได้แผนที่มาแล้วทั้ง 6 เขต แต่ยังมีข้อมูลที่ต้องรู้ต่อไปอีก ว่าแต่ละเขตห้ามทำการก่อสร้างอาคารประเภทใดบ้าง เพราะคำตอบจากสำนักงานเขตที่ดินก็บอกว่าไม่ทราบเป็นอำนาจของทหารในการพิจารณานั้น

มันกว้างมากจนน่างุนงง

เมื่อสอบถามกลับไปยังฝ่ายยุทธโยธามณฑลทหารบก 11 ก็ได้รับการชี้แจงว่า หากมีเรื่องขออนุญาตปลูกสร้างอาคารเข้ามาในพื้นที่เขตปลอดทหารทั้ง 6 เขตนั้น ทางโยธาเขตจะต้องส่งเรื่องมายังฝ่ายยุทธโยธาและทางฝ่ายยุทธโยธาจะพิจารณาว่าพื้นที่ที่จะขอก่อสร้างนั้นอยู่ใกล้กับหน่วยทหารใดมากที่สุด เช่น ใกล้กับกองพันทหารราบที่ 2 ทางฝ่ายยุธโยธาก็จะส่งเรื่องไปยังกองพันทหารราบที่ 2

กองพันทหารราบที่ 2 จะมีฝ่ายทางด้านความปลอดภัยเป็นผู้พิจารณาว่าโครงการที่จะขอก่อสร้างในเขตความปลอดภัยนั้นสร้างได้หรือไม่ ถ้าสร้างได้ต้องสูงได้กี่ชั้น ควรจะต้องหันหน้าไปทางทิศไหน และด้านที่ติดเขตทหารนั้นต้องสร้างเป็นแนวทึบหรือไม่ แล้วส่งเรื่องกลับมาทางยุธโยธา เพื่อจะได้ส่งเรื่องไปตามสายงานของกองทัพบกต่อไป

โดยขั้นตอนสุดท้ายนั้นจะมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้เซ็นอนุมัติ ทั้งหมดนี้ทางทหารยืนยันว่าจะใช้เวลาไม่เกินหนึ่งเดือน

แต่หากถามกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นตัวหนังสือ หรือมีการระบุมากกว่าการพิจารณาเป็นครั้งๆ ไปหรือไม่ คำตอบคือไม่มี

อำนาจการพิจารณาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทหารแต่ละหน่วย

แหล่งข่าวจากสำนักโยธากรุงเทพมหานครเองก็ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า ปัญหาที่เคยเกิดมาแล้วก็คือกรณีของอาคารคอนกรีตบางละมุง ในเขตดุสิต ซึ่งสร้างขึ้นมาเสร็จแล้ว 7 ชั้น ภายหลังถูกทักท้วงจากฝ่ายทหาร จนต้องเสียเวลาในการชี้แจงไปช่วงหนึ่ง โดยจะปล่อยขาย หรือโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อไม่ได้เลย เป็นเพราะว่าไม่มีการตรวจสอบแนวเขตก่อน

โดยทั้งเข้าของที่ดินหรือโยธาเขต อาจจะลืมไปว่าที่ตรงนั้นเป็นเขตความปลอดภัยของทหาร จนใบอนุญาตก่อสร้างออกมาแล้ว การก่อสร้างการขายก็ดำเนินไปจนเสร็จเรียบร้อยทางฝ่ายทหารจึงได้ทักท้วงเข้ามา

"ทุกคนรู้กันเพียงแต่ว่าในเขตทหารนั้น ห้ามสร้างตึกสูงแต่ห้ามสูงเกินกี่ชั้นนั้นก็ไม่มีใครทราบ จุดตรงนี้จะหารายละเอียดได้ยากมากถามไปทีสำนักงานเขตเขาก็บอกว่าไปแล้ว แต่ทางทหารพิจารณา" วิชัย สิงห์วิชา ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการตลาดและพัฒนาโครงการ บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

"แนวเขตที่แท้จริงเริ่มจากตรงไหนถึงตรงไหนก็เป็นเรื่องยากที่จะรู้นอกจากต้องเสียเวลาไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตของแต่ละเขต และการให้เขาออกมาวัดแนวเขต เพื่อให้มั่นใจว่าที่ดินที่เราจะซื้อทำโครงการติดหรือไม่ติดรัศมีเขตความปลอดภัยในราชการทหารก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ" แหล่งข่าวอีกรายจากวงการก่อสร้างเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง ด้วยท่าทีที่แสดงถึงความเบื่อหน่ายในการติดต่องานกับราชการ

การกำหนดเขตปลอดภัยทางทหารเป็นพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดขึ้นโดยอาศัยพระราชบัญญัติว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหารพุทธศักราช 2478 หรือ

พระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติว่า ราชการทหารเป็นกิจการที่เกี่ยวกับประโยชน์ของชาติ และเป็นการสมควรที่จะกำหนดเขตโดยรอบบริเวณที่ทหารไว้เป็น "เขตปลอดภัย" มีทั้งหมด 8 มาตรา มาตราที่สำคัญและมีผลกระทบอย่างต่อเนื่องถึงนักลงทุนอย่างมากก็คือมาตราที่ 4 และมาตราที่ 5

มาตราที่ 4 มีรายละเอียดว่า ที่ทหารแห่งใดจะควรมีเขตปลอดภัยเพียงใด ให้กำหนดขึ้นไว้โดยพระราชกฤษฎีการนั้นด้วย

ส่วนมาตราที่ 5 ได้กำหนดไว้ว่า เมื่อได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณเขตความปลอดภัยไว้แล้ว ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดปลูกสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่แล้วหรือเพาะปลูกต้นไม้ซึ่งอาจจะเป็นภัย หรือยักย้ายต้นไม้ที่ปลูกไว้แล้วอันมีสภาพเป็นอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากการอนุญาตเป็นหนังสือจากกระทรวงกลาโหม และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในอนุญาตนั้นด้วย

ส่วนบทกำหนดโทษในมาตรา 7 นั้นระบุไว้ว่าผู้มีความผิดในการฝ่าฝืนให้จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลังจากมี พ.ร.บ.ตัวนี้ออกมาเมื่อปี 2478 ในปี 2482 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปลอดภัยในราชการทหาร ก็เริ่มทยอยออกตามๆ มา ซึ่งมีทั้งเขตปลอดภัยในราชการทหารในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ประมาณ 70 เขต

เขตทหารกับเขตปลอดภัยทางทหารนั้นมีความแตกต่างกัน เพราะพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปลอดภัยในราชการทหารไม่ได้ถูกกำหนดในพื้นที่ทหารของทุกเขต แต่กำหนดเพียงบางพื้นที่เท่านั้น เช่น หน่วยคลังแสง ซึ่งเป็นหน่วยเก็บอาวุธที่ร้ายแรงในการป้องกันประเทศหรือกรมกองบางหน่วย ที่แต่ละหน่วยจะมีอาวุธประจำหน่วยที่เรียกอาวุธมูลฐานอยู่

แต่บางพื้นที่ เช่น ในเขตพญาไท ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองพลทหารม้าที่ 2 พื้นที่ตรงนี้จะไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตความปลอดภัยเอาไว้ เพราะการใช้พื้นที่ในหน่วยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นสำนักงานของทหารรอบๆ พื้นที่ในย่านนี้จึงมีการพัฒนาเป็นตึกสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก

"ผู้จัดการ" จะขอเสนอรายละเอียดเป็นตัวอย่างเฉพาะเขตปลอดภัยในราชการทหารของกองทัพบกเท่านั้น ซึ่งที่ดินของทหารบกเท่านั้น ซึ่งที่ดินของทหารบกส่วนใหญ่นั้นจะอยู่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการขยายตัวของเมืองสูงมากในเวลานี้

ที่น่าสนใจคือ กำหนดเขตโดยฉบับแรกเริ่มตั้งแต่ปี 2482 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม และในสมัยอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ยังมีพระราชกฤฎีกาออกมา

พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณเขตปลอดภัยทหาร เฉพาะของทหารบกในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีทั้งหมด 6 เขตเท่านั้น คือ

โรงเรียนเตรียมทหาร

1. พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณเขตปลอดภัยในราชการแห่งกองสัญญาณทหารเรือ ในท้องที่อำเภอปทุมวัน ใน จ.พระนคร พุทธศักราช 2484 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

กองสัญญาณทหารเรือในอดีตนั้นขึ้นอยู่กับกองทัพเรือ พระราชกฤษฎีกาที่ออกมาก็เพื่อความเหมาะสมในสมัยนั้น แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นโรงเรียนเตรียมทหารในความรับผิดชอบของกองทัพบก ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีเขตปลอดภัยอีกแล้ว กฎนี้ก็ยังไม่ถูกยกเลิกไป

ส่วนระยะเขตปลอดภัยของโรงเรียนเตรียมทหารที่มีพื้นที่ประมาณ 150 ไร่นั้น ในทิศตะวันตกพื้นที่ความปลอดภัยจะครอบคลุมไปถึงถนนวิทยุ ด้านใต้ติดถนนพระรามสี่ ทิศตะวันออกจะติดเขตของสนามโปโลคลับเป็นเส้นขนานมาจดกับถนนพระรามสี่ ส่วนทิศเหนือจะกินบริเวณไปถึงสถานีตำรวจลุมพินี หรือชื่อสถานีตำรวจศาลาแดงเดิม

จากการสำรวจของ "ผู้จัดการ" พบว่า บริเวณรอบๆ เขตทหารซึ่งเป็นเขตปลอดภัยนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นบ้านอยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว

ในขณะที่ฝั่งตรงข้ามถนนที่อยู่นอกเขตความปลอดภัยนั้นจะถูกกระแสของการลงทุนพัฒนาเป็นอาคารสูงไปแล้วเกือบทั้งสิ้น เพราะย่านนี้คือขุมทองทางด้านศักยภาพของการลงทุนในเมืองไทยทีเดียวเพราะนอกจากอยู่ในย่านพาณิชยกรรม ขนาดใหญ่แล้วในอนาคตยังมีโครงการขนส่งมลชนขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้ามหานครหรือโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ วิ่งผ่านอีกด้วย

ในขณะที่ราคาประเมินของที่ดินในย่านนั้นเพิ่มสูงลิบลิ่วอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ราคาที่ดินติดถนนพระรามสี่ ประเมินตารางวาละ 250,000 บาท ที่ดินติดถนนวิทยุตารางวาละ 240,000 บาท ส่วนที่ดินในซอยต่างๆ บริเวณนั้นราคาประเมินตารางวาละประมาณ 80,000-120,000 บาท

คงยังจำกันได้ว่า เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาในยุคที่มีการพูดถึงนโยบายการพลิกที่ดินของเขตทหารกลางกรุงให้เป็นขุมทองทางเศรษฐกิจกันมากนั้น ตรงพื้นที่โรงเรียนเตรียมทหารแห่งนี้เป็นที่ต้องการของเอกชนในการที่จะนำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์อย่างมาก ว่ากันว่ามีคนเสนอราคาที่ดินตรงนี้ให้ทหารถึงกว่า 5,000 ล้านบาทในระยะเวลาเช่าประมาณ 30 ปี

แม้จะมีการเปลี่ยนโฉมอย่างไร เป็นเรื่องหมิ่นเหม่สำหรับนักพัฒนาที่ดินเหลือเกินเพราะ พ.ร.ฎ กำหนดให้เขตนี้เป็นเขตปลอดภัยทางทหาร

กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก

1. พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณเขตปลอดภัยในราชการทหารแห่งกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกในท้องที่อำเภอบางเขน ปี 2482

จากการแบ่งเขตการปกครองใหม่พื้นที่ตรงนี้จะขึ้นอยู่กับเขตจตุจักร พื้นที่ของหน่วยทหารในเขตนี้คือกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ด้านหน้าจะติดถนนพหลโยธิน ตรงกันข้ามจะเป็นกรมป่าไม้ ส่วนฝั่งเดียวกันเขตปลอดทหารจะติดกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม และสำนักงานของการทางพอเศษแห่งประเทศไทย ส่วนด้านหลังจะกินเนื้อที่ของเขตบางเขนโดยมีรัศมีของเขตความปลอดภัยประมาณ 500 เมตร

ในเขตจตุจักรนี้กำลังมีการเติบโตของเมืองสูงมาก ความเจริญจากเขตเมืองชั้นในได้ลามไหลเข้ามาอย่างรวดเร็วมีถนนหลักๆ เกิดขึ้นหลายสายรวมทั้งระบบขนส่งมวลชนอย่างเช่นดอนเมืองโทลเวย์และทางด่วนขั้นที่ 2 ที่พาดผ่านในบริเวณใกล้ๆ

ส่วนราคาประเมินบนถนนพหลโยธินในระยะเขตปลอดภัยของทหารนั้นประมาณตารางวา 10,000-20,000 บาท

เขตดุสิต

3. พระราชกฤษฎีการกำหนดเขตความปลอดภัยในราชการทหารแห่งจังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ ในท้องที่ อ.ดุสิต และ อ.พระนคร จ.พระนคร ในปี 2484

ในเขตอำเภอดุสิต และบางซื่อเป็นพื้นที่ที่มีหน่วยของทหารมากที่สุดในกรุงเทพฯ มีหน่วยกรมกรองสำคัญๆ ต่างๆ ตั้งอยู่มากมาย เช่น กองพันที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มณฑลทหารบก 11 บนถนนพระราม 5 กรมทหารสื่อสาร กรมสรรพาวุธ ฯลฯ เขตความปลอดภัยจะถูกกำหนดไว้ล้อมรอบหน่วยทหารเหล่านั้น ในรัศมีประมาณ 50-500 เมตร

เขตดุสิตนั้นนอกจะเป็นพื้นที่ของทหารแล้ว ยังมีเขตพระราชฐานของพระบรมมหาราชวังอีก

ราคาประเมินของที่ดินบริเวณใกล้เคียงเขตปลอดทหาร เช่น บนถนนพระราม 5 ตารางวาละ 80,000 บาท ติดซอยระนอง 2 ตารางวาละ 50,000 บาท ในซอยสินทรัพย์ติดกับกรมทหารสรรพาวุธประเมินตารางวาละ 30,000 บาทบริเวณถนนทหารติดกับกรมทหารสื่อสารประเมินที่ดินตารางละ 60,000 บาท

คลังแสง ปากเกร็ด

4. ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 92 ที่ออกตามความในมาตราที่ 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเขตความปลอดภัยในราชการทหารปี 2478 ประกาศเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2515 โดยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2515

พื้นที่ของทหารในเขตนี้เป็นที่ตั้งของแผนกที่ 4 เป็นคลังกองแสง กรมสรรพากรทหารบก ตั้งอยู่ในท้องที่ของ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เขตปลอดภัยจะมีรัศมีประมาณ 50-500 เมตร กินบริเวณพื้นที่บางส่วนของบ้านวัดสลัก บ้านบางพัง และข้ามฟากของถนนติวานนท์มายังเขตตำบลบ้านใหม่

ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2515 เมื่อคราวจอมพลถนอมประกาศให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของกลองคลังแสงนั้น แน่นอนว่ายังเป็นท้องทุ่งนาที่ห่างไกลจากเมืองหลวงมาก การเดินทางก็คงไม่สะดวก

แต่วันนี้ ท้องทุ่งตรงนี้ได้กลับกลายเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตทางด้านที่อยู่อาศัยอย่างสูง นับตั้งแต่ห้าแยกปากเกร็ดเป็นต้นมาจนถึงแยกสะพานนวลฉวีสองข้างทางได้กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมาก รวมทั้งโครงการพัฒนาที่ดินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอย่างเช่นโครงการเมืองทองธานีอีกด้วย

สาเหตุสำคัญของความเจริญที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วใน 4-5 ปีนี้เป็นเพราะทางด่วนขั้นที่ 2 ของการทางพิเศษที่มาจ่อทางขึ้นลงอยู่บนถนนสายแจ้งวัฒนะ ห่างจากห้าแยกปากเกร็ดซึ่งเชื่อมต่อกับถนนติวานนท์เพียง 5 กม. นั่นเอง

ผลพวงที่ตามมาอย่างได้ชัดก็คือราคาที่ดินที่สูงขึ้นที่ดินติดถนนติวานนท์ทั้งสายในรัศมี 40 เมตร ตารางวาละ 35,500-50,000 บาท บริเวณเขตปลอดภัยใกล้คังแสงไม่ติดถนนราคาประเมินประมาณตารางวาละ 15,000 บาท

แจ้งวัฒนะ

5. พระราชกฤษฎีกาปี 2531 กำหนดเขตความปลอดภัยของกองทัพบกในท้องที่เขตบางเขน ซึ่งหน่วยทหารที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้จะประกอบไปด้วย 2 บริเวณคือทางด้านใต้ของถนนแจ้งวัฒนะจะมีกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ตั้งอยู่

เขตปลอดภัยในย่านนี้จะมีรัศมีเพียงประมาณ 50 เมตรทิศตะวันตกจะติดแนวคลองประปา ทิศเหนือเขตความปลอดภัยจะข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่งของถนนติวานนท์ในเขตทุ่งสีกัน

เยื้องๆ ไปทางด้านทิศเหนือจะเป็นที่ตั้งของกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 4 กองพลพลาธิการ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองสรรพาวุธเบา กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองช่างกลกรมทางหลวง และกองร้อยลาดตระเวนระยะไกลที่ 1 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ในเขตนี้ระยะปลอดเขตทหารจะอยู่รอบในรัศมีประมาณ 50 เมตรเช่นกัน

บนถนนแจ้งวัฒนะเป็นย่านชุมชนหนึ่งอีกเช่นกันที่มีการเติบโตของเมืองสูงมากเพราะเป็นจุดขึ้นลงของทางด่วนระยะที่ 2 การพัฒนาที่ดินในย่านนี้จะมีทั้งคอนโดมิเนียมอาคารสำนักงาน และห้างสรรพสินค้า

ราคาประมาณบนถนนแจ้งวัฒนะในเขตความปลอดภัยของทหารบางส่วนนั้นสูงถึงตารางวาละ 80,000 บาท

ปทุมธานี

พระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณเขตความปลอดภัยทหารแห่งกองทัพบกในท้องที่ อ.เมืองปทุม จ.ปทุมธานี ปี 2535 สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

ในพื้นที่จะเป็นโรงงานซ่อมรถยนต์ทหาร และกรมสรรพาวุธทหารบก ด้านหน้าติดทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3100

พื้นที่รอบๆ บริเวณนี้ยังเป็นทุ่งนาและยังไม่มีการเติบโตของเมืองมากนักราคาประเมินประมาณตารางวาละ 12,500 บาท

พื้นที่ทหารทั้งหมดในกรุงเทพฯ มีทั้งสิ้นประมาณ 14,362 ไร่โดยเฉพาะในพื้นที่เขตบางเขนรวมดอนเมือง มีพื้นที่ทหารรวมสูงถึง 10,031 ไร่ รองลงมาเป็นของเขตดุสิตซึ่งมีเนื้อที่ทั้งเขตประมาณ 6,662.5 ไร่ แต่เป็นพื้นที่ทหารเสียทั้งสิ้น 1,968.5 ไร่ สูงถึง 29.55% ของพื้นที่เขต

เขตพญาไทมี 1,109 ไร่ เขตพระโขนงมี 193 ไร่ เขตพระนครกับยานนาวามีเท่ากันคือ 187.50 ไร่ ส่วนเขตบางกอกใหญ่มี 78 ไร่

เขตพื้นที่ทหารจำนวนมากเช่นนี้ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องมีความขัดแย้งในเชิงความคิดระหว่าง "ความมั่นคงของชาติ" กับ "การขยายตัวของเขตชุมชน" และยิ่งเมื่อภายในเขตทหารยังมี "เขตปลอดภัยทางทหาร" ซึ่งบางพื้นที่สร้างความวิตกให้กับผู้คนในย่านนั้นจึงเหมือนว่าความขัดแย้งในเชิงความคิดนี้จะเพิ่มขึ้น

แนวคิดการย้ายเขตทหารหรือเฉพาะเขตปลอดภัยทางทหารออกไปจึงถูกหยิบยกออกมากล่าวถึงอีก

แนวความคิดย้ายทหารออกไปนอกเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เคยพ๔ดภึงกันมานาน โดยจะเห็นภาพชัดเจนเมื่อสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้บัญชาการทหารบกเมื่อประมาณปี 2529-2532 ซึ่งได้มีนโยบายแน่วแน่เกี่ยวกับเรื่องนี้ และมีความเห็นไว้ว่า ที่ดินทหารในเมืองควรจะนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้คุ้มค่ากว่านี้

นโยบายนี้ถูกตอกย้ำหนักแน่นเพิ่มขึ้นโดยการตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องการโยกย้าย โดยมี พล.อ.จรวย วงศ์สายันห์ เสนาธิการกองทัพบกเป็นประธานพิจารณาในขณะนั้น และเมื่อสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงได้อนุมัติให้มีการย้ายที่ตั้งทหารออกไปตามต่างจังหวัด แต่เมื่อรัฐบาลไม่มีงบประมาณให้เพียงพอกองทัพก็ต้องหาวิธีเอง

วิธีที่กองทัพเลือกใช้ก็คือจะนำที่ดินของกองทัพบกบริเวณ พล.ม.2 สนามเป้ามาให้เอกชนจัดผลประโยชน์ งานนี้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบกสมัยนั้นถือเป็นนโยบายเร่งด่วนและลงมาดูแลด้วยตนเอง

เอกชนที่ดูเหมือนว่าจะเข้าตากรรมการที่สุดในขณะนั้นก็คือ อนันต์ กาญจนพาสน์ แห่งบริษัทบางกอกแลนด์ที่เสนอผลตอบแทนให้กับทหารถึง 12,000 ล้านบาทในการเช่าที่ดินทหารจำนวน 278 ไร่บรเวณ พล.ม.2 ระยะเวลา 30 ปี แล้ะวเรื่องทั้งหมดก็เงียบหายไปด้วยหลายๆ เหตุผลคือ ผลประโยชน์ที่เอกชนเสนอให้ยังไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายทหาร ประกอบกับมีการเปลี่ยนผู้นำของกองทัพ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอ

"ทุกวันนี้บ้านเมืองยิ่งเพิ่มความแออัด ทหารสมควรจะเอานโยบายเรื่องนี้มาทบทวนใหม่อีกครั้งโดยเร็ว" วิชา จิวาลัย นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์กล่าวให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ"

วิชาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าการใช้พื้นที่ของทหารเมื่อหลายสิบปีมาแล้วไม่มีอุปสรรคต่อการพัฒนาบ้านเมือง แต่เมื่อบ้านเมืองขยายตัวไปมากแล้วเช่นนี้ก็น่าจะเอาพื้นที่ทั้งหมดมาพิจารณาดูว่าส่วนไหนสมควรย้าย ส่วนไหนจำเป็นต้องอยู่ที่เดิม แต่ปัญหาของเรื่องนี้ก็คือหากผู้รับผิดชอบโดยตรงไม่เสนอเรื่องกับรัฐบาลขึ้นมาก็ทำอะไรไม่ได้ และผู้รับผิดชอบเองก็คงไม่กล้าเสนอเรื่องเช่นกันเพราะกลัวว่าตนเองจะถูกมองว่ามีผลประโยชน์อะไรกับภาคเอกชนหรือไม่ ซึ่งความเป็นจริงแล้วถ้าความคิดของตัวเอง และการกระทำของตนเป็นเรื่องบริสุทธิ์ก็สมควรที่จะทำไปเลย เพราะประชาชนจะเป้นผู้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด

อย่างไรก็ตาม การนำพื้นที่ทหารมาให้เอกชนพัฒนานั้น วิชากลับไม่เห็นด้วยเพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว การให้เอกชนลงทุนก็ยิ่งจะกระตุ้นให้เมืองโตเร็วยิ่งขึ้น

รูปแบบของการใช้ที่ดินทหารนั้น วิชามองว่าน่าจะเอามาเป็นหน่วยงานราชการบางหน่วยที่จำเป็น เช่นที่ทำการเขตที่บางเขตมีพื้นที่ใช้สอยน้อยเต็มทีเพื่ออำนวยความสะดวกในการบริการประชาชน หรือการสร้างสวนสาธารณะเพื่อเป็นปอดให้คนเมืองหลวง ส่วนปัญหาในเรื่องงบประมาณในการสร้างสถานที่แห่งใหม่นั้นรัฐบาลจำเป็นต้องจัดงบมาให้

ส่วนโชคชัย บรรลุทางธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท เอเวอร์กรีน วิลล์ จำกัด นั้นให้ความเห็นว่าเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้ย้ายหน่วยงานทหารออกไปต่างจังหวัด ไม่สมควรที่จะให้พื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสูงๆ เป็นศูนย์กลางของทหารอีกต่อไป ซึ่งวิธีการอาจจะมีการย้ายไปเพียงบางส่วนก่อน โดยใช้งบประมาณจากการเอาพื้นที่บางแปลงให้เช่า

โชคชัยจะมีความเห็นต่างกับวิชาในเรื่องของการก่อสร้าง เขากลับมองว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่จำเป็นต้องโต มันห้ามกันไม่ได้แล้ว ที่ดินซึ่งเอกชนประมูลเช่ามาจำเป็นต้องสร้างตึกสูงแต่อาจจะมีการกำหนดรูปแบบให้เว้นสัดส่วนเป็นพื้นที่สีเขียวในโครงการให้มากขึ้น ส่วนโครงการจะสูงหรือใหญ่ขนาดไหนนั้นภาวะของการตลาด ก็จะเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่คอยควบคุมอยู่แล้ว

กระแสความเห็นจากนักลงทุนต่างๆ เหล่านี้อาจจะกระตุ้นให้ทหารได้ทบทวนนโยบายนี้อีกครั้งหนึ่ง และทหารควรยอมรับว่า พื้นฐานที่แข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจคือความมั่นคงแห่งชาติที่แท้จริงในยุคนี้

อย่างไรก็ตาม กระแสความคิดเรื่องย้ายทหารออกนอกเมืองดูจะเป็นเรื่องใหญ่โตเกินไป และบางพื้นที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเพียงแต่สูญเสียโอกาสของการพัฒนาที่ควรจะเป็น

จุดสำคัญอยู่ที่เขตปลอดภัยทางทหาร ที่เหมือนว่าจะยุ่งยากและซับซ้อนทั้งสำหรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และประชาชนทั่วไป

หนึ่ง-ในแง่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีความชัดเจนใดๆ ในการที่จะรู้สิ่งปลูกสร้างใดสร้างได้หรือไม่ได้

สอง-ในแง่ประชาชนการขยายตัวของชุมชนทำให้ที่พักอาศัยเกือบจะประชิดริมรั้วเขตปลอดภัยทางทหาร ซึ่งพวกเขาไม่มีโอกาสได้ทราบเลยว่า พวกเขาอยู่ใกล้ชิดกับสิ่งที่เรียกว่า "อันตราย" มากน้อยเพียงใด

สาม-ในแง่ความมั่นคงของชาติ มีสิ่งปลูกสร้างจำนวนมากที่ละเมิด พ.ร.ฎ. เช่น กรณีเมืองทองธานีที่ถูกระบุว่ามีความผิดถึง 4 อาคารใหญ่ ระบบความปลอดภัยของรัฐมีประสิทธิภาพเพียงใดในการดูแลเขตเหล่านี้

สี่-เขตปลอดภัยทางทหารบางเขตได้เปลี่ยนไปมากแล้ว และเข้าใจว่าทหารเองก็ให้ความประนีประนอมให้นักพัฒนาที่ดินที่จะสร้างอาคารสูงแต่ตราบใดที่ยังมี พ.ร.ฎ.อยู่พวกเขามีสิทธิ์ที่จะถูกเล่นงานย้อนหลังได้

ห้า-ในแง่ของกองทัพบกอาจต้องมีการทบทวนเขตปลอดภัยทางทหาร ว่าเขตใดยังสมควรอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อความมั่นคง เขตใดที่ควย้ายออกไป หรือหากยังไม่ย้ายเขตนั้นก็ต้องเป็นเขตที่ไม่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน

ถึงเวลาที่กองทัพบกจะต้องตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้แล้ว โดยเฉพาะเขตปลอดภัยทางทหารที่จะต้องพิจารณาทั้งในแง่ความมั่นคงของชาติและความเป็นจริงของสังคมกรุงเทพฯ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us