ในที่สุด ผลการสัมมนาของผู้บริหารระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไป ของบริษัทเซ็นทรัล
รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 กันยายน ปีก่อน
(2543) ที่โรงแรมเซ็นทรัล วงศ์อำมาตย์ พัทยา เกี่ยวกับภารกิจ วิสัยทัศน์
และยุทธศาสตร์ของ CRC ในระยะเวลา 5-7 ปีข้างหน้า ก็ได้ข้อสรุป และสามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้แล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ CRC ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ตามแผน 5 ปี เพื่อรักษาความเป็นผู้นำของ
CRC ในธุรกิจค้าปลีกว่าประกอบด้วยภารกิจหลัก
5 ประการด้วยกัน คือ
1. เน้นการทำธุรกิจหลัก (Core Business) เกี่ยวกับการค้าปลีก
ในทุกเซ็กเมนต์ที่มีอยู่
2. มีการเปิดร้านค้าในคอนเซ็ปต์ใหม่ที่สนองไลฟ์สไตล์ของ
ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
3. ลงทุนในการพัฒนาบุคลากรให้แข็งแกร่ง
4. รักษาบาลานซ์ชีตให้ธุรกิจเกิดสภาพคล่อง
5. สร้างกำไรเพื่อให้สามารถจ่ายปันผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น
จากภารกิจทั้ง 5 ประการ ดูเหมือน 2 ประการแรก จะเป็นภารกิจที่ CRC จำเป็นต้องให้น้ำหนักมากที่สุด
การประกาศวิสัยทัศน์ 5 ปี ของ CRC ครั้งนี้ นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญอีกครั้งหลังจากสุทธิชาติได้เข้ามาดูแลกิจการใน
CRC ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของเซ็นทรัลกรุ๊ป หลังจากมีการแบ่งสายงานในความรับผิดชอบของพี่น้องในตระกูลจิราธิวัฒน์
เมื่อปี 2535
ปี 2536 หลังจากสุทธิชาติเข้ามาดูแลงานใน CRC เพียงประมาณ 1 ปี เขาได้ประกาศ
segmentation ของธุรกิจค้าปลีกในเซ็นทรัลกรุ๊ป ซึ่งถือเป็นการประกาศถึงทิศทางที่ชัดเจนของธุรกิจในกลุ่มค้าปลีกที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
หลังจากที่ห้างเซ็นทรัลได้ก่อกำเนิดขึ้นมาในปี 2511
การประกาศในครั้งนั้น เกิดขึ้นในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในยุครุ่งเรือง ยังไม่มีสัญญาณว่าจะประสบกับวิกฤติ การประกาศ
segmentation ของเขาประสบผลสำเร็จพอสมควร
ในอีกไม่กี่ปีต่อมา ทิศทางที่เขาเคยประกาศเมื่อปี 2536 เกิดขึ้นเนื่องจากกระแสเงินทุนจากต่างชาติที่เริ่มหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยในช่วงนั้น โดยเฉพาะด้านค้าปลีก ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนบทบาทจากที่เคยเป็นกลุ่มทุนท้องถิ่นที่ต่อต้านการรุกเข้ามาของต่างชาติในอดีต
มาเป็นคู่ค้ากับธุรกิจค้าปลีกของต่างชาติที่ต้องการเข้ามาในประเทศไทยแทน
CRC ช่วงนั้นจำเป็นต้องร่วมทุนกับ Carrfour จากฝรั่งเศส
เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันกับบิ๊กซี ซึ่งเป็นซูเปอร์สโตร์ของ CRC เอง
CRC ต้องดึงกลุ่มรอยัล เอโฮลด์เข้ามาร่วมทุนใน Tops ซูเปอร์ มาร์เก็ต เพื่ออาศัยโนว์ฮาวในการบริหารซูเปอร์มาร์เก็ตรูปแบบใหม่
แต่หลังจากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540 สถานการณ์แวดล้อมของธุรกิจค้าปลีกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ
การรุกเข้ามาของยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกของต่างประเทศ
ซึ่งเป็นผลจากการเปิดเสรีของรัฐบาลที่แล้ว ที่เริ่มขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรุนแรง จนทำให้ธุรกิจค้าปลีกของไทย โดยเฉพาะรายย่อยได้รับผลกระทบอย่างหนัก
CRC ก็จำเป็นต้องปรับตัวอีกครั้ง จากการประกาศแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีข้างหน้าครั้งล่าสุดนี้ กิจการที่เคยมีการร่วมทุนกับต่างชาติ และเคยเป็นส่วนหนึ่งในงบบัญชีของ CRC อย่าง Carrfour, Tops, Watson
แม้กระทั่ง บิ๊กซี ที่ในช่วงหลังต้องดึงกลุ่มกาสิโนจากฝรั่งเศสเข้ามาถือหุ้นใหญ่
ได้ถูกจัดให้เป็นเพียงกิจการที่ CRC เข้าไปร่วมลงทุนด้วยเท่านั้น ไม่ใช่ธุรกิจที่ดำเนินการโดย
CRC เองเหมือนเมื่อ 2-3 ปีก่อน
ในแผน 5 ปี ที่ประกาศออกมาครั้งนี้ มีการกำหนดลงไปอย่างชัดเจนว่า ธุรกิจหลักของ
CRC หลังจากนี้ไป จะประกอบไปด้วย
1. ห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะมีห้างเซ็นทรัล โรบินสัน และห้างเซนที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เป็นหลัก
2. แคทิกอรี่ คิลเลอร์ ซึ่งประกอบด้วย พาวเวอร์บาย, ซูเปอร์ สปอร์ต, ออฟฟิส
ดีโปท์ และมาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์
3. ร้านค้ารูปแบบใหม่ ในลักษณะโมเดิร์นเทรด ซึ่งประกอบด้วยร้าน B2S (Book
to Stasionary), Just 25, HW (Homeworks) และ Red Dot ตลอดจนธุรกิจ Central
Online ซึ่งเป็นการค้าในรูปแบบ อี-คอมเมิร์ซ
"ใน 5 ปีข้างหน้า CRC ได้กำหนดให้ห้างสรรพสินค้าโรบินสันเป็นกิจการดาวรุ่งของกลุ่ม"
สุทธิชาติกล่าว โดยให้เหตุผลว่า "เนื่องจากห้างสรรพสินค้าโรบินสัน เพิ่งผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้
เมื่อปลายปี 2543 ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงที่อยู่ ระหว่างกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้
ทำให้มีเวลาในการจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ วางรูปแบบธุรกิจ และจับกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น หลังจากนี้ไปจะมีการรีโนเวท ห้างสรรพสินค้าโรบินสันใหม่ทั้งหมด"
ส่วนห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล จะมีการปรับปรุงสาขายกระดับให้จับกลุ่มเป้าหมายในระดับไฮเอนด์
ซึ่งเป็นโมเดลที่สาขาชิดลมทำมาและประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด
เป้าหมายของสาขาที่จะต้องมีการปรับปรุงเป็นลำดับแรก คือสาขาปิ่นเกล้า บางนา
และลาดพร้าว
ทั้งโรบินสัน และเซ็นทรัลจะยังไม่มีการขยายสาขาใหม่ในเร็วๆนี้ ยกเว้นที่สาขาพระราม 3
ด้านแคทิกอรี่ คิลเลอร์ ก็จะขยายบทบาทจากที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของห้าง ก็จะเปิดในรูปแบบ
stand alone โดยเฉพาะพาวเวอร์บาย และซูเปอร์สปอร์ต
ขณะเดียวกันก็จะเน้นไปที่ร้านค้าในรูปแบบโมเดิร์นเทรด โดยจะขยายสาขาให้มากขึ้น
ตามแนวโน้มของการค้าขาย และพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่
โครงการทั้งหมด คาดว่าในระยะแรกจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1,200 ล้านบาท
ปัจจุบัน ธุรกิจค้าปลีกภายใต้การดูแลของ CRC ไม่นับรวม Tops, บิ๊กซี และ
Watson มีสาขารวม 114 แห่ง มีพื้นที่ขายรวม 500,000 ล้านตารางเมตร มีพนักงานในเครือ
25,000 คน ทำธุรกิจกับซัปพลาย เออร์ประมาณ 10,000 ราย
สิ้นปี 2543 ธุรกิจทั้งหมดสามารถทำรายได้รวม 30,000 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อน
72% แบ่งเป็นรายได้จากห้างเซ็นทรัล 14,600 ล้านบาท โรบินสัน 7,500 ล้านบาท
พาวเวอร์บาย 5,500 ล้านบาท ซูเปอร์สปอร์ต 1,800 ล้านบาท มาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์
500 ล้านบาท และออฟฟิส ดีโปท์ 300 ล้านบาท
ส่วนปีนี้ ได้ตั้งเป้ารายได้จะขยายตัว 10% คิดเป็นรายได้รวม 33,000 ล้านบาท