เอกกมล คีรีวัฒน์ ทำงานเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ขึ้นปีที่
4 ก็สร้างผลงานกำกับดูแลโดดเด่น วันดีคืนดีปีใหม่นี้ (2538) ก็จัดแถลงข่าวประจำปีที่โปโลคลับ
สโมสรของยัปปี้ไทยระดับสูง ซึ่งล่าสุดได้รับสมาชิกใหม่ชื่อ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ผู้ซึ่งอังเอิญโชคดีที่ลูกพี่อย่างเอกกมลโอนสิทธิ์ให้ ขณะที่ตัวเอกกมลเองยกระดับขึ้นไปสูงอีกชั้นหนึ่ง
เป็นสมาชิกคนล่าสุดของราชกรีฑาสโมสร หรือ "สปอร์ตคลับ"
ชีวิตและการทำงานของคน ก.ล.ต. วันนี้เท่าที่ฟังจากการแถลงข่าว พบว่า เครียดและได้รับแรงกดดันอยู่มากๆ
จากการเป็นมือปราบไล่กำกับดูแลตลาดทุน ไม่ว่าจะธุรกิจหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารอนุพันธ์
โดยยึดหลักเป็นธรรม โปร่งใส เที่ยงตรงและการแข่งขันเสรี ทั้งๆ ที่บางครั้งคน
ก.ล.ต.เองก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมก็มีเมื่อพานพบผู้มีอิทธิพล
"สามปีที่แล้วภายใต้ระบบการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ผมได้เห็นว่าบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์อย่างยึดหลักการโปร่งใส
ยุติธรรมและเที่ยงตรง ต่างได้รับผลประโยชน์จากการระดมทุนมากมาย และให้ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นอย่างดี
แต่อาจจมีปัญหาบ้าง เพราะบทบาทและประสบการณ์ที่แตกต่างกันระหว่าง ก.ล.ต.
กับตลาดหลักทรัพย์ เป็นสิ่งที่เราต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกันความแตกต่างในความเห็นบางอย่างไม่ใช่ความแตกแยก"
เลขาธิการ ก.ล.ต.เอกกมล เล่าให้ฟัง
การทำงานกำกับดูแลตลาดทุนจึงเป็นภารกิจที่กว้างขวาง หูตาต้องไว ใจต้องหนักแน่น
และต้องมี "เพื่อน" ทั่วโลกไว้ให้ความร่วมมือเรื่องข้อมูลข่าวสาร
เพราะปัจจุบันกระแสเงินตราแพร่สะพัดไปทุกๆ ตลาดทุนทั่วโลก บางครั้งเหตุแห่งความวิบัติในซีกโลกใดซีกโลกหนึ่งอาจก่อผลกระทบกระเทือนต่อตลาดทุนไทยได้
เมื่อโลกใบเล็กลงเพราะเครือข่ายสื่อสาร ก.ล.ต.ไทยก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรไอออสโค้
(IOSCO : International Organization of Securities Commission) ในปี 2535
ไอออสโค้ทำหน้าที่เป็นมือปราบกำกับดูแลตลาดทุนสากลมานานแล้ว ตั้งแต่ปี
2526 มีสมาชิก 110 ประเทศ แบ่งงานกันทำในคณะกรรมการและคณะทำงานที่ซอยแบ่งความรับผิดชอบกันตามลำดับ
จากสูงสุด Persident Committee ที่กุมระดับนโยบายของไออสโค้
ส่วน Executive Committee ได้แบ่งตามภูมิภาค ซึ่ง ก.ล.ต.ไทยได้รองประธานคณะกรรมการ
IOSCO Asia-Pacific ด้วย และ Executive Committee ยังแบ่งตามแนวทางทำงานอีก
2 คณะที่จัดตั้งปี 2530 คือ IOSCO Technical Committee และ IOSCO Emerging
Markets Committee (IOSCO EMC) ซึ่ง ก.ล.ต. ไทยมีบทบาทอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
ในฐานะน้องใหม่ สิ่งที่ ก.ล.ต.ได้รับประโยชน์ก็คือมีเพื่อนมือปราบนานาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน
และได้เรียนรู้เทคนิคการกำกับดูแลตลาดทุนมีลักษณะเริ่มพัฒนาพัฒนา (Emerging
Market) 46 ประเทศ โดยประธานไอออสโค้ ขณะนั้นเป็นชาวอาร์เจนตินาชื่อ Comision
Nacional de Valores
ปี 2538 วันที่ 7-11 มีนาคม เอกกมล ตีรีวัฒน์ และทีมงาน ก.ล.ต.ไทยต้องเหนื่อยอีกครั้งกับงานใหญ่ที่ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุม
"IOSCO EMC 1995" ที่โรงแรมแชงกรี-ลา โดยพิธีเปิดมี ธารินทร์ นิมมานเหมินท์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ส่วนงานเลี้ยงรับรองกาลาดินเนอร์ก็หนีไม่พ้นเจ้าภาพอย่างแบงก์ชาติ
สมาคมธนาคารไทย สมาคมเงินทุนและสมาคมจดทะเบียน
ไฮไลต์ของงานประชุม "ไอออสโค้ 1995" อยู่ที่วันที่ 9 มีนาคม
ซึ่งรพี สุจริตกุล อดีตโฆษกขวัญใจสื่อมวลชน ซึ่งเลื่อนเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับตลาดทุน
เป็นผู้นำการสัมมนาเรื่อง "การกำกับดูแลผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง"
(Working Group on Regulation of Market Intermediaries) ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าของแนวทางศึกษาของคณะทำงานห้าคณะที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลและมาตรฐานบัญชีการกำกับดูแลตลาดรอง
การใช้กฎเกณฑ์และแลกเปลี่ยนข้อมูล และการบริหารการลงทุน ที่เป็นประเด็นสำคัญในการกำกับดูแลตลาดทุนที่กำลังโตนี้ด้วย
"สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้ร่วมทำการศึกษา IOSCO EMC ในหลายเรื่องที่ผ่านมาก็เป็นตลาดตราสารอนุพันธ์และรับเป็นประธานคณะทำงานศึกษาเรื่องนักลงทุนสถาบันด้วย"
เอกกมล คีรีวัฒน์ เล่าให้ฟัง
หลังจากงานเลี้ยงเลิกราและสรุปผลการประชุมของคณะทำงานทั้งห้าสายเสร็จสิ้นไปแล้ว
ทุกคนก็ชื่นมื่นกันด้วยการล่องเรือเที่ยวอยุธยาแหล่งอารยธรรมเก้าแก่ของไทย
ทิ้งไว้เพียงความทรงจำกับแฟ้มบันทึกผลการประชุม "อย่างหนา" ที่จะประยุกต์ใช้ในงานเครียดๆ
ที่ต้องกำกับดูแลตลาดทุนต่อไป