|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ยูนิลีเวอร์ติดอาวุธซีเอสอาร์ป้องตำแหน่งแชมป์ ประกาศแผนระดับโลก “การดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน” มุ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หุ้มเกราะสร้างความยั่งยืนให้ตราสินค้า หวังเพิ่มยอดขายทั่วโลกเป็น 2 เท่าในอีก 10 ปี
เบื้องหลังความสำเร็จการเป็นผู้นำในตลาดคอนซูเมอร์หลายๆ ตลาดของยูนิลีเวอร์ นอกจากความแข็งแกร่งในตัวแบรนด์สินค้าแล้ว สิ่งที่เป็นพลังสำคัญที่ช่วยค้ำบัลลังก์แชมป์ให้ลีเวอร์อยู่นานอยู่ทน ต้องยกให้กับ “ระบบการกระจายสินค้า ที่วันนี้ตัวแทนจำหน่าย หรือที่ชาวยูนิลีเวอร์เรียกขานกันว่า “คอนเซสชั่นแนร์” สามารถกระจายสินค้าได้อย่างครอบคลุมทุกรากหญ้า ซึ่งถือเป็นอาวุธที่ยักษ์คอนซูเมอร์รายนี้มีเหนือกว่าคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็น พีแอนด์จี, คาโอ, คอลเกต ปาล์มโอลีฟ หรือสหพัฒน์ ก็ตาม ไม่แค่นั้น ลีเวอร์ยังรุกหนักเรื่องการทำ “เทรด โปรโมชั่น” กับร้านค้าที่เป็นซูเปอร์มาร์เกตของผู้ประกอบการท้องถิ่น ในรูปแบบการให้เงินสนับสนุนกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ โดยลีเวอร์จะได้สิทธิในพื้นที่โฆษณา ณ จุดขาย รวมถึงพื้นที่การจัดเรียงสินค้าบนเชลฟ์ด้วย พูดได้ว่า นอกจากจะเป็นการกระชับความสำพันธ์กับร้านค้าแล้ว ลีเวอร์ยังได้โอกาสกระชับพื้นที่ขายไปพร้อมกันด้วย
ทว่า ในยุคที่ผู้บริโภคหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นเทรนด์ระดับโลก ทำให้ผู้ประกอบการหลายธุรกิจทั้งค่ายเล็ก ค่ายใหญ่มุ่งสู่การทำซีเอสอาร์ โดยเน้นชัดไปที่การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่า ยูนิลีเวอร์ย่อมไม่ตกเทรนด์ ล่าสุดกับการชูแผน “การดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน” นโยบายที่ลีเวอร์เพิ่งประกาศไปทั่วโลก ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากสินค้ายูนิลีเวอร์ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2563 ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคให้ดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจแบบยั่งยืน
“ที่ผ่านมาลีเวอร์ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด แต่นี่คือการประกาศแผนอย่างเป็นทางการ เพื่อสื่อสารและวางเป้าหมายชัดเจนว่า ลีเวอร์ต้องการขยายธุรกิจไปพร้อมกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” เป็นคำกล่าวของ บาวเค่อ ราวเออร์ส ประธานกลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ฯ ในประเทศไทย
เรียกว่าเป็นอาวุธที่สำคัญอีกตัวของลีเวอร์ เพราะแผนที่ประกาศออกมานั้นถูกออกแบบมาเพื่อการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆที่พัฒนาขึ้นก็ยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคไปพร้อมกันด้วย ซึ่งหากเป็นไปตามแผนดังกล่าว นโยบายนี้ถือเป็นเกราะชั้นดีอีกตัวของลีเวอร์ก็ว่าได้
“การสร้างการเติบโตของบริษัทไปพร้อมกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้บริษัทประสบความสำเร็จ โดยผู้บริโภคบอกเราว่า พวกเขาต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่รู้สึกว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ทำได้ยาก และไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นได้ตรงไหน ซึ่งถือเป็นความท้าทายของเรา และการจัดการกับความท้าทายเพื่อสร้างความยั่งยืน ก็เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เช่น ความนิยมที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์เพิ่มขึ้น การร่วมมือกับผู้ค้าปลีกในการสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่ง การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม การขยายตลาด และการประหยัดต้นทุน”
สำหรับแผนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 3 เป้าหมาย คือ 1.ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ลงครึ่งหนึ่ง 2.ช่วยให้คนกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลกมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้น และ 3.การจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรจากแหล่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยยูนิลีเวอร์จะเริ่มปรับกระบวนการดำเนินการตลอดวงจรชีวิตของสินค้า ซึ่งมีด้วยกัน 5 กระบวน คือ 1.การจัดหาวัตถุดิบ 2.การผลิต 3.การขนส่ง 4.การใช้ของผู้บริโภค และ 5.ขยะ
ทั้งนี้ ผู้บริหารลีเวอร์ อธิบายว่า ผลการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ยูนิลีเวอร์มากกว่า 1,600 รายการ ของการใช้ต่อผู้บริโภคใน 14 ประเทศ พบว่า ขั้นตอนการผลิตและการขนส่งมีผลกระทบเพียง 5% ขณะที่การจัดหาวัตถุดิบและการใช้ของผู้บริโภคมีผลกระทบรวมกันมากถึง 94% ดังนั้น บริษัทจึงมีแผนจัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรทั้ง 100% ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในปี 2558 ขณะที่การผลิตก็ต้องลดก๊าซที่เกิดจากกระบวนการผลิตลง 90% ภายในปี 2563 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น การเปลี่ยนตู้แช่ไอศกรีมทั่วประเทศเพื่อช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 2,500 กิโลกรัมต่อปี โดยลีเวอร์ทยอยเปลี่ยนไปแล้วกว่า 3 หมื่นตู้ และในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะเปลี่ยนให้ครบ 5 หมื่นตู้
ส่วนการขนส่ง ที่แม้จะระบุค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 2% แต่ยักษ์รายนี้ก็ให้ความสำคัญ โดยดำเนินโครงการ Backhaul มุ่งเน้นการใช้ยานพาหนะเพื่อการขนส่งให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการขอความร่วมมือกับลูกค้าและโมเดิร์นเทรดจัดการขนสินค้าเต็มความสามารถ ขณะเดียวกันก็ปรับความหนาของกล่องจาก 5 ชั้น เหลือ 3 ชั้น แต่คงประสิทธิภาพในการจัดส่งสินค้าเช่นเดิม ซึ่งนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์นี้ก็จะช่วยลดการใช้กระดาษลงอีก 35-40%
ขณะที่การใช้ของผู้บริโภคที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงสุด 68% ถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดก็ว่าได้ เพราะผู้บริโภคสามารถมองเห็นและจับต้องผลงานของลีเวอร์ได้มากสุด โดยการถ่ายทอดผ่านตัวโปรดักส์ ไม่เพียงจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการจากตัวสินค้าเท่านั้น แต่ยังช่วยสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้ด้วย อาทิ น้ำยาปรับผ้านุ่มน้ำเดียว นวัตกรรมที่ออกมาปรับพฤติกรรมการซักผ้าของคุณแม่บ้านจาก 3 น้ำให้เหลือเพียงน้ำเดียว จะช่วยลดการใช้น้ำใน 1 ครัวเรือนได้เท่ากับน้ำดื่มจำนวน 5,000 ลิตรต่อวัน หรือหากผู้บริโภคในเอเชียและแอฟริกาที่ใช้สินค้าของลีเวอร์เปลี่ยนจากผงซักฟอกแบบเดิมมาเป็นสูตรเข้มข้น ก็จะช่วยประหยัดน้ำรวมกันถึง 5 แสนล้านลิตรต่อการซักผ้า 1 ครั้ง สำหรับ “ขยะ” ซึ่งเป็นกระบวนการท้ายสุด ยูนิลีเวอร์ลดการปล่อยน้ำเสียจากกระบวนการผลิตมาบำบัดที่โรงงานบำบัดน้ำเสียให้กลับมาเป็นน้ำดิบที่มีคุณภาพ รวมทั้งเตรียมจัดโครงการรีไซเคิลของเสียในชุมชน ด้วยกระบวนการแปรรูปให้เป็นน้ำมัน ซึ่งอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับรัฐบาลในการจัดตั้งโรงงาน
และนี่คือ การติดอาวุธเพื่อสร้างเกราะป้องกันบัลลังก์แชมป์ของยูนิลีเวอร์อีกชั้นหนึ่ง ที่ครั้งนี้เป้าหมายแรกก็เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็เพื่อผลักดันยอดขายลีเวอร์ทั่วโลกให้เติบโตขึ้นอีก 2 เท่า ภายในปี 2563 งานนี้ลีเวอร์ต้องการทั้งคะแนนนิยมจากผู้บริโภคและรักษาตำแหน่งแชมป์ไปพร้อมกัน
|
|
 |
|
|