มิตซูบิชิ สตาร์ทกลยุทธ์บุกตลาดยานยนต์ไทย เริ่มต้นโครงการอีโคคาร์หวังผงาดในตลาดรถยนต์นั่งขนาดซิตี้คาร์ พร้อมเดินแผนเสริมภาพลักษณ์แบรนด์และผลิตภัณฑ์ด้วยการนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเข้ามาทดสอบการใช้งาน
ปัจจุบัน มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย มีผลิตภัณฑ์อยู่ในตลาด 4 รุ่นหลักคือ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ อีเอ็กซ์ ในตลาดรถยนต์นั่งขนาดคอมแพกต์, มิตซูบิชิ ไทรทัน ในตลาดรถปิกอัพ, มิตซูบิชิ ปาเจโรสปอร์ต ในตลาดรถยนต์ปิกอัพดัดแปลง และมิตซูบิชิ สเปซแวกอน ในตลาดรถยนต์อเนกประสงค์ แม้จะมีรถยนต์มากถึง 4 รุ่น แต่รถยนต์ที่สร้างยอดขายหลักๆ มีเพียง แลนเซอร์อีเอ็กซ์ และปิกอัพไทรทัน อีก 2 รุ่นนั้นอยู่ในตลาดเฉพาะกลุ่ม ทำยอดขายได้ไม่มากมายนัก
จากยอดขายช่วง 10 เดือนที่ผ่านมานั้น มิตซูบิชิยังเป็นค่ายผู้ผลิตอยู่ในอันดับ 5 ของตลาด ตามหลังค่ายนิสสันอยู่พอสมควร โดยมิตซูบิชิทำยอดขายรวมได้ 30,052 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 4.8% ขณะที่นิสสันทำยอดขายได้ 43,045 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 6.9% ทั้งๆ ที่ในปี 2552 นั้น มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย มีส่วนแบ่งตลาดและยอดขายห่างจากนิสสันไม่มากนัก ซึ่งนิสสันทำยอดขายช่วง 10 เดือนได้ 22,303 คัน และมิตซูบิชิ ทำยอดขายได้ 14,369 คัน แต่หลังจากการเริ่มโครงการอีโคคาร์ของนิสสัน ด้วยรถยนต์รุ่นมาร์ช นิสสัน ทำให้ยอดขายของนิสสันทิ้งห่างค่ายคู่แข่งไปเรื่อย
ดังนั้น โครงการอีโคคาร์ หรือรถประหยัดพลังงาน จึงมีความสำคัญมากกับมิตซูบิชิ ประเทศไทย รวมถึงตลาดส่งออก หลังจากมิตซูบิชิ เคยเป็นผู้นำรายใหญ่ในการส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศ ก่อนจะถูกค่ายใหญ่อย่างโตโยต้า มอเตอร์ ทำส่งออกขึ้นนำในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา
โครงการอีโคคาร์ของค่ายมิตซูบิชิ ถูกเปิดเผยอย่างเป็นทางการเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย มร.โอซามุ มาสุโกะ ประธาน บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เผยว่า ความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมของโลกที่เพิ่มขึ้น แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วก็มีความต้องการรถยนต์นั่งขนาดเล็กในราคาที่สามารถเป็นเจ้าของได้ง่าย และแน่นอนว่า จะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้มิตซูบิชิต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ถึงปัจจัยความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของความต้องการรถยนต์ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว และมีความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญและจำเป็นต่อความสำเร็จ ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่กำลังเพิ่มมากขึ้นทุกที
โดยโครงการอีโคคาร์ของมิตซูบิชินั้น จะถูกผลิตขึ้นในโรงงานผลิตรถยนต์แห่งที่ 3 ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ที่จังหวัดระยอง ซึ่งใช้งบประมาณลงทุนไปกว่า 16,000 ล้านบาท และมีแผนจะผลิตออกมาจำหน่ายราวเดือนกุมภาพันธ์ 2555 รถยนต์อีโคคาร์จากโครงการดังกล่าวจะมีเครื่องยนต์ขนาด 1.0-1.2 ลิตร กำลังการผลิตของโรงงานแห่งนี้จะอยู่ที่ 150,000 คันต่อปี และมิตซูบิชิ ระบุว่า สามารถขยายเพิ่มเป็น 200,000 คันได้ในอนาคตอย่างรวดเร็ว
นั่นหมายถึงมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จะสามารถขยายตลาดในเมืองไทย และตลาดส่งออกได้อย่างเต็มที่อีกภายใน 2 ปีข้างหน้า แม้จะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับอีโคคาร์รายแรกอย่างนิสสันมาร์ช และฮอนด้าบริโอ รถยนต์อีโคคาร์ของค่ายฮอนด้า ที่จะเปิดตัวในไตรมาสแรกของปี 2554 ก็ตาม แต่มิตซูบิชิ มั่นใจว่าตลาดรถยนต์ในไทย และการส่งออกจะยังมีความต้องการสูงและต่อเนื่อง
นอกจากนี้ มิตซูบิชิฯ ยังตัดสินใจเรื่องโครงการใหม่ล่าสุด โดยมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น จะเริ่มแนะนำรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ “ไอมีฟ” สู่ตลาดประเทศไทย โดยมีบริษัทผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทย คือ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการ
มิตซูบิชิ ได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย ทดสอบการพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ผ่านรถยนต์รุ่นไอมีฟ รวมทั้งศึกษาวิจัยถึงการยอมรับและแนวโน้มการตลาดของรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ความเป็นไปได้ในการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และการขยายสิ่งอำนวยความสะดวกในการชาร์จแบตเตอรี่ เป็นต้น
โดยล่าสุดนั้น มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ได้วางจำหน่ายรถยนต์รุ่นไอมีฟในตลาดของประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังมีแผนจะขยายความร่วมมือกับรัฐบาลในอีกหลายๆ ประเทศ เพื่อส่งเสริมความรับรู้เกี่ยวกับรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า อาทิ รัฐบาลของประเทศโมนาโก ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก และสิงคโปร์
แม้โครงการดังกล่าวยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ว่ารถพลังงานไฟฟ้ารุ่นไอมีฟ จะผ่านการทดสอบและสามารถนำมาใช้งานเชิงพาณิชย์ในไทยได้เหมือนกับตลาดอื่นๆ ของมิตซูบิชิ ต่างจากโครงการอีโคคาร์ที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วนั้น แต่อย่างน้อย ไอมีฟ จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์มิตซูบิชิ และตัวผลิตภัณฑ์ ทั้งในด้านความมั่นใจ และการพัฒนาเทคโนโลยีด้านยานยนต์ทางหนึ่ง
|