ดอกเบี้ยขาขึ้นหนุนส่วนต่างขยับ หุ้นแบงก์ยิ้มรับโอกาสทำกำไรถ้วนหน้า โบรกฯแนะให้ลงทุนมากกว่าตลาดทั้งKBANK BBL และ TCAP โดดเด่น แต่คาด TISCO อ่วมช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น เหตุโครงสร้างสินเชื่อเป็นดอกเบี้ยคงที่สูงถึง 93% แต่มีต้นทุนของเงินที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเพียง 21%
อุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส กล่าวว่าจากการที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อการส่งสัญญาณทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้ฝ่ายวิเคราะห์ฯมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 4/2553 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1/2554
โดยคาดว่าผลบวกต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย(NIM) ยังไม่เกิดขึ้นเต็มที่ในไตรมาส 4/2553 แต่มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นในไตรมาส 1/2554 ซึ่งจะได้รับผลบวกทั้งไตรมาส จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะปรับเพิ่มขึ้นก่อน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังค่อยๆทยอยปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ เป็นการปรับเพิ่มในอัตราที่ใกล้เคียงกันทั้งในฝั่งของเงินกู้และเงินฝาก จึงอาจไม่ได้ส่งผลบวกอย่างรุนแรงมากนัก และคาดว่าธนาคารพาณิชย์อื่นๆก็น่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ตามมาในลักษณะเดียวกันด้วย
ทั้งนี้กรณีที่อัตราดอกเบี้ยในระบบปรับตัวสูงขึ้นพร้อมกันทั้งเงินกู้และเงินฝาก ภายใต้สัดส่วนของเงินกู้ต่อเงินฝาก (LDR) ที่ระดับ 87% อย่างช่วงไตรมาส 3/2553 มองว่าธนาคารพาณิชย์จะได้รับผลบวกจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เนื่องจากโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากที่มีความแตกต่างกันของอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอยู่ที่15% ซึ่งเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นธนาคารพาณิชย์จะได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวทันทีและในระดับที่สูงกว่าการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว
สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่คาดว่าจะได้รับผลบวกสูงสุดจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นคือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY), บมจ.ทุนธนชาต(TCAP), ธนาคารทหารไทย(TMB), ธนาคารเกียรตินาคิน(KK), ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB), ธนาคารกรุงไทย(KTB), ธนาคารกรุงเทพ(BBL) และธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ขณะที่ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป(TISCO) เป็นสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียวที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากมีโครงสร้างสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ค่อนข้างสูงถึง93% ขณะที่มีสัดส่วนของเงินฝากและเงินกู้ยืมที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเท่ากับ 21% จึงได้รับผลกระทบทันทีเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนสำหรับหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์มากกว่าตลาด โดยมีมุมมองเชิงบวกต่อการดำเนินธุรกิจในปี 2554 หากอัตราดอกเบี้ยในระบบมีการปรับตัวสูงที่ระดับเกินกว่า 0.50% ก็ยิ่งจะส่งผลกับ NIM มากขึ้น ดังนั้นยังคงเลือก KBANK BBL และ TCAP เป็นหุ้นเด่นสุดของกลุ่ม โดยคาดว่าราคาหุ้นดังกล่าวจะสามารถปรับตัวได้ดีกว่า(Outperform) ค่าเฉลี่ยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้
|