|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศแถบยุโรป ไม่ว่าจะเป็น โปรตุเกส อิตาลี กรีซ และสเปน จะอยู่ในภาวะหนาวๆร้อนๆ แต่เศรษฐกิจของเมืองไทยกลับยังคงคึกคัก ถึงขนาดที่โตโยต้าค่ายรถยนต์อันดับหนึ่งในด้านยอดขายของบ้านเราถึงกับออกปากว่าไม่เคยขายดีอย่างนี้ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับภาพการเพิ่มกำลังการผลิตของรถยนต์หลายค่ายให้เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งเพิ่มกำลังการผลิต และเพิ่มรุ่นสินค้าให้เลือกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่ายโตโยต้า ฟอร์ดที่เพิ่มงบลงทุน 1.1 หมื่นล้านในโรงงานออโต อัลลายแอนซ์ 1 ร่วมกับมาสด้า
ในธุรกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น ปัจจุบันผู้เข้ามาผลิตและจำหน่ายรถยนต์ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยบริษัทแม่จากต่างประเทศทั้งสิ้น โดยเฉพาะค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, ตรีเพชรอีซูซุ เซลส์ จำกัด, ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด รวมไปถึงค่ายนิสสัน, มิตซูบิชิ และมาสด้า จะว่าไปแล้ว ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นแทบทุกค่ายเป็นการลงทุนของบริษัทแม่ในญี่ปุ่นแทบทั้งสิ้น
ก่อนหน้านี้ในจังหวะที่ตลาดรถยนต์เมืองไทยกำลังเริ่มต้นตั้งไข่ รถยนต์เหล่านี้เข้ามาขายโดยมีบริษัทคนไทยเป็นผู้นำเข้า หรือลงทุนไลน์การผลิตในประเทศแทบทั้งสิ้น โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย เริ่มต้นธุรกิจในเมืองไทย ในนามโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เมื่อปี 2505 ขณะที่นิสสัน มอเตอร์ส ประเทศญี่ปุ่น ตัดสินใจเข้ามาซื้อหุ้นในบริษัท สยามนิสสัน มอเตอร์ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
การเข้ามาของบริษัทแม่ของบริษัทรถยนต์ในประเทศไทย เป็นดัชนีชี้วัดถึงการมองเห็นโอกาส และศักยภาพของตลาดรถยนต์ในประเทศไทยจากปีละไม่กี่หมื่นคันในอดีต จนมาถึงปีนี้ที่คาดว่ายอดขายจะทะลุถึง 7.5 แสนคัน ไม่นับถึงปีหน้าที่เชื่อว่ายอดขายจะพุ่งสูงมากขึ้นกว่าปีนี้อีกมาก จากการเข้ามาลุยตลาดของบรรดารถเล็กในเซกเมนต์บีคาร์ หรือบบรรดาอีโคคาร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น บริโอ ของค่ายฮอนด้าที่กำลังจะออกมาในช่วงต้นปีหน้า ที่มีจุดขายในเรื่องของการประหยัดพลังงาน และประหยัดราคา
อีกประการหนึ่งก็คือต้องการเข้ามาลงทุนสายการผลิตของไทยเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง และเป็นตลาดที่มีศักยภาพแห่งหนึ่งของโลก
ปัจจุบันบริษัทรถยนต์ต่างๆ มีศักยภาพการผลิตรถยนต์จากโรงงานของตนเองมากมาย เพียงแต่บางแห่งยังใช้กำลังการผลิตไม่เต็มที่ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่ออกจากโรงงานของบางบริษัทมากกว่า 60% เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งนอกจากเป็นการขยายตลาดในต่างประเทศแล้ว ยังเป็นเรื่องของระบบการจัดการด้านผลิตภัณฑ์ เพราะหากตลาดในประเทศหรือต่างประเทศเกิดมีปัญหาด้านยอดขาย การผลิตที่ได้มาจะถูกถ่ายเทไปให้อีกตลาดได้อย่างรวดเร็ว
ขณะที่ค่ายจากอเมริกา 2 ค่ายใหญ่ ทั้งเจนเนอรัล มอเตอร์ ประเทศไทย หรือจีเอ็ม และฟอร์ด มอเตอร์ แม้จะเป็นการเข้ามาทำตลาดเองของบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกา แต่ผลตอบรับด้านยอดขายไม่เติบโตแบบเปรี้ยงปร้าง ดังนั้น โรงงานผลิตรถยนต์ของทั้ง 2 ราย ส่วนที่นำมาจำหน่ายในประเทศผ่านตัวแทนจำหน่ายต่างๆ จึงมีปริมาณไม่มากนัก แต่จะไปเน้นการส่งออก ซึ่งเป็นผลมาจากการรุกเข้ามาในเมืองไทยของบริษัทรถยนต์รายใหญ่
แม้แต่บีเอ็มดับเบิลยู หรือเมอร์เซเดส ค่ายใหญ่จากฝั่งยุโรป การเข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทยของบริษัทแม่ ถือเป็นการกระตุ้นตลาดรถยนต์ โดยเฉพาะตลาดนิช ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทรถยนต์ทั้ง 2 แห่ง อาศัยการทำตลาดผ่านตัวแทนนำเข้า และจัดจำหน่าย ซึ่งบางครั้งบริษัทแม่ในต่างประเทศไม่สามารถควบคุมการให้บริการหลังการขายให้เป็นไปตามาตรฐานเดียวกันทั่วโลกได้
แต่การเข้ามาของบริษัทแม่ไม่ได้เป็นตัวการันตีว่าเข้ามาลงทุนแล้วจะทำให้ยอดขายกระเตื้อง หรือเติบโตมากมาย เพราะปัจจุบันมีบริษัทแม่ของบริษัทรถยนต์บางแห่งได้ลดบทบาทการทำตลาดโดยบริษัทแม่ลง เช่น แลนด์โรเวอร์ เป็นต้น
นอกจากนี้การเข้ามาของบริษัทแม่ยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดเซกเมนต์ใหม่ๆในตลาดอย่างง่ายดาย
อย่างไรก็ดี เวลานี้มีบริษัทรถยนต์อีกหลายบริษัทที่เตรียมงบประมาณในการเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น โปรตอน จากมาเลเซีย หรือเฌอรี่ รถยนต์จากประเทศจีน เพียงแต่บริษัทเหล่านี้ยังต้องศึกษาทิศทางการขยายตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศไทย รวมถึงโอกาสในการทำยอดขายรถยนต์ของตนเอง ก่อนที่จะเข้ามาลงหลักปักฐานเป็นบริษัทรถยนต์ที่ดำเนินงานโดยบริษัทแม่ในประเทศไทย
แต่ในตลาดรถยนต์เมืองไทยนั้นได้รับการกล่าวขานกันว่าเป็นตลาดปราบเซียน และใช่ว่าการเข้ามาลงทุนของบริษัทแม่จากต่างประเทศจะสามารถบันดาลให้รถยนต์แบรนด์นั้นสามารถปั๊มยอดขายอย่างเป็นกอบเป็นกำ ดีไม่ดีอาจถึงต้องม้วนเสื่อกลับบ้านดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หากการเข้ามาลงทุนของบริษัทแม่เป็นเพียงแค่ต้องการตั้งเป็นสำนักงานสาขา ไม่มีการลงทุนการผลิตในประเทศ และแผนการส่งออกในอนาคต
เมื่อเป็นเช่นนี้การเข้ามาลงทุนของบริษัทแม่ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่ในระดับโลกเพียงใด แต่สุดท้ายก็อาจพ่ายให้กับค่ายรถญี่ปุ่นที่ฝังตัวอยู่ในตลาดรถยนต์มานาน...แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกเข้ามาแข่งในเซกเมนต์ไหน ที่ใครเป็นผู้ครองตลาดเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม หากมองแนวโน้มการแข่งขันและการลงทุนในปีหน้า เชื่อว่าจะต้องดุเดือด และคึกคักไม่แพ้ปีนี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนจะยังมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ที่น่าจับตาเห็นจะเป็น 2 ส่วนใหญ่คือ การลงทุนในส่วนของอีโคคาร์ กับการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตรถปิกอัพรุ่นใหม่ของเกือบทุกรายที่วางแผนจะเปิดตัวในช่วงปี 2554-2555
และแน่นอนว่าการแข่งขันไม่ได้ขีดวงความสนุกสนานไว้ที่ตลาดรถเล็กเท่านั้น แต่ยังขยายวงไปถึงรถปิกอัพด้วยเช่นกัน และจะทำให้เป้าหมายการผผลิตรถยนต์ในประเทศไทยเข้าสู่ระดับ 2 ล้านคันตามที่มีการคาดการณ์เอาไว้
|
|
|
|
|