|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ปี 2553 เป็นปีที่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เติบโตสูงขึ้นกว่าปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ โดยรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2553 เติบโตเกือบ 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบกับช่วงสิ้นปี 2552 ที่หดตัว 0.7% โดยเป็นผลมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนในช่วงครึ่งปีแรก
รายย่อยดันสินเชื่อปี 53 พุ่ง
จากข้อมูลสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศที่เผยแพร่โดยธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าเงินให้สินเชื่อ ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2553 เติบโต 9.8% จากปีก่อน โดยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกเดือน ปัจจัยหนุนหลักมาจากความต้องการสินเชื่อจากภาคเอกชนที่อยู่ในเกณฑ์ดี การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และมาตรการหนุนของรัฐสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงแรงส่งจากการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์ยังคงความเข้มข้นต่อเนื่อง
สินเชื่อรายย่อยเติบโตเร่งขึ้นจาก 9.2% ณ สิ้นปี 2552 มาที่ 17.9% ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2553 โดยสินเชื่อเช่าซื้อยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอการตัดสินใจซื้อในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2551-2552 การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และการแข่งขันด้านราคาของสถาบันการเงิน ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลยังคงได้รับแรงหนุนจากโปรโมชั่นต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนการแข่งขันด้านราคาและกลยุทธ์การขายข้ามผลิตภัณฑ์ในตลาดสินเชื่อบุคคลมากขึ้น ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แม้ว่าจะเติบโตชะลอลงในไตรมาส 3 หลังจากที่มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์หมดอายุลงในช่วงกลางปี แต่ก็ยังเติบโตถึง 14.6% จาก 10.1% ณ สิ้นปี 2552
บทบาทของสินเชื่อรายย่อยที่ค่อนข้างโดดเด่น ทำให้สินเชื่อปล่อยใหม่สุทธิในภาพรวมเติบโตถึง 85% เทียบกับบทบาทของการปล่อยสินเชื่อธุรกิจที่อยู่ที่เพียงประมาณ 15% เท่านั้น ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดของสินเชื่อรายย่อยต่อสินเชื่อรวมขยับเพิ่มขึ้นจาก 30% ณ สิ้นปี 2552 มาที่ 32.4% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจครองส่วนแบ่งตลาด 67.6% โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีน่าจะมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% อย่างไรก็ตามสินเชื่อรวมน่าจะเติบโตชะลอลงในช่วงเดือน 2 เดือนสุดท้าย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ณ สิ้นปี 2553 สินเชื่อจะเติบโตประมาณ 7-8.5% เป็นการปรับเพิ่มจากประมาณการเดิมที่ 6-8%
มองปี 54 ชะลอตัว
สำหรับแนวโน้มสินเชื่อในปี 2554 คาดว่าจะเผชิญปัจจัยลบมากขึ้นกว่าในปี 2553 ได้แก่ 1.อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความต้องการสินเชื่อ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณว่า จีดีพีไทยในปี 2554 อาจชะลอลงจาก 7% ในปี 2553 มาที่ประมาณ 3.5-4.5% ในปี 2554 ภาคการส่งออกและธุรกิจเกี่ยวเนื่องอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาท การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโตในกรอบที่ชะลอลง ตามอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงจากเงินเฟ้อที่อยู่ในจังหวะขาขึ้น ซึ่งอาจมีผลในการบั่นทอนความต้องการบริโภคสินค้าคงทนได้
2.แรงส่งจากมาตรการภาครัฐที่เบาบางลง โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ช่วยกระตุ้นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยค่อนข้างมากในปี 2553 ขณะที่ปี 2554 จะเริ่มบังคับใช้มาตรการ LTV แม้อาจไม่ได้ส่งผลกระทบทางตรงที่ไปจำกัดการเติบโตของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพราะแนวทางการปล่อยสินเชื่อส่วนใหญ่น่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ก็อาจมีผลกระทบทางจิตวิทยา อีกทั้งทำให้ธนาคารพาณิชย์อาจปรับรูปแบบการให้สินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยบางส่วนไปสู่สินเชื่อบุคคลแทน
3.การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพิ่มตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้การปรับขึ้นอาจไม่บ่อยนัก โดยอาจไม่เกิน 1% สำหรับทั้งปี 2554 แต่ก็อาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจขอสินเชื่อของบางกลุ่ม แต่อยู่ในขอบเขตที่จำกัด เพราะอัตราดอกเบี้ยส่วนใหญ่หรือในปีแรกๆ มักถูกกำหนดเป็นอัตราคงที่ อีกทั้งการแข่งขันด้านราคาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดการณ์ว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในไทยน่าจะเติบโต 5-7% ชะลอลงจากปี 2553 ที่เติบโต 7-8.5%
ปี 2554 คาดว่าสินเชื่อรายย่อยมีโอกาสที่จะเติบโตชะลอลงจากตัวเลขคาดการณ์ ณ สิ้นปี 2553 ที่ 14.2-15.9% มาที่ 9.3-11.5% โดยจะกระจายไปในสินเชื่อรายย่อยทุกประเภท ในขณะที่ความต้องการบริโภคสินค้าคงทนได้รับการดูดซับไปค่อนข้างมากแล้วในปี 2553 ส่วนสินเชื่อธุรกิจ คาดว่าจะชะลอลงจาก 2.9-4.3% ณ สิ้นปี 2553 มาที่ 1.9-3.8% ณ ปี 2554 ทำให้สินเชื่อธุรกิจปล่อยใหม่สุทธิต่อสินเชื่อรวมปล่อยใหม่สุทธิขยับขึ้นจากที่ต่ำกว่า 20% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มาสู่ระดับใกล้เคียงหรือเหนือกว่า 30% ได้
แม้ว่าสินเชื่อด้านการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) จะได้รับผลกระทบจากภาคการส่งออกที่ชะลอลง แต่ความต้องการสินเชื่อในประเทศ (Domestic Credits) จากผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอี ตลอดจนภาครัฐ ก็ยังน่าจะได้รับปัจจัยบวกจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาครัฐและเอกชน โดยภาคเอกชนหลายอุตสาหกรรมมีแผนจะเดินหน้าโครงการลงทุนเพิ่มเติมอยู่แล้วในปี 2554 ทำให้อาจต้องมีการพึ่งพิงเงินทุนบางส่วนจากสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่มีการใช้อัตรากำลังการผลิตในระดับสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับอดีต เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องแต่งกาย เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ซึ่งอาจเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์เพื่อขยายกำลังการผลิตนอกเหนือไปจากแผนการกู้ยืมเงินจากผู้ประกอบการ (รัฐวิสาหกิจ) ในธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อการขยายโครงข่าย 3G ให้ครอบคลุมพื้นที่บริการทั่วประเทศ ทั้งหมดจะช่วยฟื้นความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจในปีหน้าได้
ขณะที่ปัจจัยที่อาจมีผลในการหนุนความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุน และสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ได้แก่ ความคืบหน้าของ 3G ที่จะเกี่ยวพันกับการลงทุนเพิ่มของผู้ประกอบการเอกชนในธุรกิจโทรคมนาคม สถานการณ์เงินเฟ้อและราคาวัตถุดิบ ซึ่งหากปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างชัดเจนก็อาจมีผลในการเพิ่มความต้องการสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนให้สูงขึ้นได้ในระยะสั้นเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2551
เป็นที่น่าสังเกตว่าเป้าหมายสินเชื่อในปี 2554 ของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งที่ทยอยประกาศออกมายังคงอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับตัวเลขของปี 2553 แต่ภาวะความต้องการสินเชื่อจากกลุ่มลูกค้าศักยภาพที่จำกัดลง ก็อาจกระตุ้นให้ผู้เล่นหลายรายยังเลือกใช้กลยุทธ์ด้านราคา เพื่อช่วงชิงลูกค้าจากคู่แข่ง หรือถูกกดดันให้หาฐานลูกค้าใหม่ที่อยู่ในตลาดต่ำลง หรือผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็กลงมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อลูกค้าผู้บริโภคและธุรกิจขนาดย่อม สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับ 2 ที่ต้องการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินของผู้บริโภคมากขึ้น แต่สำหรับธนาคารพาณิชย์คงต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการเพิ่มรายได้ส่วนอื่นๆ ทดแทน โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียม เพื่อให้สามารถประคองความสามารถในการทำกำไรในปีหน้าให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีนี้
|
|
|
|
|