|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
การขาดทายาทธุรกิจรับช่วงดูแลกิจการนับเป็นปัญหาสำคัญในธุรกิจเอสเอ็มอีที่ทำให้ธุรกิจซึ่งก่อร่างสร้างมาไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ สาเหตุใหญ่เป็นเพราะธุรกิจของคนรุ่นก่อนไม่ใช่สิ่งที่คนรุ่นหลังชื่นชอบและอยากจะทำ หรือเป็นเพราะการได้เห็นความยากลำบากของคนรุ่นก่อนจนไม่คิดอยากจะตกอยู่ในสภาพเดียวกัน สำหรับ “Teddy House” ตุ๊กตาหมีสายพันธุ์ไทย ก็เกือบจะมีปัญหาเดียวกันนี้
ในมุมมองของ ปิตุภูมิ หิรัณยพิชญ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เท็ดดี้ เฮ้าส์ จำกัด เห็นว่า การที่ทายาทต้องสืบทอดกิจการไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเห็นตัวอย่างจากหลายๆ ราย ที่ไม่สามารถทำได้สำเร็จมาแล้ว แต่ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจรับดูแลและผ่านเรื่องยากๆ มาได้ เพราะรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะบรรลุผล สิ่งสำคัญอย่างแรกคือต้องอาศัยความเข้าใจกัน ความใจกว้าง และการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นทางธุรกิจระหว่างรุ่นก่อนกับรุ่นหลัง แล้วจึงจะพูดถึงโจทย์ทางธุรกิจที่จะทำร่วมกันต่อไป
“ต้องทำให้ผู้ใหญ่เห็นว่าเราไม่ใช่เด็กอีกต่อไป ผมพยายามพูดกับที่บ้านเสมอว่า คนเรามีวิธีการขับรถไม่เหมือนกัน สมัยก่อนคุณแม่เป็นคนขับ แล้ววันหนึ่งแม่บอกให้ผมเป็นคนขับก็ต้องปล่อยให้ผมขับ เพราะผมมีวิธีขับของผมและผมขอเลือกเส้นทางเอง แต่เรามีจุดหมายเดียวกัน เมื่อก่อนตอนที่แม่ขับจุดหมายคือไปเซ็นทรัลเวิลด์ใจกลางกรุงเทพฯ แต่เมื่อผมขับจุดหมายคืออยากจะไปทั่วเอเชีย แต่ประเด็นอยู่ที่ไม่มีใครเคยไปมาก่อน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะมาขับต่อก็ต้องไว้ใจกัน”
”ตอนนี้ผมเป็นคนขับเต็มตัว คนถือพวงมาลัยเป็นคนกำหนดทิศทาง แต่ก็ต้องฟังคนที่เคยขับมาก่อน เพราะรถคันนี้อาจจะมีข้อบกพร่อง เช่น ขับมาเป็นแสนกิโลแล้ว ต้องระวังถ้าขับเร็วมากเครื่องอาจจะพัง หรือต้องเปลี่ยนยาง ทำแบบนี้จะได้คนที่ช่วยสนับสนุนเราอยู่ข้างๆ”
๐ วางกลยุทธ์มุ่งสู่เป้าหมาย
สำหรับเป้าหมายที่วางไว้ 3 ปีข้างหน้าของ Teddy House คือต้องการจะเป็นแบรนด์ตุ๊กตาหมีอันดับ 1 ของเอเชีย โดยกลยุทธ์ที่ใช้มาก่อนและเป็นเส้นทางไปสู่เป้าหมาย คือการหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพ ทำให้ตอนนี้ Teddy House มีแฟรนไชส์อยู่ใน 4 ประเทศแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง อินโดนีเซีย อินเดีย และเวียดนาม และมีตัวแทนจำหน่ายอยู่ใน 2 ประเทศคือ สิงคโปร์ และไต้หวัน ซึ่งในเร็วๆ นี้ เกาหลีและญี่ปุ่นเป็นจุดหมายต่อไปที่กำลังจะไปให้ถึง ส่วนการขยายต่อไปในภูมิภาคอื่นๆ อย่างในยุโรปนั้น เชื่อว่ายังมีโอกาส แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างยากลำบากในช่วงนี้ จึงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมกับการผลักดัน
นอกจากจะมุ่งหน้านำพา “ตุ๊กตาหมีสายพันธุ์ไทย” ไปสู่ตลาดโลก โดยมีจุดขายอยู่ที่คุณภาพมาตรฐานและการดีไซน์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมทั้ง มีความหลากหลายให้เลือก พร้อมเสื้อผ้าที่สนุกกับการเปลี่ยนใส่ได้มากมาย สามารถซื้อเพื่อสะสมและเป็นของขวัญ ซึ่งพฤติกรรมของลูกค้าที่ดูจากสมาชิกแต่ละคนมักจะมีตุ๊กตาหมีประมาณ 2-3 ตัว และจะมีการซื้อเสื้อผ้าให้ทุกฤดูกาล
อย่างไรก็ตาม การขยายไลน์สินค้าเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการต่อยอดธุรกิจ Teddy House ในมือทายาทยุคใหม่ ทำให้ในอีกไม่นานจะเห็นสินค้าประเภทเครื่องเขียนต่างๆ ออกมาวางตลาด เพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น โดยจะนำสินค้ากลุ่มใหม่นี้เข้าไปในช่องทางจำหน่ายใหม่ด้วย เช่น ร้านลอฟท์ และบีทูเอส ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยรู้จัก Teddy House มาก่อนได้มารู้จัก
นอกจากนี้ จะเห็นการเติบโตไปกับพันธมิตรใหม่ในรูปแบบของการขายไลเซ่นส์ โดยพันธมิตรรายแรกคือ ออร์เกลมิวสิคเฮ้าส์ ผู้นำเข้ากล่องดนตรีคุณภาพจากญี่ปุ่น โดยจะร่วมกันพัฒนาสินค้าใหม่ ซึ่งลิขสิทธิ์ที่ออร์เกลฯ ได้คือตุ๊กตาหมี Teira Zeira Collection ที่เป็นตัวและรูปภาพ สำหรับสินค้าที่ทำออกมาและเพิ่งจะมีการเปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้ คือตุ๊กตาหมีที่มีเสียงดนตรีกับกล่องดนตรีที่มีรูปตุ๊กตาหมี
เขามองว่า ในโลกปัจจุบัน การหาพันธมิตรและเติบโตร่วมกันโดยเฉพาะบริษัทเล็กๆ เป็นแนวทางที่ควรจะนำมาใช้ในการขยายธุรกิจอย่างมาก เพราะจะสามารถใช้จุดแข็งของแต่ละคนมาร่วมมือกัน และอุดจุดอ่อนที่มีอยู่ได้ ซึ่งการตัดสินใจเป็นพันธมิตรกับออร์เกลฯ เพราะมีความสนใจกล่องดนตรีอยู่ก่อนแล้ว และสิ่งที่ออร์เกลฯ มีอยู่เป็นเรื่องของความพร้อมในการทำธุรกิจและศักยภาพที่มากพอ เช่น การมีสินค้าที่ดี ความรู้ความเข้าใจในธุรกิจที่ทำ ความพร้อมด้านการเงิน และการมีแนวทางเดียวกัน
ส่วนสิ่งที่ Teddy House มีให้พันธมิตรคือ แบรนด์ตุ๊กตาหมีที่มีความแข็งแรงระดับหนึ่ง ฐานลูกค้าที่เป็นสมาชิกกว่า 28,000 คน แฟนเพจบนเฟซบุ๊กกว่า 40,000 คน และร้านที่มีอยู่ในประเทศ 18 สาขา กับต่างประเทศ 13 สาขา นอกจากนี้ ในปีหน้าจะมีสาขาใหม่ที่เปิดเพิ่มในประเทศ 4 สาขา กับต่างประเทศ 3 สาขา
๐ สำเร็จได้ด้วยเรื่องใกล้ตัว
เขาย้ำว่า ความสำเร็จของ Teddy House อยู่ที่การเป็นแบรนด์ที่มีคาแร็กเตอร์เฉพาะและคุณภาพของตุ๊กตาที่มีมาตรฐานโลก ซึ่งลูกค้าโดยเฉพาะสมาชิกทุกคนมีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้ธุรกิจไปสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งในด้านรายได้ปีนี้คาดว่าจะเติบโต 25% หรือจะทำได้ถึง 90 ล้านบาท
“ผมเข้ามาต่อยอดธุรกิจให้คุณแม่ แต่เรื่องที่ทำไม่ใช่อะไรใหม่ที่ไม่เคยมีใครคิดใครทำมาก่อน ผมแค่หยิบจับสิ่งที่ดีๆ สิ่งที่เห็นมา แต่สื่งสำคัญอยู่ที่การหยิบให้ถูกละนำมาผสมผสานกับสิ่งที่เรามีอยู่ กับวัฒนธรรมองค์กร กับลูกค้า เพราะเราสามารถนำทุกอย่างที่อยู่รอบข้างมาใช้ได้ และมองไว้ว่าอยากจะไปให้ได้อย่าง Sanrio หรือเป็นเหมือน Hello Kitty”
“มาถึงวันนี้ มองกลับไปว่าก่อนที่จะตัดสินใจมาทำก็ถามตัวเองว่าเหมาะกับธุรกิจนี้หรือเปล่า คำตอบคือไม่เหมาะ เพราะตุ๊กตาหมีเป็นของผู้หญิงมากกว่า แต่ก็เพราะตุ๊กตาหมีแทนความรักความผูกพันกันของรุ่นสู่รุ่น แม่กับลูก เพื่อนกับเพื่อน ผมเป็นลูกคนเดียว เมื่อมอง Teddy House แล้วทำให้คิดถึงแม่ทุกครั้ง และเมื่อคิดอยู่ระยะหนึ่งก็บอกตัวเองว่า ผมเรียนจบโฆษณามา ถ้าจะต้องไปทำงานตามที่เรียนมาก็ต้องไปทำงานกับบริษัทโฆษณา ต้องไปรับโจทย์จากคนอื่น ทำตามที่คนอื่นอยากให้ทำ แล้วทำไมไม่เป็นซีอีโอของบริษัทแล้วทำสิ่งที่อยากทำและสนุกกับการบริหารธุรกิจของตัวเอง”
ขณะที่ ปรัชญาในการทำงานได้รับสืบทอดมาจากแม่ ที่บอกว่าต้องมี 2 เรื่อง คือ 1.ต้องรักลูกน้องและดูแลลูกน้องอย่างดี ซึ่งไม่ว่าสถานการณ์ทางธุรกิจจะเป็นอย่างไรยังคงมีโบนัสให้ทุกปีไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม และ2.ต้องซื่อสัตย์รักษาคำพูด เช่น การเป็น exclusive brand ที่อยู่กับเซ็นทรัลมาตลอดจนถึงวันนี้เป็นการรักษาสัญญาที่ให้ไว้ เป็นหลักยึดสำคัญที่มีส่วนให้การก้าวเดินบนหนทางธุรกิจเส้นนี้เป็นไปอย่างมั่นคง
ก่อนที่จะก่อเกิดแบรนด์ Teddy House ธุรกิจที่ริเริ่มในตอนแรกเป็นรูปแบบของการรับจ้างผลิตตุ๊กตาหมีที่เน้นส่งออกให้กับแบรนด์ดังๆ เช่น ห้างแฮรอดส์ โดยมีมาตรฐานระดับโลกเป็นสิ่งยืนยันคุณภาพมาตลอด 10 ปี จนกระทั่งมาคิดว่าควรจะสร้างแบรนด์ขึ้นมาเอง จึงเกิดเป็น Teddy House ขึ้นเมื่อ12 ปีก่อน
โดย “ปิตุพร” ผู้เป็นแม่บุกเบิกมาประมาณ 8 ปี โดยเน้นการเติบโตไปกับห้างเซ็นทรัล ด้วยการขยายไปได้ 9 สาขา ก่อนที่ “ปิตุภูมิ” ลูกชายคนเดียวจะมารับสืบทอดกิจการ ซึ่งในวันนี้ก็ได้เห็นการต่อยอดทางธุรกิจมาแล้วในระดับหนึ่งของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการปรับเปลี่ยนแนวทางจากการเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตมาสู่การเป็นเจ้าของแบรนด์
ทายาทธุรกิจ Teddy House เล่าว่า เมื่อ 4 ปีก่อนที่เริ่มต้นเข้ามาช่วยดูแล โจทย์ใหญ่โจทย์แรกที่วางไว้ในตอนนั้นเป็นก็คือ การขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยเน้นไปในต่างประเทศ เพราะมองว่าเป็นแนวทางที่รวดเร็วและเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจได้มากกว่า เพราะการขยายด้วยแฟรนไชส์ไม่ต้องลงทุนเองและยังเป็นหนทางสร้างรายได้อีกด้วย เพียงแต่ต้องมีระบบที่ดีพอ ซึ่งที่านผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าเดินมาถูกทางจากร้านที่เปิดอยู่ ณ วันนี้ ใน 6 ประเทศ และเตรียมที่จะขยายขึ้นอีกในปีหน้า
การเติบโตโดยมองแฟรนไชซีเป็นพันธมิตรนอกจากจะทำให้การเติบโตในต่างประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในส่วนของประเทศไทย การที่ดาราดัง “แพนเค๊ก- เขมนิจ จามิกรณ์” มาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจด้วยนั้นมีส่วนช่วยให้ได้ภาพลักษณ์ที่ดีเพิ่มขึ้น
“การที่เรามาทำธุรกิจร่วมกันได้เพราะคุณแม่ของแพนเค๊กเป็นลูกค้าของเรามานานมาก และแพนเค๊กก็ชอบตุ๊กตาหมีมากมาตั้งแต่เด็กๆ อยู่แล้ว ผมไม่ได้คิดจะใช้ดาราดังมาโปรโมทธุรกิจ แต่เพราะแพนเค๊กตั้งใจกับธุรกิจนี้จริงๆ และมีไอเดียมากมาย ส่วนหนึ่งคือที่เห็นในร้านที่สยามสแควร์ ซอย 11 มีบริการเครื่องดื่มสูตรพิเศษของแพนเค๊กและการจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปต่างๆ เมื่อปรึกษากัน ผมเห็นว่าไปกันได้ก็ให้ทำ แต่บอกว่าคงจะไม่ได้กำไรจากส่วนนี้ เท่าไรนัก” ปิตุภูมิ กล่าวทิ้งท้าย
เมื่อคนรุ่นแรกวางรากฐานที่ดีไว้ในระดับหนึ่งแล้ว การเข้ามารับช่วงด้วยความรักความผูกพัน บวกกับความมุ่งมั่นตั้งใจและความสามารถของคนรุ่นสอง ทำให้ธุรกิจเล็กๆ สามารถเติบโตได้อย่างมีอนาคต
|
|
|
|
|