ส่งออก พ.ย.ฝ่าวิกฤตบาทแข็ง โตไม่หยุด มูลค่า 1.77 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 28.5% คาดยอดรวมทั้งปีโตกระฉูด 26-28% ส่วนปีหน้าตั้งเป้าโตแค่ 10% มูลค่าทะลุ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน พ.ย.2553 มีมูลค่า 17,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 28.5% เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งๆ ที่ไทยยังคงมีปัญหาเงินบาทแข็งค่า หรือคิดในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 5.24 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.8 % ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 17,292 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 35.3% ทำให้เดือนพ.ย. ไทยยังคงเกินดุลการค้า 408 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ส่วนยอดส่งออกรวม 11 เดือนปี 2553 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่ารวม 177,977 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 29.15% หรือคิดเป็นมูลค่าเงินบาทรวม 5.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.12% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่ารวม 166,101 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 39.3 % ส่งผลให้เกินดุลการค้ารวม 11,875.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญเดือน พ.ย.กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้น 25.7% ได้แก่ ข้าวเพิ่มขึ้น 53.1% หลังจากรัฐบาลเริ่มทยอยระบายสต๊อก ทำให้การส่งออกสูงถึง 9 แสนตัน และคาดว่า ทั้งปีจะส่งออกได้ตามเป้าหมาย 8.5 ล้านตัน ยางพารา เพิ่ม 49.2% อาหาร 21.5% มันสำปะหลัง 7.5% แต่น้ำตาลลดลง 67.8% เนื่องจากผลผลิตในประเทศลดลงและความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น
ส่วนกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 27.9% ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ 8.2% เครื่องใช้ไฟฟ้า 28.8% ยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ 35.9% อัญมณีและเครื่องประดับ 89.7% เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก 42.8% สิ่งทอ 27.9% แต่วัสดุก่อสร้างลดลง 1.4% เนื่องจากการส่งออกโครงก่อสร้างทำด้วยเหล็กและเหล็กกล้าไปออสเตรเลียลดลงถึง 84.8%
ทางด้านตลาดส่งออกยังขยายตัวทุกตลาด กลุ่มตลาดหลักเพิ่มขึ้น 22.5% ได้แก่ สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น19.9% สหภาพยุโรป 22.6% ญี่ปุ่น 25.1% ตลาดศักยภาพสูง เพิ่มขึ้น 30.3% ได้แก่ อาเซียน เพิ่มขึ้น 25.9% จีน 20.9% ฮ่องกง 55.8% เอเชียใต้ 26.5% ไต้หวัน 70.3% และเกาหลีใต้ 41.8% ตลาดศักยภาพระดับรอง เพิ่มขึ้น 24.1% ได้แก่ รัสเซีย และกลุ่มสหภาพโซเวียตเดิม (ซีไอเอส) เพิ่มขึ้น 122.9% ลาตินอเมริกา 74.1% และแอฟริกา 46.3%มีเพียงทวีปออสเตรเลียหดตัว 0.3% ขณะที่ตลาดอื่นๆ เพิ่มขึ้น 169.7% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่มขึ้น 226.3%
ด้านการนำเข้าเดือน พ.ย.มีการขยายตัวทุกกลุ่ม ยกเว้นอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ ลด 45.7% โดยสินค้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 61.1% สินค้าทุน 23.6% ทุน วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป 34.1% อุปโภคบริโภคเพิ่ม 23.4% ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง 41.5%
สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) 7 ฉบับ ไปยังอาเซียน ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ เกาหลีใต้ มีมูลค่า 9,363 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 44.9% หรือ 3,312 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการนำเข้า 10,046 ล้านเหรียญสหรัฐ ขาดดุล 683 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศที่ใช้สิทธิส่งออกสูงสุด คือ จีน รองลงมาเป็นออสเตรเลีย ขณะที่ประเทศขาดดุลสูงสุด คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ส่วนการค้าชายแดน มีการค้ารวม 63,299 ล้านบาท ขยายตัว 6.2% แยกเป็นส่งออก 39,197 ล้านบาท ขยายตัว 8.2% นำเข้า 24,102 ล้านบาท ได้ดุลการค้า 151,095 ล้านบาท
นางพรทิวา กล่าวว่า การส่งออกทั้งปี 2553 จะทำได้เกินเป้าหมายแน่นอน โดยตอนนี้ ยอดรวม 11 เดือนทำได้ 28.5% และเดือนธ.ค.เชื่อว่าจะส่งออกไม่ต่ำกว่า 14,000-17,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ทั้งปีขยายตัว 26-28% ขณะที่รูปของเงินบาทจะขยายตัว 19-20% ส่วนการส่งออกปีหน้าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% มีมูลค่าเกิน 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปัจจัยเสี่ยงปีหน้า ยังคงเป็นเรื่องของค่าเงินบาทที่มีความผันผวน ซึ่งผู้ส่งออกยังคงเรียกร้องให้มีการแทรกแซงไม่ให้มีการแข็งค่าเร็ว ส่วนปัจจัยบวกมาจากแนวโน้มความต้องการนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกที่สูงขึ้น หลังประเทศยักษ์ใหญ่ อย่างสหรัฐฯ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง (คิวอี2) อีก 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมถึงอังกฤษ 2 แสนล้านปอนด์ และญี่ปุ่น 5 ล้านล้านเยน ซึ่งจะช่วยให้กำลังซื้อประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ ก็ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
|