รำไพ สุขยางค์ เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท สตรองแพ็ค จำกัด เมื่อวันที่
1 เมษายน 2533...นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของบริษัทนี้
รำไพ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ แมคคานิค จากประเทศฟิลิปปินส์
จากนั้นก็เหินฟ้ากลับมาเมืองไทยเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ระหว่างเป็นอาจารย์ก็ได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งทำธุรกิจก่อสร้างไปด้วย เมื่อมีก้าวแรกก็ย่อมมีก้าวต่อไป
ในที่สุด รำไพก็ต้องอำลาชีวิตข้าราชการซี 6 ไปเปิดกิจการก่อสร้างของตนเองอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
แต่ดูเหมือนโชคไม่เข้าข้าง เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้ราคาวัสดุสินค้าถีบตัวสูงขึ้น
กิจการของเขาประสบกับการขาดทุนอย่างหนักจนต้องปิดตัวเองในที่สุด
เมื่อมีล้มก็มีลุก ญาติผู้หนึ่งของรำไพได้แนะนำให้เขาไปสมัครงานที่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ซึ่งในครั้งนั้นเขายอมรับว่าไม่เคยรู้จักหน่วยงานนี้มาก่อนเลย เขาเริ่มไต่เต้าจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมธรรมดาที่กล้าพูด
กล้าแสดงความคิดเห็น บวกด้วยประสบการณ์ดั้งเดิม เข้าได้ก้าวไปถึงตำแหน่ง
"ผู้ชำนาญอาวุโส" ซึ่งมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแก้ไขปัญหาประดามีของบริษัทที่กู้ยืมเงินของบรรษัทมาลงทุน
จึงเป็นโอกาสที่รำไพได้สั่งสมประสบการณ์ทั้งในด้านเทคนิคและการบริหารไว้อย่างมากมาย
ในเวลาเกือบสิบปีที่บรรษัททำให้รำไพยอมรับว่าเขามีความผูกพันกับที่นี่มาก
แต่ชะตาของรำไพทำให้เขาต้องเปิดหมวกอำลาจากบรรษัทที่เขารัก เมื่อรำไพต้องเข้าไปเป็นที่ปรึกษาของบริษัทสตรองแพ็ค
จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตและรับจ้างผลิตวัสดุเพื่อใช้ในการหีบห่อ โดยมี AB
AKERLUND & RAUSING บริษัทในเครือสวีดิชแมชช์ จำกัด จากสวีเดนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ซึ่งนับแต่ซื้อกิจการนี้มาก็ประสบภาวะการขาดทุนมาตลอด จนบรรษัทต้องส่งทีมกู้ภัยมาช่วยเหลือ
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ รำไพ สุขยางค์
ก้าวแรกที่เข้าไป รำไพไม่ได้ไปอย่างผู้รอบรู้ "ผมให้คนที่อยู่มาก่อนสอนผม
แล้วค่อยนำความรู้ของเราและของเขามาพัฒนาให้ใช้ร่วมกันได้" จากหลักการนี้
รำไพและทีมงานจึงรู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน "ช่วงนั้นพนักงานในโรงงานไม่มีประสิทธิภาพ
การบริหารก็มีปัญหาทั้ง ๆ ที่ตลาดดีมาก" การแก้ไขจึงพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาแมนพาวเวอร์ให้มีคุณภาพ
ด้วยการจ้างวิศวกรระดับปริญญาตรีมาเสริมวิศวกรระดับปวช. ปวส. พร้อมกับสร้างความเข้าใจกับวิศวกรให้ถ่ายทอดความรู้ต่อกัน
ไม่หวงวิชา เพราะเข้าใจว่าจะทำให้ตนเองหมดความสำคัญลง "ผมให้เขาคิดเสียใหม่ว่า
การถ่ายทอดให้คนอื่นทำงานแทนเขาได้ เราก็จะโปรโมทเขาให้รับตำแหน่งที่สูงกว่านี้ได้"
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาคนที่เหมาะสม ด้วยการส่งไปดูงานหรือเข้ารับการอบรมต่าง
ๆ เมื่อแก้ปัญหาได้ถูกจุด สถานการณ์ต่าง ๆ ก็ดีขึ้น มิสเตอร์คอร์เนล ลิโอ
มาปา กรรมการผู้อำนวยการ ในขณะนั้นเห็นว่ารำไพจะเป็นกำลังสำคัญของสตรองแพ็ค
จึงทาบทามให้เขาดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงงาน ซึ่งเขาก็ตกลงรับไว้ แม้ว่าจะอาลัยบรรษัทที่เขาผูกพันมานานนับสิบปี
แต่เมื่อถึงวันนี้ เขายอมรับว่านั่นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะในวันนี้เขาได้ก้าวมาถึงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการไทยคนแรก
"แม้ว่าเครื่องจักรจะดี แต่ถ้าคนไม่ดีก็ไม่มีความหมาย" นี่เป็นปรัชญาการทำงานที่รำไพเน้นมาก
ด้วยความเชื่อในความสำคัญของคนนี่เอง ที่ทำให้รำไพส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรภายใน
เปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับเข้าพบได้ตลอดเวลา และสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม
ซึ่งเป็นสิ่งที่รำไพให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะอุปนิสัยกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นนี้เองที่ทำให้เขาก้าวมาถึงขั้นนี้
"มาถึงตำแหน่งนี้ไม่มีใครไม่ภูมิใจ แต่ก็ไม่เคยลืมตัวเอง เพราะถือว่าผมก้าวเข้ามาทำหน้าที่ก็ทำไปตามหน้าที่และบทบาทที่ตนได้รับมอบหมายเท่านั้นเอง"...