Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2533
พันธมิตรร่วมทุนจะรุ่งหรือโรยในทศวรรษ 1990             
 


   
search resources

International




การร่วมทุนหรือ JOINT VENTURE ได้กลายเป็นแนวทางสำคัญที่ส่งให้ธุรกิจอเมริกันสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลกอย่างได้ผลชงัดในยุคปัจจุบัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะช่วงก่อนทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทข้ามชาติในสหรัฐฯ มักจะหลีกเลี่ยงยุทธวิธีดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นการทำให้ความเป็นเจ้าของกิจการถูกแบ่งซอยออกไปหรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เจ้าของกิจการจะสูญเสียอำนาจในการควบคุมกิจการและต้องแบ่งปันผลกำไรไปให้กับผู้ร่วมทุนของตน

แต่พอถึงทศวรรษ 1970 แนวโน้มข้างต้นก็เริ่มปรับเปลี่ยนไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่กรณีของเจเนอรัลมอเตอร์ (จีเอ็ม.) ที่แต่ไหนแต่ไรก็ถือหุ้นส่วนในกิจการสาขาของตนในต่างประเทศอยู่ถึง 100% เต็ม ครั้นปี 1975 สาขาของจีเอ็ม. นอกสหรัฐฯ ก็กลายสภาพเป็นบริษัทร่วมทุนไป ต่อมากิจการสาขาของจีเอ็ม.อีก 12 แห่งจาก 20 แห่ง ที่อยู่ในต่างประเทศก็ใช้ยุทธวิธีร่วมทุนกับกิจการในท้องถิ่นเพิ่มอีก จนปี 1983 จีเอ็ม.ก็ประกาศร่วมทุนครั้งใหญ่กับโตโยต้าเพื่อขยายธุรกิจรถยนต์เล็ก และเข้าร่วมทุนกับแดวูแห่งเกาหลีใต้, อีซูซุ และซูซูกิของประเทศญี่ปุ่นในระยะต่อมาด้วย

ความนิยมในยุทธวิธีดังกล่าวยังระบาดไปยังธุรกิจแขนงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง หรือคอมพิวเตอร์ ด้วยเหตุผลที่บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจต่างเห็นพ้องกันว่า "จะไม่มีบริษัทไหนที่สามารถยืนหยัดในการแข่งขันในตลาดโลกได้ตามลำพัง"

และนี่จึงเป็นมูลเหตุสำคัญของการร่วมทุนระหว่างบริษัทธุรกิจชั้นนำหลายต่อหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีฮันนี่เวลล์ของสหรัฐฯ กับบุลล์แห่งฝรั่งเศสที่เป็นฮันนี่เวลล์บุลล์ในปัจจุบัน, กรณีฮันนี่เวลล์กับเอ็นอีซี.แห่งญี่ปุ่น, เอทีแอนด์ทีของสหรัฐฯ กับโอลิเวตตี้แห่งอิตาลี, เอทีแอนด์ทีกับฟิลิปส์แห่งเนเธอร์แลนด์ จนถึงกรณีฟิลิปส์กับเวิร์ลด์พูลเมื่อเร็ว ๆ นี้

เหตุผลที่ทำให้การร่วมทุนได้มีบทบาทสำคัญต่อการแข่งขันทางธุรกิจระดับโลกก็มีอยู่ว่า บริษัทข้ามชาติทั้งหลายค้นพบว่า การเข้าร่วมทุนกับบริษัทในประเทศท้องถิ่นที่ตนประสงค์จะเข้าไปเปิดตลาดนั้น จะเป็นการเปิดทางสะดวกที่ร่นระยะเวลาการศึกษาวิจัยตลาดและลดความสุ่มเสี่ยงโดยผ่านการจัดหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านการบริหารในท้องถิ่น อีกทั้งเป็นการลดความตึงเครียดกับคู่แข่งในท้องถิ่นลงด้วย

แต่ก็ใช่ว่าการร่วมทุนจะต้องลงเอย ด้วยความหวานชื่นของกิจการที่ร่วมทุนกันเสมอไป สำหรับบางกรณีการตกลงร่วมทุนกันอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด หรือเป็นคู่ร่วมทุนที่ไม่เหมาะสมกัน และบางกรณีการตัดสินใจในชั้นแรกอาจจะถูกต้อง แต่เงื่อนไขแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้การร่วมทุนนั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อีกต่อไป

ยิ่งกว่านั้น ในส่วนของบริษัทข้ามชาติเองที่อาจจะอยากเป็นเจ้าของกิจการทั้งหมดในบริษัทสาขาก็ใช่ว่าจะทำได้โดยง่ายดายเสมอไป เพราะรัฐบาลบางประเทศ เช่น อินเดีย, จีนหรือเม็กซิโก ต่างพยายามที่จะสนับสนุนให้บริษัทข้ามชาติเข้าร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น โดยในบางกรณีก็ถึงกับออกกฎข้อบังคับกันทีเดียว

การเป็นเจ้าของกิจการเพียงรายเดียวกับการร่วมทุน

ถึงการร่วมทุนจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบธุรกิจข้ามชาติได้มากกว่าที่หลายคนคาดคิด แต่ก็ใช่ว่าการผูกขาดความเป็นเจ้าของกิจการแบบดั้งเดิมจะไร้ประโยชน์เอาเสียเลย อันที่จริง การร่วมทุนแบบไม่เลือกกาลเทศะนั้นกลับทำให้สิ้นเปลืองต้นทุนจำนวนมหาศาล แถมต้องสูญเสียอำนาจการบริหารและยังเสี่ยงต่อการสร้างคู่แข่งใหม่ด้วย

ยิ่งกว่านั้น กิจการที่ร่วมทุนกันมักจะเผชิญกับความผันผวนไม่แน่นอน อย่างจีเอ็ม.กับแดวูที่ร่วมทุนกัน ต่างก็กล่าวโจมตีซึ่งกันและกันเมื่อการส่งออกไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากนั้นก็ยังมีคู่กรณีขัดแย้งคู่อื่นอีก เช่น เอทีแอนด์ทีกับโอลิเวตตี้ หรือบริษัทเคมีภัณฑ์เฮอร์คิวลิสกับมอนติดิสัน เป็นต้น ผู้ประกอบการที่คิดจะใช้วิธีการร่วมทุนจึงควรจะชั่งน้ำหนักข้อดี ข้อเสียอย่างละเอียดก่อนที่จะตัดสินใจด้วย

เมื่อไหร่จึงควรใช้วิธีการร่วมทุน

การพิจารณาความเหมาะสมของการร่วมทุนนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถและเป้าหมายของคู่ร่วมทุนนั้น ๆ กรณีจีเอ็ม.และโตโยต้า ทั้งสองฝ่ายต่างเอื้อประโยชน์ให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ในจุดที่เป็นข้ออ่อนของกันและกัน โดยจีเอ็ม.ช่วยเสริมฐานเครือข่ายของการจัดจำหน่ายของโตโยต้าในสหรัฐฯ และโตโยต้าช่วยจีเอ็ม.ในด้านการออกแบบและกระบวนการผลิตรถยนต์เล็กที่มีประสิทธิภาพ

ส่วนคู่ของเอทีแอนด์ทีและโอลิเวตตี้นั้น เอทีแอนด์ทีขาดประสบการณ์ทำธุรกิจนอกสหรัฐฯ แต่ต้องการเปิดตลาดมินิคอมพิวเตอร์ในยุโรป ขณะที่โอลิเวตตี้มีฐานแข็งแกร่งในยุโรป แต่ต้องการเปิดตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในสหรัฐฯ ความต้องการของทั้งสองจึงเสริมรับกันพอดี

แต่สำหรับธุรกิจบางแห่งแล้ว การร่วมทุนอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีก็ได้ อย่างกรณีผู้ผลิตใบมีดโกนยิลเล็ตต์ที่พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตใบมีดโกนไปถึงระดับที่ไม่จำเป็นจะต้องขอความร่วมมือจากผู้ผลิตรายอื่นอีกแล้ว การร่วมทุนกลับจะเป็นช่องทางให้มาตรฐานของสินค้าลดต่ำลงด้วยซ้ำ หากเทคโนโลยีของคู่ร่วมทุนไม่ได้มาตรฐานเทียบเท่าของยิลเล็ตต์ หรือกรณีของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันนั้นเป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ประเภทที่ไม่มีตัวตน เช่น เครื่องหมายการค้า, สิทธิบัตร และชื่อเสียงของบริษัทที่สั่งสมมานาน การร่วมทุนกับคู่ร่วมทุนที่ไม่เข้าใจในจุดนี้ อาจทำให้ชื่อเสียงของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน มัวหมองไปได้

นอกจากนั้น การร่วมทุนยังเป็นยุทธวิธีที่เหมาะสมสำหรับบริษัทที่ต้องการขยายขีดความสามารถของตนไปสู่ธุรกิจแขนงใหม่ ๆ แต่จะไม่เหมาะสมหากมุ่งมั่นที่จะใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบที่มีอยู่เท่านั้น

อย่างกรณีร่วมทุนของจีเอ็ม.ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้, เอทีแอนด์ทีในยุโรป ล้วนแต่เป็นการร่วมทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของตนผ่านความร่วมมือของคู่ร่วมทุนที่มีโนว์-ฮาว และฐานการตลาดอยู่ โดยที่จีเอ็ม., ยิลเล็ตต์หรือจอห์นสันแอนด์จอห์นสันเพียงแต่ใช้ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบที่มีอยู่ในมือเท่านั้น

โดยปกติแล้ว ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบไม่ใช่สินค้าสำเร็จรูปที่จะหาซื้อได้จากภายนอกองค์กรเหมือนกับเครื่องจักร, วัตถุดิบหรือแรงงาน แต่บริษัทข้ามชาติจะได้ข้อได้เปรียบตรงนี้จากการร่วมทุนกับบริษัทอื่นในท้องถิ่น ตั้งแต่การโอนย้ายงานบุคคล, การฝึกอบรม และการวิจัยและทำตลาดร่วมกัน

จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติพบว่า บริษัทข้ามชาติสหรัฐฯ นั้นจะมีแนวโน้มที่จะร่วมทุนกับบริษัทอื่นในแขนงธุรกิจที่ตนมีประสบการณ์มากกว่าแขนงที่ตนไม่ชำนาญ ขณะเดียวกันธุรกิจที่เคยเพาะบ่มประสบการณ์ของตนในต่างประเทศมากเพียงพอแล้วก็มักจะไม่นิยมร่วมทุนกับผู้อื่น

มุมมองแบบครอบคลุมทั่วโลกกับมุมมองเฉพาะท้องถิ่น

สำหรับธุรกิจระดับโลกอย่างยิลเล็ตต์และจอห์นสันนั้น ต่างเอาใจใส่กับผลกระทบจากการร่วมทุนที่มีต่อยุทธศาสตร์แบบครอบคลุมทั่วโลกของตน ทั้งสองจึงพยายามรักษามาตรฐานคุณภาพระดับโลกของตนอย่างเหนียวแน่น ความเสี่ยงของการร่วมทุนสำหรับทั้งสองก็คือว่า คู่ร่วมทุนในท้องถิ่นมักจะเอาใจใส่แต่เฉพาะยุทธศาสตร์ในท้องถิ่นเท่านั้น และนี่จึงถือว่าเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ผู้คิดทำธุรกิจแบบร่วมทุนควรจะคำนึงถึงด้วย นั่นคือแม้ว่ากิจการที่ร่วมทุนกันนั้นจะมีลักษณะที่แตกต่างกันในเชิงภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะคู่ของบริษัทข้ามชาติกับบริษัทในท้องถิ่น แต่เป้าหมายของแต่ละฝ่ายควรจะเหมือนกัน

ไอบีเอ็มก็เคยผ่านประสบการณ์ทำนองนี้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 และทศวรรษ 1970 โดยเมื่อแรกไอบีเอ็มบริหารโรงงาน 6 แห่ง ในยุโรปอย่างเป็นอิสระจากกัน แต่ละแห่งต่างผลิตสินค้าป้อนตลาดที่ตนรับผิดชอบ พอถึงทศวรรษ 1960 ไอบีเอ็มตัดสินใจผนวกโรงงานเหล่านี้เข้าด้วยกันและบริหารโดยถือว่าโรงงานแต่ละแห่งเป็นส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้ระบบการประสานงานในภูมิภาคยุโรป สินค้าและชิ้นส่วนประกอบจึงมีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างโรงงานต่าง ๆ และโรงงานทั้ง 6 แห่ง จะดำเนินแนวทางตามยุทธศาสตร์สินค้าและการตลาดแบบเดียวกันหมด

ปรากฏว่า "ประเด็นการควบคุมกลายเป็นปัญหาสำคัญไป เพราะผลผลิตสูงสุดของระบบโดยรวมไม่ได้มาจากผลผลิตโดยรวมที่สูงที่สุดของโรงงานแต่ละแห่งผลิตในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน" จ๊าค เมซองรูจ...ประธานบริหารไอบีเอ็มขณะนั้นชี้ปัญหา หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ โรงงานแต่ละแห่งต่างสนใจแต่ผลประโยชน์สูงสุดของตน โดยไม่แยแสถึงผลประโยชน์โดยรวมนั่นเอง

กรณีการร่วมทุนระหว่างจีเอ็ม.กับแดวูก็เช่นกัน ปัญหาความขัดแย้งเกิดจากพื้นฐานความแตกต่างกันเชิงภูมิศาสตร์ และเมื่อยอดขายของบริษัทร่วมทุนลดต่ำกว่าเป้าหมายถึง 33% ในกลางปี 1988 มีผลให้แดวูขาดทุนสูงถึง 40 ล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งปีแรก แดวูจึงได้แต่ประณามจีเอ็มเกี่ยวกับความผิดพลาดในการโปรโมทรถยนต์ในตลาดสหรัฐฯ ฝ่ายจีเอ็มเองก็โจมตีแดวูว่าขาดเทคโนโลยีในการผลิตรถยนต์ราคาถูก

การเจรจาต่อรองกับรัฐบาลในประเทศที่จะเข้าร่วมทุนด้วย

ในหลายกรณีจะพบว่าบริษัทข้ามชาติหลายแห่งต้องจำใจเข้าร่วมทุนกับผู้ประกอบการในท้องถิ่น ทั้งที่ต้องการจะเป็นเจ้าของกิจการสาขาเสียเองทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพราะรัฐบาลบางประเทศจะพยายามกดดันไม่ให้บริษัทข้ามชาติผูกขาดความเป็นเจ้าของกิจการไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่จะต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับคู่ร่วมทุนในท้องถิ่นตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน ในขั้นตอนนี้จึงเป็นประเด็นของการเสนอผลตอบแทนแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และเป็นการใช้ความสามารถในการเจรจาต่อรองของทั้งสองฝ่ายด้วย ไอบีเอ็มเคยเจอเหตุการณ์ทำนองนี้ถึง 2 ครั้งเมื่อปี 1978 ในอินเดีย และปี 1985 ในเม็กซิโก โดยแต่ละกรณีได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน

กรณีแรก รัฐบาลอินเดียในปี 1978 ยึดหลักการเศรษฐกิจแบบพึ่งตัวเองและวางตัวเป็นกลางทางการเมืองโดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เมื่อไอบีเอ็มคิดจะเข้าไปลงทุนจึงเจอกับอุปสรรคสำคัญ คือไอบีเอ็มจะต้องยอมให้บริษัทในอินเดียเข้าถือหุ้นส่วนในบริษัทร่วมทุนนี้ถึงราว 60% ไอบีเอ็มไม่อาจยอมรับข้อเสนอที่ว่านี้ได้จึงตัดสินใจถอนตัวจากอินเดียไป

แต่ถึงปี 1985 ไอบีเอ็มคิดจะตั้งโรงงานผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในเม็กซิโก ครั้งนี้ก็เช่นกันที่รัฐบาลเม็กซิกันตั้งเงื่อนไขกับไอบีเอ็ม โดยห้ามการเข้าเป็นเจ้าของกิจการแต่เพียงผู้เดียว แต่เนื่องจากขณะนั้นเป็นช่วงที่เม็กซิโกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราครั้งที่ 2 ในรอบทศวรรษ ไอบีเอ็มจึงเป็นฝ่ายที่เป็นต่อ และได้เสนอเงื่อนไขว่าจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทท้องถิ่นในเม็กซิโก รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในการส่งสินค้าออกด้วย รัฐบาลจึงยอมผ่อนคลายเงื่อนไขที่ตั้งไว้ลง เพราะต้องการเทคโนโลยีและความช่วยเหลือจากไอบีเอ็ม อีกทั้งต้องการเงินทุนจากต่างประเทศ ที่จะเข้าพยุงฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศเอาไว้

แต่ก็มีรัฐบาลของบางประเทศที่สามารถเรียกร้องเงื่อนไขจากบริษัทข้ามชาติได้สำเร็จ และเหตุผลสำคัญที่บริษัทข้ามชาติเหล่านั้นต้องจำยอมก็คือ ตลาดที่น่าสนใจ อย่างในช่วงทศวรรษ 1960 และทศวรรษ 1970 บริษัทข้ามชาติสหรัฐฯ หลายต่อหลายแห่งต่างพยายามหาทางร่วมทุนกับธุรกิจท้องถิ่นในญี่ปุ่น ด้วยหวังว่าจะเป็นช่องทางเข้าสู่ตลาดที่กำลังบูมได้สำเร็จ

แต่สำหรับทุกวันนี้กระแสความสนใจกลับพุ่งไปอยู่ที่ตลาดจีนเป็นหลัก เนื่องจากเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่โตและมีแนวโน้มจะยอมรับบริษัทข้ามชาติสูง แม้ว่าช่วงก่อนเดือนเมษายน 1986 รัฐบาลจีนจะปฏิเสธการลงทุนจากต่างชาติในลักษณะที่เข้าไปเป็นเจ้าของกิจการตามลำพังก็ตาม แต่ระยะหลังจีนเริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดลง โดยเสนอแรงจูงใจแก่ต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในหลายรูปแบบและเหตุนี้เอง ยิลเล็ตต์ที่เน้นการผูกขาดเป็นเจ้าของกิจการของตนในต่างประเทศ ยังต้องยอมเข้าไปร่วมทุนในจีนโดยไม่รั้งรอ ส่วนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันนั้นก็เข้าไปปักหลักกิจการร่วมทุนในจีนแล้วถึง 2 แห่งด้วยกัน คือกิจการทางด้านยากับผ้าอนามัยแห่งหนึ่ง และกิจการผลิตผ้าพันแผล "แบนด์เอด"

แม้ว่าตลาดบางประเทศจะเป็นตลาดที่น่าสนใจ แต่ผู้บริหารบริษัทข้ามชาติพึงตระหนักด้วยว่า ความเสี่ยงจากการร่วมทุนประเภทนี้มีสูง สิ่งที่ควรจะทำก็คือ หนึ่ง พิจารณาว่าจะมีหนทางใดบ้างที่จะลดความเสี่ยงลง เช่น อาจจะผลิตสินค้าขายในประเทศนั้นในราคาสูง แทนที่จะมุ่งส่งออกไปในตลาดโลก สอง ในกรณีที่ต้องยอมให้ท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนเป็นเจ้าของกิจการ ผู้บริหารธุรกิจข้ามชาติควรจะหาทางเข้าควบคุมในส่วนที่มองเห็นไม่ชัดเจน อย่างเมื่อครั้งที่ยิลเล็ตต์ เข้าไปตั้งโรงงานผลิตปากกาลูกลื่นในเม็กซิโก โดยยอมรับเงื่อนไขการเป็นเจ้าของหุ้นส่วนเพียง 49% ยิลเล็ตต์ก็ใช้วิธีแยบยลเข้าไปควบคุมในส่วนการบริหารงานทั่วไป การผลิต, การเงิน และด้านคุณภาพสินค้า ซึ่งล้วนแต่เป็นส่วนสำคัญทั้งสิ้น

อนาคตของการร่วมทุน

จากเหตุผลต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น จำนวนบริษัทข้ามชาติที่ใช้ยุทธวิธีการร่วมทุนในต่างประเทศจึงมีมากขึ้นโดยลำดับ แต่ถ้าจะตั้งคำถามว่าภาระดังกล่าวเป็นการแสดงถึงการเปลี่ยนแบบแผนการลงทุนในต่างประเทศแบบดั้งเดิมที่เน้นการเป็นเจ้าของกิจการทั้งหมด สู่การร่วมทุนโดยคู่ร่วมทุนมีสิทธิ์มีส่วนเป็นเจ้าของกิจการนั้น ๆ ด้วยหรือไม่นั้น คำตอบก็คงจะขึ้นอยู่กับว่า บริษัทข้ามชาตินั้นมีทิศทางอย่างไรในทศวรรษ 1990 อีกทั้งขึ้นกับปัจจัยด้านต้นทุนและผลตอบแทนของการร่วมทุน

ยิ่งความนิยมในยุทธวิธีดังกล่าวยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนของการเข้าไปร่วมทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ระหว่างปี 1955-1961 จะอยู่ระหว่าง 28% - 55% แต่กลับลดลงเหลือเพียง 13% ในปี 1969 พอช่วงทศวรรษ 1970 ตัวเลขก็เพิ่มขึ้นอีกจนมาอยู่ในระดับคงที่ในช่วงทศวรรษ 1980

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะช่วงทศวรรษ 1950 นั้นเปรียบได้กับยุค "ยกพลขึ้นบก" ของธุรกิจอเมริกันที่พากันออกวางฐานกำลังของตนในประเทศต่าง ๆ การร่วมทุนกับกิจการในท้องถิ่นจึงเป็นหนทางบุกเบิกตลาดใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่พอถึงทศวรรษ 1960 เป็นยุคของการรวบรวมและประสานเครือข่ายธุรกิจทั่วโลก อย่างเช่นกรณีการผนวกโรงงานของไอบีเอ็ม 6 แห่ง ในยุโรปดังได้กล่าวมาแล้ว ยิ่งกว่านั้นความขัดแย้งกับคู่ร่วมทุนที่มักห่วงใยผลประโยชน์ระดับท้องถิ่นมากกว่าก็เริ่มปะทุมากขึ้น บริษัทข้ามชาติจึงพากันหลีกเลี่ยงการร่วมทุนโดยไม่จำเป็น

ครั้นถึงทศวรรษ 1980 สนามแข่งขันทางธุรกิจเริ่มขยายตัวจากตลาดภายในประเทศแต่ละประเทศ เป็นการต่อสู้ระดับโลก อย่างที่นักการตลาดเรียกกันว่า "การตลาดแบบครอบคลุมทั่วโลก" หรือ GLOBALIZATION

นักวิเคราะห์ธุรกิจต่างพุ่งเป้าไปที่การเพิ่มขีดความสามารถในการสร้าง "ความประหยัดตามขนาด" (ECONOMY OF SCALE), การใช้มุมมองอย่างกว้างขวางและข้อมูลสถิติทางการค้า แนวโน้มดังกล่าวได้ส่งผลสะเทือนไปในธุรกิจทุกแขนง แม้แต่ธุรกิจโทรคมนาคมซึ่งมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงมากกว่าธุรกิจแขนงอื่น

แรงผลักดันจากแนวคิด GLOBALIZATION ทำให้บริษัทเคมีภัณฑ์อิตาลีอย่าง "มอนติดิสัน" ที่มีกิจการไม่กี่แห่งในยุโรป ต้องตกลงร่วมทุนกับ "เฮอร์คิวลิส" แห่งสหรัฐฯ ในธุรกิจด้านโพลีโพรไพลีนในต้นทศวรรษ 1980 เพราะบริษัทเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายกลับกลายเป็นคู่แข่งในระดับโลกที่สำคัญของมอนติดิสันไป เฮิร์ชท์, บาส์ฟ, ไอซีไอ และดาวเคมิคอล ไม่เพียงแต่ส่งออกสินค้าจากฐานการผลิตในประเทศของตน แต่ยังผลิตสินค้าในโรงงานสาขาในต่างประเทศหวังเพิ่มเงินทุนในตลาดระหว่างประเทศ และป้อนสินค้าและสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างกัน การร่วมทุนระหว่างมอนติดิสันกับเฮอร์คิวลิสจึงเท่ากับเป็นความพยายามที่จะก้าวเข้าสู่เวทีการแข่งขันในธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับโลกนั่นเอง

ยังมีมุมมองอีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับยุทธศาสตร์แบบ GLOBALIZATION นั่นก็คือ ธุรกิจที่มีเครือข่ายสาขาตั้งอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ มักจะแสวงหากำไรได้ไม่น้อยจากการประสานเครือข่ายเหล่านี้เข้าด้วยกัน เช่น อาจใช้โรงงานแห่งหนึ่งผลิตสินค้าป้อนอีกโรงงานหนึ่ง เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ยิ่งการควบคุมจากส่วนกลางมีมากเท่าไหร่ การร่วมทุนก็อาจจะเป็นเหมือนตัวขัดขวางมากกว่าที่จะช่วยให้กระบวนการดังกล่าวลุล่วง

แรงผลักดันที่ตรงข้ามกันนี้ จึงมีทีท่าว่าจะผลักดันให้ผู้บริหารต้องเลือกรูปแบบโครงสร้างการเป็นเจ้าของกิจการชนิดที่ตนเห็นว่าเหมาะสมที่สุด ทางเลือกระหว่างความต้องการขยายธุรกิจออกไปทั่วโลก กับความพยายามเข้าควบคุมเครือข่ายที่กระจายกันอยู่ จึงเป็นปัญหาที่ต้องขบคิดต่อไปในอนาคตมากเสียยิ่งกว่าปัญหาการเลือกเพียงแค่ ระหว่างการร่วมทุนกับการเป็นเจ้าของกิจการเพียงผู้เดียว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us