รัฐ'ดันละครโทรทัศน์ไทยบุกตลาดจีนหวังสร้างมูลค่าเพิ่มด้าน ‘การท่องเที่ยว-สินค้า-อาหาร-ความบันเทิง-อุตสาหกรรมละครโทรทัศน์ไทย’ เผย 3 อันดับดาราหนุ่มไทยยอดนิยมและเหตุผล ‘ติ้ก-เคน-อั้ม’แรง! ด้านนักแสดงชื่อดังหวั่น ละครโทรทัศน์ไทยเนื้อหาล่อแหลม ขาดการอธิบาย ‘แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง-เพศที่3-ริษยา-ตบตี’ ทำประเทศไทยเสื่อม
ละครโทรทัศน์ไทยได้มีโอกาสเข้าไปเผยแพร่ในประเทศจีนมากยิ่งขึ้น และได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชมชาวจีนจำนวนมาก แต่การจะส่งออกละครโทรทัศน์ไทยสู่ประเทศจีน หรือต่างประเทศควรคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาในหลายๆ ด้าน
รัฐ'ดันละครไทยบุกจีน
องอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนชาวจีนให้ความสนใจ และนิยมดูละครโทรทัศน์ของประเทศไทยมากขึ้น ถึงขนาดเข้าติดตามรับชมละครโทรทัศน์ไทยผ่านทางอินเทอร์เน็ตทั้งๆ ที่ฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่องก็ตาม ขณะที่ผู้ประกอบการคนไทยกลับไม่ค่อยได้สนใจที่จะส่งออกละครโทรทัศน์ไทย เพราะคิดว่าการดำเนินการค่อนข้างยุ่งยาก เช่น ไม่รู้ว่าจะไปติดต่อใคร หน่วยงานใดหรือขั้นตอนการดำเนินงานเป็นอย่างไร แต่หลังจากรัฐบาลเข้าพูดคุยเจรจา พร้อมผลักดันให้ผู้ประกอบการเห็นถึงความสำคัญของละครโทรทัศน์ไทยในการไปเผยแพร่ในประเทศจีนก็ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีความเข้าใจ และสนใจที่จะส่งออกมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นรัฐบาลจึงเล็งเห็นช่องทางและความสำคัญในการส่งออกละครไทยให้ไปเผยแพร่ยังประเทศจีน จึงได้มีการลงนามความตกลงและความตั้งใจร่วมกันระหว่างสองประเทศขึ้น เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและส่งเสริมให้ละครโทรทัศน์ไทย ไปเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ CCTV และสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นตามมณฑลต่างๆ ของจีนมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดีการสนับสนุนให้ละครโทรทัศน์ไทยเข้าฉายในประเทศจีนมากขึ้นจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทยในอีกหลายด้าน เช่น การท่องเที่ยว, ธุรกิจการค้า, อาหารไทย, สินค้าไทย เป็นต้น รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมละครโทรทัศน์และธุรกิจทางด้านความบันเทิงของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นอีกด้วย
“ถ้าชาวจีนได้ดูละครโทรทัศน์ไทยแล้วเกิดความประทับใจ อยากเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยตามสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในละคร หรือสนใจอยากรับประทานอาหารไทย หรือแม้แต่เรื่องธุรกิจการค้า สินค้าไทยก็จะได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น เป็นมูลค่าเพิ่มที่ได้จากการเผยแพร่ละครโทรทัศน์สู่ประเทศจีนทั้งนั้น”
ส่วนเหตุผลที่ละครโทรทัศน์ไทยได้รับผลตอบรับจากผู้ชมชาวจีนมีองค์ประกอบหลักๆ ดังนี้คือ1.ดาราหรือนักแสดงชาวไทยหน้าตาดี 2.เนื้อเรื่องของละครไทยสอดคล้องกับรสนิยมของชาวจีน 3.งานโปรดักชั่นของละครโทรทัศน์ไทยมีการพัฒนาจนน่าสนใจ น่าติดตาม รวมถึงกระบวนการผลิตละครที่มีการลงทุนและมีคุณภาพอีกด้วย
ละครแย่ทำไทยเสื่อม
ศตวรรษ เศรษฐกร เต๊ะนักแสดงคนไทยที่ไปโด่งดังและเล่นละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ในประเทศจีนกว่า10 ปี กล่าวว่าสมัยก่อนละครโทรทัศน์ไทยถ่ายทำขึ้น เพื่อคนไทย ซึ่งในบางฉากก็เกินจริง แต่คนไทยก็เข้าใจ เพราะรู้ว่าเป็นเพียงการแสดง เพื่อความบันเทิงเท่านั้น รับชมมาตั้งแต่เด็ก และทราบว่าไม่ได้เป็นวิถีชีวิตของคนไทยจริงๆ เช่น ละครโทรทัศน์ไทยที่มีเนื้อหาตบจูบ ความรุนแรง การแย่งชิงผู้ชาย เพศที่3 เป็นต้น
แต่เมื่อละครโทรทัศน์ไทยเริ่มส่งออกฉาย เพื่อเผยแพร่สู่ต่างชาติ รวมถึงประเทศจีน ซึ่งคนต่างชาติและคนจีนไม่ทราบถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไทย ทั้งยังขาดการอธิบายและบอกกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ก็จะส่งผลให้ผู้ชมบางกลุ่มเกิดความเข้าใจผิด และคิดว่าวิถีชีวิตของคนไทยเป็นอย่างนั้น เพราะละครโทรทัศน์ไทยจะเป็นสื่อที่สำคัญในการแสดงออกและส่งออกถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนไทยได้เป็นอย่างดี
ศตวรรษ ย้ำว่า กระแสละครโทรทัศน์ไทยเริ่มเข้าสู่ประเทศจีนมากขึ้น และเป็นเหมือนดาบสองคม ถ้าเราเสนอในทางที่ดี หรือทางที่ถูกต้อง ตามวิถีชีวิตของคนไทยจริงๆ ก็จะทำให้ผู้ชมรับรู้และเข้าใจความเป็นอยู่ของคนไทยได้ถูกต้อง แต่ถ้านำเสนอความรุนแรง ส่งออกวัฒนธรรม หรือวิถีชีวิตของคนไทยแบบผิดๆ ก็จะทำให้เข้าใจผิด เช่น การชิงดีชิงเด่น ตบตี ใช้ความรุนแรง เพื่อแย่งผู้ชายคนเดียวกัน พอต่างชาติรับชมก็จะคิดว่าอันนี้เป็นวิธีแก้ปัญหาของคนไทยใช่หรือไม่ ซึ่งไม่ต่างกับการที่เราดูหนังฝรั่งที่คนผิวดำเล่นบทไม่ดี เราก็จะเกิดความกลัว ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่ใช่ แต่นี่เป็นอิทธิพลจากสื่อ ซึ่งกลับกันถ้าหากละครโทรทัศน์ที่ฉายในประเทศไทยเรื่องใดมีกระแสออกมาในด้านไม่ดี ก็อาจมีการสัมภาษณ์ ผู้กำกับ ดารา นักแสดง เพื่ออธิบายให้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นควรมีองค์กร หรือหน่วยงานคัดเลือก หรือคัดกรองก่อนส่งออกฉายยังต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทาง ไม่ใช่แค่ละครโทรทัศน์ไทยเรื่องนี้ดังในประเทศ แล้วก็จะนำส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่ไม่อยากให้มองเพียงแค่ผลประโยชน์ หรือรายได้เพียงอย่างเดียว เพราะการส่งออกละครโทรทัศน์ต้องรวมถึงความรับผิดชอบต่อการนำเสนอด้วย
จีนฮิต 'ละครบันเทิง'
วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญในวงการภาษาและวัฒนธรรมจีนมากว่า 20 ปี กล่าวว่าในอดีตประเทศจีนนำเข้าละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ จากประเทศที่มีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ เช่น รัสเซีย, โรมาเนีย, เชคโกสโลวาเกีย เป็นต้น ซึ่งจะมีเนื้อหาหนักๆ และให้สาระความรู้เสียเป็นส่วนใหญ่
แต่ภายหลังจากที่ประเทศจีนเปิดประเทศได้ไม่นานก็ได้นำเข้าละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์จากหลายๆ ประเทศเข้ามาฉายมากยิ่งขึ้น เช่น เกาหลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, ไทย เป็นต้น ซึ่งได้มีการจำกัดไม่ให้นำเข้าละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมือง, ศาสนา, ผี เข้ามาเผยแพร่
“ผลจากการเปิดประเทศของจีน จึงทำให้ละครหลายเรื่องออกฉายในขณะนั้น เช่น เรื่องสงครามชีวิตโอชิน, แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง, วัลลี ลูกกตัญญู เป็นต้น”
ปัจจุบันละครโทรทัศน์ของประเทศเกาหลีได้รับความนิยมในหมู่ชาวจีน และมีจำนวนฉายในช่องโทรทัศน์จีนมากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากประเทศเกาหลีและประเทศจีนมีรากฐานทางวัฒนธรรมเดียวกัน เช่น ยึดหลักแนวคิดของขงจื่อ, การแพทย์, ประเพณีต่างๆ ฯลฯ ส่วนละครโทรทัศน์ไทยนั้นยังมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
กระแสละครไทยแรง
หลี่ หมิน คนจีนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ละครโทรทัศน์ไทย กล่าวว่าละครโทรทัศน์ไทยที่ฉายในประเทศจีนแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ1.ทางสถานีโทรทัศน์กลางของประเทศจีน หรือซีซีทีวี และสถานีโทรทัศน์ของมณฑลต่างๆ อย่างซีซีทีวีช่อง8 จะฉายละครไทยประมาณปีละ 1-2 เรื่อง ออกอากาศประมาณครั้งละ 2 ชั่วโมง 2.ทางอินเตอร์เน็ตจะมีละครโทรทัศน์ไทยให้เลือกดูเยอะมากและเป็นที่นิยมจากแฟนละครชาวจีนเป็นอย่างมาก เช่นที่เว็บ
http://baike.baidu.com
โดยตั้งแต่ปี 2008 กระแสความนิยมของละครโทรทัศน์ไทยแซงหน้าละครเกาหลีและญี่ปุ่น เนื่องจากละครโทรทัศน์เกาหลี และละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาในประเทศจีนตั้งแต่ 10-20 ปีก่อน จึงทำให้คนจีนเริ่มจะเบื่อๆ และหันมาให้ความสนใจละครโทรทัศน์ไทยมากยิ่งขึ้น
หลี่ หมิน บอกว่า จากข้อมูลการสำรวจความนิยมละครโทรทัศน์ จากรายการแห่งหนึ่งในประเทศจีนพบว่ามีผู้โหวตให้ละครโทรทัศน์เกาหลีและละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นพอๆ กันคือ จำนวน 2,000 กว่าคะแนน แต่ละครโทรทัศน์ไทยกลับมีผลโหวตมากถึง 8,000 กว่าคะแนน โดยให้เหตุผลสนับสนุนชอบดูละครโทรทัศน์ไทย เพราะชอบบรรยากาศที่แตกต่างออกไป ดูแล้วให้ความรู้สึกอบอุ่น โรแมนติก สนุกสนาน กุ๊กกิ๊ก น่ารัก รวมถึงตัวนักแสดงของคนไทยเป็นหนุ่มหล่อสาวสวยที่เป็นลูกครึ่ง ซึ่งละครของประเทศอื่นไม่มี
นอกจากนี้ยังมีเหตุผลที่คนจีนนิยมดูละครโทรทัศน์ไทยก็คือ ละครโทรทัศน์ไทยมีความแตกต่างจากที่เคยดู ทั้งยังมีมุมกล้องที่สวยงาม นักแสดงหน้าตาดี มีฉากทะเลสวย รวมไปถึงเนื้อเรื่องที่สะท้อนประเพณีไทย อย่างงานแต่งงาน งานศพชัดเจน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย เช่น คนรวยในหนังอยู่บ้านหลังใหญ่สวยงาม นั่งรถหรู ดูแล้วเหมือนเข้าไปสู่ความฝันที่ทำให้เรามีความสุขได้
“ถ้ามีการนำเข้าละครโทรทัศน์ไทยที่มีแนวเรื่องซ้ำๆ เดิม โดยเฉพาะสไตล์ริษยา แย่งผู้ชาย ดำเนินเรื่องที่ยืดเยื้อออกฉายบ่อยๆ ก็จะทำให้ผู้ชมชาวจีนเกิดความเบื่อ และสามารถเดาเรื่องราว และตอนจบได้ รวมถึงละครที่วางเรื่องไม่แนบเนียน ไม่สมเหตุสมผลก็จะทำให้ไม่น่าดู ไม่น่าสนใจ ซึ่งเท่าที่ทราบมาเห็นว่าละครไทยมีหลากหลายแนวที่ยังไม่ได้นำมาฉายยังประเทศจีน จึงอยากให้มีการนำเข้าละครไทยหลาย ๆ แนว”
3 อันดับดาราหนุ่มยอมนิยม
สำหรับดารานักแสดงก็เป็นส่วนสำคัญมากที่ทำให้ละครโทรทัศน์ไทยน่าติดตามยิ่งขึ้น เช่น หน้าตาหล่อ และหน้าตาสวย ถ้าแสดงดีด้วยก็จะทำให้คนดูยิ่งติดละครโทรทัศน์เรื่องนั้นมากยิ่งขึ้น โดยชาวจีนที่เป็นแฟนละครโทรทัศน์ไทยได้โหวตจัดอันดับให้ ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดีได้รับความนิยมมาที่ 1 เนื่องจากหุ่นดีและหน้าตาหล่อไม่มีที่ติ โดยเฉพาะในเครื่องแบบทหารดูสง่างาม ภูมิฐาน ทั้งยังมีอารมณ์ขัน มีเสน่ห์ดึงดูด ฯลฯ นอกจากนี้แฟนชาวจีนยังดูไกลไปถึงคุณแม่ของติ๊ก ซึ่งมีเชื้อสายจีนด้วย
ส่วนอันดับ 2 คือ เคน ธีรเดช วงค์พัวพันธ์ เนื่องจากเคนเป็นนักแสดงที่มากด้วยฝีมือ ทั้งยังเป็นสุภาพบุรุษ รักครอบครัว เป็นผู้ชายที่ดี เป็นสามีที่ดี จริงใจ ให้เกียรติภรรยา ซึ่งเขาสามารถดึงดูดแฟนคลับที่ไม่ได้ชอบดาราเฉพาะหน้าตาเพียงอย่างเดียวได้ แต่ชอบที่ตัวตนของคนคนนั้น
อันดับ 3 คืออั้ม อธิชาติ ชุมนานนท์, เป็นคนหุ่นดีที่พบยากในชายเอเชีย เพราะมีกล้ามเนื้อแขนส่วนบนใหญ่กว่าหน้าอก โดยแฟนๆ ส่วนมากจะติดเขาจากเรื่องจำเลยรักที่มีทั้งฉาก วิ่ง ว่ายน้ำ ขับรถ ขับเรือง ดูเท่ห์
“ละครโทรทัศน์ไทยที่ดูผ่านอินเทอร์เน็ตจีนจะมีอาสาสมัครคอยแปลเป็นภาษาจีน และภาษาอังกฤษ เพราะบางคนเก่งอังกฤษและเก่งภาษาไทย หรือบางเรื่องก็มีหลายภาษา รวมไปถึงมีแฟนคลับจำนวนหลายท่านอยากเรียนภาษาไทยเพื่อดูละครที่ติ๊กเล่น หรือมีบางคนลงทุนนั่งเครื่องบินไปหาถึงกองถ่ายที่เมืองไทย เพื่อได้เจอตัวจริงกันเลย”หลี่ หมิน ระบุ
|