เมื่อบางจากฯ จับมือสยามนกไม้ตั้ง "ปั๊มนกไม้" ที่กิโลเมตรที่
28 บนถนนน้ำพอง-ขอนแก่น โดยได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมานี้
โดยขายหน้าปั๊มในราคาเดียวกับราคาขายปลีกที่กรุงเทพฯ นั้นได้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไม่รู้จบในขณะนี้
เบนซินธรรมดาขายลิตรละ 7.75 บาท จากราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดที่ขอนแก่นลิตรละ
8.06 บาท และดีเซลหมุนเร็วขายลิตรละ 6.10 บาท โดยราคาขายปลีกหน้าปั๊มราคาลิตรละ
6.41 บาท
สยามนกไม้ซื้อน้ำมันจากบางจากฯ ด้วยการทำสัญญาระยะยาว 15 ปี
การที่ปั๊มนกไม้ขายน้ำมันราคาถูกได้เช่นนี้ได้กลายเป็นประเด็นฮือฮา พร้อม
ๆ กับที่มีกระแสชื่นชมจากประชาชนทั่วไปต่อการชูธงรบขายน้ำมันราคาถูกของ "สยามนกไม้"
และบางจากฯ ในครั้งนี้อย่างมากทีเดียว คละเคล้าไปด้วยการปลุกคำถามความคิดว่า
"นกไม้ทำได้อย่างไร"
คำตอบที่สมหญิงเจ้าของปั๊มนกไม้เฉลยอย่างสวยหรูในการเริ่มต้นโครงการมินิปั๊มสู่ชนบทตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ราคาน้ำมันลอยตัวว่า
เนื่องจากการบริหารมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการประหยัดค่าขนส่งซึ่งทำให้ขายน้ำมันราคาถูกกว่าที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด
สมหญิงเปิดเผยถึงตัวเลขค่าขนส่งน้ำมันเที่ยวละ 30,000 ลิตรต่อวัน จากบางจากฯ
ไปยังขอนแก่นว่า ตกเพียงลิตรละ 11 สตางค์เท่านั้น จากการขนส่งในปริมาณมากต่อเที่ยวเช่นนี้
แทนที่จะขนส่งเที่ยวละ 15,000 ลิตรต่อเที่ยว ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายอื่นเท่ากัน
ขณะที่ทางการได้กำหนดค่าขนส่งจากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่นไว้ที่ลิตรละ 31 สตางค์
จึงทำให้สยามนกไม้ประหยัดค่าขนส่งได้ถึงลิตรละ 20 สตางค์
หากเรามองภาพการค้าของสยามนกไม้กับบางจากฯ ที่ลงไปในตลาดผู้ค้าปลีกนั้นถือได้ว่าเป็นการพูดอยู่คนละระบบและอยู่คนละมุมมองซึ่งต่างไปจากระบบค้าปลีกที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ไม่ว่าจะเป็นปตท. เชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ หรือผู้ค้าตามมาตรา 6 ซึ่งหมายถึงผู้ค้าน้ำมันในปริมาณที่ไม่น้อยกว่า
100,000 เมตริกตันต่อปี หรือคิดเทียบคร่าวๆ ก็ไม่น้อยกว่า 100 ล้านลิตรต่อปี
โดยผู้ค้าเหล่านี้จะต้องสำรองน้ำมันตามกฎหมายในอัตรา 3% ของปริมาณที่แจ้งค้า
วิธีการจัดการของสยามนกไม้ในการนำน้ำมันจากต้นทางไปสู่ปลายทาง คือจะรับจากโรงกลั่นบางจากฯ
ด้วยรถเทรลเลอร์มุ่งตรงไปยังปั๊มนกไม้ที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่นทันที
"ผู้จัดการ" จะพูดถึงเฉพาะดีเซลหมุนเร็วหรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า
ดีเซล เป็นหลัก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันมากที่สุด
บางจากฯ จะขายดีเซลให้กับสยามนกไม้ในราคาลิตรละ 5.66 บาท...!
หมายความว่าขายในราคาหน้าโรงกลั่นที่ทางการกำหนดไว้เท่ากันทุกโรงที่ลิตรละ
5.6142 บาท บวกเพิ่มอีกราว 0.05 บาท
หากรวมค่าขนส่งที่สมหญิงกล่าวอิงไว้ที่ 11 สตางค์ ต้นทุนดีเซลของสยามนกไม้ก็ตกลิตรละ
5.7742 บาท การที่สยามนกไม้ขายดีเซลหน้าปั๊มในราคาเท่ากรุงเทพฯ คือลิตรละ
6.10 บาท นกไม้จะได้กำไรลิตรละ 0.3258 บาท
ด้วยกำไรลิตรละ 0.3258 บาทนี้ ยังไม่รวมไปถึงค่าใช้จ่ายสำนักงานหรืออื่น
ๆ ดังที่สมหญิงกล่าวกับ "ผู้จัดการ" และชาวบางจากฯ ว่า "นกไม้ทำได้เพราะประหยัดค่าแรงงาน
ไม่ต้องมีฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ซึ่งจะต้องมีเงินเดือนให้อีก แต่นกไม้ใช้จ่ายอย่างมัธยัสถ์
มีงานอะไรสมหญิงเป็นคนดำเนินการเอง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันราคาถูก"
ความเป็นไปที่สมหญิงตอกย้ำและประชาสัมพันธ์อยู่บ่อย ๆ ทั้งเรื่องราคาและการบริหารของสยามนกไม้นั้น
ต้องยอมรับว่ามีเหตุมีผลอยู่
เหตุผลก็คือว่า ปริมาณน้ำมันทั้งหมดที่สยามนกไม้รับจากบางจากฯ วันละ 30,000
ลิตรต่อวัน หรือประมาณ 188.7 บาร์เรลต่อวันนั้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับปตท.ที่รับน้ำมันจากบางจากฯ
ประมาณวันละ 60,000 บาร์เรลต่อวันแล้ว ดูจะเป็นคนละเรื่องกันเลย
จากปริมาณที่สยามนกไม้ค้าอยู่เท่านี้ แน่นอนว่าทำให้ประหยัดและลดต้นทุนต่าง
ๆ ไปได้มากตามขนาดของธุรกิจน้ำมันที่เล็กอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการบริหาร
หรือภาระการลงทุนสร้างคลังสำรองที่พาณิชย์กำหนดไว้ดังที่กล่าวแล้ว
ด้วยเหตุที่สยามนกไม้ยังมิใช่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ซึ่งหมายถึงผู้ค้าที่ขายน้ำมันไม่น้อยกว่า
100 ล้านลิตรต่อปี และการจะขายได้ขนาดนี้ ถ้าเทียบมาเป็นปั๊มขนาดกลาง ๆ ก็ต้องขายได้ราวสองสามแสนลิตรต่อเดือน
หรือมีปั๊มน้ำมันประมาณ 50 แห่ง
ถ้าคิดย้อนกลับ การซื้อปริมาณเป็นหมื่นบาร์เรลด้วยเครดิต 19 วัน กับปริมาณไม่ถึง
200 บาร์เรลด้วยเครดิตระหว่าง 19-30 วันแล้ว สยามนกไม้ก็ซื้อในราคาถูกกว่า
สำหรับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ได้แก่ปตท. เชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ ไทยออยล์
บางจากฯ ยุนิคแก๊ส เวิล์ดแก๊ส อุตสาหกรรมแก๊สสยาม คอมโมออยล์ เวิร์ดปิโตรเลียม
ฮาร์ทออยล์ เจริญมั่นคง ภาคใต้เชื้อเพลิง สยามสหบริการ และสุโขทัยปิโตรเลียม
ขณะเดียวกัน โดยธรรมชาติของการทำธุรกิจจะต้องมีการขยายตัว ซึ่งเมื่อปริมาณขายสูงขึ้นเรื่อย
ๆ ก็มีปัญหาว่าการขนส่งโดยให้รถมารับน้ำมันจากโรงกลั่นโดยตรงเพื่อส่งไปยังปั๊มทั่วประเทศว่าจะทำได้หรือไม่นั้น
สมหญิงยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ก็ยังให้รถมารับน้ำมันจากบางจากฯ
ได้"
ส่วนที่มองกันว่าจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดมากยิ่งขึ้น สมหญิงกล่าวว่า
"รายอื่นก็ทำให้กันอย่างนี้ทั้งนั้น"
ขั้นตอนตรงนี้จะต่างกับระบบของผู้ค้าน้ำมันที่มีปั๊มน้ำมันอยู่ทั่วประเทศ
ที่ได้กระจายน้ำมันไปสำรองไว้ตามจุดสำคัญของแต่ละภูมิภาค เพื่อเป็นหลักประกันทางด้านตลาดและสะดวกในการกระจายน้ำมันไปสู่ปั๊มน้ำมันของจังหวัดต่าง
ๆ ในแต่ละย่าน ซึ่งผู้ค้าเหล่านี้จะต้องลงทุนคลังน้ำมัน
ขณะที่การลงทุนสร้างคลังน้ำมันสูงมาก ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท สำหรับคลังขนาดย่อม
ๆ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายและเป็นต้นทุนอีกส่วนหนึ่ง ขณะที่สยามนกไม้ไม่ต้องสร้างคลังสำรองส่วนนี้เหมือนกับปตท.หรือผู้ค้ารายอื่น
ซึ่งที่ผ่านมาบางรายพยายามทดลองใช้คลังน้ำมันร่วมกันเพื่อลดต้นทุน เช่น เชลล์กับเอสโซ่
แต่สุดท้ายก็เลิกกันไป
ทางปตท.จะซื้อดีเซลจากบางจากฯ ตามราคาหน้าโรงกลั่นในฐานะที่เป็นผู้ค้ามาตรา
6 ที่จะต้องไปมีภาระสำรองน้ำมันตามกฎหมายดังกล่าว
ที่พูดกันมากคือ สมหญิงมีค่าขนส่งดีเซลลิตรละ 0.11 บาท นั้นทำได้จริงหรือถ้าเป็นการลงทุนในธุรกิจน้ำมันอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่มุ่งแฝงด้วยธุรกิจอื่น
ตัวเลขค่าขนส่ง 0.11 บาท ที่สมหญิงย้ำอยู่เสมอนั้น สร้างความมึนงงแก่ปตท.และผู้ค้าอื่นอย่างมาก
ซึ่งต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากขนส่งได้ในราคาถูกอย่างนี้ "ขอจ้างให้ขนส่งทั้งหมด"
เพราะโดยทั่วไปแล้ว ค่าขนส่งน้ำมันกรุงเทพไปขอนแก่น ถ้าเป็นรถพ่วงขนส่งคราวละ
30,000 ลิตร จะตกลิตรละ 0.20-0.23 บาท ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของดีมานต์การขนส่งในแต่ละช่วง
โดยจะขนส่งได้ต่ำสุดที่ลิตรละ 0.18 บาท หากผู้ค้ารายนั้นบริการขนส่งและขนส่งให้ปั๊มน้ำมันของตนเองด้วย
ถ้าขนส่งด้วยรถเดี่ยวสำหรับปั๊มเล็กที่อาจจะมารับน้ำมันในกรุงเทพเองจะตกลิตรละ
0.27-0.28 บาท
อย่างไรก็ตาม ที่ขอนแก่นนิยมขนส่งจากคลังในพื้นที่ บางรายอาจจะรับจากกรุงเทพก็ต้องดูปริมาณที่ขนส่งและระยะทางว่าคุ้มหรือไม่
ส่วนรายที่มารับจากกรุงเทพมักจะเป็นจอบเบอร์ คือซื้อไปขายส่งให้รายอื่นด้วย
เพราะปริมาณ 30,000 ลิตร ที่รถพ่วงขนส่งไปนั้นจะต้องถ่ายใส่ปั๊มอย่างน้อย
3-4 แห่ง ยกเว้นบางแห่งที่จะรับได้หมดทีเดียวซึ่งจะต้องเป็นปั๊มขนาดใหญ่มาก
เช่น ปั๊มแถวรังสิต เป็นต้น แต่ก็มีอยู่น้อย
เมื่อรถน้ำมันถึงตัวเมืองมักจะถ่ายลงรถเล็ก เพื่อแยกไปส่งตามที่ต่าง ๆ
เช่น ถ้าไปชุมแพก็เสียค่าขนส่งประมาณอีก 0.03-0.04 บาท ถ้าไกลออกไปอีกก็แพงขึ้น
ไม่รวมไปถึงค่าลงทุนการตลาด เช่น ค่าใช้จ่ายสำนักงานค่าบริหารอีกกว่า 0.10
บาทต่อลิตร หรือภาระคลังสำรอง ค่าอุปกรณ์ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น
สมหวังซึ่งเป็นหุ้นส่วนใหญ่ของสยามนกไม้ยอมรับกับ "ผู้จัดการ"
ว่าการที่สร้างปั๊มนกไม้สมัยใหม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกพร้อมเพรียงเช่นนี้
เนื่องจากต่อไปจะลงทุนคอนโดมิเนียมหลังปั๊มน้ำมันด้วย
ขณะที่สมหญิงเองได้กล่าวเช่นกันว่า "เราจำเป็นต้องลงทุนใหญ่ บางจากฯ
จะได้มั่นใจว่าสยามนกไม้เอาจริง ไม่ใช่ทำเล่น ๆ"
ด้านบางจากฯ ขายให้สยามนกไม้ในราคานี้ ซึ่งเพิ่มจากราคาหน้าโรงกลั่น 0.05
บาทนั้น ถ้าเป็นการลงทุนระบบจ่ายน้ำมันของผู้ค้าทั่วไปแล้วไม่คุ้ม ซึ่งจะอยู่ที่ลิตรละ
0.10 บาท หรือกว่านี้เล็กน้อย แต่ที่บางจากฯ ทำได้เพราะอาศัยฐานที่เป็นโรงกลั่นอยู่แล้ว
แน่ละ...หากประชาชนได้ใช้น้ำมันราคาถูกทั่วประเทศย่อมเป็นเรื่องดีที่สุด
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่จะทำทั้งระบบ โสภณกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า "เราเป็นเพียงแต่ให้เห็นเป็นโครงการตัวอย่าง เมื่อมีปั๊มอย่างนี้
จะนำไปสู่ราคาลอยตัว"
พร้อมทั้งบอกว่า...ถ้าสยามนกไม้ยิ่งซื้อมากราคาจะยิ่ง "แพง"
ขึ้น เหตุผลก็คือ "ไม่ต้องการให้ไปกระทบผู้ค้ารายอื่น"