ตลอด 3 ชั่วโมงที่เดินๆ วิ่งๆ ในห้องค้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่เพียง
650 ตร.เมตรนั้น นักเคาะกระดาน 800 กว่าชีวิตสามารถสร้างกำไรขาดทุนได้วันละหลายสิบหลายร้อยล้านบาท
คนเหล่านี้มีอัตราค่าจ้างเดือนละไม่กี่พันบาท ทำงานมากกว่าวันละ 12 ชั่วโมง
ทุกคนหวังว่าระบบคอมพิวเตอร์ที่นำเข้ามาใช้แทนการเคาะซื้อขายด้วยมือ จะช่วยลดภาระงานเอกสารที่ยุ่งยากและกินเวลามากมายมหาศาลลงได้อย่างมาก
แต่นั่นก็หมายความว่าชีวิตการวิ่งเคาะซื้อขายในห้องค้าของพวกเขาต้องจบสิ้นลงด้วย
โบรกเกอร์หลายรายเตรียมแผนฝึกหัดเทรดเดอร์ให้ทำงานเคาะแป้นคอมพิวเตอร์สั่งซื้อขายหุ้น
บางรายก็ฝึกเป็นมาร์เก็ตติ้ง แต่อีกหลายรายยังไม่มีแผนการอะไรมากนัก
ฟันเฟืองเล็กๆ แต่มีความสำคัญที่สุดในระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยวิธีการเคาะกระดาน
อย่างที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยทำอยู่ทุกวันนี้ก็คือ เทรดเดอร์หรือเจ้าหน้าที่ของบริษัทโบรกเกอร์ที่ทำหน้าที่เคาะซื้อขายหลักทรัพย์ในห้องค้าฯ
นักลงทุนจะกระเป๋าฉีกหรือตุงมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับฝีมือการเคาะซื้อเคาะขายของคนเหล่านี้
แม้ว่าเทรดเดอร์มีความสำคัญกับระบบการซื้อขายมากถึงขนาด แต่มีใครรู้บ้างหรือไม่ว่าพวกเขาต้องทำงานหนักมากเพียงไร
การขยายเวลาการซื้อขายอีก 1 ชั่วโมงเต็มทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้นสูงสุด
และทำลายสถิติทั้งหลายที่เคยมีมาตลอด 15 ปีเต็ม โดยมีปริมาณการซื้อขายเมื่อ
1 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการซื้อขาย 3 ชั่วโมงถึง 6,253.76 ล้านบาท
ทั้งที่ในช่วงต้นปีนั้นปริมาณการซื้อขายหุ้นเฉลี่ยเดือนละ 3,000-4,000
ล้านบาท แต่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปริมาณการซื้อขายหุ้นได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละ
5,000-6,000 ล้านบาทและมีแนวโน้มว่าจะทะยานขึ้นถึง 10,000 ล้านบาทได้เมื่อถึงสิ้นปี!!!
นั่นหมายความว่าปริมาณงานที่เทรดเดอร์ต้องทำมีเพิ่มขึ้นมากเป็นทับเท่าทวีคูณ
รายการคำสั่งซื้อขายหุ้น (TRANSACTION) เพิ่มขึ้นจาก 17,500 รายการในปลายเดือนพฤษภาคม
เป็น 24,000 รายการในต้นเดือนกรกฎาคม โบรกเกอร์ใหญ่บางแห่งมีรายการฯ เพิ่มขึ้นเป็นพันรายการฯ
ปริมาณงานในกระบวนการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายในเวลาอันรวดเร็วเช่นนี้สร้างภาระกับพวกเทรดเดอร์อย่างมาก
และเมื่อผนวกกับการที่ระบบงานค้าหลักทรัพย์ของตลาดฯ เกิดปัญหาบ่อยๆ โดยเฉพาะในการออกสัญญาการซื้อขายหรือ
SELL RECORD ที่มักจะออกไม่ค่อยตรงเวลาก็ยิ่งทำให้เทรดเดอร์เหล่านี้ต้องทำงานหนักอย่างหามรุ่งหามค่ำ
เรื่องกลับบ้านดึกดื่นไม่เป็นเวลาไม่ต้องพูดถึงอีกแล้ว เพราะในสภาพที่ปริมาณรายการเพิ่มขึ้นล้นหลามเช่นนี้
โบรกเกอร์ถึงกับต้องเช่าโรงแรมหาที่พักให้เทรดเดอร์กันทีเดียว
ก่อนที่ฉากชีวิตการเคาะกระดานจะปิดม่านลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ "ผู้จัดการ"
ได้เจาะลึกแง่มุมชีวิตการทำงานของเทรดเดอร์หรือผู้ที่ทำหน้าที่เคาะซื้อขายหุ้นในห้องค้าของตลาดหลักทรัพย์ฯ
มาตีแผ่ให้ได้รับรู้กันว่านักเคาะเหล่านี้มีวิธีทำงานอย่างไร ใครเป็นมือเคาะเก๋ากึ๊กคู่ห้องค้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
ปริมาณรายการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นเมื่อขยายเวลาการซื้อขายเป็น 3
ชั่วโมงทำให้เทรดเดอร์ต้องทำงานหนักมากขึ้นเพียงไร พนักงานแบ็คออฟฟิศที่รับช่วงงาน
SETTLEMENT ต่อจากเทรดเดอร์ก็ต้องรับงานหนักมาขึ้นพอๆ กัน หรืออาจจะมากกว่าในโบรกเกอร์บางรายที่ระบบงานคอมพิวเตอร์ยังไม่มีการพัฒนามากนัก
พนักงานเล็กๆ ที่อุทิศแรงกายทำงานหามรุ่งหามค่ำเหล่านี้ได้รับค่าแรงและสวัสดิการสมกับความเหนื่อยยากของพวกเขาหรือไม่
ความเหนื่อยยากที่เกิดขึ้นในเวลานี้จะดำรงอยู่เพียงชั่วคราวหรือถาวรไม่มีสิ้นสุด
นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าการติดตั้งระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์
VAX จะใช้งานได้ผลตามแผนการที่วางไว้หรือไม่ ระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้าจะเป็นตัวพิสูจน์ในเรื่องนี้!
เวลาเข้างานของบริษัทเริ่มที่ 8.30 น. แต่เวลางานของฝ่ายค้าหลักทรัพย์ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ
จำกัด เริ่มที่ 8.00 น. ส่วนตัวผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายฯ คือ ชัชวาล ธันวารชร
ต้องมาตั้งแต่ 7.00 น. เพราะไม่อย่างนั้น "จะทำงานไม่ทัน เราได้ขอให้พวกเทรดเดอร์เสียสละและทำงานหนักกันหน่อยในช่วงนี้"
เหตุที่ชัชวาลย์ต้องมาแต่เช้าก็เพราะเขาต้องทำหน้าที่อ่านหนังสือพิมพ์
ดูข่าวและข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับหุ้น ทั้งนี้รวมไปถึงสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองที่จะมีผลกระทบต่อราคาหุ้นในวันนั้นๆ
ชัชวาลย์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมต้องรีบเช็คข้อมูลพวกนี้ก่อนเพื่อที่จะได้ไกด์สภาพตลาดให้เด็กๆ
ของเราได้"
ครั้นเวลา 8.15-8.30 น. รถของบริษัทก็จะนำเทรดเดอร์ 20 กว่าชีวิตมุ่งตรงไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ
พวกเขาจะเริ่มปฏิบัติงานกันทันที ทุกคนจะเข้าไปประจำที่ในห้องค้าซึ่งเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งจะมีการอนุญาตให้เทรดเดอร์เข้าไปทำงานในห้องค้าก่อนเปิดซื้อขายได้
1 ชั่วโมง เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ พรินเตอร์ กดรหัสเพื่อพิมพ์รายการคำสั่งซื้อขายทั้งหลายที่สะสมอยู่ในเครื่องตั้งแต่เมื่อเย็นวานและเช้าตรู่ของวันนั้นๆ
ชัชวาลย์เล่าว่า "ออร์เดอร์ของเรานี่มีอยู่ในเครื่องตั้งแต่วันก่อน
หรืออย่างช้าก็เข้ามาในตอนเช้า ออร์เดอร์เหล่านี้จะถูกสะสมอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์
ลูกค้าคนไหนสั่งออร์เดอร์ก่อน เบอร์ออร์เดอร์ก็จะอยู่ต้น แล้วก็มีซับโบรกเกอร์ที่คีย์ออร์เดอร์ออนไลน์เข้ามาด้วย
ออร์เดอร์ทั้งหมดจะถูกเรียงจัดลำดับโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ และเมื่อสั่งพิมพ์มันก็จะไหลออกมาไม่หยุดเลย"
พนักงานเสื้อเทาจะทำหน้าที่ฉีกออร์เดอร์ จัดกลุ่มออร์เดอร์ตามกลุ่มหุ้นที่เทรดเดอร์ดูแลอยู่
แล้วนำไปให้เทรดเดอร์ที่อยู่หน้ากระดาน ชัชวาลย์เล่ากลวิธีในการจัดการตรงจุดนี้ว่า
"เราพยายามจัดออร์เดอร์ให้เร็วขึ้น โดยออร์เดอร์ที่สามารถจับคู่ราคากันได้เราจะรีบส่งทันที
แต่ออร์เดอร์ที่เป็นแบบตั้งรับหรือตั้งคอยนี่ เราจะเก็บไว้ที่บูธเพื่อคอยรีวิวเพราะลูกค้าที่ทำออร์เดอร์แบบนี้จะเป็นลูกค้าที่เปลี่ยนใจบ่อย"
ส่วนในแง่ของเทคนิคการเคาะซื้อขายนั้นถือเป็นความชำนาญจากการสั่งสมประสบการณ์ของแต่ละคน
นักเคาะเก่งๆ จะมีระบบการจัดเก็บออร์เดอร์ในมือเพื่อให้หาง่ายที่สุดและไม่ข้าม
ออร์เดอร์ที่ทำง่ายคือออร์เดอร์ที่สั่งซื้อในราคาตลาด (MARKET PRICE) ซึ่งหมายความว่าลูกค้าผู้สั่งซื้อหรือขายไม่ได้สนใจราคาในกระดานเลย
ขอเพียงให้ซื้อหรือขายได้เป็นพอ
แต่การตั้งซื้อขายในราคา MP ควรจะทำในช่วงที่ตลาดบูมเท่านั้น เพราะราคาจะค่อยๆ
ไล่ขึ้นไปตามลำดับ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ นักเคาะจะค่อยๆ ไล่ราคาซื้อให้ลูกค้าจนได้ครบตามจำนวนที่ต้องการ
แต่หากยังได้ไม่ครบนักเคาะที่ดีก็จะตั้งราคาที่ช่องเสนอซื้อไว้ รอจนมีเบอร์อื่นมาขายให้
ส่วนนักเคาะที่ยึดถือคำสั่งของลูกค้าอย่างเคร่งครัดคือไม่สนใจราคาก็จะไม่คอยมาตั้งราคาไล่ราคา
แต่จะไปเสนอซื้อในราคาที่อาจจะชนเพดานหรือติดซีลลิ่ง เพื่อจะได้มีคนมาขายให้จบๆ
ไป ซึ่งเมื่อซื้อไปได้แล้ว ราคาก็จะตกลงมาอีกเพราะมันไม่ได้ไต่ไปตามลำดับ
(STEP BY STEP)
นักลงทุนบางรายโดยเฉพาะพวกที่เล่นหุ้นเก็งกำไรจะมีวิธีการทำออร์เดอร์ที่โบรกเกอร์ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันกับ
"ผู้จัดการ" ว่าเป็นเรื่องน่าปวดหัวมาก เมื่อจะซื้อนั้นมักจะตั้งราคาต่ำหรือจะขายก็ตั้งราคาสูงไว้
ครั้นราคาในตลาดไล่มาจนจะถึงแล้วก็สั่งยกเลิกออร์เดอร์นั้น แล้วสั่งทำออร์เดอร์ตั้งราคาใหม่
ทำอย่างนี้ไปจนกว่าจะถึงจุดที่พอใจ ซึ่งโบรกเกอร์ก็เริ่มชินกับวิธีเช่นนี้
หลายรายได้พยายามพูดคุยให้นักลงทุนเข้าใจว่าการทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ใคร่ถูกต้องนัก
นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเกิด "ออร์เดอร์หลุด" เพราะเทรดเดอร์ไม่อาจให้เวลากับออร์เดอร์ประเภทนี้ได้มากนัก
ชัชวาลย์เล่าว่า "เราพยายามหาทางพบปะลูกค้าและอธิบายกับเขาว่าการเล่นอย่างนี้ผิดแล้ว
แต่ช่วงหลังนี่ก็ดีขึ้น เพราะสิ่งที่ออกมาตามหน้าหนังสือพิมพ์คือโบรกเกอร์ไม่แคร์ลูกค้า
ซึ่งมันก็ทำให้พวกเขาลดวิธีการสั่งออร์เดอร์แบบนี้ลงมาก"
อย่างไรก็ดี เทรดเดอร์ที่ภัทรฯ จะได้รับอนุญาตให้ใช้วิจารณญาณของแต่ละคนในการทำออร์เดอร์
เทรดเดอร์จะดูตามที่เห็นว่าเหมาะสมนั่นคือราคาควรจะขึ้นลงตามลำดับ ไม่ใช่ดึงไปจนติดซีลลิ่งหรือดันให้ตกฟลอร์
ซึ่งเมื่อซื้อขายเสร็จเรียบร้อยราคาก็จะกลับไปอยู่ตรงที่เป็นจริง เรื่องเช่นนี้ชัชวาลย์กล่าวว่า
"เทรดเดอร์ต้องถูกต่อว่าแน่หากลูกค้ามีความละเอียดและสังเกตเห็น"
หรือที่บงล.ศรีมิตรก็เจอออร์เดอร์ประเภทนี้กันมาก วิสันต์ ฉันทสุขศรี ผู้อำนวยการฝ่ายค้าหลักทรัพย์กล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่า "ก็มีเหมือนกันที่ลูกค้าทำออร์เดอร์มาในลักษณะที่เราไม่สามารถทำให้ได้
มันก็เสียเวลาเพราะแทนที่เทรดเดอร์จะดูแล้วทำได้เลยนี่ ก็ไม่ได้ ต้องพลิกหาไปเรื่อยๆ
พอเจออันที่ทำได้ ราคาก็เปลี่ยนไปแล้ว เราก็ได้ทำหนังสือบอกกับลูกค้าไป"
ภัทรฯ มีเทรดเดอร์หรือเสื้อน้ำเงิน 12 คนเท่านั้น แบ่งการรับผิดชอบกันเป็นรายอุตสาหกรรม
ทั้งหมดจะสามารถสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งกันได้ตลอดเวลา ช่วงที่หุ้นกลุ่มไหนบูมก็จะจัดเทรดเดอร์เข้าไป
3 คนดูแล จะมีการแบ่งงานกันเองว่าใครจะดูจากตัวไหนถึงตัวไหน ขณะเดียวกันจะมีคนว่างอยู่อีก
3 คนเพื่อรองรับออร์เดอร์ของต่างชาติ ส่วนพนักงานเสื้อเทามี 5-6 คนคอยทำหน้าที่รับส่งออร์เดอร์และคีย์คอมพิวเตอร์
ระบบที่ภัทรฯ ใช้เป็นระบบที่โบรกเกอร์อื่นๆ ก็ใช้กันส่วนมาก แต่บางรายมีวิธีการที่ต่างออกไป
โบรกเกอร์บางรายไม่ใช้พนักงานวิ่งรับส่งออร์เดอร์ แต่จะให้เทรดเดอร์เดินมารับออร์เดอร์จากพรินเตอร์โดยตรง
แล้วไปเรียกเคาะซื้อขาย เมื่อเสร็จแล้วก็กลับมารับออร์เดอร์ใหม่ไปทำต่อ วนเวียนอยู่อย่างนี้จนกว่าจะหมดชั่วโมงการซื้อขาย
เช่น บงล.สินเอเซียจะใช้ระบบนี้
วิธีการแบบหลังมีข้อดี-เสียคือ โบรกเกอร์จะไม่มีคนคอยอยู่ที่กระดานมากนัก
ทำให้เวลาที่เบอร์อื่นเรียกจะไม่มีเขา ก็ทำให้เบอร์อื่นต้องเสียเวลา แต่เบอร์ที่ใช้วิธีการนี้อาจจะไม่เสียเวลา
เพราะเมื่อรับออร์เดอร์มาเคาะเรียบร้อยแล้วก็กลับไปที่บูธของตนและยืนยันกลับไปที่ลูกค้าผู้สั่งซื้อขายได้ทันที
ซึ่งก็เป็นความสะดวกที่เป็นด้านดีของวิธีนี้
เทรดเดอร์ที่ทำงานเคาะซื้อขายรุ่นเก่าในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แก่ สุเทพ นพสุวรรณวงศ์
ซึ่งอยู่กับงานเคาะมาตั้งแต่สมัยราชาเงินทุน และวันชัย หงส์เหิร ที่อยู่มาตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ
ยังไม่ย้ายจากสยามสแควร์ ทั้งสองเป็นเทรดเดอร์ของภัทรฯ และเป็นคนที่ไม่มีใครในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ไม่รู้จัก
เนื่องจากเป็นเทรดเดอร์เก่าและมีความชำนาญมาก สุเทพและวันชัยจึงได้รับมอบหมายให้คอยรับออร์เดอร์ใหญ่ๆ
โดยเฉพาะของต่างชาติซึ่งมีปริมาณการซื้อขายมากกว่านักลงทุนไทย
ภัทรฯ เป็นโบรกเกอร์ที่มีปริมาณรายการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติสูงเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาโบรกเกอร์
ทั้ง 35 ราย โดยมีโวลุมต่างประเทศเฉลี่ยวันละประมาณ 100 กว่าล้านบาท ภัทรฯ
มีแผนกงานค้าหลักทรัพย์ต่างประเทศที่คอยดูแลออร์เดอร์ของลูกค้าต่างประเทศโดยตรง
มีมาร์เก็ตติ้ง 3 คนทำหน้าที่รับออร์เดอร์ในช่วงเข้าที่บริษัทฯ คีย์คำสั่งออนไลน์มาที่บูธในตลาดฯ
และมีเทรดเดอร์อีก 3 คนที่จะเอาออร์เดอร์เหล่านี้ไปทำ
บริการพิเศษที่ให้แก่ลูกค้าต่างชาติคือการใช้โทรศัพท์สายตรงเพื่อให้ลูกค้าสั่งเข้ามาที่บูธที่ตลาดเทรดเดอร์รับออร์เดอร์ไปทำได้หรือไม่ได้
อย่างไรก็สามารถคอนเฟิร์มกลับไปยังลูกค้าได้ทันที
ชัชวาลย์กล่าวว่า "อันนี้เป็นบริการที่ทุกโบรกเกอร์ต้องทำเหมือนกันหมด
เพราะพวกนี้สั่งทีเป็นหมื่นแสนหุ้น เราคุ้มที่จะให้คนคอยเขา"
หลังจากจบชั่วโมงการซื้อขายหุ้นที่วุ่นวายเร่งรีบลงแล้ว งานของเทรดเดอร์ยังไม่หมดสิ้นเพียงแค่นั้น
พนักงานคีย์รายการคำสั่งต้องใช้เวลาอีกครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงเพื่อคีย์รายการซื้อขายทั้งหมดลงไปในเครื่องคอมพิวเตอร์
ซึ่งรายการเหล่านี้คือ SELL SLIP ที่ต้องเอามาตรวจสอบความถูกต้องกับสัญญาการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีเจ้าหน้าที่ประจำในห้องค้าคือกลุ่มที่ใส่เสื้อสูทสีแดง
เป็นผู้มีหน้าที่พิจารณาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการซื้อขาย โดยการร้องเรียนจากโบรกเกอร์ต่างๆ
เช่นเมื่อมีการซื้อขายข้ามเบอร์ หากโบรกเกอร์โวยวายขึ้นมา เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะเป็นผู้ตัดสินว่าใครจะได้ซื้อขายก่อนใคร
หรือช่วงก่อนปิดตลาดนั้นจะมีการพยายามทำราคาปิด เจ้าหน้าที่ก็จะคอยตรวจสอบว่าราคาขยับขึ้นลงตามลำดับ
หรือมีการกระโดดข้ามราคา เป็นต้น
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่จะเดินเก็บ SELL SLIP ตามบูธต่างๆ นำไปส่งให้พนักงานคีย์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
เพื่อคีย์ข้อมูลเหล่านี้มาออกเป็นสัญญาการซื้อขายสำหรับให้โบรกเกอร์ใช้ตรวจสอบ
โดยปกติตลาดหลักทรัพย์ฯ จะออกสัญญาการซื้อขายประมาณบ่ายสามโมง โดยออกให้โบรกเกอร์ตรวจสอบตั้งแต่เบอร์หนึ่งเรื่อยไปจบที่เบอร์
35 ดูแล้วโบรกเกอร์เบอร์ต้นๆ น่าจะได้เปรียบในแง่ที่ได้สัญญาการซื้อขายมาตรวจก่อน
แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย
วันใดที่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นเป็นจำนวนมาก เช่นเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ซึ่งมีวอลุมเพิ่มเป็น 6,000 ล้านบาทนั้น ระบบคอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
มักจะมีปัญหาเพราะไม่สามารถรองรับปริมาณงานหนักมากเกินไปได้ ในวันนั้นเครื่องจะทำงานช้า
กว่าสัญญาการซื้อขายจะเรียบร้อยก็ล่าออกไปเป็นสี่ห้าโมงเย็น และโบรกเกอร์ต้องใช้เวลาตรวจอีก
2-3 ชั่วโมง
มีหลายรายที่บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่ากว่าที่เทรดเดอร์จะกลับเข้าออฟฟิศในวันนั้นก็ปาเข้าไปสี่ห้าทุ่ม
และมิต้องสงสัยเลยว่างาน BACK OFFICE ที่จะทำได้หลังจากตรวจสัญญาการซื้อขายเรียบร้อยนั้นจะไปเสร็จเอาเมื่อใด
เรื่องกลับบ้านสองยามตีหนึ่งของเทรดเดอร์เริ่มมีเป็นปกติในระยะนี้ และเสียงโวยเกี่ยวกับอัตราค่าตอบแทนเมื่อเทียบกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นมากก็เริ่มดังพร้อมกัน
หากจะมองว่าเทรดเดอร์เป็นฝ่ายที่ทำงานหนักมากๆ เมื่อเทียบกับส่วนงานอื่นๆ
ในกระบวนการค้าหลักทรัพย์แล้ว เห็นทีจะเกิดเสียงคัดค้านขึ้นระงม เพราะฝ่าย
OPERATION และมาร์เก็ตติ้งซึ่งเป็นงาน BACK OFFICE ก็มีงานหนักไม่แพ้กัน
นั่นหมายความว่า จะกล่าวให้เป็นธรรมก็คือฝ่ายค้าหลักทรัพย์ทั้งหมดล้วนมีภาระงานเพิ่มมากขึ้นในระยะเดือนสองเดือนที่ผ่านมา
พนักงานส่วนค้าหลักทรัพย์ในหลายบริษัทออกมาเรียกร้องขอเพิ่มอัตราค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ
ซึ่งในหลายบริษัทก็มีการปรับและเพิ่มสวัสดิการให้บ้าง แต่ในอีกหลายๆ แห่งยังไม่สามารถทำได้เพราะจะต้องพิจารณาถึงส่วนงานอื่นๆ
ด้วย
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเดือนและสวัสดิการที่เทรดเดอร์ได้รับอยู่ในปัจจุบันก็นับเป็นรายได้ที่ไม่เลวร้ายจนเกินไปนัก
(ดูตารางอัตราเงินเดือนของเทรดเดอร์)
วิสันต์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ราคาเทรดเดอร์ช่วงนี้ที่ขึ้นสูงก็เพราะมีการดึงตัวกัน
คือย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งซึ่งหากไม่มีเงินเดือนที่ดีกว่าก็คงไม่ไป
แต่โดยสภาพค่าครองชีพในปัจจุบันก็คงอยู่ประมาณเดือนละ 7,000 บาทสำหรับคนที่มีประสบการณ์และคล่องแคล่ว
ซึ่งราคาที่ว่านี้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถประกอบกัน"
อันที่จริงการดึงตัวเทรดเดอร์เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2532 และมีมากในช่วงกลางปี
หลังจากนั้นก็เพลาลง แต่มาตอนนี้เริ่มมีหนักขึ้นมาอีกเพราะว่าตอนนี้งานหนัก
วิสันต์กล่าวอีกว่า "ถ้าเทรดเดอร์ที่โบรกเกอร์ไหนมีปัญหาอยากลาออกนี่
รับรองมีคนมารับทันที เทรดเดอร์ช่วงนี้ค่อนข้างเนื้อหอม โบรกเกอร์แต่ละแห่งก็อยากได้เทรดเดอร์มือดีๆ
เข้าไปช่วยดูแลออร์เดอร์ให้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะโบรกเกอร์พัฒนาคนขึ้นมาเป็นเทรดเดอร์ไม่ทัน
หรืออาจจะพัฒนาทันแต่ความชำนาญจะสู้คนเก่าไม่ได้"
ที่ศรีมิตรนั้นมีเทรดเดอร์ประมาณ 25 คน เป็นเทรดเดอร์ที่อยู่กันมาแต่ต้น
มีออกไปเพียงคนเดียว ส่วนที่อยู่มาแต่ต้นนี้มีทั้งมาจากที่อื่นและสอบเข้ามาเอง
และเมื่อปี 2532 ก็มีการรับเข้ามาเสริมอีกหลายคน วิสันต์กล่าวว่าที่ต้องมีเทรดเดอร์เป็นจำนวนมากก็เพราะจำนวนออร์เดอร์ที่เป็นรายบุคคลของศรีมิตรมีเยอะมาก
เนื่องจากศรีมิตรมีสาขาในต่างจังหวัดอีก 5 สาขา เปรียบไปก็เหมือนมีอีก 5
ห้องค้าที่ต่างส่งออร์เดอร์เข้ามาซื้อขายที่บูธในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้โดยตรง
ส่วนที่ภัทรฯ ใช้นโยบายสร้างคนโดยเอามาฝึกจากที่ไม่เป็นอะไรเลย เพื่อที่จะป้องกันการซื้อตัว
ชัชวาลย์กล่าวว่า "เราจะไม่รับใครจากเบอร์อื่นเลย ทั้ง 12 คนที่อยู่กับเรานี่มีอายุงานตั้งแต่
8 ปีลงมา อยู่สมัยตั้งแต่ก่อนจะย้ายมาที่อาคารสินธรในปี 2525 และเรามีคนที่จบจากต่างประเทศเพื่อคอยติดต่อกับลูกค้าต่างประเทศด้วย"
เมื่อปิดชั่วโมงการซื้อขายลง ณ 12.00 น. พนักงานเสื้อเทาต้องใช้เวลาคีย์
SELL SLIP ต่ออีกครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง บางแห่งก็ 2-3 ชั่วโมง แล้วแต่ความสามารถของคนคีย์
ปริมาณรายการซื้อขายและระบบงานของแต่ละโบรกเกอร์ ส่วนเทรดเดอร์ก็ไม่ใช่ได้พักในทันที
อาจจะมีการเบรกด้วยอาหารกลางวันแล้วก็ต้องมาทำงานต่อ ซึ่งช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงที่อลหม่านไม่แพ้เวลาซื้อขาย
งานที่เทรดเดอร์ทำในช่วงนี้คือการแก้ไข SELL SLIP ที่ได้ทำไว้แล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์
เช่น ยังไม่ได้ลงชื่อกำกับ หรืออาจจะเป็นแค่ตกลงกันด้วยวาจาแต่ยังไม่ได้ทำรายการลงใน
SELL SLIP เทรดเดอร์ก็จะมาจับกลุ่มกันเคลียร์รายการที่คั่งค้างเหล่านี้ให้สมบูรณ์แล้วนำไปให้พนักงานคีย์เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์อีกทอดหนึ่ง
เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกสัญญาการซื้อขายมา โบรกเกอร์ก็จะเอามาตรวจสอบกับรายการของตัว
หากมีผิดพลาดอย่างไรก็ต้องแก้ไขให้ตรงกับของทางตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยทั่วไปตลาดหลักทรัพย์ฯ
จะออกสัญญาฯ ตั้งแต่บ่ายสองโมง บางวันล่าไปถึงหกโมงเย็นก็มี ขึ้นอยู่กับคอมพิวเตอร์
วันไหนที่คอมพิวเตอร์ไม่มีปัญหาและวอลุมการซื้อขายไม่มากเกินไป สัญญาการซื้อขายก็จะออกมาประมาณบ่ายสองโมง
วันไหนมีปัญหา ตลาดฯก็จะแจ้งให้ห้องค้าทราบ และเทรดเดอร์ก็จะแจ้งกลับมาที่บริษัท
หมายความว่าวันนั้นก็เตรียมตัวอยู่ยาวกันได้
หลังจากที่มีการตรวจสอบรายการของโบรกเกอร์กับสัญญาการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ
เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ข้อมูลที่ถูกต้องจะถูกส่งกลับมาที่ออฟฟิศ เพื่อให้พนักงานแบ็คออฟฟิศทำงานด้านชำระราคาและการส่งมอบใบหุ้นต่อไป
ซึ่งงานเหล่านี้มีเรื่องจุกจิกวุ่นวายไม่แพ้เรื่องการซื้อขายในห้องค้า (ดูกระบวนการซื้อขายหุ้นในแผนภูมิระบบการทำงานของเทรดเดอร์และโอเปอเรชั่น)
วิสันต์เล่าถึงงานของแบ็คออฟฟิศที่ค่อนข้างจุกจิกว่า "เมื่อข้อมูลการซื้อขายลงตัวแล้ว
พวกโอเปอเรชั่นก็จะดูว่าวันนี้ลูกค้าซื้อขายหุ้นอะไรบ้างในแต่ละราย มีเงินเข้าออกเท่าไหร่
เคลียร์ STATEMENT ให้ลูกค้า ทำเรื่องเบิกใบหุ้นจากศูนย์รับฝากที่ตลาดฯ ซึ่งของเรามีลูกค้ารายบุคคลเยอะก็ต้องยุ่งหน่อย
แต่ว่าเราก็มีคอมพิวเตอร์ที่ช่วยงานเหล่านี้ได้มาก เช่นเราใช้คอมพิวเตอร์ออกรายการซื้อขายหุ้นของลูกค้าแต่ละคนได้
หรือออกเช็คจ่ายให้ลูกค้าได้ เป็นต้น"
ในช่วงเช้า พนักงานแบ็คออฟฟิศก็ยังต้องมาพบลูกค้าเพื่อจัดการเรื่องเงินปันผล
เรื่องการปิดโอนใบหุ้นให้ลูกค้า ตามทวงสิทธิ์ให้ลูกค้าหากลูกค้าลืมปิดโอน
เรียกว่างานจิปาถะทั้งหลายที่ไม่เกี่ยวกับการซื้อขายในห้องค้าเป็นเรื่องที่พนักงานแบ็คออฟฟิศต้องทำทั้งสิ้น
โบรกเกอร์หลายเบอร์เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่าสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งนอกเหนือจากเรื่องคอมพิวเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ที่ทำให้เกิดความล่าช้า คือความสามารถของระบบงานของแต่ละโบรกเกอร์นั้นมีไม่เท่าเทียมกัน
โดยเฉพาะในเรื่องของการคีย์ SELL SLIP และการแก้ไขออร์เดอร์ ซึ่งในประเด็นหลังนี้ยังมีเรื่องที่หมิ่นเหม่ต่อกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ปนอยู่ด้วย
ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตรวจพบว่ามีการแก้ไข SELL SLIP ชนิดที่ผิดกฎระเบียบ
คือรายการที่เกิดในช่วงแก้ไข SELL SLIP เป็นรายการที่ไม่ได้มีการสั่งซื้อมาในชั่วโมงการซื้อขายจริง
ทว่าเทรดเดอร์มาเลือกราคาซื้อขายหุ้นเอาภายหลังจากที่ตลาดหยุดเคลื่อนไหวแล้ว
เทรดเดอร์รายหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "จะเลือกซื้อที่ราคาไหนก็ได้"
แต่การจะทำอย่างนี้ได้ก็จะต้องมีการร่วมมือกันระหว่างเทรดเดอร์หลายเบอร์
ซึ่งเท่ากับเป็นเรื่องสมยอมกันเอง สิ่งที่เป็นปัญหาคือเทรดเดอร์เหล่านี้ต้องเสนอราคาไปให้นักลงทุนและรอการตัดสินใจ
การยืนยันคำสั่งซื้อกลับมา ซึ่งเสียเวลาค่อนข้างมาก โบรกเกอร์เบอร์นั้นๆ
ก็จะออกรายการช้า พาให้โบรกเกอร์เบอร์อื่นๆ ที่มีรายการซื้อขายอยู่กับโบรกเกอร์เบอร์นั้นต้องล่าช้าตาม
เพราะต้องรอการตรวจสอบ
ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกระเบียบห้ามแก้ SELL SLIP เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำรายการซื้อขายใหม่ทั้งที่ไม่ได้สั่งซื้อขายในชั่วโมงทำการ
แต่ระเบียบนี้ถูกต่อต้านอย่างหนักจากโบรกเกอร์ จนในที่สุดก็ต้องยกเลิกไป
ธรรมนูญ ดวงมณี กรรมการผู้จัดการบล.ไทยค้า กล่าวว่า "เรื่องนี้ตลาดฯ
ทำไม่ถูก จะว่าเทรดเดอร์ทำเพิ่มก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะมันมีออร์เดอร์ยันอยู่ว่าเป็นคำสั่งที่เกิดขึ้นในช่วงการซื้อขายจริง
รายการที่เพิ่มขึ้นก็ต้องเป็นการเพิ่มจากออร์เดอร์ที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าทำขึ้นใหม่ในภายหลังจากออร์เดอร์ที่ยังไม่มี"
กติกาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้อยู่ในเวลานี้คือ ผู้ขายเป็นคนลง SELL SLIP
เท่ากับว่าเมื่อทำได้แล้วผู้ขายก็จะยืนยันกลับไปยังลูกค้าได้ทันที แต่หากผู้ซื้อเกิดไม่ได้ลงรายการ
เพราะลืมหรือคิดว่าจะไปเคลียร์ในภายหลังได้ อะไรก็แล้วแต่ ทว่าเมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ
ออกกฎห้ามแก้ไขสัญญาการซื้อขายก็เท่ากับโบรกเกอร์ผู้ขายต้องเสียหายหนัก เนื่องจากได้แจ้งยืนยันแก่ลูกค้าไว้แล้ว
และหากไม่สามารถต่อรองกับลูกค้าได้ โบรกเกอร์ผู้ขายก็ต้องแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง
ธรรมนูญกล่าวว่า "ด้านผู้ขายนี่เสียหายมโหฬารเลย ถึงตลาดฯ จะใช้วิธีให้โบรกเกอร์ทำจดหมายขอแก้ไขไป
แต่มันก็ไม่ทันการณ์แล้ว และความจริงเราก็มีออร์เดอร์ยืนยันอยู่ ผมไม่ทราบจะว่าอย่างไร
คือตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่รู้เรื่องนี้เลยและไม่ยอมรับด้วย ถ้าเขาสงสัยเบอร์ไหนก็ควรจะตรวจสอบเฉพาะเบอร์นั้น
แล้วมีหนังสือแจ้งไป"
อัศวินี ไตรลังคะ ผู้อำนวยการฝ่ายค้าหลักทรัพย์ บล.ไทยค้า กล่าวเสริมว่า
"ในการปฏิบัติงานของคนกลุ่มหนึ่งนี่ เขาไม่ควรจะออกกฎมาเพื่อที่จะทำให้คนบริสุทธิ์เดือดร้อน
และป้องกันไม่ให้คนที่ไม่บริสุทธิ์ไม่ทำผิด ถ้าจะจับคนไม่บริสุทธิ์ก็ควรไปดูเฉพาะกรณี
เราได้รับผลกระทบสูงมากเพราะเราทำแจ้งยืนยันลูกค้าต่างประเทศไปแล้ว และเขาก็แจ้งกับลูกค้าของเขาไปทั่วโลก
เขาไม่สนใจปัญหาขลุกขลักของเรา เมื่อเรายืนยันครั้งแรก เขาก็ถือเป็นเด็ดขาดแล้ว"
นอกจากนี้ธรรมนูญยังเอ่ยถึงประเด็นต่างๆ อีก 13 เรื่อง ที่อยากให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ
พิจารณาดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการปฏิบัติงานของเทรดเดอร์และโบรกเกอร์
มาตรการ 13 ข้อได้แก่การขยายพื้นที่ห้องค้า ขยายพื้นที่บูธของโบรกเกอร์ในห้องค้า
ย้ายกระดานหุ้นที่ไม่มีความเคลื่อนไหวมากออกไปเพื่อที่จะเพิ่มพื้นที่ของกลุ่มหุ้นที่มีความเคลื่อนไหวให้กว้างขึ้น
อนุญาตให้พนักงานเสื้อเทาเคาะกระดานได้ ให้สมาชิกบันทึกรายการซื้อขายลงในแผ่นดิสก์แล้วนำมาส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ
เพื่อออกสัญญาการซื้อขาย ให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดรับสมาชิกศูนย์รับฝากใบหุ้นเพิ่ม
คืออนุญาตให้ซับโบรกเกอร์และคัสโตเดียนเข้ามาเป็นสมาชิกได้ นำระบบการซื้อด้วยสัญญาณมือมาใช้
เป็นต้น
ธรรมนูญมองว่ามาตรการเหล่านี้ควรจะมีการพิจารณานำมาใช้เพื่อให้ระบบการซื้อขายเกิดความคล่องตัวมากขึ้น
ทำให้เทรดเดอร์ทำงานได้สะดวก และงานในส่วนแบ็คออฟฟิศก็จะไม่หนักจนเกินไปด้วย
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่ได้สนใจพิจารณาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ซึ่งนั่นหมายความว่า ภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจากการขยายเวลาการซื้อขายหุ้นเป็น
3 ชั่วโมงจะตกหนักอยู่กับเทรดเดอร์และพนักงานแบ็คออฟฟิศแต่เพียงส่วนเดียว!!
ยิ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเลิกการคีย์รายการซื้อขายเพื่อออกสัญญาการซื้อขายเอง
แต่จะนำเอาแผ่นดิสก์ที่บรรจุรายการซื้อขายซึ่งโบรกเกอร์เป็นฝ่ายคีย์ลงไปมาพิมพ์ออกเป็นสัญญาการซื้อขายด้วยแล้ว
ก็เท่ากับลดภาระงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ลงไปได้มาก
แต่ปัญหาคือหากโบรกเกอร์เกิดรวมหัวกันสร้างรายการซื้อขายขึ้นมาเอง ตลาดหลักทรัพย์ฯ
ก็จะไม่สามารถจับผิดได้!!
สภาพการทำงานที่เป็นอยู่ในเวลานี้ดูราวกับตลาดหลักทรัพย์ฯ จะติดจรวดพัฒนาโดยไม่ใส่ใจว่าโบรกเกอร์ซึ่งก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในธุรกิจค้าหุ้นจะตามทันหรือไม่
ลักษณะที่ดำรงอยู่คือต่างคนต่างทำ
ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งสู่ความเป็นตลาดฯ สากล ส่วนโบรกเกอร์มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดในภาวะตลาดบูม!!
โบรกเกอร์ยินดีจะจ่ายเงินเพื่อซื้อตัวพนักงานคอมพิวเตอร์จากบริษัทอื่นในราคาที่สูงลิ่ว
แต่มีข้อแม้ว่าพนักงานคนนั้นจะต้องนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้พัฒนาจนใช้งานได้ติดตัวมาด้วย
หรือยินดีจ่ายเงินซื้อเทรดเดอร์ที่มีฝีมือมาร่วมงานด้วย ดังนั้นค่าตัวของคนในวงการนี้จึงสูงมากเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ
เป็นที่แน่ใจได้ว่าคนทำงานในธุรกิจค้าหุ้นจะไม่มีทางตกงาน แม้แต่เทรดเดอร์ที่กำลังจะหมดหน้าที่การเคาะกระดานซื้อขายก็ไม่ถูก
LAY OFF เพราะความรู้ความชำนาญในงานเคาะซื้อขายของพวกเขาสามารถพัฒนาขึ้นมาใช้ในระบบค้าหลักทรัพย์ด้วยคอมพิวเตอร์ได้
วิสันต์เปิดเผยว่า "เราไม่มีนโยบายเรื่องการปลดพนักงานอยู่แล้ว มีแต่จะพัฒนาให้มีความรู้ในหลายๆ
ด้าน และสามารถโยกย้ายตำแหน่งงานได้ เทรดเดอร์แทนที่จะไปเคาะกระดานก็ให้มาเคาะเครื่องคอมพิวเตอร์แทน
จะให้อยู่ประจำเครื่องและฝึกให้เป็นมาร์เก็ตติ้ง โดยมีการเปิดคอร์สวิเคราะห์ข้อมูลและการใช้งานคอมพิวเตอร์หลังจากที่เครื่อง
VAX นำเข้ามาติดตั้งเรียบร้อย"
นโยบายของศรีมิตรก็ไม่ต่างอะไรกับของภัทรฯ ที่จะอบรมเทรดเดอร์ในเรื่องการใช้งานคอมพิวเตอร์และงานวิเคราะห์เพื่อฝึกให้เป็นมาร์เก็ตติ้ง
แต่ภัทรฯ มีนโยบายหลักในการที่จะมุ่งไปสู่นักลงทุนต่างประเทศและในต่างจังหวัดมากขึ้น
โครงการอบรมเรื่องภาษาอังกฤษจึงมีเพิ่มเข้ามาขณะที่ชัชวาลย์เองต้องเดินทางไปจัดสัมมนาย่อยในต่างจังหวัดแทบทุกเสาร์อาทิตย์
เพื่อที่จะคุ้นเคยกับนักลงทุนในหัวเมืองหลักๆ ในแต่ละภาค
ชัชวาลย์เปิดเผยว่า "เราคิดว่าเราจะโตมากกว่านี้ เพราะเราหวังว่าเราจะโตในลักษณะอินเตอร์เนชั่นแนลมากขึ้น
เหตุที่เราคิดอย่างนี้ก็เพราะมีลูกค้าต่างชาติเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทในเมืองไทยเพื่อที่เขาจะได้ลดค่าใช้จ่าย
แทนที่จะเสีย 0.5% เมื่อเข้ามาร่วมทุน ก็เสียเพียง 0.3%"
ส่วนต่างจังหวัดนั้น ปัญหาที่เป็นอุปสรรคใหญ่มีอยู่เพียงประการเดียวคือแบงก์ชาติยังไม่อนุญาตให้บงล.เปิดสำนักงานตัวแทนได้
แต่ก็มีโบรกเกอร์หลายรายที่มีใบอนุญาตซึ่งเป็นการได้เปรียบบริษัทที่ไม่มี
สิ่งที่ชัชวาลย์ทำในเวลานี้เป็นการแนะนำตัวเองกับนักลงทุนเพื่อรอจังหวะอนุญาตให้เข้าไปตั้งสนง.ตัวแทนได้ในอนาคตอันใกล้
นั่นเท่ากับว่าภัทรฯ ก็ต้องใช้บุคลากรมากขึ้น เพื่อรอบรับการขยายตัวไปในต่างจังหวัด
แนวโน้มเช่นนี้เป็นเรื่องที่ใครมองเห็นก่อน ใครพร้อมก่อน ย่อมได้เปรียบกว่า!
ก่อนที่เทรดเดอร์จะปิดฉากการเคาะกระดานซื้อขายหลักทรัพย์ลง พวกเขาต้องเตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ
เข้ารับการอบรมในโครงการด้านคอมพิวเตอร์ วิเคราะห์ข้อมูลหลักทรัพย์ ภาวะเศรษฐกิจ
ฯลฯ เพื่อที่จะก้าวไปสู่การแสดงบทบาทใหม่ในปลายปีนี้
งานยิ่งหนักมากขึ้น แต่ยังมีความหวังว่าระบบคอมพิวเตอร์จะช่วยลดภาระลงในตอนปลายปีนี้ได้
ดร.วีรศักดิ์ สุขอาณารักษ์ รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า "โครงกรอบรมการปฏิบัติงานในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือการสอบเทรดเดอร์ที่จะมีในช่วงสิงหาคม-กันยายนนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะจัด
เพราะเรากำลังเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ คือเพิ่มเรื่องการคีย์ราคาซื้อขาย การดูข้อมูลจากจอคอมพิวเตอร์เข้าไปด้วย
ซึ่งอันนี้ก็จะต้องมีการสอบกันใหม่"
ในระบบการซื้อขายด้วยคอมพิวเตอร์จะมีการอนุญาตให้ตั้งสนง.ตัวแทนขึ้นได้ในต่างจังหวัด
ซึ่งบรรดาเทรดเดอร์อาจจะไปทำงานอะไรได้มากมายในสำนักงานเหล่านั้น
หมายความว่าเทรดเดอร์ไม่หมดอาชีพแน่
แต่ที่จะหมดไปคือภาระงานเอกสารจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นการทำ SELL SLIP สัญญาการซื้อขาย
การยืนยันคำสั่งซื้อขาย ฯลฯ ซึ่งเป็นงานในส่วน FRONT OFFICE เมื่อกระบวนการของงานในส่วนนี้ย่อลงและสะดวกมากขึ้นแล้ว
งานในส่วนของ BACK OFFICE ก็ย่อมรวดเร็วไปตามกัน
แม้จะเป็นวาระสุดท้ายของนักเคาะ แต่ก็ถือเป็นศักราชใหม่ของระบบค้าหลักทรัพย์ไทย!!