บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหานครทรัสต์ตั้งขึ้นในปี 2517 เดิมเป็นของพี่น้องเตชะไพบูลย์
และเพื่อนๆ ของเตชะไพบูลย์กระจายกันถือหุ้น แต่มอบหมายให้ไชยทัศน์เป็นผู้จัดการ
ในช่วง 3 ปีแรก ไชยทัศน์กล่าวว่าสามารถคืนทุนได้หมดและจ่ายปันผลปีแรก 15%
ปีที่สอง 40% ปีที่สาม 45% แล้วไชยทัศน์ก็ต้องพ้นตำแหน่งผู้จัดการตามข้อบังคับของธนาคารชาติที่ห้ามผู้บริหารธนาคารเป็นผู้บริหารสถาบันการเงินแห่งอื่น
จุดนี้ที่ไชยทัศน์เรียกลูกน้องคนหนึ่งมาดูแลนั่นคือชัยวัฒน์ พนาวัฒน์ หรือ
"เสี่ยไฮ้" เสี่ยไฮ้เป็นน้องเมียสุเมธ และเป็นนายทุนคนสำคัญคนหนึ่งของกลุ่มไฟว์สตาร์ที่เป็นบริษัทดำเนินงานสร้างภาพยนตร์
ซึ่งมีเจริญและเกียรติ เอี่ยมพึ่งพรเป็นนายทุนอีกกลุ่มหนึ่งและเป็นผู้บริหารออกหน้าออกตา
มหานครทรัสต์เริ่มต้นเช่นที่ว่านี้ไม่มีอะไรผาดโผน แต่บทจบของมันก็คือ
"หนี้ที่มีปัญหา" 700-800 ล้านบาท!
ไชยทัศน์กล่าวยอมรับว่า ปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นเพราะการปล่อยกู้ค่อนข้างหละหลวม
ปล่อยเฉพาะเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง และธุรกิจเครือข่าย เช่น ธุรกิจสร้างภาพยนตร์
ธุรกิจบันเทิงอื่นๆ ไนท์คลับชื่อ "ฮั่นนี่" ที่เชียงใหม่ และเชียงใหม่ออคิด
ซึ่งธุรกิจทั้งหมดค่อนข้างไม่ราบรื่น และนอกจากปล่อยกู้ไปอย่างหละหลวมแล้วผู้บริหารธุรกิจที่กู้มหานครทรัสต์ไปใช้ก็ยังใช้เงินอย่างเละเทะและซิกแซกกันอีกด้วย
"เป็นเงินของศรีนครไม่มากเท่าไร จะไปมากที่ธนาคารมหานคร มันล้มเหลวเพราะมันกินกันแหลกราญ
ไม่ใช่เรื่องของภาวะเศรษฐกิจอะไรเลย แต่การบริหารภายในมันเละเทะมาก ไม่มีใครเป็นเจ้าของจริงๆ
เงินกู้มาจากธนาคารทั้งหมด ก็สนุกสนานกับผลประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่มีใครรับผิดชอบ"
ไชยทัศน์เล่า
แต่ที่ไชยทัศน์กล่าวว่าเป็นหนี้ศรีนครไม่เท่าไรนัก เท่าที่ติดตามข่าว พบว่ามหานครทรัสต์เป็นลูกหนี้ศรีนครอยู่ถึง
200 ล้าน!
ส่วนเชียงใหม่ออคิดนั้นเป็นโรงแรมหรูหราระดับห้าดาวกลางเมืองเชียงใหม่
โรงแรมแห่งนี้ในปี 2531 เป็นหนี้ศรีนครประมาณ 869 ล้านบาท ซึ่งแหล่งข่าวยืนยันว่า
สาเหตุของการขาดทุนไม่ใช่เพราะภาวะเศรษฐกิจหรือธุรกิจท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่ไม่ดี
แต่เป็นเพราะมีรายการโกงกันมหาศาล
"โกงกันเรื่องการจัดซื้อกับขายกรุ๊ปทัวร์ในราคาต่ำเพื่อหวังกินเปอร์เซ็นจากพวกเอเยนต์ทัวร์
ซึ่งเท่านี้ก็เป็นเรื่องหลักที่ทำให้โรงแรมขาดทุนได้ง่ายๆ"
"ผมจะผิดก็ผิดในแง่มโนธรรมว่าผมไม่ได้ไปดูแล โดยพี่น้องเข้าใจว่าผมยังดูแลอยู่
พี่ๆ ทั้งหลายใครจะว่าผมผิด ผมก็ขอยอมรับผิด แต่ว่าเรื่องปล่อยสินเชื่อนั้น
ผมไม่เคยปล่อยเองแม้แต่สลึงเดียว" ไชยทัศน์ขอความเห็นใจ
ไชยทัศน์ยืนยันว่าเขาไม่เคยลงไปควบคุมการบริหารงานในมหานครทรัสต์เลย เพราะตอนนั้นไชยทัศน์กำลังตะลุยขยายสาขาไปทั่วประเทศ
"ตอนผมรับคุมสาขามีแค่ 18 สาขา ตอนนี้มีตั้ง 118 สาขา มีคนตั้งเท่าไร
แล้วผมจะเอาเวลาที่ไหนมาดูพวกบ้าบอคอแตก"
ระยะหลังๆ เมื่อรู้ว่าสถานการณ์ไม่ค่อยจะดีนัก ไชยทัศน์พยายามลงไปแก้ไข
แต่ไม่มีอะไรดีขึ้น
"เรื่องของเรื่องคือมันสายไปแล้ว และไม่ได้รับความร่วมมือที่ดี ชัยวัฒน์มันเผ่นไปแล้ว
มันกลัวผมยิงมัน มันก็เที่ยวไปออกข่าวว่าผมสั่งคนยิงมัน แล้วมันก็หนีไปต่างประเทศ"
ที่ว่าสายเกินไปนั้นแหล่งข่าวกล่าวว่า มีสองประการคือ เมื่อมีทีมงานลงไปพยายามจะแก้ไขปัญหาโดยการโละระบบงานและคนเก่าออกหมด
ไชยทัศน์ก็มีท่าทีลังเล โดยเฉพาะเรื่องการโละคนเก่า ซึ่งไชยทัศน์มีจุดอ่อนเรื่องคน
เขาไม่อยากโละทีมงานเก่าการแก้ไขปัญหาแบบถอนรากถอนโคนจึงไม่เกิดขึ้น
อีกประการคือ ศรีนครไม่ปล่อยเงินมาอัดฉีดต่อไปอีกแล้ว
"สายเกินไปตรงที่ศรีนครไม่ให้เงินมหานครทรัสต์แล้ว เขาไม่ให้เพราะบอกว่ามันกำลังจะเจ๊ง"
แหล่งข่าวกล่าว
เมื่อถึงจุดนี้ไชยทัศน์ก็ต้องถอนตัว ธนาคารชาติเข้ามาควบคุมและกำกับให้ศรีนครเข้าเทคโอเวอร์ในปี
2531
ศรีนครจำใจต้องเข้าไปอุ้มมหานครทรัสต์แบบผะอืดผะอม ซึ่งต่อมาศรีนครก็ดำเนินการลดทุนจดทะเบียนของมหานครทรัสต์จาก
100 ล้านเป็น 5 ล้าน และเพิ่มทุนเข้าปีอีก 300 ล้าน โดย 200 ล้านมาจากการแปลงหนี้ที่มหานครทรัสต์ติดค้างกับศรีนครเป็นทุน
และอีก 100 ล้านศรีนครจะอัดฉีดเข้าไป
สถานะปัจจุบันของมหานครทรัสต์ยังขาดทุนสะสมอยู่ประมาณ 400 ล้านบาทและทำธุรกิจเป็นซับโบรกเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์
ขณะเดียวกันวิเชียร ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ศรีนครก็มีท่าทีอยากจะขยายออกไป
เพียงแต่กำลังกำหนดราคาที่เหมาะสมอยู่เท่านั้น
ส่วนเชียงใหม่ออคิด ทางอุเทนอาศัยความสนิทสนมกับทางตระกูลจิราธิวัฒน์ก็เลยประกาศขายให้ในราคา
475 ล้านบาท ผ่อน 15 ปีไม่มีดอกเบี้ย หลายคนกล่าวว่าเรียกว่าแทบจะยกให้ฟรีๆ
เลย
เรื่องการขายโรงแรมเชียงใหม่ออคิดยืดเยื้อกันอยู่พักหนึ่ง เพราะมีข่าวว่าทางไชยทัศน์ไม่ยอมขาย
ซึ่งในที่สุดทางออกกลับกลายเป็นว่าทาง "ซำเสี่ย" สุเมธ เตชะไพบูลย์ขอซื้อไปในราคาเท่าที่จะขายให้กับเซ็นทรัล
"ผมทำอะไร ผมต้องถาม ผมไม่ใช่เจ้าของ ผมทำอะไรต้องรอบคอบที่สุด ผมถามไชยทัศน์ว่า
ขายไหมขาย ผมไม่เคยไปบีบบังคับใคร ถ้าเป็นความเห็นส่วนตัวของผม ผมคิดว่าถ้าเราทำไม่ได้
เราจะเก็บไว้ทำอะไร ถ้าทำได้ก็ทำซิ ไม่เห็นมีปัญหาอะไร แต่ถ้าทำไม่ได้และมีคนให้ราคาสูงมาก
เราก็ควรจะพอใจ ในที่สุดก็ขาย เขาตัดสิน ไม่ใช่ผมตัดสิน" วิเชียร กล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
"ทีแรกไม่ได้เสนอให้ซำเสี่ย เพราะเขาไม่เคยทำโรงแรม แต่พอซำเสี่ยรู้เรื่อง
ซำเสี่ยบอกว่าเรื่องอะไร เงื่อนไขอย่างนี้ทำเองดีกว่า" ไชยทัศน์เล่า
ซึ่งชวลิต เตชะไพบูลย์ลูกชายของสุเมธ ที่ต่อมาเป็นกรรมการผู้จัดการของโรงแรมเชียงใหม่ออคิดก็ยอมรับว่าเหตุผลที่สุเมธเข้าไปทำโรงแรมเป็นเช่นนั้นจริงๆ
และปัจจุบันสถานะของโรงแรมก็ดีขึ้นเป็นอย่างมาก หลังจากที่สะสางปัญหาต่างๆ
เรียบร้อยแล้ว
ส่วน "เสี่ยไฮ้" นั้น บางกระแสข่าวยืนยันว่ากลับมาเมืองไทยแล้ว
และมาอยู่ที่โรงแรมเชียงใหม่ออคิดเสียด้วย ในฐานะที่ยังเป็นน้องเมีย "ซำเสี่ย"
แต่ถึงอย่างไรชวลิตก็ปฏิเสธข่าวนั้นว่าไม่เป็นความจริง
เหตุการณ์มหานครทรัสต์และเชียงใหม่ออคิดครั้งนั้นกลายเป็นบาดแผลสำหรับไชยทัศน์
จนกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ไชยทัศน์ต้องตัดสินใจลาออกจากศรีนคร
"กรณีมหานครทรัสต์และเชียงใหม่ออคิดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่ผมตัดสินใจลาออก
เพราะว่าปกติผม CLEAN มาตลอด เล่นผมไม่ได้สักเรื่อง พอเจอสองเรื่องนี้ผมก็พูดไม่ออกเพราะในความรับผิดชอบ
มันเด็กเรา เราไม่ดูแลพลาดก็พลาดตรงนี้ เราก็สุภาพบุรุษเกินไป จะพูดแบบมืออาชีพหรือนักวิชาการว่าเราไม่รู้เรื่อง
เราก็พูดไม่ได้ นี่ผมพยายามโดดลงไปช่วยแก้ มันก็เลยเหม็นติดมาด้วย"
ไชยทัศน์กล่าวอย่างอ่อนใจ
ไชยทัศน์กล่าวย้ำเสมอว่า เขาไม่รู้เรื่องการปล่อยหนี้ที่มีปัญหาผ่านมหานครทรัสต์หรือหนี้รายอื่นๆ
ซึ่งทุกรายมีหลักฐานว่าเขาไม่ได้เซ็นหรือเห็นชอบเพียงคนเดียว ซึ่งวิธีการปฏิบัติที่แท้จริงเป็นเช่นไร
เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันเอง
แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นในกรณีมหานครทรัสต์และเชียงใหม่ออคิดนั้นก็คือ
"ความเป็นไชยทัศน์" ที่มากด้วยบารมี เต็มไปด้วยลูกน้อง และก็พังไปเพราะลูกน้องเช่นเดียวกัน!!!