สมัยที่อื้อจือเหลียงยังมีชีวิตอยู่ เขากว้านซื้อที่ดินแถบบางปูเป็นจำนวนมาก
โดยตั้งใจที่จะทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยว สวนสนุก และส่วนหนึ่งได้บริจาคให้กับสภากาชาดไทย
สร้างเป็นบ้านพักคนชราสวางคนิวาส แต่เมื่อเขาสิ้นชีวิตลงในปี 2517 ที่ดินผืนดังกล่าวกลับตกเป็นของธนาคารศรีนคร
แทนที่จะเป็นของทายาทอื้อจือเหลียง!!!
ออกจะเป็นเรื่องล้ำสมัยเป็นอย่างมากที่ในเวลาต่อมาอุเทนตัดสินใจใช้พื้นที่ดังกล่าวจำนวน
10,000 ไร่มาจัดสรรเป็น "นิคมอุตสาหกรรมบางปู" ในนามของ "บริษัทพัฒนาที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมประเทศไทย
จำกัด" เพราะสมัยนั้นมีคนคิดลงทุนธุรกิจด้านนี้น้อยมาก และเป็นของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเกือบทั้งหมดมากกว่าที่จะเป็นของเอกชน
แต่การที่ธุรกิจพัฒนาที่ดินประเภทนี้ยังเป็นของใหม่ อุตสาหกรรมในช่วงนั้นยังไม่เติบโต
นิคมอุตสาหกรรมบางปูจึงกลายเป็นภาระสำหรับศรีนครไป
"ช่วงแรกยังไม่มีการวางผังนิคมให้ชัดเจน มีโรงงานที่เป็นลูกค้าของธนาคารมาอยู่ได้สัก
5-6 แห่ง แต่อยู่กันคนละทิศคนละทาง ก็เลยลำบากในการจัดสาธารณูปโภค ถนนก็ขรุขระ
น้ำ ไฟฟ้าก็ไม่เพียงพอ คนงานที่ไปอยู่ที่นั่นก็โวยวาย" แหล่งข่าวกล่าว
จากยอดขายที่รวบรวมได้คือ ปี 2517 ขายได้ 7 แสนกว่าบาท ปี 2518 ขายได้
3 ล้านกว่าบาท ปี 2519 ขายได้น้อยมาก ปี 2520 ขายได้ 1 ล้าน 4 แสนบาท ปี
2521 ขายได้ 4 ล้าน 6 แสนบาท จะเห็นได้ว่านิคมอุตสาหกรรมมียอดขายที่ต่ำมากๆ
ใครบางคนบอกว่า นิคมอุตสาหกรรมบางปูกลายเป็นบ่อน้ำที่คนเตชะไพบูลย์ดำลงไปแบบอึดแล้วอึดอีกจนหน้าเขียว!
ประมาณ 2527-2528 นิคมอุตสาหกรรมมีหนี้อยู่ที่ศรีนครประมาณ 800 ล้านบาท
พร้อมที่ดินที่ยังขายไม่ออกอีกบานเบอะ
นิพิธ โอสถานนท์ สามีของสุกัญญา เตชะไพบูลย์ ลูกสาวคนที่สองของอุเทน เขาเป็นเขยเตชะไพบูลย์ที่ต้องมารับหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู
นิพิธเคยทำธุรกิจเรือเดินทะเล แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก คนรอบข้างเขากล่าวถึงนิพิธว่าเป็นคนที่สุภาพมาก
ฉลาด แต่ไม่ค่อยกล้าตัดสินใจ ซึ่งก็อาจเป็นเพราะธุรกิจที่ลูกเขยทำให้พ่อตานั้นไม่ค่อยสดใสเอาเสียเลย
จึงพูดไม่ค่อยออก แล้วแต่ทางอุเทนและวิเชียรจะตัดสินใจอย่างไร
วีระชัย วรรณึกกุล ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการขณะนั้นเสนอให้ตัดเนื้อร้ายนี้ทิ้งด้วยการขายที่ดินทั้งหมดในราคา
700 ล้าน ยอมขาดทุนประมาณ 100 ล้าน แต่เตชะไพบูลย์ยอมอึดต่อ หรือไม่ก็ไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไรดี
แต่เหมือนโชคช่วย ธุรกิจพัฒนาที่ดินกลับมาคึกคักอีกครั้ง นิคมอุตสาหกรรมกลายเป็นธุรกิจอีกด้านหนึ่งที่คนแข่งกันเปิดมากมายจนล่าสุดมีถึง
17 แห่ง เพื่อต้อนรับโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากที่กำลังเปิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โชคดีกลับมาหาเตชะไพบูลย์อีกครั้ง!
เพียงชั่วสามสี่ปี นิคมอุตสาหกรรมบางปูสามารถขายได้หมดเกลี้ยง เฉพาะปี
2530 ขายได้ถึง 500 ล้านและยังแบ่งที่ดินออกมาทำบางปูคันทรีคลับต่ออีกด้วย
วิเชียรกล่าวว่า จากหนี้ที่มีอยู่ประมาณ 800 กว่าล้าน ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ
300 กว่าล้าน ซึ่งคาดว่าไม่มีปัญหาเพราะทรัพย์สินนั้นเกินคุ้ม ทั้งยังจะขยายในส่วนพาณิชย์ออกไปอีก
2,000 ไร่อีกด้วย
แบบนี้ไม่เรียกว่าเฮงแล้วจะเรียกว่าอะไร!
บทเรียนที่ได้จากนิคมอุตสาหกรรมบางปูสำหรับคนเตชะไพบูลย์ก็คือ บางทีการตัดสินใจช้าๆ
หรือปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามสถานการณ์ มันก็เป็นคุณได้เหมือนกัน