Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2533
น้องๆ อุเทน ใครเป็นใคร             
 

   
related stories

เตชะไพบูลย์ : ทางใครทางมัน
อุเทน เตชะไพบูลย์ ขุนแผนจาก "เตี้ยเอี้ย"

   
search resources

ธนาคารศรีนคร
อุเทน เตชะไพบูลย์
Banking and Finance




แต้จือปิงมีภรรยารวม 3 คนด้วยกัน

ภรรยาคนแรกมีลูก 8 คนคือ อุเทน, กมลา (เสียชีวิตแล้ว), สุเมธ, คำรณ, กานดา, กาญจนา (เสียชีวิตแล้ว), กัญญารัตน์, อุธรณ์

ภรรยาคนที่สองมีลูกชายคนเดียว ชื่อแต้เต็กเล้า เสียชีวิตแล้วหลังจากแต่งงานไม่นาน ทิ้งลูกสาวไว้คนหนึ่ง

ภรรยาคนที่สามมีลูกชายสามคนคือ อุทัย, เสฐียร, ไชยทัศน์

รวมพี่น้องพ่อเดียวกัน 12 คน

หากเว้นจากอุเทน หรือ "แต้โหงวเล้า" ("โหงว" แปลว่า "เที่ยงวัน" ส่วน "เล้า" แปลว่า "หอสูง") แล้ว มีน้องๆ ที่ "ผู้จัดการ" จะขอกล่าวถึงไล่เรียงตามอายุดังนี้

สุเมธ เตชะไพบูลย์ หรือ "แต้เซาะเล้า" ("เซาะ" แปลว่า "หิมะ") หรือซำเสี่ย

"ซำเสี่ย" จบจากปีนังแล้วกลับมาทำงานที่ศรีนครพักหนึ่ง ต่อมาภายหลังอุเทนจึงมอบหมายให้ไปดูแลกิจการที่บริษัทสุรามหาคุณ เจ้าของแม่โขง

สุเมธไม่พอใจอุเทนครั้งแรกเมื่อ สัญญาแม่โขงยุคที่สอง (2513-2522) เพราะมีการสับเปลี่ยนตำแหน่งกัน เถลิง เหล่าจินดา ได้เปลี่ยนมาเป็นรองผู้อำนวยการและคุมฝ่ายโรงงานและจัดซื้อ ซึ่งฝ่ายจัดซื้อเดิมนั้นเป็นหน้าที่ของสุเมธ ส่วนสุเมธถูกโอนให้มาคุมทางฝ่ายตลาด ซึ่งไม่ค่อยมีงานทำเพราะระบบตลาดถูกผูกไว้กับยี่ปั้วหมดแล้ว

สุเมธโกรธพี่ชายมากถึงกับไม่ยอมมาทำงานอยู่พักใหญ่

สุเมธไม่พอใจอุเทนครั้งใหญ่ก็เมื่อคราวที่เกิดตำนานสงครามเหล้าระหว่างแม่โขง กับหงส์ทอง ที่เมื่อถึงจุดข้อต่อสำคัญ สุเมธมองว่าอุเทนกลับถอย ไม่ยอมสู้ต่อ ปล่อยให้แม่โขงถูกรวมไปกับหงส์ทอง กลายเป็นบริษัทสุรามหาราษฎร ที่ทางเตชะไพบูลย์ถือหุ้น 49% และทางเจริญ สิริวัฒนภักดี กับ เถลิง เหล่าจินดา ถือ 49% ที่เหลือเป็นของกลุ่มธนาคารที่ให้การสนับสนุน

"เรื่องแม่โขงนั้นอุเทนทำเสียความรู้สึก แกชอบทำเสียความรู้สึกอย่างนี้ทุกที แก conservative พอถึงจุดหนึ่งแกก็ชะงัก พอมาถึงทางสองแพร่ง แกก็ไม่เดิน หันหลังกลับเลยดีกวา" คนที่เกี่ยวข้องกับเตชะไพบูลย์คนหนึ่งสะท้อนความรู้สึก

ครั้งนั้นสุเมธลาออกจากรองประธานกรรมการธนาคารศรีนคร และมาปักหลักอยู่ที่ตึกเตชะไพบูลย์ตรงสามแยกหัวเฉียว และหันมาขายสุราต่างประเทศแทน ในนามบริษัท ซีแกรม (ประเทศไทย) มีสุราจากต่างประเทศที่ตนเองดูและประมาณ 20 ยี่ห้อ มีมูลค่าตลาดปีหนึ่งๆ ประมาณ 1,500 ล้านบาท และธุรกิจรองเท้ายี่ห้อ SCHOLL ส่งออกต่างประเทศ

สุเมธเป็นคนเอาจริงเอาจัง ยอมหักไม่ยอมงอ เขามีภรรยาสองคน (ดูแผนผังครอบครัวสุเมธ) ภรรยาคนแรกชื่อฉวีวรรณ มีบุตรชายคนโตชื่อ ชวลิต และมีบุตรสาวสองคนชื่อ วิวรรณาและวิไลวรรณ ชวลิตเรียนจบปริญญาโททางการบริหารจากยูซีแอลเอ เคยเป็น ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันเป็นกรรมการอำนวยการบริษัท ซีแกรม (ประเทศไทย) และเป็นกรรมการผู้จัดการโรงแรมเชียงใหม่ออคิด ในอดีตนั้นเขาเป็นคนหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้เรื่องเหล้า วิวรรณาดูแลกิจการรองเท้าภายใต้ชื่อบริษัท เอสที ฟุตแวร์ ส่วนวิไลวรรณได้สามีต่างประเทศจึงไปอยู่กับสามีที่ต่างประเทศ

ภรรยาอีกคนหนึ่งของสุเมธชื่อ รังษี มีลูก 4 คน คนโตชื่อพรเทพ ปัจจุบันนอกจากเป็นส.ส. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์และรองโฆษกรัฐบาลแล้ว ยังดูแลบริษัท เอสที ฟาร์ม ชลชินีดูแลบริษัทฟลีตอินเตอร์เนชั่นแนลฟุตแวร์ อดิศรดูแลบริษัท ธนนิเวศน์วัฒนา ซึ่งเป็นบริษัทซื้อขายที่ดิน และคนสุดท้องชื่อดนุนุช

กลุ่มสุเมธถือว่าเป็นกลุ่มที่มีเงินสดมากที่สุด เพราะร่ำรวยจากการค้าสุรามานานปี

คำรณ เตชะไพบูลย์ หรือ "แต้ขอเล้า" ("ขอ" แปลว่า "ใช้ได้ อนุญาต") หรือซี่เสี่ย "ซี่เสี่ย" ดูจะเป็นคนโชคร้ายทีสุดในบรรดาพี่น้อง เขาเคยเป็นผู้ดูแลสาขาของศรีนครช่วงที่ยังมีเพียง 20-30 สาขา ต่อมาได้รับมอบหมายจาก อุเทนให้ไปคุมธนาคารไทยพัฒนาที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารมหานคร เนื่องจากหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทรัพย์สินของผู้มีอำนาจยุคนั้นถูกยึดเข้าเป็นของรัฐหมด รวมทั้งหุ้น 26% ในธนาคารไทยพัฒนาของจอมพลประภาส จารุเสถียร ซึ่งต่อมารัฐบาลเสนอขายให้สมาคมธนาคาร ซึ่งสมาคมธนาคารขอให้อุเทนซึ่งขณะนั้นเป็นนายกสมาคมรับซื้อไว้

อุเทนมอบให้คำรณเป็นคนติดตามเรื่อง ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าคำรณซื้อหุ้นจากจอมพลประภาสในนามส่วนตัวไป และต่อมาก็เพิ่มทุนจนตนเองกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ณ วันนั้น คำรณได้กลายเป็นคนนอกตระกูลที่พี่น้องจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยแล้ว

ต่อมาคำรณประกาศตัวชัดเจนว่า ธนาคารมหานครกับศรีนครนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน นับแต่เมื่อเริ่มโครงการเวิลด์เทรด คำรณก็บอกว่า ธนาคารมหานครไม่เกี่ยว และในช่วงที่แม่โขงมีปัญหากับหงส์ทองนั้น มหานครก็เข้าไปสนับสนุนหงส์ทองเสียอีก

ดังนั้นเมื่อธนาคารมหานครมีปัญหาเรื่องค้าเงินตราต่างประเทศถึงขั้นโคม่า อุเทนก็เลยไม่ช่วย หรืออาจจะเป็นเพราะธนาคารก็มีปัญหาเกินกว่าจะเข้าไปช่วยได้ คำรณจึงต้องระเห็จหนีออกไปนอกประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้าไปควบคุมธนาคารมหานคร จบบทบาทของ "ซี่เสี่ย" แห่งตระกูลเตชะไพบูลย์ได้น่าเศร้าบทหนึ่ง

"มหานครเป็นความผิดพลาดที่ดิ้นรนมากเกินไป เหมือนการพนันแทงบาทก็กะจะได้สองบาท สองบาทก็อยากจะได้สี่ กะว่าจะได้คืน แต่มันไม่คืนสักที ถ้าอึดมาได้อีกปีก็ได้คืนแน่ๆ ช่วงนั้นหุ้นตกหมด ค่าเงินบาทก็ลด หลุดจากนั้นมาก็รับเละ แต่ก็มีคนตายไปก่อน เช่น สุธี นพคุณ, คำรณ แต่จะไปว่าอุเทนไม่ช่วยก็ไม่ถูก เพราะทางคำรณเขาก็ไม่ได้ไปขอความช่วยเหลือ เพราะทั้งสองคนนี่เขาไม่ชอบกันมาก่อนแล้ว" แหล่งข่าวกล่าว

บทเรียนจากครั้งนั้นทำให้บรรดาน้องคนอื่นๆ ของอุเทนเริ่มไม่พอใจอุเทนอยู่พอสมควร เพราะทุกคนต่างก็ยังคิดว่า ความเป็นพี่น้องกันก็ยังต้องช่วยกันอยู่

ล่าสุดแหล่งข่าวกล่าวว่า คำรณได้กลับเข้าในเมืองไทยแล้ว และกำลังพยายามติดต่อเจรจากับทางกองปราบ เพื่อสะสางคดีเก่าๆ ผ่านทางพี่น้องของเตชะไพบูลย์คนหนึ่ง

กานดา เตชะไพบูลย์ หรือ ยี่โก เป็นผู้จัดการธนาคารศรีนคร สาขาปทุมวันและกัญญารัตน์ วรรณศรีสวัสดิ์ เป็นผู้จัดการธนาคารศรีนคร สาขานานาเหนือ ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมเนียมจีนที่ลูกสาวจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในธุรกิจของตระกูล ทั้งสองต่างมีอาณาจักรของตัวเองอยู่ที่สาขาทั้งสองนั้นไปแล้ว

อุทัย เตชะไพบูลย์ หรือ "แต้ฮั่วเล้า" ("ฮั่ว" แปลว่า "สวยงาม") หรือ โหงวเสี่ย

"โหงวเสี่ย" เป็นเตชะไพบูลย์อีกคนหนึ่งที่ไม่ค่อยสุงสิงกับใครและกิจการธนาคารศรีนคร แต่ไปทำกิจการด้านก่อสร้าง มีบริษัทศรีนครการโยธาเป็นส่วนตัว เชี่ยวชาญการก่อสร้างถนน ล่าสุดศรีนครการโยธาเป็นตัวตั้งตัวตีตั้งบริษัท ดอนเมืองโทลเวย์ขึ้น เพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อสร้างทางยกระดับวิภาวดี มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยมีธนาคารศรีนครเป็นธนาคารหลักในการให้การสนับสนุน ร่วมกับธนาคารกรุงไทยและบงล.ทิสโก้ ซึ่งโครงการนี้เพิ่งได้รับการส่งเสริมการบีโอไอ แต่โครงการก็ยังล่าช้าอยู่ เพราะเรื่องยังติดอยู่ที่คณะรัฐมนตรี

อุธรณ์ เตชะไพบูลย์ หรือ "แต้เหาะเล้า" ("เหาะ" แปล่า "นกกระสา") หรือ หลักเสี่ย เขาจบด้านการบริหารจากจีลองคอลเลจ เมลเบิร์น ออสเตรเลีย หลักเสี่ยโตมากับศรีนครโดยตลอด อุธรณ์เป็นน้องชายที่ได้รับตำแหน่ง "กรรมการผู้จัดการใหญ่" ต่อจากอุเทน เมื่อปี 2521

อุธรณ์เป็นคนไม่ก้าวร้าว ไม่ค่อยมีปากมีเสียงกับพี่ กับลูกน้องอาจจะปากร้ายสักหน่อย แต่บางคนยอมรับว่าเป็นคนใจดี เขาทำงานแบบพ่อค้าคนจีน ไปได้เรื่อยๆ สันทัดภาษาจีน อังกฤษ มากกว่าภาษาไทย แต่อุธรณ์ก็นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ได้ 10 ปี ในปี 2532 อุธรณ์ก็ถูกบีบออกจากเก้าอี้ดังกล่าว

ในห้วงเวลานั้นบางกระแสกล่าวว่า อุธรณ์มีปัญหาหนี้เสียที่เกิดขึ้นจากการปล่อยกู้ในอำนาจของอุธรณ์ ซึ่งอุธรณ์ก็ตอบโต้อย่างทันทีว่าเป็นการปล่อยข่าวของคนข้างในศรีนคร เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมที่อุธรณ์ออกไปเสียได้

ปัจจุบันอุธรณ์นั่งทำงานอยู่ที่รีเจ้นท์เฮ้าส์ที่ถนนราชดำริ ซึ่งก็เป็นของเขาและเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้เขาได้มากทางหนึ่ง พอๆ กับโรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยโอเวอร์ซีทรัสต์ รวมไปถึงที่ดินบริเวณชะอำอีกมากพอสมควร เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่รวยเงียบๆ

เสฐียร เตชะไพบูลย์ หรือ "แต้อี่เล้า" ("อี่" แปลว่า "คำสั่งจากพระราชินี") หรือ ชิกเสี่ย เส้นทางของชิกเสี่ยค่อนข้างหกคะเมนตีลังกา เขาไปแต่งงานลูกสาวจรูญ เอื้อชูเกียรติ ชื่อ ลาวัณย์ ซึ่งเป็นน้องสาวของ ยศ เอื้อชูเกียรติ ต่อมาเขาได้เป็นกรรมการผู้จัดการของธนาคารเอเชีย ทั้งในฐานะที่เป็นลูกเขยคนโต และในฐานะที่เตชะไพบูลย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่ง

แต่เสฐียรก็นั่งเก้าอี้นี้ไม่ได้นาน ผลประกอบการของธนาคารออกมาไม่ดี ประกอบกับลูกชายของจรูญคือ ยศ เอื้อชูเกียรติ กลับมาจากต่างประเทศ เสฐียรจึงต้องอำลาจากธนาคารเอเชียกลับมาเดินเล่นที่ศรีนครในปี 2524

ตอนแรกเสฐียรมาเป็นผู้ตรวจงาน และต่อมาก็แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาประธาน จนที่สุดมาลงที่ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ

ว่ากันว่าเสฐียรเป็นคนฉลาดมาก แต่ก็เป็นคนเรียบๆ ไม่สุงสิงกับใคร และไม่มีปัญหากับใครในหมู่พี่น้อง เขาค่อนข้างไปได้ดีกับบรรดา "มืออาชีพ" เช่น ดุษฎี สุวัตถิ์

กล่าวกันว่า แม้แต่การที่น้องชายของเขาที่ชื่อไชยทัศน์จะก้าวหน้าไปได้เร็วกว่า มีตำแหน่งเหนือกว่าเสฐียรก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ดังนั้นทุกคนจึงเชื่อว่า เสฐียรน่าจะอยู่ที่ศรีนครแห่งนี้ต่อไปได้อย่างราบรื่นถ้าไม่ไปสะดุดอะไรเข้าเสียก่อน!

ไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ หรือ "แต้ฮุ้งเล้า" ("ฮุ้ง" แปลว่า "เมฆ") หรือ โป้ยเสี่ย ตอนเด็กๆ โป้ยเสี่ยเคยไปอยู่อังกฤษ แล้วค่อยไปอยู่กับวิเชียรที่บอสตัน เขาเป็น "อา" ที่อายุน้อยกว่า "หลาน" อย่างวิเชียรถึง 3 ปี เรียนจบทางด้านบัญชี จากบิสสิเนสสกูล ในบอสตัน เข้ามาทำงานศรีนครตั้งแต่ปี 2507 เริ่มตั้งแต่พนักงานระดับต้น ย้ายไปตามสาขาต่างๆ แล้วมาอยู่ฝ่ายการค้าต่างประเทศ และมาฝ่ายบริหารสาขา ซึ่งเขาจัดตั้งขึ้นมาเอง

ตำแหน่งสุดท้ายที่เขาได้รับคือกรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลฝ่ายบริหารสาขา และฝ่ายการพนักงาน

ไม่มีใครปฏิเสธถึงบารมีของไชยทัศน์ทั้งที่มีต่อพนักงานธนาคารศรีนครเกือบ 3,800 คนและทั้งต่อวงการเจ้าพ่อ ตำรวจ นักการเมือง และนักหนังสือพิมพ์

บารมีที่ว่านี้เกิดขึ้นได้เพราะการทำงานในธนาคารมากกว่า 26 ปี เป็น "นาย" ที่ไต่เต้ามาจากระดับล่าง รู้จักกับลูกน้องทุกระดับชั้น อีกทั้งนิสัยส่วนตัวที่ค่อนข้างเปิดเผย ตรงไปตรงมา เป็นกันเองกับลูกน้อง ใช้สรรพนามมึงๆ กูๆ กับลูกน้อง บ้านที่ซอยสุขุมวิท 26 เปิดแทบตลอดเวลา ใครเดินเข้าออกได้สบาย มีแม่โขงไว้เลี้ยงเสมอ

อีกทั้งโดยการเอาใจใส่ลูกน้องตลอด 26 ปีนี่เองที่คนในศรีนครย่อมจะต้องรักและเคารพ "นาย" คนนี้ หลายคนเติบโตมาจากเด็กส่งเอกสาร จนขึ้นมาเป็นผู้จัดการสาขาก็ด้วยความเห็นชอบของ "นาย" ใครมีเรื่องเดือดร้อนทางบ้าน เรื่องส่วนตัว เอ่ยปากขอให้ "นาย" ช่วยคำเดียว "นาย" ก็ไม่เคยปฏิเสธ

เป็นที่รู้กันว่าไชยทัศน์กว้างขวางมากในเขตภาคตะวันออก สนิทสนมกันดีกับบรรดาผู้มีอิทธิพลหลายคน แต่บรรดาเจ้าพ่อทั้งหลายที่มีด้วยกันหลายก๊กและมีเรื่องขัดแย้งกันอยู่เสมอจนถึงเลือดถึงเนื้อกันนั้น ไชยทัศน์กล่าวอย่างชัดเจนว่า เขาจะเป็นกลางอย่างเคร่งครัด

"เฉยๆ ผมไม่อยากเป็นเจ้าพ่อ คุณอาจจะคิดไปเองว่ารู้จักนักเลงมากแสดงว่าอยากเป็นเจ้าพ่อ ผมคบคนมาก พูดกับนักเลงนี่พูดง่าย จริงใจ สั้นๆ พูดกับพ่อค้านี่พูดยาก เพราะมันจะต้องมีเรื่องผลประโยชน์ตลอดเวลา ผมจึงเป็นคนไม่ไว้ใจพ่อค้า พวกนักเลงมีผลประโยชน์บ้างแต่เป็นเรื่องกินตามน้ำมากกว่า ไม่ใช่มุ่งผลประโยชน์จริงจัง" ไชยทัศน์ย้ำ

เขาเป็นคนชอบเล่นกับอำนาจและสนุกกับมัน พฤติกรรมเขามีส่วนละม้ายก็อดฟาเธอร์

"ผมเป็นคนใจอ่อน ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงผมก็ช่วย ผมไม่ใช่ก็อดฟาเธอร์ ผมไม่ได้คิดถึงตัวเงิน แต่ต้องมีความสวามิภักดิ์ มันทำให้เกิดความมัน มันมันตรงที่ว่าคนที่ว่าใหญ่ กูยังสั่งได้ สะใจดี แต่ไม่ได้เอนจอยกับอำนาจหรอก ทำด้วยเหตุผล ไม่เคยทำด้วยอารมณ์ เราจะเป็นคนสุดท้ายที่พูดถ้าทุกอย่างมันยังไม่ได้ผล ผมต้องทำตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัด คนจะได้นับถือ ไปพัทยา ไปชลบุรี ผมไม่กลัวนักเลงทั้งสิ้น กลัวจิ๊กโก๋มากกว่า เดี๋ยวมันไม่รู้ว่าผมเป็นใครมันจะเตะเอา ซวยตายห่า" ไชยทัศน์กล่าวอย่างอารมณ์ดี

หลังจากพ้นเก้าอี้นายธนาคาร ไชยทัศน์ไปทำธุรกิจพัฒนาที่ดินกับเพื่อนอดีตนักเรียนจากบอสตันที่ชื่อ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ซึ่งไชยทัศน์กล่าวว่า แล้วแต่รังสรรค์จะทำอะไรก็มาลงทุนกัน

ก็อาจจะเป็นเรื่องปกติที่เพื่อนกับเพื่อนจะมาลงทุนกันในธุรกิจที่กำลังสดใส แปลกอยู่นิดเดียว ตรงที่ว่าตอนนี้รังสรรค์กำลังฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 210 ล้านบาทจากบริษัทวังเพชรบูรณ์ เจ้าของโครงการเวิลด์เทรด ที่มีอุเทนกับวิรุฬเป็นโต้โผใหญ่

ใครบางคนเลยบอกว่า งานนี้เป็นเรื่องของพี่น้อง อาหลาน ที่ดูกันไม่จืดจริงๆ!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us