"ผมกล้าพูดได้เลยว่าต่อไปนี้ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะตกต่ำอย่างไร ซิโน-ไทยจะยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง"
ชวรัตน์ ชาญวีรกูล กรรมการผู้จัดการของกลุ่มซิโน-ไทยพูดอย่างมั่นอกมั่นใจถึงความแข็งแรงของตัวเอง
สี่ห้าปีก่อนชวรัตน์ยอมรับว่าตัวเองก็มืดมนหาทางออกใหักับซิโน-ไทยไม่เจอเหมือนกัน
สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือประคับประคองค้ำยันพอให้ทรงอยู่ได้ รอวันที่ฝนจะซา
ฟ้าเริ่มจะใสเท่านั้น
ในวงการก่อสร้าง ชวรัตน์นับได้ว่าเป็นนักสู้คนหนึ่งที่สามารถปั้นซิโน-ไทยขึ้นมาเป็นบริษัทชั้นแนวหน้าที่มีความชำนาญเป็นพิเศษในด้านโครงสร้างโลหะ
จากจุดเริ่มต้นเมื่อยี่สิบแปดปีที่แล้ว
ชวรัตน์เป็นลูกจีนกวางตุ้ง ครอบครัวเคยทำธุรกิจโรงสีมาก่อนที่จะเปลี่ยนมาเปิดร้านขายเครื่องเหล็กที่บางรัก
และมีโรงงานเล็กๆ อยู่แถวสาธุประดิษฐ์ เขาจบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรักเมื่อปี
2499 ต่อด้วยการศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างปี 2500-2504
วิถีชีวิตในครอบครัวคนจีนที่บ่มเพาะลูกหลานให้รู้จักทำมาหากินตั้งแต่วัยเยาว์
เป็นเบ้าที่หล่อหลอมความช่ำชองในเรื่องงานก่อสร้างโครงสร้างเหล็กให้กับชวรัตน์
เวลาที่ว่างจากการเรียนหมดไปกับการช่วยงานของครอบครัว แม้ขณะที่เรียนอยู่ที่ธรรมศาสตร์
ก็ยังถือเป็นภาระหน้าที่ที่สำคัญ สิ่งนี้ได้สร้างความรู้ทักษะในงานก่อสร้างให้กับชวรัตน์
โดยไม่ต้องไปนั่งเรียนจากตำราเหมือนนักเรียนวิศวะ
"สมัยเรียนธรรมศาสตร์มีเวลาว่างมาก ตอนบ่ายๆ ก็ไปเดินดูหนังสือที่แผงสนามหลวง
ไปเปิดแม็กกาซีนดูเห็นบริษัทต่างประเทศที่ทำพวกอุตสาหกรรมหนักอย่างมิตซูบิชิ
โตชิบา ก็เลยคิดว่าสักวันหนึ่งเราคงจะทำพวกนี้บ้าง" ชวรัตน์เล่าถึงแรงบันดาลใจของตัวเอง
ปี 2505 หลังจากจบธรรมศาสตร์แล้วชวรัตน์เปิดกิจการของตัวเองขึ้นมาชื่อ
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง ด้วยทุนจดทะเบียนห้าแสนบาท รับทำโครงเหล็ก
โครงสร้างโลหะเล็กๆ
ระหว่างปี 2506-2511 ในยุคที่สงครามเวียดนามกำลังร้อนระอุถือว่าเป็นยุคทองของซิโน-ไทยเมื่อได้เป็นผู้รับเหมางานก่อสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวกับการก่อสร้างของกองทัพเรือสหรัฐฯ
โดยได้งานประมูลสร้างรั้วตาข่ายเหล็กที่เรียกว่า SECURITY FENCE ส่งไปใช้ที่ดานังในเวียดนาม
และงานก่อสร้างตามฐานทัพสหรัฐฯ ในไทยแถบนครพนม อุบลราชธานี อุดรธานี ตาคลี
สัตหีบ ขอนแก่น
หลังจากปี 2511 สงครามเวียดนามมีแนวโน้มเริ่มสงบลง ทำให้ชวรัตน์ต้องมองหาช่องทางทำมาหากินใหม่
เขาเริ่มหันมาจับงานด้านก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมตามแนวโน้มการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม
ปี 2510 ห้างหุ้นส่วนจำกัดซิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่ง แปรสถานะเป็นบริษัทจำกัดด้วยทุนจดทะเบียน
2 ล้านบาทเพื่อรองรับทิศทางใหม่ของธุรกิจ ซึ่งในช่วงนั้นมีการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์
ซัมมิท งานด้าน INFRASTRUCTURE ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และงานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก
ปี 2518 ซิโน-ไทยขยายตัวอีกครั้งหนึ่งด้วยการตั้งบริษัทใหม่ชื่อซิโน-ไทยเพรสเชอร์
เวสเซิ้ล เป็นกิจการทำหม้อน้ำสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม หลังจากนั้นในปี 2520
ก็ตั้งบริษัทซิโน-ไทยคอนสตรัคชั่นเซอร์วิสขึ้นมาเป็นกิจการให้เช่าเครื่องมือก่อสร้าง
ส่วนตัวบริษัทแม่คือซิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่นเองนั้นก็ได้เพิ่มทุนขึ้นมาเป็นลำดับจาก
2 ล้านบาทเป็น 8 ล้านบาทในปี 2527 จนถึง 16 และ 30 ล้านบาทในปี 2522 และ
2526 ตามลำดับ
การขยายตัวของซิโน-ไทยนั้นกล่าวได้ว่าเป็นผลโดยตรงจากการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวมที่มีการลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นมาก
และการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานในภาครัฐบาล เป็นการขยายตัวโดยธรรมชาติเฉกเช่นการเติบใหญ่ของธุรกิจทั่วๆ
ไป
เช่นเดียวกับการตกต่ำ ที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขใหญ่โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ยามเศรษฐกิจรุ่งเรืองก็เรืองรองตามไปด้วย
แต่ในยามเศรษฐกิจตกต่ำอุตสาหกรรมนี้ก็จะเจ็บตัวมากที่สุดเช่นเดียวกัน
ซิโน-ไทยในระยะปี 2525-2526 เกรียงไกรถึงขีดสุด ช่วงนั้นมีงานก่อสร้างและวางท่อแก๊สธรรมชาติของปตท.
งานขยายโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ที่มีมูลค่านับเป็นร้อยๆ ล้านบาทขึ้นไปอยู่ในมือ
เป็นความยิ่งใหญ่ที่สะสมมาถึงยี่สิบปี แต่เมื่อจะถึงคราวตกต่ำก็ดิ่งลงเหวได้ภายในเวลาเพียงสองสามปีเท่านั้น
แรงกระทบประการแรกที่ส่งผลสะเทือนต่อสถานะของซิโน-ไทยคือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เริ่มต้นในปี
2527 ซึ่งสร้างปัญหาให้กับทุกๆ ธุรกิจไม่เฉพาะซิโน-ไทยเท่านั้น เมื่อเศรษฐกิจไม่ลื่นไหลทุกๆ
ฝ่ายก็ต้องรัดเข็มขัด ตัดรายจ่ายเพื่อความอยู่รอด โครงการลงทุนต่างๆ จำเป็นต้องระงับเอาไว้ก่อนส่งผลโดยตรงและรุนแรงต่อธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างซิโน-ไทยแบบเลี่ยงไม่พ้น
"เราเคยทำงานปีละพันกว่าล้าน ลดลงเหลือแค่สี่ร้อยกว่าล้านบาทเท่านั้น"
ชวรัตน์พูดถึงความย่ำแย่ในช่วงนั้น และงานก่อสร้างมูลค่าสี่ร้อยกว่าล้านบาทนั้น
ล้วนแต่เป็นงานที่รับมาแล้วรู้อยู่ว่าขาดทุนแน่ๆ ไม่ต้องไปนั่งคิดว่าจะได้กำไรเท่าไร
เพราะเป็นงานที่ได้มาด้วยการ "ฟัน" ตัดราคาคู่แข่งเพื่อให้ได้งานมาก
ชวรัตน์บอกว่าถึงแม้จะรู้ว่าขาดทุนแต่ก็จำเป็นต้องรับงานมาเพื่อไม่ให้ขาดทุนมากไปกว่านี้จากค่าใช้จ่าย
ค่าจ้างเงินเดือนที่ต้องจ่ายให้พนักงานโดยไม่มีงานทำ ซิโน-ไทยเป็นบริษัทก่อสร้างที่ชำนาญงานทางด้านโครงสร้างโลหะ
โดยเฉพาะบุคลากรที่มีอยู่จัดได้ว่าเป็นผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะทางที่ไม่อาจหาได้อย่างง่ายๆ
ดังนั้นแม้จะเป็นช่วงที่งานน้อยซิโน-ไทยก็จำเป็นที่จะต้องรักษาคนเผื่อเอาไว้ในยามที่เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นมา
มาตรการลดค่าใช้จ่ายทางด้านพนักงานช่วงนั้นจึงมีเป้าหมายที่พนักงานส่วนที่ไม่ใช่บุคลากรที่มีฝีมือทางฝ่ายช่างหรือวิศวกร
คือพนักงานทางด้านธุรการ บัญชีหรือการเงินเป็นส่วนใหญ่
ทางออกเฉพาะหน้าของซิโน-ไทยในตอนนั้นจึงเป็นการหางานเข้ามาให้มากที่สุด
เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนสำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่อาจลดลงได้แล้วเท่านั้น โดยไม่ต้องพะวงถึงงานที่ได้มาว่าจะคุ้มหรือไม่
ยิ่งรับงานเข้ามามากเท่าใดก็ยิ่งเพิ่มตัวเลขขาดทุนในบัญชีของซิโน-ไทยมากขึ้นเป็นเงาตามตัว!!
เหตุการณ์จลาจลเผาโรงงานไทยแลนด์แทนทาลัมที่ภูเก็ตเมื่อเดือนมิถุนายน 2529
นั้นเป็นประวัติศาสตร์บทสำคัญของสังคมไทย สำหรับซิโน-ไทยแล้วกรณีแทนทาลัมคือความทรงจำอันเลวร้ายที่มากระหน่ำซ้ำเติมสถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้ทรุดหนักลงไปอีก
เพราะซิโน-ไทยคือผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานที่ถูกเผาไป เมื่อเหตุการณ์สงบลงแล้ว
ไทยแลนด์แทนทาลัมต้องหยุดชะงักไปเป็นเวลาหลายปี ค่าก่อสร้างจำนวน 260 ล้านบาทไม่อาจจ่ายคืนให้กับซิโน-ไทยได้จนกระทั่งบัดนี้
"เฉพาะดอกเบี้ยที่ไม่ได้จ่ายให้เรามาสามสี่ปีนี้ก็ร่วมสามสิบสี่สิบล้านแล้ว"
ชวรัตน์เปิดเผย
แรงกระทบประการที่สองที่เป็นตัวเร่งให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเลวร้ายมากขึ้นคือการลดค่าเงินบาทเมื่อปลายปี
2527 จาก 23 บาทเป็น 27 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ทำให้ต้นทุนงานก่อสร้างเพิ่มขึ้นมหาศาล
ช่วงนั้นซิโน-ไทยรับงานวางท่อแก๊สของปตท. โดยเป็นผู้รับเหมาช่วง (SUBCONTRACT)
จากบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ก่อนลงมือวางท่อทางญี่ปุ่นให้เครดิตในการสั่งซื้อเครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในงานจากต่างประเทศ
นอกจากนี้งานสร้างคลังเก็บน้ำมันที่ซิโน-ไทยรับจากเอสโซ่ก็มีการสั่งซื้อเหล็กเป็นจำนวนมาก
สั่งซื้อเสร็จไม่นานก็ลดค่าเงินบาท
ซิโน-ไทย ขาดทุนทันทีจากอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ซึ่งว่ากันว่ายอดขาดทุนจากงานนี้สูงถึง
800 ล้านบาท
นอกจากการขาดทุนอันเนื่องจากต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการลดค่าเงินบาทแล้ว ซิโน-ไทยยังเจ็บตัวจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้ต่างประเทศด้วย
"เพราะว่าดอกเบี้ยถูก" ชวรัตน์พูดถึงเหตุผลที่ต้องมีการกู้เงินนอก
ซิโน-ไทยใช้เงินกู้ที่เป็นเงินดอลลาร์ในอัตราดอกเบี้ย 7% และเงินฟรังค์สวิสดอกเบี้ย
4.5% จากธนาคารคอนติเนนตัล อิลลินอยส์ของสหรัฐฯและจากลอยด์แบงก์ของอังกฤษ
โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ค้ำประกัน
ความเสียหายในส่วนนี้คิดเป็นเงินราวๆ 120 ล้านบาท หักลบกับดอกเบี้ยถูกๆของเงินสองสกุลนี้เมื่อเทียบกับ
PRIME RATE 11% ของเงินกู้ในประเทศตอนนั้นแล้ว ซิโน-ไทย ยับเยินไปกับงานนี้
60-70 ล้านบาท
ถ้าเรื่องของโชคชะตา พรหมลิขิตที่ขีดเส้นทางเดินของคนเราเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
จังหวะแห่งชีวิตของชวรัตน์ในช่วงปี 2527-2530 นั้นต้องถือว่าผิดพลาดไปหมด
จะเรียกว่าดวงเป็นพิษก็คงไม่ผิด!
ก่อนจะถึงจุดเริ่มต้นของความเลวร้ายจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและการลดค่าเงินบาทในปี
2527 ซิโน-ไทยซึ่งเคยทำแต่ธุรกิจก่อสร้างมาเป็นเวลานานถึง 27 ปีเริ่มต้นขยับขยายเข้าไปสู่ธุรกิจใหม่เป็นครั้งแรก
นั่นคือธุรกิจเรียลเอสเตท ประเดิมด้วยโครงการตึกซิโน-ไทยทาวเวอร์ในซอยอโศก
โครงการนี้ไม่ได้เป็นของซิโน-ไทยตั้งแต่เริ่มแรก เดิมชื่อเอ็มพีดีออฟฟิศคอนโดมิเนียมเป็นของสมใจปัญจะในนามบริษัทปัญจะภัทรกิจ
เริ่มต้นโครงการในปี 2526 ซิโน-ไทยเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้างตึกเท่านั้น
หลังจากลงมือก่อสร้างไปได้ไม่นาน สมใจเจ้าของโครงการก็เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งในเดือนมกราคมปี
2527 ทางญาติๆซึ่งเป็นหุ้นส่วนในโครงการนี้ไม่มีใครคิดจะรับช่วงต่อเพราะไม่มีความถนัดทางนี้
จึงบอกขายโครงการในราคาประมาณ 250 ล้านบาท
"เราคิดว่าเราเป็นผู้ก่อสร้าง ช่วงนั้นงานมันเริ่มน้อย ถ้าเรามีตึก
งานน้อยก็มาทำตึกนี้แล้วอีกอย่างตึกนี้ผมเห็นแล้วชอบเป็นพิเศษ" ชวรัตน์พูดถึงแรงจูงใจของตนเองที่เข้ามาซื้อโครงการนี้
แต่สหายรักคนหนึ่งของชวรัตน์กลับอธิบายสาเหตุของการเข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ว่าหลังการเสียชีวิตของสมใจ
โครงการเอ็มพีดีมีปัญหาไม่สามารถชำระค่าก่อสร้างให้กับซิโน-ไทยได้ ชวรัตน์มีทางเลือกอยู่สองทางคือปล่อยให้หนี้สูญไปเลย
กับเข้าไปซื้อโครงการนี้มาทำเอง ซึ่งเขาเลือกเอาข้อหลัง
กลางปี 2527 ชวรัตน์เข้าไปเทคโอเวอร์โครงการเอ็มพีดีอย่างเต็มตัว เปลี่ยนชื่อบริษัทเจ้าของโครงการเป็น
ซิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่นเป็นผู้ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์
ช่วงที่ซิโน-ไทยเข้าไปใหม่ๆนั้น สถานการณ์ก็ทำท่าว่าจะรุ่งเรือง มีโครงการ
ออฟฟิศคอนโดมิเนียมหลายๆแห่งเกิดขึ้นมา แต่ถัดมาไม่นานความสดใสเรืองรอง ที่เห็นกันอยู่รำไรก็หายวับไปกับตา
จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การลดค่าเงินบาท ที่ชวรัตน์บอกว่าทำให้ต้นทุนการสร้างตึกสูงขึ้นจากเดิมร้อยกว่าล้านบาทซ้ำเติมด้วยมาตรการจำกันสินเชื่อไม่เกิน
18 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2528 ที่ทำให้เงินหมุนเวียนในภาคเอกชนหกตัวลงอย่างกระทันหัน
โครงการลงทุนขยับขยายหาสำนักงานใหม่ต้องหยุดชะงักลง ปริมาณพื้นที่ของออฟฟิศคอนโดมิเนียมในเวลานั้นมีมากเกินความต้องการของตลาดไปโดยปริยาย
"ผมสร้างไปก็หนาวไปเพราะไม่มีลูกค้าติดต่อเข้ามาเลย" ชวรัตน์ย้อนหลังไปถึงสถานการณ์ในตอนนั้นที่แม้อนาคตจะค่อนข้างมืดมน
แต่เมื่อกระโจนเข้าไปเต็มตัวแล้วก็ต้องเดินหน้าต่อไปให้ถึงที่สุด
การก้าวเข้าไปสู่ธุรกิจเรียลเอสเตทของซิโน-ไทยเป็นครั้งแรกจึงเป็นจังหวะก้าวที่ไม่สดใสเอาเสียเลยนอกจากจะไม่สามารถสร้างรายได้เพิ่มตามที่หวังไว้แล้ว
ยังเป็นภาระที่จะต้องหาเงินมาใส่เข้าไปเพื่อสร้างให้เสร็จในขณะที่สถานการณ์ด้านธุรกิจก่อสร้างกำลังอยู่ในอาการเพียบหนัก
"ผมต้องขายหุ้นผาแดงซึ่งมีอยู่สี่เปอร์เซ็นต์เพื่อหาเงินมาหมุน"
ชวรัตน์ยกตัวอย่างของการดิ้นรนหาเงินเฉพาะหน้า นอกเหนือจากการพยายามหางานเข้ามามากๆโดยยอมขาดทุน
ซิโน-ไทยเป็นผู้ก่อสร้างโรงงานถลุงแร่สันกะสีของผาแดงอินดัสตรี้ที่จังหวัดตากโดยใช้เวลาถึง
12 ปีจึงเสร็จสมบูรณ์ และได้เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของผาแดงด้วย
ตัวอาคารซิโน-ไทยทาวเวอร์นั้นเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วเกือบจะกลายเป็นอาคารร้างเพราะหาคนมาซื้อไม่ได้
จนต้องเปลี่ยนนโยบายการขายจากเดิมที่เป็นการขายกรรมสิทธิ์มาเป็นการให้เช่าพื้นที่แทน
สาเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการขายนั้น ว่ากันว่าเป็นความต้องการของเจ้าหนี้รายใหญ่คือธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองตึกนี้ด้วย
อัตราค่าเช่าของซิโน-ไทยทาวเวอร์นับว่าถูกเอามากๆคือเพียงร้อยกว่าบาทต่อตารางเมตรเท่านั้น
เปรียบเทียบกับปัจจุบันที่ค่าเช่าในตลาดขึ้นไปถึงห้าร้อยกว่าบาทต่อตารางเมตรแล้ว
ซิโน-ไทยทาวเวอร์ก็ยังยืนราคาเดิมอยู่เพราะสัญญาเช่าอายุสามปีนั้นยังมีผลจนถึงทุกวันนี้
"ผมเจ็บตัวก็เพราะตึกนี้ ได้ดีก็เพราะตึกนี้" ชวรัตน์มักจะพูดกับใครต่อใครเช่นนี้เสมอ
ในวันนี้วันที่เขาลุกยืนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แต่การกลับมาในครั้งนี้เขาต้องสูญเสียบางสิ่งบางอย่างเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน
"เราต้องตัดเนื้อบางชิ้นออกไปเพื่อความอยู่รอด"
ปลายปี 2530 เจ้าหนี้ใหญ่คือธนาคารไทยพาณิชย์เริ่มให้ความสนใจกับสภาพหนี้สินของซิโน-ไทยอย่างจริงจัง
ไทยพาณิชย์ทาบทามบุรินทร์ บริบูรณ์ ให้เข้าไปจัดการทางด้านการเงินและการปรับโครงสร้างของซิโน-ไทยเรียลเอสเตท
บุรินทร์มาจากบริษัทไทยบิสซิเนส คอนซัลแตนท์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการบริหารของโชติ
โสภณพนิช ก่อนที่เขาตกลงใจเข้ามาทำงานในซิโน-ไทยเคยเข้าไปจัดการปรับโครงสร้างของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกโนมูระจนเสร็จเรียบร้อยและเปลี่ยนชื่อมาเป็นพัฒนสินในปัจจุบัน
ศุภเดช พูนพิพัฒน์แห่งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติเป็นอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการปรับโครงสร้าง
แนวความคิดหลักๆ ของการปรับโครงสร้างคือซิโน-ไทยเรียลเอสเตทจะต้องโตให้มากกว่านี้เพื่อความอยู่รอด
วิธีการก็คือการเพิ่มทุน แต่ก่อนที่จะเพิ่มทุนนั้นต้องจัดการกับปัญหาการขาดทุนสะสมให้ได้เสียก่อน
ยอดขาดทุนสะสมของซิโน-ไทยเรียลเอสเตทเมื่อสิ้นปี 2530 คือ 64 ล้านบาท เดือนพฤศจิกายน
2530 ซิโน-ไทยเพิ่มทุนจาก 9 ล้านบาทเป็น 150 ล้านบาท และในเดือนกรกฎาคมปี
2531 ก็ทำการลดทุนจาก 150 ล้านบาทเหลือ 75 ล้านบาทด้วยการลดมูลค่าหุ้นจากหุ้นละ
20 บาทเป็นหุ้นละ 10 บาท โดยผ่านกระบวนการเพิ่มทุน ลดทุนนี้ยอดขาดทุนสะสมก็ลดเหลือเพียงสองล้านบาทเท่านั้น
หลังจากนั้นเดือนตุลาคมซิโน-ไทยเรียลเอสเตทเพิ่มทุนครั้งใหญ่อีก 925 ล้านบาท
แต่เรียกชำระก่อนเพียง 425 ล้านบาท เพื่อให้มีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท
การเพิ่มทุนครั้งนี้ได้มีการทาบทามกลุ่มธุรกิจจากต่างประเทศให้เข้ามาร่วมทุนด้วย
โดยทางธนชาติได้ชักชวนกลุ่มฮังลุง ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจพัฒนาที่ดินหนึ่งในห้ายักษ์ใหญ่ของฮ่องกงเข้ามาถือหุ้น
ส่วนชวรัตน์ก็ดึงบริษัทพรูเดนเชี่ยล แอสเสท แมนเนจเมนท์ซึ่งอยู่ในเครือของพรูเดนเชี่ยล
ยักษ์ใหญ่ทางด้านประกันภัยจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาด้วย
ฮังลุงถือหุ้นอยู่ 35% พรูเดนเชี่ยล 14% ทางฝ่ายไทยนั้นธนชาติมีหุ้น 23%
อีก 28% ที่เหลือเป็นของซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง และขณะนี้กำลังเตรียมยื่นขออนุญาตเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ชวรัตน์ยังคงเป็นประธานบริษัทอยู่ แต่อำนาจในการบริหารที่แท้จริงนั้นเป็นการตัดสินใจร่วมกันทั้งสี่ฝ่ายแทนการตัดสินใจของชวรัตน์คนเดียวดังแต่ก่อนที่บริษัทนี้ยังเป็นของซิโน-ไทยแต่เพียงผู้เดียว
ส่วนกรรมการผู้จัดการเป็นคนของฮังลุงชื่อ ฟรานซิส ยิป
"รู้สึกดีใจด้วย เราสามารถที่จะเอามันสมองของเขามาใช้ ไม่ต้องเหนื่อยคนเดียว"
เป็นคำพูดของชวรัตน์ต่อความรู้สึกของตนเองที่ต้องลดสัดส่วนความเป็นเจ้าของในกิจการที่เขาสร้างมากับมือ
เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นใดที่ดีกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่ชวรัตน์ต้องทำใจ แม้กระนั้นก็ไม่วายที่จะรู้สึกเจ็บปวดเมื่อมีการเปลี่ยนชื่อบริษัทซิโน-ไทยเรียลเอสเตทมาเป็นชื่อใหม่คือ
เอช ที อาร์ คอร์ปอเรชั่น
"ความจริงแล้วทางฮ่องกงต้องการเปลี่ยนชื่อตึกจากซิโน-ไทยทาวเวอร์มาเป็นชื่อเดียวกับชื่อบริษัท
แต่คงเกรงใจคุณชวรัตน์เลยยอมใช้ชื่อเดิม" แหล่งข่าวในซิโน-ไทยเปิดเผย
หลังจากปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นเรียบร้อยแล้ว เอช ที อาร์ คอร์ปอเรชั่น
ได้เริ่มโครงการใหม่ชื่อโกลเด้น บีชไซด์ คอนโดมิเนียมที่พัทยาโดยร่วมทุนกับรจิต
แสงรุจิ เจ้าที่ดินใหญ่รายหนึ่งแถบพัทยา ตั้งบริษัทอุดมวิจิตรขึ้นมาดำเนินโครงการนี้
และยังมีโครงการสร้างคอมเพล็กซ์บนเนื้อที่ 30 ไร่ที่พัทยากลาง ซึ่งกำลังให้บริษัทคาซ่าเขียนแบบอยู่
ตัวชวรัตน์เองนั้นยังตั้งบริษัทใหม่ขึ้นบริษัทหนึ่งชื่อ ซิโน-ไทยดีเวลลอปเม้นท์
เพื่อทำธุรกิจเรียลเอสเตทของซิโน-ไทยเพียงผู้เดียวเอง เป็นโครงการออฟฟิศคอนโดมิเนียมมูลค่า
400 ล้านบาทที่ถนนบางนา-ตราด กิโลเมตร 4 ซึ่งเป็นที่ตั้งของซิโน-ไทยเพรสเชอร์
เวสเซิ้ลในขณะนี้
ในขณะเดียวกัน สถานการ์เศรษฐกิจที่เคยเป็นต้นเหตุแห่อาการซวนเซของซิโน-ไทยก็เริ่มคลี่คลายขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากปี
2530 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การลงทุนทางด้านอุตสาหกรรม การพัฒนาที่ดินทำให้ธุรกิจก่อสร้างฟื้นตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปลายปี
2531
"ปีกลายนี้เราทำงานมูลค่าพันสามร้อยกว่าล้านบาท ปีนี้คงจะอยู่ราวๆ
หนึ่งพันหกร้อยล้านบาท เรามี BACKLOG อยู่สองพันกว่าล้าน มีแต่เพิ่มไม่มีลด"
ชวรัตน์เปิดเผย
แต่ความตกต่ำในช่วงห้าปีที่แล้วยังคงเป็นฝันร้ายที่ชวรัตน์จดจำไม่รู้ลืม
และเป็นบทเรียนอันยิ่งใหญ่ที่เขาเก็บเกี่ยวมาใช้กำหนดทิศทางของซิโน-ไทยในปัจจุบัน
ซิโน-ไทยในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาพึ่งพิงรายได้หลักจากการก่อสร้างเพียงอย่างเดียว
รายได้จากตัวบริษัทแม่คือซิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่นนั้นเท่ากับ
80% ของธุรกิจทั้งหมด
ข้อดีของธุรกิจก่อสร้างคือไม่ต้องใช้เงินทุนมากงานมูลค่าพันล้านนั้นสามารถที่จะเดินไปได้ด้วยเงินทุนเพียง
50 ล้านบาทสำหรับการหมุนเวียนในตอนแรกส่วนที่เหลือจะมาจากผู้ว่าจ้างซึ่งจ่ายตามความคืบหน้าของงานและวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
เปรียบเทียบกับการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมที่ต้องลงทุนถึงห้าร้อยล้านบาทสำหรับการทำยอดขายให้ได้พันล้าน
กำไรเมื่อเทียบกันทุนที่ลงไปการก่อสร้างจะดีกว่ามากๆ
แต่ข้อเสียของธุรกิจก่อสร้างคือมีความอ่อนไหวต่อความแปรปรวนของสภาพเศรษฐกิจสูงมาก
เวลาขึ้นก็ขึ้นหมด แต่เวลาลงก็รูดลงมาทีเดียวเหมือนกัน และช่วงของการตกต่ำนั้นจะยาวนานมาก
แม้แต่ในเวลาที่เศรษฐกิจดีๆ มีงานมากๆ ยังต้องเสี่ยงกับภาวะความผันผวนของราคา
เพราะระยะเวลาของโครงการก่อสร้างนั้นยาวนาน เวลาที่คิดคำนวณราคาต้นทุนกับเวลาที่ลงมือก่อสร้างกว่าจะสิ้นสุดโครงการกินเวลาเป็นปี
ภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนค่าแรง วัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ความขาดแคลนวัตถุดิบ
บุคลากร ทำให้ธุรกิจที่ทำยอดรายรับได้มากๆ โดยลงทุนต่ำอย่างธุรกิจก่อสร้างนี้เมื่อสิ้นสุดแต่ละโครงการแล้ว
กำไรที่เป็นเม็ดเงินจริงๆ น้อยมาก
"ต้องคิดราคาให้สูงพอที่จะไม่ขาดทุน แต่ว่าต้องต่ำพอที่จะให้ได้งานมา
(HIGH ENOUGH TO MAKE A PROFIT AND LOW ENOUGH TO GET THE JOB) นี่คือข้อสรุปของชวรัตน์ที่มีต่องานก่อสร้างซึ่งเขาบอกว่าเป็นอาชีพที่ยากที่สุด
ซิโน-ไทยจึงต้องโตให้มากกว่านี้ เพราะถ้าไม่โตก็ตาย นอกจากต้องโตแล้วยังต้องโตในหลายๆ
ด้านเพื่อให้มีเสถียรภาพที่ดีด้วย
"ผมเพิ่งมาเจอสัจธรรมด้วยตัวเองว่าต้องมีขาเยอะๆ นั่นคือ DIVERSIFICATION"
ชวรัตน์สรุปบทเรียนจากความตกต่ำของซิโน-ไทยเมื่อห้าปีที่แล้ว
ซิโน-ไทยในวันนี้จึงเริ่มต้นขยายตัวเข้าไปในธุรกิจอื่นๆ นอกจากการก่อสร้าง
เพื่อกระจายฐานรายได้ให้มากขึ้น สำหรับจุนเจือตัวธุรกิจก่อสรางหากจะต้องพบกับผลกระทบจากเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง
ทิศทางของการขยายตัวเข้าไปในธุรกิจอื่นในประการแรกคือ การร่วมลงทุนและร่วมบริหารในธุรกิจนั้นด้วย
นอกเหนือจากเอช ที อาร์ คอร์ปอเรชั่น แล้วก็มีบริษัทเร็กซ์ พลาสติกซึ่งเป็นการร่วมทุนกับบริษัทเร็กซ์
จากสิงคโปร์ผลิตถังพลาสติกเพื่อใส่สารเคมี บริษัทซีบีไอ/ซิโน-ไทย จ้อยท์เวนเจอร์
ร่วมทุนกับ CHICAGO BRIDGE & IRON COMPANY จากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีประสบการณ์ถึง
100 ปีในงานโครงสร้างโลหะและการสร้างถังโลหะสำหรับเก็บน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและสารเคมี
อีกทิศทางหนึ่งของการขยายตัวคือเข้าไปลงทุนถือหุ้นเพียงอย่างเดียวในกิจการต่างๆ
และมีรายได้จากเงินปันผลของกิจการนั้นๆ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการเข้าไปถือหุ้นในกิจการอุตสาหกรรมที่ซิโน-ไทยเข้าไปรับงานก่อสร้างด้วย
เช่น บริษัท เฟอร์ร็อกซี่ไทย ไทยแทนทาลัม นิคมอุตสาหกรรมเหมราชของสวัสดิ์
หอรุ่งเรือง หรือนิคมอุตสาหกรรมเอ็มไทยของกลุ่มเอ็มไทย ซึ่งซิโน-ไทยเคยมีหุ้นอยู่สิบเปอร์เซ็นต์
แต่ได้ขายไปแล้ว
การเข้าไปถือหุ้นในธุรกิจอุตสาหกรรมของซิโน-ไทยนั้นเป็นบทเรียนของชวรัตน์จากการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทผาแดงอินดัสตรี้ว่า
ฐานะของผู้ร่วมทุนในกิจการนั้นเป็นช่องทางที่จะเข้าไปรับงานก่อสร้างเวลาที่มีการลงทุน
ขยายงาน เป็นหลักประกันในระยะยาวของซิโน-ไทยได้ระดับหนึ่ง อีกด้านหนึ่งนั้นซิโน-ไทยยังจะมีรายได้จากผลการดำเนินงานของกิจการนั้นๆ
ด้วย
ซิโน-ไทยร่วมอยู่ในกลุ่มลาวาลินซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานในโครงการรถไฟฟ้าของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจากการชักชวนของวีรวัฒน์
ชลวณิช กรรมการผู้จัดการบริษัทไออีซีของปูนซิเมนต์ไทยซึ่งร่วมอยู่ในกลุ่มลาวาลินด้วย
แน่นอนว่างานก่อสร้างหลายๆ ส่วนของโครงการมูลค่านับสี่หมื่นล้านบาทนี้จะต้องตกเป็นของซิโน-ไทยรวมทั้งโอกาสที่จะเข้าไปลงพัฒนาที่ดินตามจุดที่เป็นสถานีรับส่งผู้โดยสารก็มีความเป็นไปได้มาก
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของซิโน-ไทยคือการร่วมทุนกับ DHL WORLDWIDE EXPRESS
ซึ่งเป็นบริษัทบริการเมล์ด่วนทางอากาศตั้งบริษัท DHL THAILANDขึ้นทำธุรกิจในไทย
DHL ขยายบริการเข้ามาในไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ 17 ปีที่แล้วโดยผ่านบริษัทตัวแทนคือ
GRIFFIN ASSOCIATES ซึ่งสัญญาระหว่างสองบริษัทนี้หมดอายุไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน
DHL จัดตั้งบริษัทสาขาขึ้นในไทยโดยตรง
ซิโน-ไทยถือหุ้นใน DHL THAILAND 5 เปอร์เซ็นต์ ของทุนจดทะเบียน 12.5 ล้านบาท
การขยายตัวเข้าไปในธุรกิจอื่นๆ ของซิโน-ไทย เพิ่งจะเริ่มต้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้เอง
ชวรัตน์บอกว่าเขาศึกษาจากกรณีของบริษัทก่อสร้างของญี่ปุ่นในไทยที่สามารถยืนอยู่ได้ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ
เป็นเพราะว่าบริษัทเหล่านี้มีบริษัทแม่ที่มีกิจการหลากหลายมากประเภทมาคอยค้ำจุนเวลาที่บริษัทก่อสร้างมีปัญหา
นอกจากนั้นบริษัทในเครือเดียวกันยังเป็นแหล่งที่จะป้อนงานให้กับบริษัทก่อสร้างด้วย
แต่บทเรียนที่มีคุณค่ามากที่สุดคือประสบการณ์ที่ซิโน-ไทยได้รับเมื่อห้าปีที่แล้ว
ความตกต่ำในครั้งนั้นทำให้ชวรัตน์เชื่อว่า ซิโน-ไทยจะต้องโตในหลายๆ ด้าน
มีขาหลายๆ ขาเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกันในยามที่เศรษฐกิจแปรปรวน การขยายตัวของซิโน-ไทยที่เพิ่งจะเริ่มต้นในสองสามปีมานี้คือทิศทางที่ถูกผลักดันโดยแนวความคิดเช่นนี้