เรื่องเจมส์ เคเพิลร่วมทุนกับบงล.เอกชาติไม่ใช่เรื่องที่ "ผู้จัดการ"
จะจั่วหัวไว้เล่นๆ แต่เป็นเรื่องจริงที่รอเพียงการอนุมัติจากแบงก์ชาติเท่านั้น!
ชื่อของเจมส์ เคเพิล อาจจะคุ้นหูนักค้าหุ้นไทยน้อยไปหน่อยเมื่อเทียบเคียงกับบริษัทวิจัยอย่างแบริ่ง,
เจเอฟฯ, ชินตุล, เฟิสท์แปซิฟิค, โนมูระ ฯลฯ อีกมากมายที่เข้ามาทีหลัง แต่ค่อนข้างมีชื่อกระฉ่อนในสังคมค้าหุ้นไทยมาก
ทั้งนี้เจมส์ เคเพิลได้แต่ทำวิจัยและซื้อขายหุ้นผ่านโบรกเกอร์ไทยบางรายอย่างเงียบๆ
มาเป็นเวลานานนับปี จนเมื่อเร็วๆ นี้จึงตัดสินใจที่จะร่วมหอลงโรงกับบงล.เอกชาติ
หลังจากที่ใช้เวลาเจรจาประมาณ 2 เดือน
เจมส์ เคเพิล เป็นบริษัทในเครือของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้เหมือนกับวอร์ดลีย์
แต่ในด้านของการดำเนินงานนั้น คริสโตเฟอร์ แรมพ์ตัน กรรมการผู้จัดการเจมส์
เคเพิล (ฟาร์อีสต์) กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า เจมส์ เคเพิลเน้นไปในเรื่องตลาดแรกโดยเฉพาะตลาดหุ้นหรือที่เกี่ยวกับ
STOCKBROKING อันได้แก่การให้คำปรึกษาทางการเงิน การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศเป็นต้น ขณะที่วอร์ดลีย์จะเน้นด้านงานคอปอเรท
ไฟแนนซ์และการทำซินดิเคท โลน ซึ่งเป็นงานด้านวาณิชธนกิจ (MERCHANT BANK)
มากกว่า และแต่ละบริษัทมีการบริหารงานเป็นเอกเทศไม่ยุ่งเกี่ยวกัน
ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้เข้าไปซื้อกิจการเจมส์ เคเพิล ตั้งแต่ปี 1984
ด้วยเหตุผลที่แรมพ์ตันบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ของกลุ่มทั้งนี้ธนาคารใหญ่ๆ
ในเวลานั้นต้องการมีบริษัทโบรกเกอร์ใหญ่ๆ เข้ามาอยู่ในเครือข่าย ประกอบกับการที่ตลาดหุ้นลอนดอนได้ลดการควบคุมกฎระเบียบต่างๆ
ลงทำให้มีการแข่งขันกันอย่างหนัก
อย่างไรก็ดีวิกฤติการณ์ "จันทร์ทมิฬ" เมื่อตุลาคม 1987 ได้ก่อให้เกิดผลกระทบกับเจมส์
เคเพิลอย่างหนัก ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมาบริษัทฯ พึ่งพิงธุรกิจค้าหลักทรัพย์ในลอนดอนค่อนข้างมาก
เมื่อสิ้นปี 1987 เจมส์ เคเพิล กรุ๊ปมีผลการดำเนินงานขาดทุนประมาณ 14 ล้านปอนด์และปี
1988 เพิ่มเป็น 32.38 ล้านปอนด์
เจมส์ เคเพิลได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่โดยขยายตัวไปในตลาดต่างประเทศมากขึ้น
รวมทั้งเพิ่มธุรกิจด้านคอปอเรท ไฟแนนซ์และการทำเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ
เช่น วอร์แร้นท์ ออพชั่น และฟิวเจอร์ส เป็นต้น
แม้ว่าเจมส์ เคเพิลต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ตกต่ำลงของตลาดหุ้นเมื่อปี 2530
แต่บรรดาสำนักงานวิจัยที่มีชื่อในอังกฤษอย่าง EXTEL ก็ยังคงจัดอันดับเจมส์ฯ
เป็นบริษัทวิจัยหลักทรัพย์ชั้นนำ และเป็นผู้ครองส่วนแบ่งการตลาดที่สำคัญในตลาดทุนของอังกฤษ
กล่าวในประเทศไทย เจมส์ เคเพิลเข้ามาตั้งสำนักงานตัวแทนเมื่อปี 1988 เป็นผู้สั่งซื้อขายหลักทรัพย์รายสำคัญให้บรรดานักลงทุนจากค่ายยุโรป
คีย์แมนสำคัญในไทยเวลานี้คือ MARK STREET ตำแหน่ง CHIEF REP. หรือ COUNTRY
HEAD และอนุประสิทธิ์ ณ พัทลุง เป็น EXECUTIVE MANAGER มีนักวิจัยหลักทรัพย์ชาวอเมริกันที่เก่งฉกาจชื่อ
RICHARD DUNKEN เป็นหัวหน้าทีมวิเคราะห์ซึ่งมีรวม 8 คน
ในการร่วมทุนกับบงล.เอกชาติครั้งนี้จะมีการแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน โดยฝ่ายบริหารของบงล.เอกชาติเดิมรับผิดชอบงานบริหารทั่วไป
การวางแผนงานโดยรวม และการดำเนินงานประจำวัน ส่วนเจมส์ เคเพิลจะดูแลในเรื่องการค้าหลักทรัพย์และงานวิเคราะห์วิจัยรวมทั้งลูกค้าหลักทรัพย์ต่างชาติ
นั่นเท่ากับเจมส์ เคเพิลเหมางานฝ่ายค้าหลักทรัพย์ทั้งหมดไปทำ!
รายละเอียดเรื่องการซื้อขายครั้งนี้ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างแจ่มชัด แต่ที่รู้ๆ
กันคือหุ้นที่ถูกนำออกมาขายนั้นเป็นหุ้นในส่วนของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินซึ่งมีอยู่ราว
30% และบงล.ธนชาติก็เคยขอซื้อมาแล้วครั้งหนึ่งแต่เกี่ยงเรื่องราคา ขณะที่ในตลาดนอกตลาดเวลานี้หุ้นเอกชาติซื้อขายกัน
60 กว่าบาท ถีบตัวขึ้นมา 40 กว่าบาทจากที่ยังไม่มีข่าวเรื่องร่วมทุน
ตอนนี้เอกชาติก็เริ่มทุบห้องค้าเพื่อขยายบริเวณรองรับนักลงทุนที่เริ่มแน่นหนาขึ้นเรื่อยๆ
และรอทีมวิเคราะห์ของเจมส์ เคเพิลด้วย ส่วนแผนการต่อไปคือกระโจนลงไปในศึกประมูลที่นั่งโบรกเกอร์
ซึ่งว่ากันว่าซองประมูลยืนขึ้นไปที่หลักร้อยล้านแล้ว
งานนี้ยังต้องไปอีกหลายก้าวนัก!!