|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ความเป็น "เชียงใหม่" แท้ๆ สำหรับเมืองเชียงใหม่ ณ วันนี้ เริ่มหายากขึ้นเรื่อยๆ เพราะกระแสสังคมเมืองยุคใหม่ โดยเฉพาะการยกรูปแบบของกรุงเทพฯ ขึ้นไปใส่ไว้ทั้งดุ้น เพื่อตอบสนองกับวิถีชีวิตของคนต่างถิ่นที่ไปเที่ยว หรือเข้าไปพักอาศัย... แต่หากตั้งใจเสาะแสวงกันจริงๆ แล้ว ความเป็น "เชียงใหม่" ก็ยังพอหาได้อยู่
สัมผัสแผ่นดินแม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นประดุจบ้านหลังที่สองที่ได้หล่อเลี้ยงชีวิต ด้วยโอกาสที่ได้เติบโตทางสมอง สติ ปัญญาและร่างกาย พร้อมการใช้ชีวิต การตัดสินใจด้วยตนเอง การจัดระเบียบชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรื่องการเรียน การเงิน ความคิดความอ่าน การอยู่ร่วมในสังคม บางคนบินออกจากกรงทองไม่ต้องเป็น "คุณหนู" อีกต่อไป
เมื่อมีโอกาสกลับไปเยือนบ้านเก่า ทำให้ได้รับรู้การเปลี่ยน แปลงวิถีชีวิตของชาวเมือง
ความเจริญที่เข้าสู่ท้องถิ่น บางครั้งรับเพียงความเจริญด้าน วัตถุ เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ความเป็นท้องถิ่นดั้งเดิมต้องปรับเปลี่ยนไปอย่างไม่รู้ตัวและน่าเสียดาย
การยกรูปแบบเมืองใหญ่มหานครมาไว้นั้น บางครั้งไม่ว่าจะเป็นผู้คนท้องถิ่นหรือผู้มาเยือน ต่างไม่มีความสมัครใจหรือต้องการเห็นรูปแบบที่เห็นจนชินตาอยู่แล้ว
ความจริงอยากมาเห็นมารับความรู้สึกวิถีชีวิตของคนในชุมชน ภูมิปัญญาของท้องถิ่นนั้นมากกว่า
ที่พบเห็นเชียงใหม่ครั้งล่าสุด เป็นบรรยากาศอาร์ซีเอยกมา ไว้ที่ตลาดคำเที่ยง
รูปแบบบาร์เบียร์ที่เกาะสมุย พัทยา ภูเก็ต มาตั้งอยู่บนถนน ลอยเคราะห์ตลอดแนว หรือร้านคาราโอเกะแบบเลานจ์มากมาย ร้านอาหารแบรนด์ต่างๆ ฟาสต์ฟู้ด ร้านกาแฟ คลินิกความงาม ผับ เทค เพียงแค่ความสนุกสนานชั่วครู่ชั่วยาม พบปะสรวลเสเฮฮา แต่ไม่ใช่เอกลักษณ์ของเชียงใหม่แม้แต่น้อย
การดำเนินชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นส่วนหนึ่งยังคงรักษา ความเป็นตัวตนอย่างเหนียวแน่น มีกลิ่นอายล้านนาอย่างเต็มร้อย เช่นทุกวันศุกร์ ผู้คนตามสถานที่ราชการ สถานศึกษาจะพากันใส่ชุดเมืองนุ่งผ้าซิ่นให้เห็นอยู่
หลายปีก่อน ยามเช้าจะเห็นความน่ารักของแม่อุ๊ยเดินถือตะกร้าคล้องแขนไปจ่ายตลาด อาหารสด อาหารคาวหวาน อาหาร แห้ง ตามชุมชนใกล้ที่อยู่อาศัย ในตลาดตามมุมเมือง จะพบเห็นแม่อุ๊ยพ่ออุ๊ยนำพืชผลที่ปลูกไว้เหลือกินมาขาย หรือแม่ค้านำอาหาร สำเร็จรูปพื้นเมืองมาจำหน่ายตั้งแต่เช้าจรดเย็นให้เหล่าบรรดาแม่บ้านที่ต้องออกมาทำงาน ฝากท้องกับเขาเหล่านี้ เช่นที่กาดต้นพยอม ซึ่งแรกเริ่มเป็นตลาดที่ชาวบ้านจับจ่ายในวิถีชีวิตคนเมือง ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นตลาดสำหรับผู้มาเยือน ตลาดซื้อขายของฝาก ของที่ระลึก โดยเฉพาะไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม แหนม แคบหมู โดยชื่อยี่ห้อ เจ๊โน่น ป้านี่ เต็มไปหมด และยังเปลี่ยนรสชาติ รูปแบบ ให้แปลกใหม่ อินเทรนด์ตลอดเวลา บางครั้งทำเอางงไปเหมือนกัน
สำหรับคนเจเนอเรชั่นใหม่กลับให้ความสำคัญในความสะดวกสบายเป็นหลัก ไปตลาดสดติดแอร์ ซูเปอร์มาร์เก็ตตามห้าง เกือบหมด ทำให้เมืองไม่ได้โชว์ความเป็นตัวตนที่แท้จริง ส่วนผู้มา เยือนเสียโอกาสที่จะได้ลิ้มรสบรรยากาศความเป็นเมืองเชียงใหม่ ที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์มายาวนานไปโดยปริยาย
เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ถนนช้างม่อย ท่าแพ หรือวัวลายนั้น จะเป็นที่เลืองชื่อของเหล่านักชอปยุคคุณลุงคุณป้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าพื้นเมือง ผ้าซิ่น เสื้อผ้า เสื้อม่อฮ่อม ย่าม เฟอร์นิเจอร์ ไม้สัก แกะสลัก ผลิตภัณฑ์ไม้นานาชนิด หรือเครื่องเงิน เครื่องถม เครื่องเขิน ปัจจุบันกิจการค้าแบบดังเดิมเลือนรางหายไปเกือบหมดแล้ว สิ่งเหล่านี้กลับกลายไปซื้อหากันได้ตามแหล่งที่เรียกกันว่า ห้าง ศูนย์การค้า มอลล์ หรือแหล่งรวมสินค้าคนอินเทรนด์ย่านถนนนิมมานเหมินท์
นับว่ายังดีอยู่ที่แม่ค้าพ่อค้าทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่หรือเหล่าบรรดามือใหม่หัดขับได้มีแหล่งค้าขาย นำสินค้าหัตถกรรม สินค้า ภูมิปัญญา แนวอาร์ต สร้างสรรค์สารพัด ออกมาอวดโฉมสู่สายตา ประชาชนคนเดินถนนวัวลายในวันเสาร์ยามแดดร่มลมตก และวันอาทิตย์บนถนนท่าแพตลอดทั้งสาย
วัดวาอาราม โบราณสถาน โบราณวัตถุของจังหวัดเชียงใหม่ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ให้ผู้คนได้ช่วยกันดูแลรักษาเป็นมรดกตกทอดให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้ซึมซับความเป็นเชียงใหม่ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 700 ปี
แม้ช่วงที่อยู่ไม่ค่อยมีความสนใจในเรื่องเหล่านี้มากนัก แต่ปลายปีก่อนนั่งรถผ่านเห็นป้าย "เวียงกุมกาม" งงมากว่าสิ่งนี้มาจากไหน ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น ว่ามาอย่างไร ถามรุ่นน้องๆ บอกว่า เขาค้นพบเวียงกุมกามนี้เมื่อปี 2537 นี่เอง หรือวัดโลกโมฬีบนถนน มณีนพรัตน์ เมื่อสมัยเรียนอยู่เป็นวัดร้างทรุดโทรมมากแถวประตูช้างเผือก อยู่ๆ ผ่านไปสะดุดตามองดูงามตาจนต้องหยุดและเข้า ไปสักการบูชา
วัดโลกโมฬี ยกฐานะจากวัดร้างให้เป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์ จำพรรษา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เคยเป็นพระอารามหลวง เกี่ยว ข้องกับกษัตริย์ในราชวงศ์มังรายแห่งล้านนา และเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชแห่งล้านนา
ความหมายของวัดโลกโมฬี "วัดสูงสุดของโลก" ตั้งอยู่นอก คูเมือง และกำแพงโบราณทางด้านทิศเหนือ สันนิษฐานว่า วัดนี้สร้างในปี พ.ศ.1910 พญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์มังรายทรงพระประสงค์จะฟื้นฟูและปรับปรุงพระพุทธศาสนาในล้านนาให้เจริญมั่นคง แต่ถูกทิ้งร้างมานานตั้งแต่สมัยภายใต้การปกครองของพม่า แม้ในระยะหลังพญากาวิละจะฟื้นฟูแต่ไม่ได้มากนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในยุคนั้นไม่อำนวย
วัดนี้มีองค์พระเจดีย์รูปทรงระฆังอายุกว่า 600 ปี เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาตั้งเด่นเป็นสง่า
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ถนนสามล้าน เป็นวัดที่ประดิษฐาน พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ชาวเมืองจะเชิญพระพุทธสิหิงค์แห่ไปตามถนนรอบเมืองให้ประชาชนได้สรงน้ำกันอย่างทั่วถึง
วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1788 โดยกษัตริย์องค์ที่ 5 ในราชวงศ์มังราย พระเจ้าฝายู พร้อมทั้งได้ทรงสร้างพระเจดีย์เพื่อไว้เป็นที่บรรจุอัฐิของพระราชบิดา
สถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัดนี้ คือวิหารลายคำที่มีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม พระอุโบสถ หอไตรประดับปูนปั้นรูปเทวดาและเจดีย์ศิลปะล้านนา
วัดสวนดอก บนถนนสุเทพ ใกล้ๆ กับโรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันจนติดปาก โรงพยาบาลสวนดอกนั่นเอง
วัดสวนดอกแห่งนี้มีประวัติคือ เดิมเป็นพระราชอุทยานของกษัตริย์ล้านนาสมัยเริ่มแรก พระเจ้ากือนาทรงสร้างวัดนี้ เมื่อ พ.ศ.1914 เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระมหาเถระสุมน ผู้เผยแผ่พระศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในแผ่นดินล้านนา
สถาปัตยกรรมที่สำคัญ เจดีย์ประธานทรงกลม และสถูปบรรจุอัฐิเจ้าตระกูล ณ เชียงใหม่ และพระวิหารโถงซึ่งมีความคลาสสิกและสวยงามมากสร้างไว้อย่างกลมกลืน
ยังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าเก้าตื้อ พระประธานองค์ใหญ่ในพระอุโบสถวัดบุปผาราม หรือวัดสวนดอกนี่เอง พระเจ้าศิริธรรม จักรพรรดิราช พระเมืองแก้วกษัตริย์ล้านนา รัชกาลที่ 14 ราชวงศ์ มังราย หล่อขึ้นเมื่อเดือน 8 ขึ้น 11 ค่ำ ปี พ.ศ.2047 เสร็จสมบูรณ์ปี 2048
พระเจ้าเก้าตื้อนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ จะเห็นพุทธศาสนิกชน ทั้งคนเมืองและจากต่างจังหวัดเข้ามาสักการะไม่ขาดสาย
นอกจากนี้ เชียงใหม่ยังมีพระธาตุของคนที่เกิดในปีแพะ นั่นคือ พระธาตุดอยสุเทพ และอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย
วัดเชียงมั่น ถนนราชภคินัย เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในตัวเมือง เชียงใหม่ เมื่อพ่อขุนมังรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.1839 พระองค์ทรงยกพระตำหนักเชียงมั่น ถวายเป็นพระอาราม วัดนี้เป็น ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พระสฎังคบดี หรือพระแก้วขาว เจดีย์ทรงระฆังฐานสี่เหลี่ยมและมีช้างล้อมรอบที่ฐานพระอุโบสถและหอไตร
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร มีเจดีย์ที่ใหญ่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ สร้างในสมัยกษัตริย์แสนเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์เม็งราย เมื่อ พ.ศ.2008 เกิดแผ่นดินไหวทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลง ประตูทางเข้าวิหารมีบันไดนาคเลื้อยลงมา ใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร นาคคู่นี้ฝีมือเก่าแก่ที่มีมาแต่เดิม เป็นนาคที่สวยที่สุดของภาคเหนือ ภายในวัดประดิษฐานเสาอินทขิล หรือเสาหลักเมือง
วัดกู่เต้า "วัดเวฬุวนาราม" เจดีย์วัดคล้ายผลแตงโมวางซ้อน กันไว้หลายๆ ลูก เจดีย์กู่เต้านี้เป็นที่บรรจุอัฐิเจ้าฟ้าสารวดี ราช โอรสพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งมาครองเมืองเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ. 2122-2150
วัดแสนฝาง เป็นวัดเก่าแก่ศิลปะพม่า เจดีย์มีการตกแต่งลวดลายปูนปั้นวิจิตรงดงาม มีกุฏิเจ้าอาวาสสร้างมากว่า 100 ปี ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า พระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 ให้รื้อที่ประทับของพระเจ้ากาวิโรรสสุริวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 มาสร้าง
วัดเจ็ดยอดเป็นวัดเก่าแก่ มีเจดีย์เจ็ดยอดซึ่งได้รับอิทธิพล จากเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย ฐานเจดีย์ประดับรูปเทวดาปูนปั้นลวดลายงดงามมาก และยังมีสถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช ลักษณะมหาสถาน
นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ไปกราบสักการะอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ณ บริเวณหน้าศาลากลางหลังเก่าใกล้สี่แยกกลางเวียง พร้อมทั้งได้นมัสการหลวงพ่อขาวประดิษฐานในวิหารหอคำที่ก่อสร้างได้สวยงามมาก พร้อมแวะรับประทานข้าวมันไก่ หมูสะเต๊ะ ก๋วยเตี๋ยวปลา ฯลฯ ที่ขายกันมาเนิ่นนานรู้จักกันดีในหมู่นักกิน
หลังจากพระยีบา กษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญชัย เสียเมืองให้กับพ่อขุนเม็งรายแห่งอาณาจักรล้านนา เมื่อประมาณปี พ.ศ.1835
พ่อขุนเม็งรายมาตั้งเวียงกุมกามเป็นศูนย์กลางการปกครอง ก่อนที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.1837 พญามังรายแผ่อำนาจ ไปพม่าได้กำลังคนช่างฝีมือ ร่องรอยฝีมือช่างพม่าจึงปรากฏ เช่นบันไดขึ้นวิหารที่เวียงกุมกาม
เวียงกุมกาม อดีตคือชุมชนตั้งแต่สมัยนครหริภุญชัย ประมาณศตวรรษที่ 17 รุ่นเดียวกับชุมชนริมน้ำปิงแห่งอื่นๆ เช่น เวียงมโน เวียงท่ากาน เวียงเถาะ โดยมีเศษจารึกภาษามอญโบราณ เป็นหลักฐาน จากการสำรวจร่องน้ำปิงห่างและปิงเก่าประกอบ ข้อมูลทางธรณีวิทยา ทำให้ทราบสาเหตุที่เวียงกุมกามอยู่ใต้แผ่นดิน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงของเส้นทางสายน้ำปิงห่างโดยการทับถมของตะกอนดินและทรายให้เห็นเด่นชัด
เมื่อปี พ.ศ.1839 พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ ยังคงทะนุบำรุงเวียงกุมกามสืบมา ร่องรอยปูนปั้นที่เจดีย์วัดปูเปี้ย ซึ่งเหมือนกับวัดเจ็ดยอด มีเอกสารระบุว่าพญาเมืองแก้วเสด็จไปเวียง กุมกาม เมื่อ พ.ศ.2062
แต่เมื่อ พ.ศ.2067 ปลายสมัยพญาเมืองแก้วได้เกิดน้ำท่วม ใหญ่ในเมืองเชียงใหม่มีคนล้มตายจำนวนมาก ซึ่งพงศาวดารกล่าวว่าเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่เวียงกุมกามด้วย
ปลายราชวงศ์มังราย ท้าวแม่กุ แม่น้ำปิงยังคงไหลอยู่ในแนวปิงห่าง แสดงว่าน้ำปิงยังไม่เปลี่ยนสายทางเดิน แต่เมื่อสมัยกองทัพธนบุรีที่ขึ้นมาขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2317 มาพักทัพที่ท่าวังตาลริมน้ำปิง เส้นทางปัจจุบันแล้ว แสดงว่า แม่น้ำปิงเปลี่ยนเส้นทางครั้งใหญ่ในช่วงพม่าปกครองเชียงใหม่ พ.ศ.2100-2317
เวียงกุมกามคือชื่อเมืองบนแอ่งที่ราบด้านทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ ในเขตตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีความสัมพันธ์กับอาณาจักรหริภุญชัยในฐานะชุมชนโบราณแห่งหนึ่ง ที่ขยายตัวเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรล้านนาในเวลาต่อมา
เวียงกุมกามนี้จากศิลาจารึก ตำนานมูลทางศาสนา ชินกาล มาลีปกรณ์ ตำนานประวัติศาสตร์ของล้านนา ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พงศาวดาร สรุปโดยรวม
เวียงกุมกามปรากฏให้เห็นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2527 เมื่อประมาณ 26 ปีที่ผ่านมา ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าโรงเรียนวัดช้างค้ำ ชาวบ้านได้ขุดพบพระพิมพ์ดินเผาแบบต่างๆ เมื่อกรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดี พบตะกอนดินทรายและการทับถมโบราณสถานหนาถึง 1.30-2.30 เมตร ซึ่งพบว่ามีวิหารใหญ่และแหล่งใกล้เคียงพบโบราณสถาน วัดอีก้าง วัดปู่เปี้ย วัดน้อย วัดหัวหนอง วัดกู่ไม้ซ้ง วัดพระเจ้าองค์ดำ วัดพระธาตุขาว พบเรื่อยมาจนกระทั่งปี พ.ศ.2545 พบร่องรอยวัดร้างในเขตกำแพง 25 แห่ง และนอกกำแพงเวียงกุมกาม 5 แห่ง ซึ่งในปี พ.ศ.2544 มีโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์เวียงกุมกาม ในการขุดแต่งทางโบราณคดีเพิ่มเติมได้ 3-4 แห่ง โดยพบประตูโขงบริเวณริมน้ำแม่ปิง ปิงห่าง ทางเดินปูอิฐเข้าวัด วิหารอยู่ริมถนนเข้าชุมชนเวียงกุมกาม ซึ่งถ้าสำรวจเพิ่มขึ้นทั้งหมดและมีการขุดแต่ง ทางโบราณคดีทุกแหล่ง รวมทั้งร่องรอบปิงห่าง เมืองประวัติศาสตร์ ใต้ดินจะปรากฏขึ้นและสมบูรณ์มากขึ้น
สำหรับการเข้าชมเวียงกุมกามนี้ จะเริ่มต้นที่วัดกานโถมด้วยบริการรถพ่วงเป็นหมู่คณะ หรือรถม้าสำหรับพ่อแม่ลูกพา ครอบครัวได้ชื่นชมบริเวณโดยรอบเวียงอย่างพินิจพิจารณาเป็นเวลากว่าชั่วโมง จึงจะครบถ้วนกระบวนความการได้ชม "นครโบราณใต้พิภพ"
แม่น้ำปิง แม่น้ำสายสำคัญไหลอยู่ในหุบเขาระหว่างทิวเขา ถนนธงชัยกลางกับทิวเขาผีปันน้ำตะวันตก มีต้นน้ำอยู่ที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ไหลลงสู่เขตอำเภอแม่แตง มีแม่น้ำงัดไหลมาบรรจบลงฝั่งซ้ายและแม่น้ำแม่แตงไหลมาบรรจบทางฝั่งขวา มาสู่พื้นที่ราบลุ่มจังหวัดเชียงใหม่ และแม่น้ำกวงซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำปิง ไหลมาบรรจบทางฝั่งซ้ายบริเวณพื้นที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
จากนั้นแม่น้ำปิงจะไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยมีแม่น้ำลี้ ซึ่งไหลมาจากอำเภอลี้ มาบรรจบกับแม่น้ำปิงที่อำเภอจอมทองทางฝั่งซ้าย จากนั้นจะไหลสู่ทางใต้ ซึ่งมีแม่น้ำแม่แจ่มไหลมาบรรจบทางฝั่งขวาที่อำเภอฮอด ก่อนที่จะไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำ ของเขื่อนภูมิพล ที่อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ไปรวมกับแม่น้ำวังที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ไหลผ่านจังหวัดกำแพงเพชร บรรจบกับแม่น้ำน่านที่ปากน้ำโพ นครสวรรค์ สำหรับแม่น้ำยมนั้น ได้เข้ามารวมกับแม่น้ำน่านก่อนหน้านี้
จากจุดนี้คือ ต้นกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 658 กิโลเมตร
แม่น้ำปิงเป็นแหล่งน้ำสาธารณูปโภคสำหรับชาวเชียงใหม่มาเป็นเวลาช้านานแล้ว
ปัจจุบันผู้คนนิยมชื่นชมกับที่พักอาศัยริมน้ำปิง อาคารร้านค้า มีการรุกล้ำ หรือทิ้งสิ่งปฏิกูลลงสู่ลำน้ำ ทำให้น้ำปิงตื้นเขิน ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย
สำหรับการมาเชียงใหม่ครั้งนี้ผู้เขียนก็ยังอยากได้ความสุนทรีย์ในเรื่องการกินพร้อมบรรยากาศที่ประทับใจเช่นเคย และหมายตาไว้ตั้งแต่ไปเที่ยวลำพูนครั้งก่อน
จากหัวสะพานแก้วนวรัฐ หรือที่ชาวบ้านเก่าแก่เรียกขรัวเหล็ก หมายถึงสะพานที่ทำด้วยเหล็ก ฝั่งสันป่าข่อยบนถนนเชียงใหม่-ลำพูน ผ่านค่ายกาวิละ ซึ่งมีอนุสาวรีย์พระเจ้ากาวิละตั้งตระหง่าน ไว้ให้ผู้คนกราบไหว้สักการะ ระลึกถึงคุณงามความดีของพระบรมราชานรบดีศรีสุริยวงศ์ องค์อินทรสุรศักดิ์ สมญามหาขัตติยะราชชาติราไชย มไหสวรรค์ฯ เป็นบุตรเจ้าฟ้าชายแก้ว เจ้าเมืองลำปาง
เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีกำจัดอำนาจพม่าให้หมดจากแผ่นดิน ไทย กองทัพเจ้ากาวิละพร้อมกับพระเจ้ากรุงธนบุรี เข้าตีเมืองเชียงใหม่จากพม่าได้สำเร็จ
ในปี พ.ศ.2325 เจ้าพระยาจักรีได้ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
พระเจ้าอยู่หัวถือเป็นความชอบที่เจ้ากาวิละนำข้าวของและไพร่พลถวาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้ากาวิละ เป็นพระยามังรายวชิรปราการกำแพงแก้ว ครองเมืองเชียงใหม่
เริ่มเดินทางต่อไปอีกเพียงเล็กน้อย มองด้านขวามือจะพบเรือนไม้โบราณยกพื้น ในบรรยากาศย้อนยุคแต่มีความอินเทรนด์อยู่ในตัวตนติดริมน้ำปิง
รัชนีวรรณ รัชตประทาน หรือตุ้ม เล่าให้ฟังว่าบิดา-มารดา คือ สมชายและวิลาวัลย์ ศรีภูมินทร์ คร่ำหวอดในเรื่องไม้สักและเฟอร์นิเจอร์แกะสลัก มีร้านอยู่แถวบริเวณประตูท่าแพ ทำให้ลูกๆ ผูกพันเกี่ยวพันในเรื่องไม้ โดยเฉพาะไม้สักและความเป็นล้านนามาโดยตลอด โดยเฉพาะราชศักดิ์ น้องชาย (เสียชีวิตแล้ว) เป็นคนรุ่นใหม่แต่ชอบอะไรที่เป็นของเก่าโบราณดั้งเดิม เก็บสะสมของเก่าและยังเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี เพื่อนฝูงทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศมากหน้าหลายตา ชอบเสาะหาของอร่อย ร้านบรรยากาศดีๆ ทั้งเมืองเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง
ในที่สุดคิดได้ว่าควรเปิดร้านอาหารเป็นของตัวเอง ได้เปิดร้านอาหารใกล้ค่ายกาวิละ พร้อมๆ กับร้านที่ตั้งอยู่บนถนนเจริญประเทศ รวมทั้งรีสอร์ตที่มีภูมิทัศน์สวยงามและเสน่ห์การบริการที่ดีเยี่ยมในรูปแบบโมเดิร์นล้านนาคลาสสิก สำหรับผู้มาแอ่วในบรรยากาศเมืองเหนืออีกด้วย
เมื่อเข้าสู่ "เฮือนโบราณ บ้านริมปิง" จะพบกับความสดชื่น ร่มเย็น โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องปรับอากาศ แบ่งไว้หลายโซน เลือก นั่งได้ตามความชอบ ซ้ายมือมีมุมกาแฟสดของว่าง Internet wi-fi สำหรับผู้ต้องการผ่อนคลายในยามบ่าย
ผู้ที่ชอบของเก่าสะสมอดไม่ได้ที่จะต้องชักรูปไว้เป็นที่ระลึก กับรถจักรยาน โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์รุ่นเก๋ากึกที่หาชมที่ไหน ไม่ได้อีกแล้ว เดินต่อเข้าไปอีกจะได้กลิ่นอายรูปแบบชนบทเหมือน เดินอยู่ในยุ้งข้าว ซึ่งเป็นรูปแบบร่องรอยเริ่มแรกของการเกิดของร้านนี้นั่นเอง
ย้อนยุคด้วยบรรยากาศริมน้ำ มองดูแล้วทำให้ทราบว่าทำเล ที่ตั้งของร้านเป็นคุ้งน้ำที่กว้างที่สุดและสวยที่สุด เมื่อส่งสายตาไปยังฝั่งตรงข้ามซึ่งปกคลุมด้วยไม้ใหญ่หลากพันธุ์เขียวขจี ทำให้นึกฝันไปว่ากำลังนั่งเล่นอยู่ในชนบทเลยทีเดียว แท้จริงแล้ว ฉากหลัง ถ้ายืนอยู่ด้านหน้าถนนจะเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง โรงแรม ร้านค้า สถานศึกษา ซึ่งบนถนนมีรถราวิ่งกันขวักไขว่
ยิ่งถ้าเป็นคู่ที่กำลังปลูกต้นรักร่วมกันแล้ว เมื่อนั่งทอดอารมณ์ จะมีจินตนาการมองเห็นไปนานา เป็นรูปนกยูงรำแพนบ้าง ช้างกำลังหมอบด้วยท่าทางพาดงวงสารพัดนึกรูปแบบต่างๆ ท่ามกลาง ความรักที่กำลังเบ่งบานหวานฉ่ำ
ห้องจัดเลี้ยงประชุมสัมมนา สังสรรค์ระหว่างเพื่อนฝูง ฉลองความสำเร็จ หรือทานกันเองภายในครอบครัว ห้องปรับอากาศกระจกใส สนุกสุขสันต์กับบรรยากาศริมน้ำด้วยวงดนตรีโฟล์คซองทั้งไทย สากล คำเมือง บรรเลงเบาๆ เริ่ม หัวค่ำจน 6 ทุ่มเลยทีเดียว มีบริการทั้งอาหารไทย พื้นเมือง สะอาด สดใหม่ อร่อย ราคายุติธรรม ลืมบอกไปว่าผู้ที่ชอบท่องล่องนาวา ล่องแม่ปิง ร้านนี้ก็มีเรือจุผู้โดยสารกว่า 100 คน ไว้บริการเช่นกัน ส่วนอาหารเมื่อได้ลองรับประทานแล้วอยากจะแนะนำ
- ออเดิร์ฟเมือง
ขึ้นชื่อว่าเชียงใหม่ ร้านไหนไหนก็ต้องมีเมนูนี้ ออเดิร์ฟ เมืองมีครบสารพัดของทานเล่นแบบเหนือๆ ทั้งแหนม หมูยอ แคบหมู ไส้อั่ว ผักสด ผักต้ม และน้ำพริก จัดเรียงไว้ในโตกไม้ได้บรรยากาศแบบล้านนา ที่พิเศษเพราะที่นี่ตำน้ำพริกเอง รสชาติ กำลังดี ไม่เผ็ดโดด เหมือนที่ขายตามตลาด สามารถเลือกสั่งได้ทั้งน้ำพริกหนุ่ม หรือน้ำพริกอ่อง ทีเด็ดอยู่ที่ไส้อั่ว อีกอย่างที่ทำเอง สูตรดั้งเดิมแบบที่ต้องใช้หมูติดมันเล็กน้อย และพริกแกงเมืองเท่านั้น ผสมด้วยสมุนไพร แบบทานแล้วได้ครบรส รับประกันความสดใหม่ อร่อย ไม่แพ้ใครจริงๆ
- ปลาช่อนสมุนไพรไร้ก้าง
พิเศษสำหรับคนชอบทานปลา ด้วยความพิถีพิถันในการ นำเนื้อปลามานึ่งให้สุก นำมาบดปรุงรสชาติให้กลมกล่อม หอมเครื่องสมุนไพรและเครื่องเทศ นวดเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน เสร็จแล้วนำยัดไว้ในตัวปลา นำไปทอดแล้วเสิร์ฟ พร้อมน้ำจิ้มรสเด็ด การันตีความอร่อย ครบคุณค่า สะดวก ปลอดภัย ไร้ก้างจริงๆ
- ไก่นึ่งเฮือนโบราณจานนี้ เด่นที่เป็นไก่บ้าน เนื้อแน่น นิ่ม หนึบ แต่ไม่มันและไม่เหนียว แถมยังชุ่มฉ่ำด้วยเครื่องเทศที่หมัก จนเข้าเนื้อนำไปนึ่งจนสุก เหลือน้ำขลุกขลิกเข้มข้น กลมกล่อม โรยหน้าด้วยพริกแห้งและใบมะกรูดฝอย หอมกลิ่นขมิ้น ข่า ตะไคร้ ครบเครื่องสมุนไพรทุกคำ
ไม่แน่จริง ไม่กล้าแนะนำ "กล่ำทอด น้ำปลา" อร่อยจริงๆ เพราะการเลือกสรรผักกล่ำขนาดกำลังดี สด ใหม่ และสะอาด นำมาคั่วในกระทะแบบไร้น้ำมัน ปรุงรสด้วยน้ำปลาอย่างดีกับพริกไทยป่น 2 อย่าง แค่นี้ก็อร่อยกรอบจนต้องสั่งเพิ่ม เคล็ดลับอยู่ที่การ คั่วให้กล่ำสุกทั่ว เค็มมันกำลังดี เมนูนี้ผู้สูงวัย ต้องยอมยกมือให้ทั้งสองมือเลยว่ายอด
- กุ้งแม่น้ำอบฟองเบียร์
กุ้งแม่น้ำทอดกรอบ ราดด้วยน้ำซอสสามรสกลมกล่อม เบรกความเผ็ดจัดจ้าน ด้วยฟองขาวเนียนนุ่มลิ้มรสชาติเค็มๆ มันๆ อร่อยแปลก แหวกแนว แบบฟิวชั่น ฟิวชั่น
นอกจากนี้ยังมีเมนูประเภทปลาหลากหลาย ทั้งทอดกระเทียม ทอดสมุนไพร ปลาเจี๋ยนน้ำแดง ลวกจิ้ม ผัดฉ่า นึ่งซีอิ๊ว นึ่งมะนาว โดยการคัดสรรปลาสดๆ ขนาดกำลังพอเหมาะ ทั้งปลากะพง ปลาทับทิม ปลาแรด ปลาบึก และปลาคัง
ที่ประทับใจสุดๆ นอกจากอาหาร เมื่อนั่งมุมซ้ายท้ายสุดของร้านที่ติดริมน้ำจะเพลิดเพลินกับน้ำปิงที่ไหลเป็นสาย ร่มรื่น เสียงน้ำไหลรินกระทบแก้วหูแผ่วเบา ราวกับนั่งอยู่ท่ามกลางน้ำตก ใหญ่น้อยไหลลงสู่สายธาร
สอบถามได้ความว่ามีฝายทดน้ำที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอันน่าภาคภูมิใจ "ฝายพญาดำ" ตั้งอยู่ตรงนี้
"ฝายพญาดำ" มีประวัติตั้งแต่ยุคล้านนา สมัยพญาเม็งราย ที่ยอมรับระบบการจัดการน้ำโดยชุมชนและตราเป็นกฎหมายในกฎหมายมังรายศาสตร์
วิธีการสร้างฝายกั้นลำน้ำปิงในช่วงระยะเวลาแรก จะใช้ไม้ไผ่จำนวนเป็นหมื่นลำ ตอกเรียงกันเป็นตับ เรียกว่า "หลักฝาย" มัดติดกับหลักที่อยู่ใต้น้ำ เรียงซ้อนเหลื่อมกันสูงขึ้นมาเป็นชั้นๆ ซึ่งต้องอาศัยแรงงานที่มีความชำนาญและมีความแข็งแรงในการดำน้ำลงไปตอกหลักใต้น้ำ โดยใช้ "ฆ้องหน้าแหว่น" เป็นอุปกรณ์ ในการตอกฝาย ซึ่งมีลักษณะเป็นค้อนไม้ขนาดใหญ่ ด้ามยาว น้ำหนักมาก
เมื่อสร้างฝายกั้นน้ำสำเร็จแล้วจะมีการสร้างประตูปิด-เปิด เพื่อป้องกันน้ำท่วมทะลักเข้าไร่นาในยามหน้าฝน
"ฝายไม้" ต้องมีการซ่อมแซมทุกปี ดังนั้น การสร้างจึงระดมแรงงานความร่วมมือจากผู้ใช้น้ำในท้องที่ต่างๆ เจ้าพญาดำ จึงสร้างหอฝีฝายเพื่อรวบรวมคนมาประกอบพิธีเลี้ยงฝีฝายในแต่ละปี
ฝีในความหมายนี้ยังแสดงถึงคุณงามความดีของคนที่ช่วยกันสร้างฝายจนสำเร็จ การดำรงอยู่ของระบบเหมืองฝายในภาคเหนือ จึงช่วยสร้างตัวตนของชุมชนและการยอมรับเจ้านายผู้ปกครองให้สอดคล้องกัน
ฝายพญาดำ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1800-1839 ด้วยวัตถุ ประสงค์เพื่อกักเก็บน้ำสำหรับพื้นที่การเกษตร
พ.ศ.2468 เจ้าพญาดำวิจิตรธุระราษฎร์ ข้าราชการในคุ้มครองของเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ปรับปรุง เป็นระบบชลประทานราษฎร์ เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชน
เมื่อปี พ.ศ.2527 ฝายพญาดำเปลี่ยนจากฝายไม้เป็นฝายหินทิ้ง ซึ่งลดปัญหาในเรื่องของแรงงาน
ฝายหินทิ้ง สร้างด้วยการนำหินขนาดใหญ่มาวางเรียงกัน โดยใช้ก้อนหินขนาดเล็กอุดช่องว่างระหว่างหินก้อนใหญ่ด้วยการจัดวางให้มีความสัมพันธ์กับทิศทางของน้ำ และโครงสร้างของฝาย รองรับน้ำหนักได้
ดังนั้นการซ่อมแซมหินที่หลุดหรือถูกน้ำพัดพายังต้องอาศัย กลไกการจัดการร่วมกันของเหมืองฝายแต่ละลูกที่อยู่ใกล้กัน
ฝายหนองผึ้ง ฝายท่าวังตาล ฝายปาแดด และฝายสารภี
ทุกวันนี้ชาวบ้านในชุมชนที่ใช้น้ำจากฝายพญาดำ ยังคงมีการสืบทอดประเพณีจัดพิธีกรรมที่มีมาแต่โบราณให้แก่ฝายพญาดำแห่งนี้ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี
นอกจากนี้ยังได้เห็นผู้คนแถบนี้ได้ใช้ชีวิตในแบบดั้งเดิมด้วย การมานั่งตกเบ็ดหาปลา มีร้านกาแฟโกปี้โบราณขาย ณ บริเวณริมตลิ่งข้างฝายพญาดำให้ได้พบเห็นอยู่
บนถนนเจริญประเทศ ชุมชนใจกลางเมืองใกล้ย่านธุรกิจสำคัญ เดินสู่ถนนช้างคลานเชื่อมต่อกัน เป็นแหล่งสินค้าพื้นเมือง ในยามค่ำคืนติดกับโรงแรมเพชรงาม ตรงข้ามร้านไก่ย่างน้ำผึ้งอันลือลั่นมาช้านาน เกือบถึงจวนผู้ว่าฯ คือบ้านไม้สักทองที่ยังมีความสมบูรณ์ทั้งหลัง ณ เลขที่ 70 บ้านทรงยุโรปผสมผสานล้านนา อย่างสง่างามตั้งเด่นอวดสายตาผู้ผ่านไปมา
บ้าน 2 ชั้น มีห้องใต้หลังคาเพื่อระบายลม แต่ละชั้นจะมี 3 ห้องนอนซึ่งทะลุถึงกัน สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2420 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แต่ยังคงสภาพความงดงาม นับถึงปัจจุบันบ้านหลังนี้มีอายุกว่า 132 ปี
ณ วันนี้อยู่ในความครอบครองของ ดร.ปรีชา อุปโยดิน และวรรณศิริ ดุษฏี หลานของหม่องส่วยที่เป็นผู้ปลูกสร้าง ซึ่งเป็น เจ้าของกิจการทำป่าไม้ในสมัยนั้น
ปัจจุบันบ้านหลังนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติ จากกรมศิลปากร
หลังการได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ.2535 แล้ว จึงได้เปิดเป็น "เฮือนโบราณบ้านร้อยปี" หรือรู้จักกันในหมู่นักเลงของเก่า คนรัก ของโบราณว่า "ร้านขายของเก่า ร้านเล่าของคุณ"
ของเก่าโบราณ โต๊ะ เก้าอี้ สำหรับรับประทานอาหาร รับแขก ตู้ เตียง ข้าวของเครื่องใช้ ตกแต่งบ้านสมัยโบราณ ตาชั่งที่ใช้ในอดีต ซึ่งผู้คนทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศที่ชื่นชอบต่างมาซื้อหา ซึ่งของที่เห็นในร้านที่เหลือในปัจจุบัน ไม่สามารถหาได้อีกแล้ว จึงมีไว้เพียงให้ได้ชื่นชมเท่านั้น
ส่วนอาหารนั้นมีให้บริการทั้งอาหารไทย จีน พื้นเมือง เมื่อเปิดดูราคาในรายการอาหารแล้วถือว่าเป็นราคามาตรฐาน ไม่แพงอย่างที่คิด โดยเริ่มต้นที่ราคา 79 บาท และที่ลงท้ายด้วยเลข 9 ของอาหารทุกจาน ตุ้มบอกว่าเป็นเลขมงคล จะได้ก้าวหน้าต่อไปด้วยความเจริญอย่างมั่นคง
หนำซ้ำเมื่อได้สัมผัสกับบรรยากาศด้วยแล้ว ทำให้เกิด ความประทับใจเป็นอย่างมาก นั่งรับประทานอาหารกับพื้นใน ห้องบนบ้าน กินลมชมวิวกับบรรยากาศรอบๆ บ้าน ที่ระเบียง บ้าน หรือจะนั่งบริเวณลานหน้าบ้านเหมือนนั่งอยู่ในสวน โดยมีดนตรี ซะล้อ ซอ ซึง และโฟล์คซอง ขับกล่อมในมื้ออาหาร นั้น ทำให้ได้รับความรู้สึกบรรยากาศย้อนยุคเลยทีเดียว ทั้งนี้ ยังได้เห็นต้นจันทน์กระพ้อยืนต้นตั้งตระหง่านที่ลานบ้าน ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับอายุของบ้านให้ดูเป็นขวัญตาอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาที่ดอกบานสะพรั่งจะส่งกลิ่นหอมไปทั่วบริเวณ
เมนูเด็ด
- ขันโตก รวมรายการอาหารเหนือให้เลือกและยังมีทางเลือกสำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับรสชาติอาหารเหนือ ชุดอาหารไทย ที่เสิร์ฟมาในชุดขันโตกเพื่อให้ได้บรรยากาศ รสชาติอาหารไทยแบบดั้งเดิมที่สามารถเลือกทานได้ตามใจชอบ โดยเฉพาะสำหรับแขกชาวต่างชาติ
- ห่อหมกขนมครก เมนูนี้เสิร์ฟมาในถาดขนมครกร้อนๆ มีให้เลือกทั้งห่อหมกทะเล-ปลา-เนื้อ-ไก่ ให้ลูกค้าได้ลิ้มลองความอร่อย และสนุกสนานกับการแคะขนมครกโบราณแบบไทยๆ
- ลาบหมูทอด ลาบหมูที่ปรุงได้พอดีครบรส เครื่องสมุนไพร ขนาดพอดีคำ คงรสชาติอาหารเหนือที่คุ้นเคย ดัดแปลงมาทอดใน น้ำมันร้อนๆ ได้ความแปลกใหม่ อร่อยไปอีกแบบ
- แหนมทอดเฮือนโบราณ แหนมหม้อปรุงรสสูตรพิเศษ ปั้นเป็นก้อนกลม นำไปทอด เสิร์ฟในตะกร้าเผือกกรอบที่ทานแกล้มได้ หาทานได้ที่นี่
ชอบบรรยากาศริมน้ำปิงหรือสไตล์บ้านไม้สักทองทรงคุณค่า เชิญและชิมได้ ไม่เพียงแต่เจริญอาหารเท่านั้น ยังได้เจริญหูเจริญตา อีกต่างหาก
เมื่อกินอิ่มแล้วคราวนี้มาคุยกันเรื่องที่พักผ่อนหลับนอนกันบ้าง สำหรับการพักผ่อนในสมัยนี้ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว ที่จะต้องมีความหรูหรา ฟู่ฟ่า หรือความสะดวกสบายที่ครบเครื่อง
ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ณ จุดใด เทคโนโลยีเข้าถึงหมด มีให้พกพาใช้งานสั่งงานได้เสมอ ยิ่งผู้คนคืบคลานกลับไปหาสิ่งเก่าในคราบสิ่งใหม่ สิ่งเก่าจริงๆ หรือการลอกเลียนแบบได้เหมือนจริง
ในเรื่องที่พักนั้น การมาพักผ่อนหย่อนใจ ที่พักของเชียงใหม่ มีให้เลือกในทุกซอกของมุมเมือง ในรูปแบบที่แตกต่าง นำอาคารเก่า เช่น โรงบ่มยาสูบที่เลิกกิจการมารีโนเวท รูปลักษณ์ที่พักตามขุนเขา ริมน้ำตก ริมปิง โดยมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งน่าพักอาศัย ทั้งสิ้น สำหรับการมาท่องเที่ยวพักผ่อนหรือติดต่อธุรกิจก็ตามที
ช่วงหลังมานี้ การมาเชียงใหม่ในแต่ละครั้ง เพื่อนฝูงคนเมือง มักจะแนะนำให้ใช้บริการที่พักแบบบูติก รีสอร์ต หรือพักแบบโฮม สเตย์ หรือเกสต์เฮาส์ ซึ่งสถานที่ตั้งจะอยู่ในชุมชนของเมือง แต่ซ่อนเร้นอยู่ตามซอกหลืบ แต่รถราสามารถเข้าถึง โดยปราศจากความพลุกพล่านวุ่นวายให้เสียอารมณ์ของการมาพักผ่อน
เริ่มต้นจากเซ็นทรัลแอร์พอร์ตมุ่งสู่หางดง จะเห็นธนาคารไทยพาณิชย์ ให้มองฝั่งตรงข้ามจะมีซอยเข้าไปประมาณ 50 เมตร จะพบกับ "ลาวิลล่า" ที่ยกบรรยากาศแห่งขุนเขามาไว้ในเมือง
เมื่อย่างก้าวสู่...ก้าวแรกที่เหยียบพื้นดินลงไป จะรู้สึกได้เลย ว่าเจ้าของกิจการช่างมีความละเอียดอ่อน พิถีพิถันแม้กระทั่งถนน เข้าสู่ที่พัก
พื้นถนนดินตามธรรมชาติโรยด้วยหินกรวดก้อนเล็กๆ สู่ที่พักทุกหลัง แม้จะต้องดูแลบำรุงรักษาอยู่ตลอดเวลาก็ตาม
เพลิดเพลินกับบรรยากาศที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใบหญ้า ไม้ดอกหลากหลายทำให้ดูร่มรื่นไปทั่วบริเวณกว่า 6 ไร่
เดินเข้าไปเพียงเล็กน้อย จะมองเห็นเรือนเรียงรายยื่นลงสู่สระน้ำอย่างเหมาะเจาะน่ารัก น่าเอ็นดู
ส่วนด้านหน้า จะมีบ้านไม้สักหลังใหญ่ตั้งตระหง่านอย่างสง่างาม เป็นบ้านหลังใหญ่โตพอควร ใช้ไม้สักบ้านเก่าจำนวนถึง 12 หลังที่รื้อมาสร้าง
มองเข้าไปในหลืบทางด้านซ้าย มีทางเดินสู่บ้านยุ้งข้าวที่เจ้าของกิจการสรรหามาสร้าง เพื่อคนที่มีรสนิยมชมชอบ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างไม่ขาดสาย
ส่วนลานอีกด้านหนึ่ง จะเป็นทั้งลานเดินเล่นชมนกชมไม้ ศาลานั่งเล่น มีให้เลือกหลากมุม หลากบรรยากาศ
ก่อนที่จะขึ้นสู่ลานอาหารมื้อเช้า จะได้ยินเสียงน้ำตก พันธุ์ไม้เลื้อย กล้วยไม้นานาพันธุ์ เกาะเกี่ยวอยู่บนต้นซุงท่อนใหญ่ ปลาแหวกว่ายอย่างเพลินใจเมื่อก้าวสู่พื้นบ้านชั้นสอง ชานของเรือน ไม้สัก จัดแต่งเป็นสวนหย่อม ชิงช้าแกว่งไกว มองเห็นห้องสวีตที่จัดไว้สำหรับคู่รักใหม่อย่างลงตัว อีกด้านกั้นเป็นราวลูกกรงเปิดโล่ง นั่งรับประทานอาหารเช้าชมธรรมชาติโดยไม่ต้องจัดแต่ง
ทอดสายตายาวไกลออกไป หุบเขาโอบล้อม มองเห็นพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนาและพุทธศาสนิกชนมาเป็นเวลาช้านานอย่างชัดเจน
หากใครยังมีกำลังวังชา คิดจะหลบมุมไปรับสายลมแสงแดดที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ พร้อมจิบชากาแฟของว่าง นั่ง นอน เล่นได้ตลอดวันบนชั้น 3 โดยไม่มีเสียงจากเครื่องบินขึ้น-ลงให้รบกวน และปลอดจากผู้คนอีกด้วย
เมื่อมองดูสนามหญ้า ลานกว้างเหมาะที่จะจัดงานเลี้ยงปาร์ตี้เป็นยิ่งนัก ในบางครั้งบางคราวจะมีคู่บ่าวสาวมาใช้สถานที่แห่งนี้เลี้ยงรับรองแขกอยู่เสมอ
บางครั้งสมาคม องค์กรมาใช้จัดงานขันโตกดินเนอร์ จัดขบวนแห่ตามประเพณีโบราณ เมื่อจัดแต่งสถานที่ตามรูปแบบงาน จะได้บรรยากาศของงานนั้นๆ ไม่แพ้โรงแรมหรูในเมืองเลย
ต่อจากสนามกว้างจะมองเห็นบ้านชั้นเดียวทรงล้านนาโมเดิร์น เมื่อเปิดประตูเข้าสู่บริเวณบ้าน ก้าวขึ้นบันได 2-3 ขั้น จะได้รับบรรยากาศล้านนาเต็มๆ ซ้ายมือจัดเป็นมุมโต๊ะอาหารในบ้าน ขวามือคือมุมนั่งปล่อยอารมณ์อย่างสบายใจ
ส่วนนอกชานกลางบ้าน เหล่าพรรณไม้ขึ้นครึ้มทั่วบริเวณอ่างปูนใหญ่เต็มไปด้วยปลาคาร์พ แหวกว่ายกันอย่างสนุกสนาน ให้ผู้มาพักร่วมสนุกกับการให้อาหารปลา ส่วนหน้าห้องพักจะมีเก้าอี้นั่งเล่นเป็นมุมส่วนตัว บางห้องมีทั้งส่วนเตรียมอาหาร รับแขก ห้องนอนพร้อมในตัว โดยใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้สักของโบราณเก่าแก่จัดวางไว้อย่างลงตัว เพราะความผูกพันกับไม้สักมาตลอดชีวิต เลยมีความรักความหวงแหนในเอกลักษณ์เกี่ยวพันกับล้านนา ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือที่พัก
การบริการแบบคนรู้จักมักคุ้น ญาติมิตร อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แม้ว่าผลพลอยได้ที่เป็นตัวเงินนั้นจะไม่มากมายนักก็ตาม แต่เปี่ยมไปด้วยการแบ่งปันความสุข นี่คือน้ำใสใจจริงของคนล้านนา แต้ๆ เจ้า
|
|
|
|
|