|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เห็นสภาพน้ำท่วมในเมืองไทยช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาทำให้นึกถึงความเป็นอยู่ของชาวกัมพูชาในทะเลสาบเขมร หรือที่คนท้องถิ่นเรียกกันว่า โตนเลสาบ (Tonle Sap) คนกลุ่มนี้ต้องใช้ชีวิตบนผืนน้ำที่มีระดับน้ำที่แตกต่างกันมากกว่าสองช่วงตัว ตามช่วงเวลาของฤดูน้ำขึ้นน้ำลงในแต่ละฤดูกาล
รูปแบบชีวิตในโตนเลสาบ น่าจะเป็นแนวทางปรับตัวให้กับคนไทยได้บ้าง หากเราต้องเผชิญกับการไหลหลากของน้ำก้อนใหญ่แบบนี้ และคงไม่ต้องเจอปัญหาใดๆ เมื่อทั้งลานิญญาและเอลนิญโญ มาเยือนโลกอีกในอนาคต
ในฤดูแล้งซึ่งน้ำจะแห้งสุดในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนทะเลสาบเขมร สามารถนั่งรถแล่นไปในทะเลสาบได้ไกลเป็นกิโลๆ บางครั้งไปจอดถึงปากน้ำได้ในช่วงที่น้ำแห้งเต็มที่ ระหว่างทางหากสังเกตให้ดีจะรู้ระดับน้ำขึ้นเต็มที่ได้จากป้ายจราจรหรือเศษขยะที่ยังคงติดค้างอยู่ตามยอดไม้สูงริมฝั่ง น้ำในร่องน้ำและทะเลสาบก็จะเป็นสีขุ่นคล้ายชาเย็น
ขณะที่ในหน้าน้ำ น้ำจะขึ้นสูงจากเดิมไม่ต่ำกว่า 5-6 เมตร ฤดูที่น้ำสดใสที่สุดจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม เรือนแพส่วนใหญ่ ทั้งโบสถ์ บ้าน โรงเรียน ก็จะลอยมาอยู่ใกล้ฝั่ง
ความสมบูรณ์ของทะเลสาบเป็นพื้นฐานสำคัญของการก่อร่างสร้างตัวของอาณาจักรเขมร เพราะอาณาจักรใดๆ ในโลกย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ว่าจะมีอำนาจทาง การเมืองหรืออำนาจความศรัทธาในลัทธิหรือศาสนามากเพียงใด แต่ถ้าไม่มีสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ก็เปล่าประโยชน์
โตนเลสาบจึงเป็นบริเวณที่มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของชาวกัมพูชามาตั้งยุคสมัยนครวัดและอาจจะไกลไปกว่านั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เพราะเป็นแหล่งข้าวปลาอาหารอันอุดมสมบูรณ์ที่หล่อเลี้ยงคนได้ทั้งเมือง เป็นแหล่งผันน้ำไปยังบาราย ที่มีขนาดใหญ่รอบปราสาทต่างๆ แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นแหล่งเลี้ยงดูคนกัมพูชาเกือบทั้งประเทศ
หลักฐานเหล่านี้หาดูได้ไม่ยาก มีให้เห็นทั้งในโบราณสถานที่ยังคงอยู่ และหลักฐาน จากภาพจำหลักของนครวัดและนครธม ซึ่งมีทั้งภาพจำหลักของต้นข้าว หมู ไก่ ปู เต่า และปลานานาชนิดที่ผสมอยู่ในเรื่องราวต่างๆ ทั้งฉากของท้องน้ำใต้เรือรบของชาวจามและขอม การดำน้ำจับสัตว์ของชาวบ้าน ภาพการกวนเกษียรสมุทรอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้สัตว์น้ำนานาชนิดปั่นป่วน และมีแม้กระทั่งภาพการทำปลากรอบที่ยังคงเป็นสินค้าหลักและทำรายได้จากการส่งออกให้กับผู้คนในทะเลสาบเขมรมาจนถึงปัจจุบัน
อะไรที่ทำให้ความสมบูรณ์เหล่านี้ยังคงอยู่ รวมทั้งประชาชนกัมพูชาจำนวนมากยัง คงมีวิถีชีวิตที่อยู่ได้อย่างสอดคล้องกับน้ำขึ้นน้ำลงของพื้นที่รอบทะเลสาบอย่างไม่เดือดร้อน
เมืองลอยน้ำโตนเลสาบ ไม่ใช่แค่หมู่เรือนแพที่คนไทยรู้จักแบบในจังหวัดพิษณุโลก แต่เป็นเมืองที่ประกอบด้วยกลุ่มคนจำนวนมากที่ตั้งบ้านเรือนในรูปแบบที่ไม่ต่างจากคนมีบ้านบนพื้นดิน รวมตัวกันเป็นหมู่บ้านแต่ไม่ปักหลัก น้ำขึ้นก็ลอยตามน้ำ น้ำลงก็ลงตามน้ำ แต่ยังคงอยู่บนน้ำ
ส่วนใหญ่ทำอาชีพประมง มีอาชีพ รองคอยให้บริการนักท่องเที่ยวให้เช่าเรือล่องทะเลสาบ นำเที่ยว ขายอาหาร เครื่อง ดื่มและสินค้าที่ระลึก สถานที่ที่นักท่องเที่ยว มีโอกาสได้สัมผัสแน่ๆ คือร้านอาหาร และตลาด สิ่งที่พบเห็นได้ระหว่างเดินทางแต่อาจจะไม่ได้สัมผัส มีครบเหมือนที่หมู่บ้านๆ หนึ่งบนบกมีกัน ตั้งแต่โรงพยาบาล โบสถ์ คลินิก ร้านเสริมสวย สนามกีฬา โรงเรียน หรือแม้กระทั่งแปลงพืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้รับประทานกันภายในครอบครัว
กลุ่มคนที่อาศัยในทะเลสาบ มี 3 สัญชาติหลัก ได้แก่ คนกัมพูชา คนจาม และเวียดนาม สถิติล่าสุดเมื่อ 2 ปีก่อน มีจำนวนคนที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบจำนวน 7 พันคน เป็นกลุ่มที่ดำรงชีวิตในทะเลสาบ เป็นหลักตั้งแต่เกิดจนตาย แบ่งเป็นคนกัมพูชาราว 4 พันคน คนเวียดนาม 1,700-1,800 คน ที่เหลือประมาณ 1 พันคนเป็นคนจาม แต่ถ้านับรวมคนที่พึ่งพาทะเลสาบ เป็นแหล่งสาธารณูปโภคและอาหารแล้วจะมีถึง 3 ล้านคน
นอกจากเสียมเรียบ จังหวัดที่อยู่รอบโตนเลสาบยังมีกำปงชนัง โพธิสัตว์ และพระตะบอง ขณะที่พนมเปญและกำปง จาม ในความหมายของชื่อแปลว่าท่าเรือ ของคนจามนั้น ตั้งอยู่ติดแม่น้ำโขง ส่วนคำว่า ชนัง ซึ่งแปลว่ากลองนั้น สันนิษฐาน ว่าได้มาจากการเป็นแหล่งผลิตกลองที่ใช้หนังงูซึ่งมีจำนวนมากในทะเลสาบมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต
รัฐบาลกัมพูชาไม่มีนโยบายออกโฉนดและบ้านเลขที่ให้กับผู้อยู่อาศัยในทะเลสาบ แต่จะมีการขึ้นบัญชีไว้ว่าใครเข้ามาอาศัยเมื่อปีใด เพราะฉะนั้นเรือนแพแต่ละหลังสามารถลอยไปมาได้ไม่จำกัดที่ เพราะผืนน้ำไม่มีกรรมสิทธิ์ของใคร ส่วนใหญ่จะลากเข้ามาใกล้ฝั่งในฤดูน้ำและลากไปอยู่ไกลออกไปในฤดูแล้ง
เช่นเดียวกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบ ก็สามารถย้ายไปหางานตามฤดูกาลในที่ต่างๆ ได้ตามต้องการ แต่โดยหลักยัง คงยึดอาชีพประมง ซึ่งมีกติกากำกับเพื่อคงความอุดมสมบูรณ์ ของทะเลสาบให้เลี้ยงผู้คนได้อย่างยั่งยืน
เมื่อถึงฤดูน้ำที่รัฐบาลอนุญาตให้ทำประมง ในรูปแบบการ ลากอวนขนาดใหญ่ ล้อมกระชังในพื้นที่สัมปทานกันรายละเป็นตารางกิโลเมตร ผู้ประกอบการแต่ละรายก็สามารถมาจับจองใบอนุญาตและขอสิทธิ์น่านน้ำที่ต้องการได้เป็นรายๆ ไป
กลุ่มที่ถือว่าเก่งเรื่องประมงต้องยกให้เวียดนาม อาจจะเป็นผลให้รัฐบาลกัมพูชาไม่มีนโยบายที่จะผลักดันคนกลุ่มนี้ออกไป แม้จะมีการอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในทะเลสาบอย่างต่อเนื่อง กลุ่มที่ได้สัมปทานรายหนึ่งจะได้พื้นที่ประมาณ 3-4 กิโลเมตร และเป็นเพียงคนกลุ่มน้อย คนส่วนใหญ่ 70% ของคนในทะเลสาบ ทำประมงแบบพออยู่พอกิน ก็สามารถหาจับปลาได้ในเขตที่ไม่มี การหวงห้ามหรือที่รัฐให้สัมปทานไปแล้ว
แต่ถ้าฤดูน้ำลดหรือฤดูที่ปลาวางไข่ ทุกคนจะต้องเคารพในกฎ หยุดจับสัตว์น้ำเป็นการชั่วคราว บางส่วนจึงหันไปรับจ้างทำนาริมชายฝั่งซึ่งรอบทะเลสาบเขมรสามารถทำนากันได้ปีละ 3-4 ครั้งเลยทีเดียว
วงจรธรรมชาติในทะเลสาบก่อให้เกิดความสมดุลในตัวเอง เพราะในฤดูแล้งน้ำที่ลดหายไปก็ทิ้งตะกอนที่พัดมาไกลจากลำน้ำโขงไหลมาทับถมอยู่รอบทะเลสาบ ทำให้พื้นดินแถวนี้อุดมสมบูรณ์ กลายเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิชั้นดีของกัมพูชาที่มีคุณภาพไม่แพ้ข้าวหอมมะลิไทย
ส่วนปลาที่มีมากในฤดูน้ำ นอกจากขายสด แล่ตากแห้ง อีกจำนวนไม่น้อยก็ถูกทำเป็นปลาร้าส่งขายหรือเก็บไว้กินเป็นอาหารหลักได้ตลอดปี แหล่งทำปลาร้าจากโตนเลสาบส่วนใหญ่อยู่ที่กำปงชนัง และเสียมเรียบ ซึ่งคนจากจังหวัดอื่นจะเดินทาง ไปที่นั่นเพื่อจับปลากระดี่มาทำปลาร้าไว้กินเองตลอดปี หรือมารับจ้างชำแหละปลา
ปลาร้าถือว่าเป็นอาหารหลักของคนกัมพูชาทั้ง 24 จังหวัด ไปไหนต้องมีติดตัวไปด้วยเพราะทุกเมนูอาหารต้องมีปลาร้าผสม น้ำจากการหมักปลาร้าสามารถนำไปต้มทำน้ำปลา เศษปลาเอาไปทำปุ๋ย ทุกอย่างเป็นประโยชน์ และคืนกลับเพื่อคงความสมดุลสู่ธรรมชาติ
คนกัมพูชาให้ความสำคัญกับทะเลสาบในฐานะแหล่งอาหารมากกว่าการสัญจรไปมาระหว่างเมือง ปัจจุบันนอกจากเรือที่รับส่งระหว่างเรือนแพและฝั่ง เรือโดยสารระหว่างจังหวัดจึงมีนักท่องเที่ยวจากชาติตะวันตกเท่านั้นที่นิยมซื้อตั๋วเรือใบละ 500 ถึงพันกว่าบาท เพื่อชมทัศนียภาพและวิถีชีวิตในทะเลสาบอย่างซาบซึ้ง ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางจากเสียมเรียบไปถึงพนมเปญ อย่าน้อย 6 ชั่วโมงสำหรับสปีดโบ้ต และนานกว่านั้นสำหรับเรือโดยสารปกติ ขณะที่การเดินทางโดยรถยนต์ใช้เวลาน้อยกว่าเท่าตัว และค่ารถก็ถูกกว่าเพียงคนละ 200 บาท
วิถีชีวิตของผู้คนในโตนเลสาบแม้ส่วนใหญ่จะยังคงใช้ชีวิต ไปตามการขึ้นลงของน้ำ โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ที่อยู่แบบพอมีพอกิน แต่ก็ต้องนับว่าคนในโตนเลสาบ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของ "คนอาศัยธรรมชาติ" ที่รู้จักเรียนรู้วัฏจักรธรรมชาติของน้ำ รู้จัก ใช้ประโยชน์ตามฤดูกาลอย่างเหมาะสม และเรียนรู้ที่จะอยู่ให้สอดคล้องและไม่ฝืนกฎธรรมชาติ
สิ่งที่พวกเขาแสดงให้เห็นผ่านความเป็นอยู่นานนับพันๆ ปีมาถึงปัจจุบัน ล้วนเป็นสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ถูกถ่ายทอดกันมา และส่งต่อไปให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ว่า แม้มนุษย์จะสร้างสิ่งยิ่งใหญ่เพียงใดก็ได้ แต่ที่สุดแล้วธรรมชาติต่างหากคือตัวกำหนดทุกสิ่ง เมื่อคนจะอาศัยก็ต้องอยู่ตามกฎของธรรมชาติ ไม่ควรแม้แต่เปลี่ยนแปลงธรรมชาติด้วยการสร้าง ถาวรวัตถุ เพราะน้ำที่ไหลไปจากทะเลสาบในฤดูแล้ง เมื่อถึงหน้าน้ำก็จะกลับมาทวงที่ของตัวเองคืน
|
|
|
|
|