|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

ขณะที่นั่งดูการแข่งขันแบดมินตันประเภทหญิงเดี่ยวระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ณ เมืองกวางโจว ประเทศจีน สายตาก็เหลือบไปเห็นป้ายโฆษณาข้างสนามเป็นโลโกภาษาอังกฤษ คำว่า "ICBC"
หากเป็นเมื่อก่อนอาจไม่สนใจว่าเป็น โลโกเกี่ยวกับอะไร แต่ในวันนี้คนไทยจะเริ่มคุ้นเคยกับตัวอักษร 4 ตัว ICBC มากขึ้น เพราะสัญลักษณ์นี้หมายถึงธนาคารจีนที่เข้ามาปักธงอยู่ในเมืองไทยเรียบร้อยแล้ว
ธนาคาร Industrial and Commercial Bank of China Limited หรือ ICBC เป็นธนาคารมีอายุ 26 ปี จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่ง คือ เซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง และอ้างว่าเป็นธนาคารที่ทำกำไรมากที่สุดในโลก 129.3 พันล้านหยวน หรือ 633.81 พันล้านบาท (ณ สิ้นปี 2552) มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 12.96 ล้านล้านหยวน หรือ 64.8 ล้านล้านบาท
ขนาดรายได้และกำไรของธนาคารไอซีบีซี ทำให้รัฐบาลไทยคาดหวังไว้ว่าจะได้รับเงินกู้จากธนาคารเพื่อนำไปสร้างรถไฟรางคู่ ระบบขนส่งของไทยเพื่อรองรับการส่งสินค้าและบริการในประเทศ และภูมิภาคนี้
ชื่อเสียงของธนาคารไอซีบีซีเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้บริหารในกลุ่มสถาบันการเงินในประเทศไทยเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะธนาคารสนใจเข้าซื้อกิจการธนาคารสินเอเซีย จำกัด (มหาชน) ธนาคารขนาดเล็กอายุ 40 ปี ที่มีกระทรวงการคลังและธนาคารกรุงเทพถือหุ้นหลัก
การเจรจาซื้อหุ้นสำเร็จลุล่วงไปเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2553 ธนาคารไอซีบีซี ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในธนาคารสินเอเซีย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนร้อยละ 97.24 และได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ Industrial and Commercial Bank of China (Thai) Public Limited เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2553
หลังจากธนาคารไอซีบีซีเข้าซื้อกิจการธนาคารสินเอเซีย ทำให้ธนาคารมีทรัพย์สินโตร้อยละ 11 และมีกำไรเพิ่ม 5 เท่า แต่ธนาคารมีเป้าหมายให้ทรัพย์สินโตร้อยละ 20
ธนาคารไอซีบีซีในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้ส่งผู้บริหารระดับสูงเข้ามานั่งดูแลในระดับจัดการ 3 คน คือ โหยวบิน เฉิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ส่วนเหวินชง หลี่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจธนาคาร กั้วหุย ซง รองกรรมการผู้จัดการ ใหญ่ กลุ่มสนับสนุน ทั้ง 3 ตำแหน่งเป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีมาก่อน
ส่วนผู้บริหารไทยยังอยู่ในตำแหน่งเดิม ธงชัย อานันโทไทย กรรมการผู้จัดการ ใหญ่ อภิชาติ เกษมกุลศิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริหารเงินและปฏิบัติการ สาขา ไชยวัฒน์ ตันชีวะวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจสาขา
โครงสร้างการบริหารงานใหม่นี้ ทั้งผู้บริหารจีนและผู้บริหารคนไทยอาจต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้สามารถทำงานประสานงานกันอย่างกลมกลืนเพราะระบบการสื่อสารของทั้งสองฝ่ายต้องใช้ภาษาอังกฤษ
โดยเฉพาะโหยว บิน เฉิน ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร ในฐานะลูกหม้อของธนาคารไอซีบีซี และก่อนที่เขาจะถูกโยกย้าย มาประจำอยู่ในประเทศไทย เขามีประสบ การณ์เป็นผู้อำนวยการและรองประธานในประเทศอินโดนีเซีย และรักษาการผู้จัดการ ทั่วไป ฝ่าย International Banking Business ณ สำนักงานใหญ่
ด้านการศึกษา เขาจบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยเซียะเหมิน สาขา Computing Mathematics and Applied Software และปริญญาโท 3 แห่ง จากมหาวิทยาลัยเซียะเหมิน สาขา Mathematical Statistics และมหาวิทยาลัยฮ่องกง สาขา IMBA และมหาวิทยาลัย Fudan สาขา IMBA
นอกจากการปรับโครงสร้างผู้บริหาร ใหม่แล้ว ธนาคารได้ปรับโฉมใหม่ของสาขา ทั้งหมด 19 แห่งทั่วประเทศ จากเดิมที่ใช้สัญลักษณ์นกสีเขียว มาเป็นตัวอักษรภาษา อังกฤษ ICBC ควบคู่กับอักษรจีน 4 ตัว
อักษรจีน 4 ตัว มีความหมายว่า
รักเกียรติจรรยาบรรณ
ยึดมั่นพันธสัญญา
ซื่อสัตย์มีความกล้า
ก้าวหน้าด้วยนวัตกรรม
หลังจากธนาคารไอซีบีซีได้ปรับตัวมาเกือบครึ่งปี ธนาคารได้เลือกฤกษ์วันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ณ โรงแรมพลาซ่าแอทธินี เพื่อบอกกล่าวให้นักลงทุน ผู้บริหารทั้งรัฐและเอกชน รวมไปถึงบุคคลทั่วไปร่วมกว่า 200 คนได้รับรู้
ในวันเปิดตัวธนาคารนำนักธุรกิจจากประเทศจีนจำนวน 30 บริษัทมาร่วม และในวันนั้น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง และเจียง เจี้ยนชิง ประธานกรรมการธนาคารไอซีบีซี (ประเทศจีน) เข้าร่วมงาน
เป้าประสงค์ในการนำนักธุรกิจจีนเดินทางมาเพื่อให้มาพบกับนักธุรกิจไทย และว่ากันว่านักธุรกิจจีน 30 บริษัท เดินทางมาในครั้งนี้มีรายได้มากกว่าจีดีพีของไทยในปัจจุบัน
การเดินทางของธนาคารไอซีบีซีเข้ามาสู่ประเทศไทย มีความชัดเจนที่จะใช้ เป็นฐานยุทธศาสตร์ขยายบริการด้านการเงินในภูมิภาคอาเซียน เพราะประเทศไทยมีภูมิศาสตร์ที่จะเป็นศูนย์กลาง ธุรกิจ หรือ Hub ในหลายๆ ด้าน
เหมือนดังเช่นที่ผ่าน สายการบินแอร์เอเซียมองเห็นและได้เข้ามาให้บริการราคาถูกจนสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างมหาศาล รวมไป ถึงประเทศญี่ปุ่นได้เลือกให้เป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และชิ้นส่วนเทคโนโลยี สื่อสารเพื่อส่งออกไปจำหน่ายในภูมิภาคนี้
แม้แต่ธนาคารซีไอเอ็มบี ประเทศมาเลเซีย เลือกประเทศไทยเป็นฐานเพื่อเชื่อม โยงเครือข่ายให้บริการด้านการเงิน เพราะธนาคารได้ กำหนดแผนธุรกิจไว้ว่าต้องการเป็นผู้นำด้านการเงินในภูมิภาคเอเชีย
โอกาสที่ประเทศเพื่อน บ้านเห็นประเทศไทยเป็นยุทธศาสตร์ กำลังช่วยต่อยอด ธุรกิจให้ก้าวไปอีกหลายก้าว ขณะที่ประเทศไทยยังสับสนอลหม่านและย่ำอยู่กับที่
แต่ธนาคารไอซีบีซีใช้ทั้ง "โอกาส" และ "จังหวะ" ที่มีอย่างสูงสุด
โอกาสของธนาคารไอซีบีซีคือความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีนเริ่มต้นเมื่อปี 1975 ยังไม่รวมถึงความสัมพันธ์ของนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนเข้ามาตั้งรกราก อยู่ในไทยยาวนานมากกว่านั้น
ยิ่งกว่านั้น "จังหวะ" ความร่วมมือระหว่างประเทศในอาเซียน ที่ได้จัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้กลายเป็นการพัฒนายุทธศาสตร์การค้าของจีนได้อย่างลงตัว
"ในโอกาสก่อตั้งธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ครั้งนี้ถือเป็นการสร้างสะพานเชื่อม ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศจีนกับไทย ซึ่งสามารถผลักดันให้มีการลงทุนด้านกิจการวิสาหกิจในไทยขยายตัวมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นการให้โอกาสวิสาหกิจไทยแสวงหาช่องทางธุรกิจจากจีนมากขึ้นด้วย" เป็นคำกล่าวของเจียง เจี้ยนชิง ประธานกรรมการ ธนาคารไอซีบีซี (ประเทศจีน) ในงานเปิดตัวธนาคารอย่างเป็นทางการที่ประเทศไทย
ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของประเทศไทย มียอดการค้าเสรีทวิภาคีในปี 2552 รวมราว 38,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนบริษัทจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น บริษัท China State Construction Engineering Corporation (CSCEC) บริษัท Zhong Xing Telecommunication Equipment Company Limited และ Haier เป็นต้น
ก่อนที่ธนาคารไอซีบีซีจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ได้มีบริษัทจีนหลายแห่งเข้ามาลงทุนอยู่แล้ว และกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง เช่น ระยอง ชลบุรี และสมุทรปราการ
และกลุ่มนักธุรกิจจีนส่วนหนึ่งจะกลายเป็นฐานลูกค้าธนาคารไอซีบีซีต่อไป โดยเฉพาะการส่งเงินกลับประเทศจีนในรูปสกุลเงินหยวน
การนำเงินหยวนเข้าไปในกลุ่มธุรกิจการค้าของไอซีบีซีจะเห็นมากขึ้น เพราะเจียง เจี้ยนชิงได้แสดงให้เห็นถึงแผนธุรกิจของธนาคารไอซีบีซี มีนโยบายผลักดันให้เงินหยวนเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียน
สิ่งที่ธนาคารไอซีบีซีเริ่มดำเนินการคือ ให้บริษัทในประเทศไทยสามารถโอนเงินสกุลหยวนในรูปแบบนิติบุคคลไปยังหัวเมืองหลักๆ 21 แห่งในจีนได้ในปัจจุบัน และใช้เวลาสั้นลงเหลือเพียง 1 วัน จากเดิมต้องแปลงเงินบาทให้เป็นเงินดอลลาร์ เพื่อไปเปลี่ยนเป็นเงินหยวนอีกครั้งในประเทศจีนต้องใช้เวลาทั้งหมด 2 วัน
การผลักดันใช้เงินหยวนยังรุกคืบ อย่างต่อเนื่อง เพราะธนาคารไอซีบีซีมีแผน จะปล่อยเงินกู้เป็นเงินหยวน รวมไปถึงออกบัตรเครดิตใบแรกที่ใช้ได้ทั้งเงินหยวนและเงินบาท รวมไปถึงเงินหยวนกับเงินสกุล อื่นๆ ในภูมิภาคนี้
การขยายให้มีการใช้เงินสกุลเงินหยวนเพิ่มขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ไม่ได้เป็นเป้าหมายของธนาคารไอซีบีซีเท่านั้น แต่ลึกๆ แล้วประเทศจีนก็มีความหวังว่าสกุลเงินหยวนจะเข้าไปมีบทบาทในการค้าโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจุบันธนาคารไอซีบีซีได้ขยายอาณาเขตให้บริการด้านการเงินไปแล้วในภูมิภาคนี้ 5 ประเทศคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย
สำหรับประเทศอินโดนีเซีย ธนาคาร ได้เข้าซื้อกิจการจากธนาคาร Halim เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา และเปิดสาขาในมาเลเซีย และฮานอย เวียดนาม
การขยายสาขาไปสู่ภูมิภาคอาเซียน ทำให้ธนาคารอยู่ระหว่างติดตั้งระบบเทคโน โลยีที่เรียกว่า FOVA เพื่อทำหน้าที่โอนเงิน ระหว่างประเทศ และเชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้งหมด และระบบดังกล่าวนี้กำลังติดตั้งในประเทศไทยรวมถึงสาขาในประเทศอื่นๆ
เทคโนโลยี FOVA เป็นระบบไอทีที่ ธนาคารให้ทีมงานพัฒนาขึ้นมา เพราะระบบจะรองรับบริการของธนาคารในฐานะ องค์กรขนาดใหญ่และรองรับเครือข่ายในต่างประเทศอีก 181 แห่งจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ธนาคารมีเป้าหมายเป็นผู้นำให้บริการผ่าน อินเทอร์เน็ตในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย
จุดแข็งอีกส่วนหนึ่งที่ธนาคารไอซีบีซี พยายามแสดงให้เห็นก็คือ ฐานลูกค้าบุคคล ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงทำให้ธนาคารมีจุดบริการในประเทศจีนถึง 16,210 แห่งทั่วประเทศ จำนวนฐานลูกค้าและจุดบริการจำนวนมาก ทำให้ไอซีบีซีในประเทศไทยมุ่งจะขยายกลุ่มลูกค้ารายย่อยมากขึ้นในอนาคต จากปัจจุบันมีลูกค้าหลักเป็นองค์กร
ดูเหมือนว่าธนาคารไอซีบีซีจะพร้อมทั้งเงินทุน เทคโนโลยี บุคลากร เหลือเพียงอย่างเดียวก็คือการเสียบปลั๊กเท่านั้น และเมื่อทุกอย่างทำงานเชื่อมโยงทั้งหมด มังกรตัวนี้ก็พร้อมจะโบยบิน
|
|
 |
|
|