
หลัง Transport Corridor ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงปัญหาทางการเมืองต่างๆ ที่เริ่มสงบลงเรื่อยๆ ได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่แถบนี้อย่างยิ่ง
เวทีสัมมนาเกี่ยวกับลุ่มแม่น้ำโขงช่วงหลายปีที่ผ่านมา ต่างประเมินถึงทิศทาง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศ GMS ตรงกันว่าเป็นอนุภูมิภาคที่มีศักยภาพ ด้านการท่องเที่ยวสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทั้งในแง่การดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก-การส่งออกนักท่องเที่ยว
เนื่องด้วยวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน เริ่มถูกนำมา บูรณาการต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวมากขึ้น
โดยใน 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง ไทย พม่า ลาว จีน กัมพูชา และเวียดนาม ประเมินกันว่าปีนี้ (2553) มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไม่น้อยกว่า 30 ล้านคน และคาดหมายกันต่อว่า อีก 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2558 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทาง เข้ามาเพิ่มเป็น 52 ล้านคน
รายงานการศึกษาเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงบูรณาการที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง; พ.ศ.2547-2553 ของมิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด และคณะ สถาบันวิจัยสังคม มช. ระบุว่า รายได้จากการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคนี้มีมูลค่ารวมกัน มากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ และมีอัตรา การขยายตัว 10.7% ใน 7 ปีที่ผ่านมา
อีก 5 ปีต่อจากนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยว ที่มีความสำคัญยิ่งก็คือนักท่องเที่ยวจากจีน ที่จะเป็นทั้งผู้ส่งออกนักท่องเที่ยวมากที่สุด และดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากที่สุด ในโลก
(อ่านเรื่อง "6 ประเทศ 1 แม่น้ำ ปลายทางท่องเที่ยวโลก" นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
แนวคิดนี้เริ่มสะท้อนให้เห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ตอนบน 2-3 ปีที่ผ่านมา ตัวแทนองค์กรด้านการท่องเที่ยวของจีน เทียวเดินสายประสานความร่วมมือเปิดตลาดท่องเที่ยวผ่านทางเขตปกครองตนเองชนชาติไต สิบสองปันนา มณฑลหยุนหนันอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 สำนักงานการท่องเที่ยวสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน นำโดยเผิง โบ รองผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวสิบสอง ปันนา พร้อมคณะตัวแทนรัฐ-เอกชนด้านการท่องเที่ยว เดินทางมาโปรโมตแหล่งท่องเที่ยวพร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนแนวทาง การพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกับจังหวัดเชียงราย
เผิง โบกล่าวว่า ช่วง 20 ปีมานี้ เขต ปกครองตนเองสิบสองปันนา พยายาม พัฒนาการท่องเที่ยวจนประสบความสำเร็จ และกลายเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของเมือง แล้ว ปัจจุบันสิบสองปันนามีโรงแรมอยู่ 42 แห่ง แหล่งท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน 2 แห่ง สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ 17 แห่ง เอกชนนำเที่ยว 22 ราย รถทัวร์ 480 คัน มัคคุเทศก์ 1,100 คน และมีผู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวด้านต่างๆ เช่น การเที่ยวป่า ประเพณีวัฒนธรรม เรือแม่น้ำโขง ฯลฯ รวมกันกว่า 30,000 คน
ปี 2552 มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนสิบสองปันนารวมจำนวนกว่า 7.32 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 17.2% เป็นชาว ต่างชาติประมาณ 150,000 คน
นอกจากนี้การท่องเที่ยวบนถนน R3a ระยะทาง 248 กิโลเมตร ซึ่งทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้บรรจุเอาไว้ในเส้นทางท่องเที่ยว ก็กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ชาวไทยและต่างชาติมาก ในปี 2552 มีนัก
ท่องเที่ยวไทยเดินทางผ่านถนนสายนี้ไปสิบสองปันนารวม 85,697 คน เพิ่มขึ้นกว่าเดิม 55.2%
ช่วงมกราคม-สิงหาคม 2553 มีคนไทยเดินทางผ่าน R3a ไปเยือนสิบสองปันนาแล้วกว่า 60,095 คน โดยมีการจัดตั้งสำนักงานเป็นศูนย์การท่องเที่ยวตามเมืองที่สำคัญระหว่างกัน ทั้งที่ สิบสองปันนา เมืองห้วยทราย สปป.ลาว เชียงราย เชียงใหม่ จะเปิดที่กรุงเทพฯ ภายในสิ้นปีนี้
พงษ์ธร ชยาตุลชาต ประธานบริษัทหย่าไทร์เอเชี่ยนทัวร์ จำกัด ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์กระจายสินค้าและท่องเที่ยวสิบสองปันนาประจำ จ.เชียงราย กล่าวว่าศูนย์ฯ ก่อตั้งมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 โดยการสนับสนุนของสำนักงานการท่องเที่ยวสิบสองปันนา บริษัทเทียนเฉินกรุ๊ปของจีน และบริษัทหย่าไทร์เอเชี่ยนทัวร์ จำกัด ปัจจุบันให้บริการด้านข้อมูลการ ท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้คือไทย จีน ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา และมีการจัดตั้งทัวร์ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งกำลังพัฒนาเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างนักศึกษาไทย-จีน ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไปด้วย
เขาบอกว่าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553-เมษายน 2554 มณฑลหยุนหนัน มีแผนจะนำนักท่องเที่ยวชาวจีนมาเยือน เชียงรายประมาณ 10,000 คน โดยได้มีการจัดกิจกรรมฟื้นฟูประเพณีและวัฒนธรรมด้านการท่องเที่ยวใน 5 เมือง ใหญ่ของมณฑล หากเมืองไหนชนะก็จะได้โควตาพาคนมาเที่ยวประมาณ 2,500 คน เฉพาะสิบสองปันนาก็มีคนเดินทางมาเยือน 2,500-2,800 คนแล้ว
อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวในย่านนี้ก็คืออุปสรรคเรื่องหนังสือผ่านแดน ที่แม้ว่าที่ผ่านมา ประเทศภาคีจะนำนโยบายการออกวีซ่า ณ จุดผ่านแดน (Visa on arrival) มาใช้มากขึ้นก็ตาม
แต่เป้าหมายสุดท้ายคือ Visa Free Zone ก็ยังไม่ปรากฏเป็นจริง
|