โฉมหน้าล่าสุดของสนามบิน Haneda กำลังปรับเปลี่ยนระบบการจราจรเหนือน่านฟ้าญี่ปุ่นให้เข้าสู่สมดุลใหม่ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับนานาชาติภายใต้บริบทที่อำนวยความสะดวกเชื่อมโยงเครือข่ายภูมิภาค-เมืองหลวง-ต่างประเทศเข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผ่านมา
หลักไมล์เริ่มต้นนับแต่ปี 1978 ที่ท่าอากาศยานนานาชาติ Narita* ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Narita International Airport (เปลี่ยนชื่อจาก New Tokyo International Airport เมื่อปี 2004) เปิดให้บริการแก่ผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นต้นมา ท่าอากาศยานนานาชาติ Haneda** ผันบทบาทเป็นสนามบินภายในประเทศแต่ยังคงเส้นทางบินพิสัยสั้นระหว่างประเทศไปยังเกาหลีใต้, เซี่ยงไฮ้, ฮ่องกง, ไต้หวัน ไว้ส่วนหนึ่งซึ่งไม่มากนัก
แม้ดูเหมือนว่าทั้ง Narita และ Haneda ต่างพัฒนาก้าวล้ำไปไกลจนได้ชื่อว่าเป็นสนามบินชั้นนำที่มีเที่ยวบินขึ้นลงหนาแน่นติดอันดับโลกก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วได้เกิดสุญญากาศคั่นกลางระหว่างท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่งนี้ เป็นความสัมพันธ์ แบบเส้นขนานที่ไม่อาจให้บริการผู้โดยสารได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะภายหลังจากที่เที่ยวบินจากต่างจังหวัดลงจอดที่สนามบิน Haneda แล้วผู้โดยสารจะต้องเดินทางโดยรถไฟหรือรถโดยสาร ประจำทางหรือรถยนต์ไปอีกอย่างน้อย 1 ชั่วโมงเพื่อต่อเที่ยวบินออกนอกประเทศหรือในทางกลับกัน กรณีที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าสู่ญี่ปุ่นที่สนามบิน Narita แล้วต้องต่อเครื่องไปยังต่างจังหวัด ก็ย่อมประสบกับความไม่สะดวกนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้
หรือแม้กระทั่งผู้โดยสารที่พำนักอยู่ในเมืองหลวงและปริมณฑล (ยกเว้นจังหวัด Chiba ซึ่งเป็น ที่ตั้งของสนามบิน Narita) ต่างเหนื่อยหน่ายกับการเดินทางไปยังสนามบินที่อยู่ไกลออกไปกว่า 60 กิโลเมตร
อานิสงส์จากสุญญากาศดังกล่าวจึงตกไปสู่ท่าอากาศยานนานาชาติ Incheon ประเทศเกาหลีใต้ ที่อ้าแขนเปิดรับเที่ยวบินจากสนามบินหลักในภูมิภาค ของประเทศญี่ปุ่น 28 แห่ง ซึ่งสามารถต่อเที่ยวบินโดยสารไปสู่ทุกทวีปทั่วโลกได้ตั้งแต่ปี 2001
ตัวเลขสถิติผู้โดยสารจากญี่ปุ่นประมาณ 80 ล้านคนต่อปีที่เดินทางไปต่างประเทศผ่านทางสนามบิน Incheon ซึ่งนอกจากสูญเสียรายได้ไปอย่างน่าเสียดายแล้วยังสูญเสียความสามารถการแข่งขันในระดับสากลในฐานะประตูเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกับอเมริกา ทั้งที่มีทำเลภูมิประเทศที่ได้เปรียบกว่ากลายเป็นความท้าทายต่อการพลิกผันภาวการณ์การเสียโอกาส ภายใต้ข้อจำกัดที่เป็นแรงต้านมาแต่อดีต ประการแรกคือสนามบิน Haneda ตั้งอยู่บริเวณริมอ่าวด้านใต้ของมหานครโตเกียวมีข้อจำกัดเรื่องการขยายขนาดสนามบินอีกทั้งเรื่องของงบประมาณ
ประการที่สอง ทั้งที่ระดับความก้าวหน้าการคมนาคมในระบบรางของประเทศญี่ปุ่นจะอยู่ในระดับแถวหน้าของโลก การสร้างรถไฟ Shinkansen จากใจกลางมหานครโตเกียวก็ดีหรือเชื่อมต่อระหว่างสนามบินทั้ง 2 แห่งเข้าด้วยกันกลับกลายเป็นเรื่องยากที่เกิดจากปัญหาการเวนคืนที่ดินมากกว่าความล้าหลังของเทคโนโลยี
นอกจากนี้เรื่องมลภาวะทางเสียงที่จำกัดเวลาขึ้นลงเที่ยวบินของสนามบิน Narita ซึ่งทุกจังหวะการก้าวขยายสนามบินจะถูกคนท้องถิ่นรอบๆ สนามบินประท้วงเสมอมา ยุทธศาสตร์ระดับชาติ ซึ่งกลั่นกรองออกมาจากความคิดที่ใช้เติมเต็มช่องว่างสุญญากาศที่เกิดขึ้นด้วยแนวคิดของ "Dual Hub Airports" ที่ยกระดับศักยภาพของสนามบิน Haneda ในฐานะสนามบิน นานาชาติอย่างเต็มรูปแบบโดยไม่ทับซ้อนกับบทบาทเดิมที่มีอยู่ของสนามบิน Narita
การก่อสร้าง Runway D เส้นที่ 4 ทางด้านทิศใต้ของสนามบินซึ่งแล้วเสร็จและเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2010 สามารถเพิ่มเที่ยวบินขึ้นได้อีกเท่าตัวหรือประมาณ 60,000 เที่ยวบินต่อปี ซึ่งในระยะแรกเพิ่มเส้นทางบินระหว่างประเทศไปยังเมืองหลักกว่า 10 แห่งทั่วโลกอย่างเช่น กรุงเทพฯ, กัวลาลัมเปอร์, สิงคโปร์, ลอนดอน, ปารีส, ฮอนโนลูลู, ลอสแองเจลิส, ซาน ฟรานซิสโก, แวนคูเวอร์, ดีทรอยต์, นิวยอร์ก โดยทำการบินระหว่างประเทศในช่วง 23.00-07.00 น. หลังจากนั้นเป็นเวลาทำการปกติสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินไปโซล, ปูซาน, ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, ฮ่องกง และไทเป
กลไก Dual Hub Airports นี้จะช่วยเพิ่มทาง เลือกและความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างส่วนภูมิภาคกับต่างประเทศโดยผ่านทางท่าอากาศยานนานาชาติ Haneda ทั้งขาไปและกลับ นอกจากนี้ยังเป็นกำหนดการเดินทางในอุดมคติสำหรับกลุ่มเป้าหมายสำคัญ อันได้แก่ นักธุรกิจและนักท่องเที่ยววัยทำงานในเขตเมืองหลวงและปริมณฑลที่สามารถเดินทางไปยังปลายทางต่างประเทศได้ในช่วงกลางคืนโดยไม่เสียวันลาพักและเดินทางกลับเข้ามาทำงานต่อได้ทันทีในตอนเช้าเมื่อเครื่องลงจอดสู่สนามบิน Haneda
จุดแข็งอีกประการหนึ่งคือ การคมนาคมระหว่างสนามบิน Haneda เชื่อมต่อกับใจกลางมหานครโตเกียวโดยรถไฟ 2 สาย ได้แก่ Tokyo Monorail ใช้เวลา 16 นาทีถึงสถานี Hamamatsucho ซึ่งสามารถต่อรถไฟ JR Yamanote ได้โดยตรงและรถไฟ Keikyu (Keihin Kyuko Railway) ใช้เวลา 22 นาทีถึงสถานี Shinagawa นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงเมือง Yokohama และสนามบิน Narita ได้เช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้นผู้โดยสารใช้เวลาเพียง 1 นาทีจากทางออกของสถานีรถไฟทั้ง 2 สายสู่ Counter Check-in ของสายการบินภายใน Departure Hall ได้ทันที
การเปิดให้บริการใน International Terminal ของสนามบิน Haneda ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ทั้งในแง่การสร้างงาน กอบกู้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และรายได้เข้าประเทศ โดยประมาณ การรายได้จากค่าบริการสนามบินทั้ง 2 แห่ง 1,000 ร้อยล้านเยน ค่าที่พักของนักท่องเที่ยวคาดว่า เพิ่มขึ้น 1,100 ร้อยล้านเยน รายรับจากการจำหน่าย สินค้าและของที่ระลึก 850 ร้อยล้านเยนต่อปี
นอกจากนี้ความร่วมมือจากสายการบินพันธมิตรทั้งในเครือข่าย oneworld โดยมีสายการบิน Japan Airlines เป็นเจ้าบ้าน, Star Alliance โดยมีสายการบิน All Nippon Airways เป็นเจ้าบ้าน และ Skyteam อีกทั้ง Low Cost Airline เช่น Air Asia ที่มีแผนเพิ่มเส้นทางการบินเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารนับแต่นี้เป็นต้นไป
กำเนิดของ Dual Hub Airports ของญี่ปุ่นในห้วงเวลานี้จึงมิได้แสดงภาพลักษณ์ของการเชื่อมประสานเส้นทางระหว่างทวีปเอเชียกับทวีปอเมริกาผ่านน่านฟ้าญี่ปุ่นโดยอาศัยความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์เพียงลำพังแต่ยังสะท้อนนัยสำคัญของวิสัยทัศน์ที่พร้อมพุ่งทะยานขึ้นสู่บทบาทผู้นำแห่งอุตสาหกรรมการบินย่าน Asia-Pacific ในศตวรรษนี้ อีกครั้ง
อ่านเพิ่มเติม :
* คอลัมน์ Japan Walker นิตยสารผู้จัดการฉบับเดือนกรกฎาคม 2549 หรือ http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=49646
** คอลัมน์ Japan Walker นิตยสารผู้จัดการฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2548 หรือ http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=29187
|