Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2533
40 ปีของ "ซิงเสียนเยอะเป้า"             
 


   
search resources

Newspaper
ซิงเป้า (ไทย)




หนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทยนั้นมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 87 ปีที่แล้ว เป็นการเกิดขึ้น จากจุดประสงค์ทางการเมืองอย่างชัดเจน หนังสือพิมพ์จีนฉบับแรกในพ.ศ. 2446 คือ "ฮั่งเก้งรายวัน" เป็นกระบอกเสียงในหมู่คนจีนในประเทศไทยให้กับราชวงศ์แมนจู ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาสิบปีก่อนหน้าที่ราชวงศ์แมนจูจะถูกโค่นล้มลง

ฝ่ายปฏิวัติของซุนยัดเซ็นนั้นก็มีหนังสือพิมพ์จีนในไทยเป็นเครื่องมือเผยแพร่อุดมการณ์เหมือนกันคือ "มุ่ยน้ำรายวัน" และ "หมี่น้ำรายวัน" จนกระทั่งราชวงศ์แมนจูล้มไปแล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระลอกที่สอง จากระบบสาธารณรัฐเป็นสังคมนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์หนังสือพิมพ์จีน ก็เปลี่ยนตามไปด้วยโดยแบ่งเป็นฝ่ายที่นิยมจีนแผ่นดินใหญ่และฝ่ายที่ยืนอยู่ข้างรัฐบาลไต้หวัน

87 ปีของหนังสือพิมพ์จีนในไทย ทำให้สีสันทางการเมืองเจือจางลงไปมากตามการคลี่คลายของการเมืองระหว่างประเทศ คงไว้แต่เพียงจุดยืนอ่อนๆ ที่เกิดจากความผูกพันกับแผ่นดินชาติกำเนิดหรือที่มาของเงินทุน ประการหลังนี้มีนัยถึงหนังสือพิมพ์จีนฉบับหนึ่งซึ่งตกเป็นกิจการในเครือของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในไต้หวัน

ช่วงเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ มีหนังสือพิมพ์จีนเกิดขึ้นมาแล้วล้มหายตายจากไปรวมแล้วประมาณ 50 ฉบับจนถึงปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 6 ฉบับซึ่งล้วนแต่เป็นหนังสือพิมพ์จีนที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือซิงเสียนเยอะเป้า, ตงฮั้ว เกียฮั้ว (ศิรินคร), ซินจงเอี๋ยน และกังเซียน

ในจำนวนนี้ ซิงเสียนเยอะเป้ามีอายุเก่าแก่ที่สุด เพิ่งจะฉลองครบรอบ 40 ปีไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี่เอง ซิงเสียนเยอะเป้าก่อตั้งขึ้นโดยสองพี่น้องตระกูลโอ้วคือโอ้วบุ้นโฮ้วและโอ้วบุ้นปา มหาเศรษฐีชาวสิงคโปร์เจ้าของบริษัทกลุ่มแจ็คเจียผู้ผลิตยาหม่องตราเสืออันลือลั่น ซิงเสียนเยอะเป้าฉบับแรกออกวางตลาดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2493

ปี พ.ศ.2514 ลูกเขยและลูกสาวของโอ้วบุ้นปาคือ ลี (ลีเอ็กซิม) และสุรีย์ (โอ้วเช็งซิน) สันติพงศ์ชัย ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทซิงเป้า (ไทย) ซึ่งเป็นเจ้าของซิงเสียนเยอะเป้า และนับแต่นั้นมา ลีก็ได้เข้ามาบริหารซิงเสียนเยอะเป้าจนถึงปัจจุบันที่มีทายาทรุ่นที่สอง เนตรา ฤทัยยานนท์ ขึ้นมารับช่วงแทน

เนตราเป็นลูกสาวคนที่สามของลี จบการศึกษาระดับปริญญาโทการประชาสัมพันธ์จากมหาวิทยาลัยบอสตันเมื่อสิบปีที่แล้ว หลังจากทำงานกับบริษัทเพรสโก้ได้ปีเศษก็เข้ามาช่วยพ่อบริหารงานที่ซิงเสียนก่อนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการได้ปีเศษๆ ต่อจากน้องชายคือ อารี สันติพงศ์ชัย ซึ่งเร้นกายจากสังคมไทยไปเรียนหนังสืออยู่ที่ลอสแองเจลิสในขณะนี้

ระยะเวลาที่ยาวนานถึงสี่สิบปีบวกกับการบริหารงานที่ต่อเนื่องกันมาตลอดในมือของตระกูลสันติพงศ์ชัยแต่เพียงผู้เดียว ในขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของและทีมบริหารกันมากครั้ง รวมไปถึงภาพพจน์ "ความเป็นกลาง" ในการเสนอข่าวคราวความเคลื่อนไหวจากแผ่นดินใหญ่มากกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ เป็นปัจจัยที่ส่งให้ซิงเสียนขึ้นมายืนอยู่หัวแถวเป็นประหนึ่งไทยรัฐของวงการหนังสือพิมพ์จีน

"ถ้ามีคนถามว่าพิมพ์เท่าไร เราจะบอกว่า 80,000 ฉบับต่อวัน" เนตรา พูดถึงยอดพิมพ์ของซิงเสียนเยอะเป้า ในธุรกิจหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไรนั้นยอดพิมพ์และยอดจำหน่ายนั้นถือเป็นความลับอย่างยิ่งยวดที่คนนอกยากที่จะรับรู้ได้ แม้จะเปิดเผยออกมาบ้างก็เป็นที่รับรู้กันว่าความเป็นจริงหลายเท่าตัว และยังต้องแยกแยะกันให้ชัดเจนระหว่างยอดพิมพ์กับยอดขายด้วย

แหล่งข่าวที่ติดตามความเคลื่อนไหวของหนังสือพิมพ์จีนรายหนึ่ง ประเมินยอดขายรวมกันทุกฉบับว่ามีอยู่ประมาณหนึ่งแสนฉบับต่อวันในจำนวนนี้เป็นของอันดับหนึ่งอย่างซิงเสียนเยอะเป้าประมาณ 25,000 ฉบับต่อวัน

ตลาดของหนังสือพิมพ์จีนนั้นจัดเข้าเป็นตลาดที่เล็กมากเพราะมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะผู้ที่รู้ภาษาจีนเท่านั้น แถมกลุ่มเป้าหมายนี้นับวันก็จะหดลงทุกที เพราะคนเก่าก่อนที่อ่านได้ก็ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่ก็กลายเป็นไทยเต็มตัวจนละเลยภาษาของบรรพบุรุษเสียสิ้น โรงเรียนสอนภาษาจีนที่เคยมีอยู่มากมายเมื่อสิบกว่าปีก่อนก็ปิดตัวเองจนเหลืออยู่ไม่กี่แห่งเพราะทนขาดทุนไม่ไหว โรงเรียนที่จะเกิดใหม่ก็เกิดไม่ได้เพราะกฎหมายห้ามเปิด ความแพร่หลายของการใช้ภาษาจีนจึงถูกตีกรอบให้อยู่ในวงแคบๆ ไปโดยปริยาย

นอกจากนั้นพัฒนาการใหม่ๆ ของหนังสือพิมพ์ไทยอังกฤษและสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ก็เป็นไปอย่างรวดเร็วตอบสนองความต้องการข่าวสารของประชาชนได้อย่างทันอกทันใจ และทั่วถึงยิ่งซ้ำเติมให้หนังสือพิมพ์จีนมีสภาพเหมือนสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์เข้าไปทุกที

อนาคตของหนังสือพิมพ์จีนแม้กระทั่งหมายเลขหนึ่งอย่างซิงเสียนนั้นจึงไม่ต้องถามว่าจะโตไปกว่านี้หรือไม่ เอากันแค่รักษาตลาดที่มีอยู่ในตอนนี้ไม่ให้หดเล็กลงไปให้ได้ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจแล้ว

หนังสือพิมพ์จีนนั้นตีพิมพ์จำหน่ายกันสัปดาห์ละเจ็ดวัน ขายกันฉบับละหกบาทหรือบอกรับเป็นสมาชิกส่งถึงบ้านทุกเช้าในอัตราเดือนละ 150 บาท 80 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายเป็นการขายในระบบสมาชิก ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้หนังสือพิมพ์จีนรักษาจำนวนผู้อ่านไม่ให้ลดลงอย่างฮวบฮาบไว้ได้ เพราะความสัมพันธ์กันอย่างยาวนานตามอายุหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์จีนก็เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวคนจีนที่แม้จะไม่ค่อยได้อ่านกันก็ยังรับเป็นสมาชิกอยู่ด้วยค่าใช้จ่ายเพียงวันละห้าบาทเท่านั้น

ในช่วงห้าปีมานี้จำนวนคนอ่านกลับขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย "ยอดขายของเราในช่วงสองปีมานี้เพิ่มขึ้นประมาณ 10%" วิสิทธิ์ ว่องศิลป์วัฒนา ผู้จัดการทั่วไปซึ่งรับผิดชอบการจัดจำหน่ายด้วยเปิดเผย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดูจะสวนทางกับการประเมินจากสายตาคนภายนอกต่อการเติบโตของธุรกิจหนังสือพิมพ์จีนอยู่พอสมควร

ปัจจัยสำคัญที่ดึงให้ยอดขายของหนังสือพิมพ์จีนเขยิบขึ้นมาเล็กน้อยคือกลุ่มผู้อ่านที่เป็นคนไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกงและจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งการลงทุนโดยตรงและการเก็งกำไรที่ดินและตลาดหุ้น

แม้ว่าสังคมธุรกิจไทยจะมีพัฒนาการที่ซับซ้อนขึ้น แต่กลุ่มธุรกิจชาวจีนก็ยังกุมชีพจรการเคลื่อนไหวของธุรกิจไว้ และสายสัมพันธ์ระหว่างคนจีนด้วยกันก็ยังคงมีความสำคัญ หนังสือพิมพ์จีนเป็นสื่อที่จะติดตามและเข้าถึงความเคลื่อนไหวในชุมชนชาวจีนได้ดีที่สุดสำหรับนักธุรกิจเชื้อชาติจีนจากต่างแดน

"หน้าโฆษณาย่อยโดยเฉพาะการซื้อขายที่ดินได้รับความสนใจมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้" เนตรายกตัวอย่าง

ถึงแม้ว่าตลาดผู้อ่านจะเล็กแต่การแข่งขันกลับไม่รุนแรง เข้าทำนองต่างคนต่างมีกลุ่มผู้อ่านที่แน่นอนของตนอยู่แล้ว จุดแข่งขันในด้านข่าวของหนังสือพิมพ์จีนแทบจะไม่มี เพราะเกือบทั้งหมดเป็นข่าวที่แปลมา ถ้าเป็นข่าวต่างประเทศซึ่งหนังสือพิมพ์จีนให้ความสำคัญมาตลอดโดยขึ้นเป็นข่าวหน้าหนึ่ง และมีจำนวนข่าวมากกว่าหนังสือพิมพ์ภาษาไทย ใช้การซื้อข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศโดยตรง ส่วนข่าวในประเทศนั้นส่วนใหญ่แปลจากข่าวกรมประชาสัมพันธ์และอ.ส.ม.ท.เป็นหลัก

จุดแข่งขันจึงอยู่ที่การเลือกข่าวและวิธีการแปลข่าวรวมทั้งการพาดหัวซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของหนังสือพิมพ์จีน

หนังสือพิมพ์จีนในยุคที่ข่าวสารทางธุรกิจมีความสำคัญมากขึ้นมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสโดยการแยกข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจที่เคยแทรกอยู่ในหน้าข่าวในประเทศออกมาเป็นเซ็กชั่นธุรกิจโดยเฉพาะ

"เราเริ่มมีเซ็กชั่นธุรกิจนี้ตั้งแต่ปี 2527" เนตรากล่าว

นอกเหนือจากข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางธุรกิจทั่วๆ ไปแล้ว หน้าธุรกิจของซิงเสียนยังรายงานภาวะการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแบบวันต่อวันเหมือนหนังสือพิมพ์ไทยด้วย รวมไปถึงความเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยในและนอกประเทศ ราคาพืชผล ราคาทอง อัตราแลกเปลี่ยน

"เราไม่สามารถเล่นข่าวธุรกิจที่เป็นข่าวเจาะหวือหวาแบบหนังสือพิมพ์ไทยได้" ทวี ยอดเพ็ชร์ บรรณาธิการของซิงเสียนพูดถึงข้อจำกัดในการเสนอข่าวซึ่งเป็นข้อจำกัดของหนังสือพิมพ์จีนทุกฉบับด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคนจีนจึงมักเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ที่เป็นบวก โดยหลีกเลี่ยงจากการวิพากษ์วิจารณ์โดยสิ้นเชิง เพราะนักธุรกิจใหญ่ๆ ที่มีเชื้อสายจีนนั้นสามารถบงการความเป็นความตายของหนังสือพิมพ์จีนได้โดยการงดโฆษณาหรือการบีบเจ้าของหนังสือพิมพ์ได้อย่างง่ายดาย

ตงฮั้วยิดเป้าเมื่อสองปีที่แล้ว เคยฉีกธรรมเนียมในวงการด้วยการเสนอข่าววิพากษ์วิจารณ์ธนาคารกรุงเทพอย่างต่อเนื่องหลายฉบับ โดยแปลมาจากคอลัมน์ของมังกรห้าเล็บในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งทำความฮือฮาให้กับคนอ่าน ซึ่งเคยอ่านแต่ข่าวในด้านบวกจนทำให้ยอดขายของตงฮั้วเพิ่มขึ้นมา แต่ชาตรี โสภณพนิช ไม่สนุกด้วย ถึงกับมีคำสั่งให้หยุดการเสนอข่าว ไม่เช่นนั้นจะงดโฆษณาและฟ้องหมิ่นประมาททั่วราชอาณาจักรเดือดร้อนถึงเจ้าของหนังสือพิมพ์ต้องเข้าพบชาตรีเพื่อขอขมาลาโทษเป็นการใหญ่

รายได้จากโฆษณานั้นถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงหนังสือพิมพ์จีนให้มีชีวิตอยู่ได้เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ไทย แต่หนังสือพิมพ์จีนนั้นยังมีรายได้อีกอย่างหนึ่งที่หนังสือพิมพ์ไทยไม่มีและถือเป็นรายได้ที่สำคัญไม่แพ้การโฆษณาสินค้า คือการลงประกาศแสดงความยินดีอวยพรหรือแสดงความไว้อาลัยต่อคนจีนที่เสียชีวิต ซึ่งถือเป็นเรื่องของการยกย่องให้เกียรติต่อบุคคลที่เป็นเป้าหมายของการอวยพรหรือไว้อาลัย ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องหน้าตาและการรักษาสายสัมพันธ์ของผู้ลงแจ้งความด้วย

"ค่าโฆษณาเต็มหน้าประมาณหนึ่งหมื่นบาทต่อวัน" แหล่งข่าวในวงการเปิดเผยถึงรายได้จากแจ้งความประเภทนี้ซึ่งมีลงทุกวัน วันละหลายๆ ชิ้น ถ้าเป็นวันเกิดของคนสำคัญอย่างเช่นอุเทน เตชะไพบูลย์ หรือวันมงคลของลูกหลานคนใหญ่คนโตในสังคมชาวจีน หน้าแจ้งความนี้จะมากถึงกับต้องทำเป็นฉบับพิเศษขึ้นมาซึ่งมีมูลค่าเป็นเงินนับแสนบาท

ปัญหาใหญ่ของหนังสือพิมพ์จีนรมทั้งซิงเสียนในเฉพาะหน้านี้ ไม่ใช่เรื่องคนอ่าน หรือรายได้ที่จะมาหล่อเลี้ยงตัวเองแต่เป็นปัญหาบุคลากรรุ่นใหม่ที่จะมาทดแทนคนเก่า คนที่ทำหนังสือพิมพ์จีนอยู่ในปัจจุบันนี้ล้วนแต่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจนถึง 70 กว่า ในขณะที่คนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามามีน้อยมากเพราะหาแรงจูงใจแทบไม่ค่อยได้ แถมยังต้องมีความรู้ภาษาจีนเป็นอย่างดีด้วย

"เรื่องนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ของวงการหนังสือพิมพ์จีน" ทวีกล่าว

40 ปีของซิงเสียนเยอะเป้าในวันนี้ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จที่จารึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทย ความรุ่งโรจน์ที่มากกว่านี้เป็นเรื่องยากเกินจะหวัง ขอเพียงแต่ยืดประวัติศาสตร์หน้านี้ให้ยาวนานสำหรับการฉลองครบรอบให้มากครั้งที่สุดก็เป็นสิ่งที่น่าจะเพียงพอแล้ว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us