|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เครื่องสำอางเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขึ้น ไม่เฉพาะกลุ่มสตรีเท่านั้น ปัจจุบันพบว่าตลาดผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอางมีความหลากหลายทั้งในเรื่องของราคาและคุณภาพที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน
ปรากฏการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ภาวะการแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลเพิ่มสูงขึ้นทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดนอกประเทศ และทวีความรุนแรงมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2554 มูลค่าตลาดเครื่องสำอางนำเข้าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 17,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 (YoY) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของมูลค่าตลาดเครื่องสำอางของไทย
แม้ว่าจะมีการประมาณการเศรษฐกิจของประเทศจะมีการเติบโตที่ชะลอลง แต่ผู้บริโภคยังคงหันมาใส่ใจกับการดูแลความสวยงามและสุขภาพ รวมทั้งผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
จากสินค้านำเข้าทั้งจากประเทศกลุ่มประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เนื่องจากผลของข้อตกลงกรอบการค้าเสรี (FTA) ต่างๆ ที่ส่งผลให้ภาษีนำเข้าลดลงเหลือร้อยละ 0 เมื่อช่วงต้นปี 2553
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศประกอบด้วยสิ่งปรุงแต่งที่ใช้แต่งหน้าหรือบำรุงผิว สิ่งปรุงแต่งสำหรับใช้กับผม สิ่งปรุงแต่งเพื่ออนามัยในช่องปากและฟัน สิ่งปรุงแต่งที่ใช้โกนหนวด อาบน้ำ และดับกลิ่นตัว หัวน้ำหอมและน้ำหอม ขณะที่กลุ่มที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภายในประเทศแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยมีกลุ่มผู้จำหน่ายเครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศโดยได้รับลิขสิทธิ์ใช้เครื่องหมายการค้าจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของเครื่องสำอางที่มีจำหน่ายในประเทศ
ขณะที่กลุ่มผู้จำหน่ายเครื่องสำอางที่ผลิตในต่างประเทศหรือเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศโดยตรง (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20) โดยเครื่องสำอางกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเครื่องสำอางที่มีตราสินค้าเป็นที่รู้จักกันดีในวงกว้างและชื่อเสียงที่สั่งสมมานาน แต่มีราคาค่อนข้างแพง ซึ่งสินค้าที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกลุ่มเพื่อความสวยงาม (Cosmetics)
ส่วนกลุ่มผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศและใช้ตรา ของคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเครื่องสำอางประเภทสารสกัดจากธรรมชาติ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10)
ช่องทางการจำหน่ายภายในประเทศพบว่านอกจากจะจำหน่ายผ่านห้างสรรพสินค้า (Counter Sale) การจำหน่ายผ่าน ระบบขายตรง (Direct Sale) และการจำหน่ายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต แล้ว ร้านเสริมสวยหรือสถาบันเสริมความงาม (Beauty Salon) ร้านขายยา (Drug Store) และร้านสะดวกซื้อ (Convenient Store) ก็เป็นช่องทางที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน
ในปี 2553 ไทยมีการนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 3 ไตรมาสแรกคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 10,878.61 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 (YoY) โดยแหล่งนำเข้าเครื่องสำอางที่สำคัญของไทยยังคงเป็นสหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 21.8) และฝรั่งเศส (สัดส่วนร้อยละ 16.0) ที่ยังคงรักษาส่วนแบ่งการตลาด อย่างสม่ำเสมอ ส่วนในแถบเอเชียนั้นยังคงเป็นญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 13.2) และอินโดนีเซีย (สัดส่วนร้อยละ 8.5) รวมถึงเกาหลีใต้ที่เป็นตลาดใหม่แรง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.3 โดยผลิตภัณฑ์นำเข้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเครื่องสำอางสำหรับเสริมความงามใบหน้าและบำรุงรักษาผิว กลุ่มเครื่องสำอางที่ใช้กับผม และกลุ่มหัวน้ำหอมและน้ำหอม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61.0, 11.2 และ 10.1 ของมูลค่าการนำเข้าเครื่องสำอางทั้งหมด ตามลำดับ
ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่การขยายตัวของการนำเข้าจากตลาดเกาหลีใต้ แม้ว่าในปัจจุบันยังมีการนำเข้าเป็นมูลค่าเพียง 429.50 ล้านบาท แต่มีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 110.6 (YoY) ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มเติบโตที่สูงกว่าตลาดอื่นๆ ในเอเชีย
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้มากที่สุดคือ กลุ่มเครื่องสำอางสำหรับเสริมความงามใบหน้าและบำรุงรักษาผิว คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 92.7 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากเกาหลีใต้ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้เข้ามาเป็นตลาดใหม่ครองใจผู้บริโภคชาวไทย ได้แก่ กระแสเกาหลีฟีเวอร์ที่เป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกันของวัฒนธรรมเพลงป๊อปของเกาหลี แฟชั่นการแต่งกาย ทรงผม รวมไปถึงเครื่องสำอางและเทรนด์การแต่งหน้า
ทั้งนี้ ผลจากค่าเงินบาทแข็งตัวอย่างต่อเนื่องในหลายเดือน ที่ผ่านมา ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ส่งผลทำให้สินค้านำเข้ามีราคาถูกลงในสายตาของผู้นำเข้า ทำให้ผู้บริโภคมีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยได้มาก อีกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปให้ความสำคัญและใส่ใจดูแลกับรูปลักษณ์ภายนอกมากขึ้น ทำให้เครื่องสำอางแทบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์เข้ามา เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตประจำวันทุกเพศทุกวัย แม้ว่าจะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยก็ตาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์เครื่อง สำอางของไทยอาจจะต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการไหลเข้ามาของสินค้าเครื่องสำอางนำเข้า ทั้งนี้หากพิจารณาถึงศักยภาพ ของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศจะพบว่า ในตลาดระดับกลางถึงล่างยังมีความได้เปรียบอยู่มาก เนื่องจากเป็นกลุ่มตลาดกลางที่มีการเติบโตสูงและมีศักยภาพเพียงพอในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความพร้อมของวัตถุดิบที่มีเอกลักษณ์และความหลากหลาย รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมานี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการของไทยควรปรับแผนกลยุทธ์และแนวทางการตลาดให้เท่าทันสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ
ทั้งนี้การผสานความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความสำคัญในการกำหนดแผนรวมกลุ่มวิสาหกิจหรือคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมเกี่ยวโยง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถและพัฒนาผลิตภาพของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดเครื่องสำอางมากขึ้นและสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
|
|
|
|
|