|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หลังจากบิ๊กซี เบียด โลตัส ซื้อกิจการคาร์ฟูร์ในเมืองไทยได้สำเร็จ ว่ากันว่าสมรภูมิที่ร้อนแรงขึ้นมาทันทีทันใด กลับไม่ใช่สโตร์นับร้อยแห่งที่เหล่าไฮเปอร์มาร์เกตเป็นเจ้าของ แต่เป็นสมรภูมิค้าปลีกในโลกออนไลน์ต่างหาก
การเปิดตัวเว็บไซต์ www.atbigclick.com ที่มี Mooto ห้อยท้ายว่า Click and Pick เปิดให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ได้ง่ายๆ สะท้อนให้เห็นถึงการรุกคืบครั้งใหญ่ของบิ๊กซีในตลาดใหม่ๆ ที่มีโอกาส เพราะมองเห็นถึงศักยภาพและการเติบโตของตลาดดังกล่าวในเมืองไทยที่เติบโตมากขึ้นทุกปี
จริยา จิราธิวัฒน์ รองประธานฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIG C คาดว่า การซื้อสินค้าผ่านออนไลน์จะมีการสั่งซื้อไม่น้อยกว่า 100 รายการต่อวัน และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าว่า @BIGCLiCK จะสามารถสร้างยอดขายได้ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทภายใน 2 ปี
ไอลีน วี รองประธาน และผู้จัดการประจำประเทศไทย มาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการชอปปิ้งออนไลน์ใน 14 ประเทศรวมทั้งไทย พบว่า การชอปปิ้ง ออนไลน์และอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
สังเกตได้จากจำนวนผู้ซื้อของออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น และมูลค่าเฉลี่ยของการใช้จ่ายในการซื้อของออนไลน์ก็สูงขึ้นจาก 400 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 13,200 บาท จากผลสำรวจครั้งก่อน เพิ่มขึ้นเป็น 550 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18,150 บาท ในการสำรวจรอบนี้ โดยผู้บริโภคผู้ชายที่อายุระหว่าง 35-44 ปี จะมีการชอปปิ้งมากกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงถึง 620 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 20,460 บาท
“นักชอปคนไทยมีทัศนคติที่ดีในการชอปปิ้งออนไลน์ โดย 85% ให้ความเห็นว่าการซื้อของออนไลน์เป็นช่องทางที่สะดวก และจำนวน 81% มองว่าง่าย และอีก 77% บอกว่าสนุก สำหรับประเทศไทย มีผู้บริโภคที่ตั้งใจจะซื้อของออนไลน์ในอนาคต เพิ่มขึ้นจาก 66% เมื่อปีที่แล้ว เป็น 69%”
ในรอบผลสำรวจนี้ โดยเว็บไซต์สินค้าที่คนไทยเข้าไปชมมากที่สุด คือ เว็บโหลดเพลง จำนวน 53% เสื้อผ้า เครื่องประดับจำนวน 50% ภาพยนตร์จำนวน 49% และซูเปอร์มาร์เกต หรือซูเปอร์สโตร์จำนวน 43% ส่วนสินค้าและบริการออนไลน์ยอดนิยมที่คนไทยชอปมากที่สุด คือ เสื้อผ้าสตรี และเครื่องประดับจำนวน 47% ซีดี ดีวีดี วีซีดี จำนวน 30% และเครื่องสำอางจำนวน 30%” ปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้นักชอปชาวไทยชอปออนไลน์ คือ ราคาถูก เมื่อเทียบกับสินค้าที่มีวางจำหน่ายในร้านค้า และมีจำหน่ายเฉพาะออนไลน์เท่านั้น
อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด กล่าวสนับสนุนว่า ในปีหน้า การค้าปลีกออนไลน์ Retail e-Commerce และการค้าบนเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก Social Commerce จะมาแรง ถือได้ว่าปีหน้าจะเป็นปี Kick-off ของร้านค้าออนไลน์ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ของไทย และจำนวนของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อและมั่นใจกับการจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์มีมากขึ้น นับเป็นช่องทางที่เป็นยุทธศาสตร์ในการแข่งขันที่น่าจับตามอง เพราะการปิดการขายและชำระเงินได้ทันทีย่อมเป็นเป้าหมายในฝันของธุรกิจส่วนใหญ่
เจ้าของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซรูปแบบต่างๆ จึงต้องมีความสามารถในเรื่อง Usability & User Experience ที่ตอบโจทย์ การบริหารจัดการและวางแผนการขาย การสต๊อกสินค้าและการขนส่งที่แม่นยำ รวมถึงการให้ความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้ ในขณะเดียวกันเราจะเห็นร้านค้าออนไลน์แบบ Social Commerce ที่เข้ามาเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
แม้ว่าแนวโน้มตลาดชอปปิ้งออนไลน์จะดูสดใส แต่ดูเหมือนว่า เทสโก้ โลตัส ยักษ์ค้าปลีกจากยูเครายนี้ กลับยังไม่ตัดสินใจที่จะลงสนามดังกล่าว แม้จะมีความพร้อมทั้งเงินลงทุน และโนว์ฮาวจากบริษัทแม่ก็ตามที
“เราสนใจ แต่อยู่ระหว่างการศึกษาความพร้อมของตลาด แม้บริษัทแม่ของเราจะมีโนว์ฮาวที่เข้มแข็ง สะท้อนได้จากรายได้การค้าออนไลน์ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ผมก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะเข้ามาทำธุรกิจในตลาดนี้ได้เมื่อใด” ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส เทสโก้ โลตัส บอกกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์”
ในขณะที่ยักษ์ใหญ่อย่างเทสโก้ โลตัส กำลังละล้าละลัง แต่ค้าปลีกรายอื่นๆ ทั้งรายใหม่และเก่า กลับตัดสินใจลงสู่สนามนี้อย่างเต็มตัว อาทิ Uber Mall ห้างสรรพสินค้าเสมือนจริง 3 มิติ แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือในการพัฒนาดิจิตอล คอนเทนต์ ร่วมกันระหว่าง ไทย เจนเนอเรชั่น และบริษัท ดิจิคราฟต์ จำกัด ผู้พัฒนาและก่อตั้ง U Town สังคมออนไลน์เสมือนจริง ในรูปแบบ 3 มิติ หรือ 3D Virtual Community Online ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
หรือการจัดทำ www.2010MegaSale.com เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของธนาคารกสิกรไทย โดยมีจุดเด่นในเรื่องความมั่นใจในระบบการชำระเงินที่มีความปลอดภัยสูงสุด
ล่าสุดกับการทุ่มงบ 50 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบไอทีของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รุกธุรกิจออนไลน์โดยให้บริการผ่านเว็บไซต์ www.central.co.th โดยมีสินค้า 5,000 รายการจาก 8 แคทิกอรี เช่นเดียวกับเดอะมอลล์ซึ่งตั้งเป้าจะเปิดแผนกชอปปิ้งออนไลน์ขึ้นมาโดยตรงในปีหน้า
ทั้งนี้ จากการวิจัยล่าสุดโดย PayPal และ Blackbox พบว่า การชอปปิ้งออนไลน์ได้รับการตอบรับเพิ่มมากขึ้นจากผู้บริโภคในประเทศไทย จากผลการศึกษาพบว่า กว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างมีความต้องการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ และคาดว่า 53% ของค่าใช้จ่ายโดยรวมเกิดจากการใช้จ่ายทางออนไลน์ทั้งสิ้น
ไม่นานมานี้ อีเบย์ อิงค์ ยักษ์ใหญ่ในวงการชอปปิ้งออนไลน์ เปิดเผยว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังไปได้สวยจากการเติบโตของธุรกิจเพย์พาล (PayPal) ที่มียอดการเปิดบัญชีใหม่เพิ่มขึ้นถึงล้านบัญชีต่อเดือน อีกทั้งส่วนแบ่งภายในตลาดอีคอมเมิร์ซมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง มากกว่า 40% ต่อปี สนับสนุนให้บรรดาเว็บไซต์ให้บริการเช่าพื้นที่ร้านค้าออนไลน์มีรายได้มากขึ้น แม้สินค้าที่นำมาขายจะเป็นสินค้ามือสองหรือของใช้แล้วก็ตาม
ไม่เพียงเท่านั้น การเข้าสู่โลกชอปปิ้งออนไลน์ ยังเปิดทางใหม่ให้เจ้าของโมเดิร์นเทรด สามารถจัดกิจกรรมกับลูกค้าได้ผ่านคูปองส่วนลด ซึ่งกำลังเป็นแนวโน้มที่ได้รับความสนใจในต่างประเทศ โดยเฉพาะการจัดทำ deal พิเศษ 10 ชิ้นต่อวัน ใครมาก่อนได้ก่อน และแสดงเวลานับถอยหลังนาทีโปรโมชั่น ซึ่งเท่ากับเร่งให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการยังสามารถเข้าถึงพฤติกรรมการสั่งซื้อสินค้าของผู้บริโภคแต่ละราย และสามารถนำมาออกแบบบริการให้สอดคล้องกับความต้องการผู้บริโภคได้มากขึ้น สร้างความประทับใจ และภักดีต่อแบรนด์ของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง
**************
15 อันดับสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการชอปปิ้งออนไลน์
1.หนังสือและงานศิลปะ
2.อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
3.คือ CD DVD และ VCD
4.เสื้อผ้าแฟชั่นของผู้หญิง
5.ตั๋วเครื่องบิน
6.ของเล่นและของขวัญ
7.ของอุปโภค บริโภค
8.บัตรชมภาพยนตร์และคอนเสิร์ต
9.เครื่องสำอาง
10.ของใช้ส่วนตัว
11.จองโรงแรม
12.เสื้อผ้าแฟชั่นของผู้ชาย
13.ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
14.ยา
15.ประกันภัย
โดย MasterCard
|
|
|
|
|