Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์9 ธันวาคม 2553
3 กูรูตอบโจทย์ HR วางกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน             
 


   
search resources

Knowledge and Theory




จากงานสัมมนา FTPI 19th Anniversary Productivity Conference : Productive Work in the Creative Economy “เพิ่มผลิตภาพ ด้วยความคิดสร้างสรรค์” ที่จัดขึ้นโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้เชี่ยวชาญด้านงานทรัพยากรมนุษย์ร่วมให้ความรู้และมุมมองเกี่ยวกับการวางกลยุทธ์และแนวโน้มของงานเอชอาร์ในปีหน้า เพื่อให้ทุกองค์กรเตรียมพร้อมรับมือและสามารถบริหารจัดการคนซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญให้เคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้อง

๐ สร้างสุขอย่างสร้างสรรค์

สุชาดา สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ “Healthy Organization towards Sustainable Growth” โดยนำประสบการณ์และชีวิตจริงมาบอกกล่าวเพื่อเป็นข้อคิดในเรื่องการสร้างองค์กรแห่งความสุขว่า เมื่อมองไปในอดีตจะเห็นว่าอาคารสถานที่ซึ่งเป็นส่วนสร้างความสุขให้กับคนในองค์กรนั้นมีความสำคัญมาก แต่ในปัจจุบันกลับลดความสำคัญลงไปมาก เพราะขนาดของที่ทำงานสามารถลดลงได้ ขณะเดียวกันกับการสามารถทำงานที่บ้านหรือนอกบ้านด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่พัฒนาไปไกล เข้ามาช่วยให้เกิดความสะดวกกว่าเดิมมาก อย่างไรก็ตาม อาคารสถานที่ที่ดีและไม่ดีต่อสุขภาพย่อมส่งผลต่อความสุขของคนในองค์กร ขณะที่ บรรยากาศการทำงานขึ้นกับคนในองค์กรที่ต้องช่วยกันสร้างให้เกิดการร่วมมือกันเป็นสำคัญ

สำหรับหลักการทำงาน 5 H ที่ทุกคนในองค์กรต้องคำนึงถึง ประกอบด้วย Head การใช้หัวคิดในการทำงาน Hand การให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ Heart ต้องใส่ใจในการทำงาน Habit พฤติกรรมหรืออุปนิสัยที่เหมาะสม และ Harmonyความกลมกลืนสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันของคนทั้งองค์กร เพื่อนำไปสู่ productivity ขององค์กร

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ฝ่ายเอชอาร์ต้องระลึกถึงคือ แม้คนเพียงคนเดียวที่ไม่มีความสุขในองค์กรสามารถส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อองค์กรได้อย่างมหาศาล เช่น เมื่อประมาณ 25 ปีก่อนมีอดีตพนักงานของโรงงานผลิตยาแห่งหนึ่งที่มีความฝังใจโกรธแค้นบริษัท จึงลักลอบนำยาพิษใส่เข้าไปในกระบวนการผลิต สร้างความเสียหายให้กับบริษัทอย่างมากเพราะยาถูกส่งไปขายในหลายประเทศ แต่เนื่องจากพนักงานส่วนอื่นๆ ที่รักองค์กรช่วยกันอย่างเต็มที่เพื่อค้นหาสาเหตุจึงทำให้สรุปและหยุดวิกฤติที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนให้ฝ่ายเอชอาร์ได้อย่างดีกับการสร้างความสุขให้คนในองค์กร เพราะต้องมองว่าหากพนักงานต้องจากไปก็ต้องเป็นการจากกันด้วยดี

นอกจากนี้ คำถามที่ควรจะหาคำตอบท่ามกลางการเจริญเติบโตก้าวหน้าขององค์กรมี 3 คำถาม คือ 1. ขณะนี้องค์กรของเราอยู่ได้หรือไม่ 2.ขณะนี้องค์การของเราอยู่ดีหรือไม่ และ3.ขณะนี้องค์กรของเราจะยั่งยืนหรือไม่ และด้วยเหตุผลอะไร เพื่อเป็นการวิเคราะห์องค์กรของเราเอง ซึ่งคำตอบที่ได้จะมีคนเป็นปัจจัยสำคัญ และจะทำให้เห็นว่าการมีสุขภาพจิตที่ดีของคนในองค์กร เป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดองค์กรแห่งความสุข

สำหรับการทำงานอย่างมีความสุข ที่ปรึกษาฯ แนะนำว่ามี 4 คนที่ต้องทำดีด้วยคือ 1.เพื่อนร่วมงาน โดยต้องรับรู้ความรู้สึกของกันและกัน และควรจะมีความรู้สึกที่ดีต่อกันแม้จะมีความขัดแย้งกันทางความคิด ต้องคิดว่าขณะที่เราต้องอดทนกับเขา เขาก็ต้องอดทนกับเราเหมือนกัน 2.หัวหน้า ควรจะดูหัวหน้าเป็นตัวอย่าง หากเราไม่ศรัทธาในตัวเขา เรายิ่งต้องทำตัวเองให้เป็นที่น่าศรัทธา 3.ลูกน้อง เมื่อเป็นหัวหน้าต้องมองว่ามีหน้าที่สนับสนุนหรือช่วยดูแลให้ลูกน้องทำงานได้ เพื่อจะสามารถซื้อใจจากลูกน้องได้ เพราะหัวหน้าไม่สามารถทำทุกอย่างเองได้ทั้งหมด ความสำเร็จของหัวหน้าอยู่ที่ลูกน้อง และ4.เพื่อน เพราะการมีเพื่อนช่วยให้ชีวิตมีความสุขจากการแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กันและกันได้

๐ มุ่งสู่เอชอาร์เชิงกลยุทธ์

มาริสา เชาว์พฤติพงศ์ ที่ปรึกษาาอาวุโส บริษัท การจัดการธุรกิจ จำกัด กล่าวในหัวข้อ “Strategic HRM” ว่า จุดแรกเมื่อกล่าวถึงการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์นั้นต้องทำความเข้าใจอย่างแท้จริงว่าต้องเป็นกลยุทธ์ที่เชื่อมโยงกับกลยุทธ์ที่เป็นเป้าหมายขององค์กร และต้องมองไปในระยะยาวว่าจะทำอย่างไรจึงจะแปลงบทบาทของเอชอาร์ให้กลายเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (Stratergic Partner) ขององค์กร ความแตกต่างระหว่างเอชอาร์เชิงกลยุทธ์กับเอชอาร์แบบพื้นๆ คือการมองในระยะยาว ซึ่งเอชอาร์ไม่น้อยที่ยังเข้าใจไม่ถูกต้อง และให้ความสำคัญไปกับงานประจำต่างๆ ในแบบเดิม

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงเรื่อง การบริหารงานด้านทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ต้องมองให้ออกว่าจะดึงกลยุทธ์ทางธุรกิจเข้ามาแซมในวิธีการทำงานเอชอาร์ได้อย่างไร ต้องเข้าใจว่ากลยุทธ์หลักที่ก่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรมี 4 ส่วน ประกอบด้วย 1.Innovation 2.Quality 3.Cost Control และ4.Speed ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายเอชอาร์ต้องนำมาใช้

ในส่วนของการสร้างนวัตกรรมนั้น หมายถึงการคิดนอกกรอบ การคิดในสิ่งใหม่ๆ เช่น การที่ทุกคนต้องมีโต๊ะทำงานประจำก็สามารถที่จะปรับเป็นโมบายออฟฟิศ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายเอชอาร์ต้องคิดให้ได้เพื่อให้ได้ผลงานที่ต้องการตามเป้าหมาย นอกจากนี้ ต้องเข้าใจว่าจุดบอดของการบริหารผลงานอยู่ที่ฝ่ายบริหาร ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือหรือวิธีการบริหารต่างๆ ที่ใช้ไม่ได้ผลเพราะผู้บริหารใช้ไม่เป็น ดังนั้น กลยุทธ์การบริหารผลงานต้องแก้ไขที่ทัศนคติของผู้บริหารซึ่งมักจะเข้าใจว่าเครื่องมือในการประเมินผลเป็นเครื่องมือของฝ่ายเอชอาร์ ทั้งที่ในความเป็นจริงต้องเป็นเครื่องมือของไลน์แมเนเจอร์ทุกคนที่ต้องใช้ในการประเมินลูกน้อง ซึ่งสิ่งที่ซ่อนอยู่คือการใช้เพื่อพัฒนาหัวหน้าว่า เพราะเครื่องมือประเมินผลเป็นเครื่องมือในการพัฒนาองค์กร และสามารถใช้ขับเคลื่อนงาน

สิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปคือ ผู้บริหารมักจะช่วยลูกน้องด้วยการตั้งเป้าที่ลูกน้องสามารถทำได้ และมักจะแสดงความรักลูกน้องด้วยการใช้เงินขององค์กรเพื่อให้รางวัลกับลูกน้อง ซึ่งไม่ถูกต้องและไม่เป็นผลดีต่อองค์กร นอกจากนี้ ยังโยนปัญหาให้ฝ่ายเอชอาร์กับซีอีโอเมื่อการขึ้นเงินเดือนไม่เป็นไปตามที่เสนอ

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของฝ่ายเอชอาร์คือการทำให้คนในองค์กรมี high performance แต่การกำหนดเป้าหมายในงานอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เพราะเมื่อบอกตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ให้กับพนักงานในองค์กรมักจะมีคำถามเกิดขึ้นเสมอว่า “ถ้าทำแล้วจะได้อะไร” เพราะฉะนั้น จึงต้องตั้งเป้าหมายให้ทุกคนค้นหาเป้าหมายในชีวิตของเขาให้เจอ แล้วเชื่อมโยงเป้าหมายชีวิตของเขากับเป้าหมายขององค์กร เมื่อนั้นคำถามดังกล่าวจะไม่เกิดเพราะเขารู้ว่าเมื่อองค์กรได้เขาได้ด้วย

ฝ่ายเอชอาร์ต้องคิดว่า ทุกครั้งที่ลงทุนลงแรงไปกับคนแล้วมี productivity เพิ่มขึ้นหรือไม่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการคิดกลยุทธ์ในการบริหารจัดการคนคือทำอย่างไรที่จะเพิ่มขีดความสามารถของคนที่มีอยู่ให้ทำงานได้มากขึ้น ต้องคิดว่าจะทำงานให้แตกต่างจากที่เคยทำอย่างไรเพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ต้องออกแบบกระบวนการทำงานใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรมแทรกเข้าไป ต้องรู้ว่างานอะไรที่สามารถจ้างคนภายนอกกับงานที่คนภายในทำได้ดี และแนวทางใหม่ๆ ในการจ้างงาน รวมทั้ง การสร้างแบรนด์ขององค์กร

๐ ฝ่าความท้าทายใหม่

รัชฎา อสิสนธิสกุล วิทยากรที่ปรึกษาด้านการจัดการองค์กร สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวในหัวข้อ “HR กับการเพิ่มผลิตภาพและสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร”ว่า ความยากของงานบริหารคนมาจากการมีปัจจัยต่างๆ ที่แปรปวนและเพราะเรื่องคนเป็นเรื่องเข้าใจยาก แต่เพราะการบริหารจัดการคนมีความสำคัญต่อความอยู่รอดและเติบโตขององค์กร รวมทั้ง ต่อประเทศชาติอีกด้วย ดังนั้น ฝ่ายเอชอาร์จึงมีบทบาทมาก

เพื่อให้เห็นภาพชัดถึงงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ จะเห็นว่ามีการแบ่งเป็น 3 ระดับ กล่าวคือถ้าเป็น “องค์กรในระดับเริ่มต้น” งานของฝ่ายเอชอาร์จะมุ่งไปกับการสร้าง infrastructure ต่างๆ เช่น การออกกฎระเบียบมากมายเพื่อให้คนปฏิบัติตาม ขณะที่ “องค์กรที่พัฒนาแล้ว” จะพูดถึง productivity กับefficiency ของคนในองค์กร ส่วน “องค์กรชั้นนำ” จะพูดถึง innovation ซึ่งเป็นระดับที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ดังนั้น เมื่อรู้ว่าองค์กรอยู่ในระดับใดก็สามารถใช้กลยุทธ์ในการบริหารคนโดยเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ

สำหรับความท้าทายที่ฝ่ายเอชอาร์ต้องเตรียมความพร้อมในวันนี้มีหลายเรื่อง ที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือ Cross Cultural Management เพราะไม่ว่าจะเป็นองค์กรระดับไหน แต่อีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Community) ทำให้มี 7 อาชีพซึ่งคนในประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสามารถทำได้โดยไม่ต้องมี work permit คือไม่ต้องขอใบอนุญาติทำงานอีกต่อไปแล้ว ซึ่งเอชอาร์จะต้องเตรียมรับมือ

ในขณะที่ องค์กรขนาดใหญ่อาจจะมีปัญหาการถูกซื้อตัวหากไม่สามารถรักษาคนที่มีความสามารถ (knowledge worker)ไว้ได้ ข้อสำคัญคือ productivity ของ knowledge worker ไม่ใช่เรื่องที่บริหารได้ง่าย เพราะหากคนที่มีความรู้คิดเพียงว่าอยากทำงานเหมือนคนอื่น ไม่อยากทำงานให้ดีขึ้น productivity จะหายไปอย่างมหาศาลซึ่งในแง่ของธุรกิจสามารถคิดเป็นมูลค่าออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น การบริหาร knowledge worker จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ฝ่ายเอชอาร์ต้องตระหนัก

เมื่อ knowledge worker เป็นปัจจัยความสำเร็จขององค์กร ดังนั้น ฝ่ายเอชอาร์ต้องตอบคำถาม 6 ข้อที่คนกลุ่มนี้มักจะถามคือ 1.งานของเขาคืออะไร ถ้างานไม่ท้าทายจะไม่ทำ หรือทำไปอย่างนั้นเพราะถือว่ามีศักยภาพที่สูงกว่า 2.บริหารจัดการตัวเองได้หรือไม่ ขอให้บอกเป้าหมายมาว่าต้องการอะไรจากเขาก็พอ 3.มีช่องทางหรือโอกาสให้สร้างผลงานที่มีคุณค่าต่อองค์กรหรือไม่ เพราะฉะนั้น เรื่องของ Innovation ต้องเป็นหนึ่งในงานที่ได้รับมอบหมาย 4.สามารถเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและสอนคนอื่นด้วยได้หรือไม่ 5.งานที่จะทำต้องสามารถวัดผลเชิงปริมาณ และ6.งานที่ทำต้องส่งมอบคุณค่าต่อคนอื่นได้ด้วย

วิทยากรที่ปรึกษาฯ ทิ้งท้ายว่า ความท้าทายของเอชอาร์ในปีหน้า ที่มีแนวโน้มว่าจะให้ความสำคัญอย่างมากคือการบริหารความเครียดเพราะจะช่วยให้องค์กรมีความสุข การสร้างสมดุลในชีวิตและการทำงาน การทำให้คนในองค์กรสามารถบริหารงานด้วยตนเอง (Self Organize) ไม่ต้องรอคำสั่งของหัวหน้าอย่างเดียว ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง การมีระบบการทำงานแบบยืดหยุ่น ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมหรือโครงสร้างแบบเครือข่าย โดยการทำงานไม่ขึ้นกับตำแหน่งหน้าที่ ทุกคนสามารถปรับเปลี่ยน ในโครงการหนึ่งเป็นโปรเจ็กแมเนเจอร์ แต่อีกโครงการหนึ่งเป็นสต๊าฟ ซึ่งบริษัทในยุโรปกำลังใช้อยู่มาก เช่น เนส์เล่ และยังมุ่งไปที่เรื่องของการสร้างการเปลี่ยนแปลง (Change Management) เพื่อต่อยอดความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่นให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้ง ความท้าทายจากการขับเคลื่อนประชาคมเศรษบกิจอาเซียนที่จะส่งผลกระทบในภาพรวม   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us