|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เปิดแผนกิน 2 ต่อ เอส เอสฯ หลังได้หุ้นเสริมสุข 25% เตรียมเดินหน้าบีบกลุ่ม “บุลสุข” ให้ซื้อหุ้น หวังฟันกำไรเท่าตัว ก่อนขายต่อให้กับเป๊ปซี่ โค จับตาอนาคตเสริมสุข มีสิทธิหลุดจากตลาดฯ หากปล่อยต่างชาติถือหุ้นใหญ่
ในสภาพฝุ่นตลบระหว่าง 2 ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหญ่ใน บมจ.เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ที่เปิดฉากฟ้องร้องกันวุ่นวายระหว่าง บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 24.9% และกลุ่ม “บุลสุข” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นดั้งเดิม 21%
รวมไปถึงความลึกลับของบริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด นิติบุคคลจดทะเบียนซึ่งจัดตั้งไว้ที่เกาะบริติช เวอร์จิ้น ไอส์แลนด์ ในทะเลแคริบเบียน ซึ่งโผล่เข้ามาอย่างกะทันหันในฐานะผู้ทำคำเสนอซื้อหุ้นจำนวนอย่างต่ำ 25% ของบริษัท เสริมสุข
นักลงทุนรายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยของ บมจ.เสริมสุข เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” ว่า รู้สึกสับสนและงุนงงกับสิ่งที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่กลุ่มเป๊ปซี่-โค อิงค์ ได้ยื่นแบบประกาศเจตนาในการเข้าถือหลักทรัพย์ เพื่อครอบงำกิจการ บริษัท เสริมสุข เมื่อ 27 เม.ย.2553 โดยแต่งตั้ง บริษัท สตราทีจิค เบฟเวอร์เรจเจส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ทำคำเสนอซื้อจากนักลงทุนทั่วไป ในราคาหุ้นละ 29 บาท แต่ไม่ประสบความสำเร็จแล้ว
“ครั้งนั้นทางกลุ่มบุลสุข ได้ออกมาบอกกับผู้ถือหุ้นรายย่อยว่า ไม่ให้ขายในราคานี้เพราะต่ำเกินไป แต่ปรากฏว่า ทางกลุ่มโอสถานุเคราะห์ก็ได้ขายหุ้นออกไปให้ทางกลุ่มบุลสุข ซึ่งตอนนั้นทุกคนก็คิดว่า เป็นความร่วมมือของสองตระกูลนี้ที่ไม่ต้องการให้หุ้นใหญ่ตกไปอยู่ในมือของต่างชาติ”
เขากล่าวต่อว่า แต่ยิ่งประหลาดใจมากขึ้น เมื่อจู่ๆ ก็ปรากฏกลุ่มทุนใหม่อย่าง เอส เอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 โดยมีทุนจดทะเบียนเพียง 50 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นใครที่ไหนก็ไม่รู้ แถมยังไม่มีปูมหลังที่แสดงถึงประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจขนาดใหญ่อย่าง บมจ.เสริมสุข ได้ แต่กลับต้องการที่จะเข้ามาเป็นผู้ทำคำเสนอซื้อหุ้นบริษัท เสริมสุข ถึง 25% ด้วยราคาที่แสนจะจูงใจ คือ 42 บาท/หุ้น จากก่อนหน้านี้ที่เป๊ปซี่-โคฯ ตั้งราคาไว้เพียง 29 บาทเท่านั้น ส่วนแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการเสนอซื้อหลักทรัพย์มาจากการกู้ยืมจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นมูลค่า11,167,820,328 บาท โดยแบงก์กรุงเทพนั้นได้ปล่อยให้กู้ยืมเต็มจำนวนหุ้น 100%
“ผมแปลกใจว่า ตามปรกติการนำใบหุ้นไปจำนำส่วนใหญ่แบงก์จะปล่อยอย่างมากก็ 70% ของราคาหุ้น ไม่น่าจะถึง 100% ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไรแบงก์กรุงเทพถึงเกรงใจบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่แห่งนี้มากนัก”
ผู้ถือหุ้นรายย่อยของเสริมสุข เชื่อว่า หลังจากที่ กลุ่ม เอส เอสฯ ได้หุ้นเสริมสุข 25% แล้ว สิ่งที่พวกเขาจะทำต่อไปมีอยู่สองทางเลือกด้วยกัน ทางเลือกแรก จะขายหุ้นกลับคืนให้กับกลุ่มบุลสุขทันที ในราคาหุ้นละ 70-80 หรือ 100 บาท และกลุ่มบุลสุข ก็น่าจะตัดสินใจซื้อเสียด้วย
“สาเหตุที่กลุ่มบุลสุขรับซื้อหุ้นดังกล่าว แม้ว่าจะมีราคาสูงมากกว่าเดิมกว่าเท่าตัว ก็เพราะว่าถ้ากลุ่มบุลสุขไม่ยอมซื้อ ทางกลุ่ม เอส เอสฯ ก็จะนำหุ้น 25% นี้ไปขายให้กับเป๊ปซี่-โคฯ นั่นหมายความว่า พวกเขาก็จะเสียเปรียบในด้านสัดส่วนการถือหุ้นทันที เพราะเป้าหมายของเป๊ปซี่-โคฯ เมื่อซื้อเสร็จแล้ว ก็จะนำบริษัทออกนอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย อาทิ ยูนิลีเวอร์ หรือพีแอนด์จี ในปัจจุบัน ซึ่งสะดวกในการบริหารงานและควบคุมต้นทุน”
ส่วนทางเลือกที่สองก็คือ ซื้อหุ้นของกลุ่มบุลสุขในราคาหุ้นละ 70-100 บาท เช่นเดียวกัน แล้วนำมาขายต่อให้กับกลุ่มเป๊ปซี่-โคฯ ในราคาที่อาจจะมากกว่า 100 บาทต่อหุ้น
นักวิเคราะห์ตลาดน้ำดำอีกรายกล่าวเสริมว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เป๊ปซี่-โคฯ จะต้องกลับมาซื้อหุ้นของเสริมสุขอีกครั้ง และต้องซื้อให้ได้ เพราะก่อนที่จะประกาศเจตนาว่าจะซื้อหุ้นจากเสริมสุขในรอบแรกนั้น เป๊ปซี่-โคฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจในอเมริกาเหนือ ด้วยการซื้อกิจการผู้ผลิต 2 กิจการ คือ เป๊ปซี่ บอทเทิลลิง กรุ๊ป และเป๊ปซี่ อเมริกา ด้วยเงินกว่า 7,800 ล้านดอลลาร์ จนสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดไปตามๆ กัน เพราะเป็นการเปลี่ยนลักษณะการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มน้ำอัดลมในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา
โดยนอกจากเป๊ปซี่แล้ว โคคา-โคลา ก็ได้ประกาศซื้อกิจการของบริษัทที่รับช่วงการบรรจุขวดน้ำอัดลมชื่อ โคคา-โคลา เอนเตอร์ไพรส์ ซึ่งเป็น Bottler รายใหญ่ที่สุด ดูแลพื้นที่อเมริกาเหนือด้วยเช่นเดียวกัน
นักวิเคราะห์มองว่า ที่มาของการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจทั้งของเป๊ปซี่ และโคคา-โคลา เกิดจากความต้องการที่จะลดต้นทุนการผลิตลงไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องขยับราคาขาย ในภาวะที่วัสดุหรือวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตน้ำอัดลมขยับราคาสูงขึ้นตามลำดับ แต่ผู้บริโภคไม่อยู่ในสภาวะที่จะจ่ายเงินมากขึ้นได้ ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ว่า เป๊ปซี่มองการเข้ามามีบทบาทในตลาดที่ตัวเองประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างเมืองไทย ในลักษณะเดียวกัน
นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ ยังเป็นหัวใจสำคัญในการทะลุทะลวงตลาดเพื่อจับกลุ่มผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมในการดื่มแตกต่างกัน หรือแม้แต่ผู้บริโภคคนเดียวกัน ที่เลือกดื่มบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างในวาระและโอกาสต่างๆ กันไป
ความหลากหลายของบรรจุภัณฑ์จึงเป็น Key Point อย่างหนึ่ง ดังนั้น Bottler จึงต้องไล่กวดเทรนด์นี้อย่างไม่ลดละ ทั้งสีสัน รูปทรง ขนาด และวัตถุดิบที่ใช้ แต่บางครั้งก็ไม่อาจสนองตอบความต้องการของเจ้าของแบรนด์ได้มากพอ
นอกจากประโยชน์ในธุรกิจน้ำดำแล้ว ยังส่งผลต่อการแตกขยายไปยังน้ำดื่มประเภทอื่นๆ ของเป๊ปซี่ และโค้ก มีโอกาสสัมฤทธิผลได้ดียิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมา Bottler ของทั้ง PepsiCo และ Coca-Cola Co ล้วนแล้วแต่มีผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของตนเองจำหน่าย เหมือนกับที่เสริมสุขมีน้ำดื่มคริสตัล คลับโซดา และไทยน้ำทิพย์มีน้ำดื่มน้ำทิพย์
เมื่อกิจการของ Bottler ตกไปอยู่ในมือของ PepsiCo และ Coca-Cola Co แล้ว ย่อมต้องยกเลิกการจัดจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ และหันมาทำโฟกัสตลาดให้กับแบรนด์น้ำดื่มที่ส่งตรงมาจากบริษัทแม่เกือบทั้งหมด
ชนินทร์ เทียนเจริญ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท อาเจ ไทย จำกัด ให้มุมมองว่า จากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดน้ำดำทั่วโลก ทางเดียวที่จะคุมคอร์สค่าใช้จ่ายได้ นั่นคือ จะต้องเป็นผู้ลงทุนเองทั้งระบบ ซึ่งทุกวันนี้ บริษัท เสริมสุข หรือบริษัท ไทยน้ำทิพย์ ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์สินค้าให้กับบริษัทแม่ปีละไม่ต่ำกว่า 20% ของยอดขาย ทำให้ไม่สามารถทำราคาสินค้าให้ถูกลงได้ แต่บิ๊กโคล่า ทำราคาต่ำได้ เนื่องจากไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์สินค้าให้กับบริษัทแม่ เพราะบริษัทแม่เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด
“ประเด็นก็คือ เอส เอสฯ หวังสองเด้ง เพราะพวกเขาไม่ได้มองถึงตัวรายได้จากน้ำดำ แต่มองถึงอนาคต มูลค่าเพิ่มของธุรกิจเสริมสุข นั่นก็คือ โลจิสติกส์และธุรกิจจัดจำหน่ายอื่นๆ ที่มีตัวเลขโตขึ้นมาเรื่อยๆ แม้ปัจจุบันรายได้จากน้ำดำจะเป็นรายได้หลักแต่ก็อิ่มตัว ไม่เติบโตมากนัก ตรงนี้เขาไม่ได้สนใจเท่าใด แต่สนใจธุรกิจอื่นๆ ที่มีอนาคตมากกว่า” นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกรายสะท้อน
สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ถือหุ้นรายย่อยของเสริมสุข และนักลงทุนอีกหลายราย มองตรงกันว่า เอส เอสฯ จะทำเทนเดอร์ฯ 25% ได้แน่นอน เพราะลึกๆ แล้ว พวกเขามั่นใจว่า PepsiCo จะต้องกลับเข้ามาซื้อใหม่ เนื่องจากถูกแรงบีบจากการแข่งขัน โดยเฉพาะการรุกคืบของกลุ่มน้ำดำจากเปรูอย่างบิ๊กโคล่า ที่ปัจจุบันเป็นผู้นำในตลาดละตินอเมริกาไปแล้ว
ดังนั้น เป๊ปซี่จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้สิทธิในการถือหุ้นใหญ่ เพราะจะมีผลกระทบกับตำแหน่งทางการตลาดของเป๊ปซี่ โดยเฉพาะในเมืองไทยซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่มีชัยเหนือโค้ก และแน่นอนว่า อีกไม่นานเราก็อาจจะเห็นโค้กไปใช้วิธีการเดียวกันกับเป๊ปซี่-โคฯ ในบริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด และบมจ.หาดทิพย์ เช่นเดียวกัน
|
|
|
|
|