Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2531
ลมที่เปลี่ยนทิศของเลี่ยวไพรัตน์             
 


   
www resources

โฮมเพจ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (TPI) - ทีพีไอ

   
search resources

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย, บมจ.
ประชัย เลี่ยวไพรัตน์
พร เลี่ยวไพรัตน์
Agriculture




เลี่ยวไพรัตน์เป็นกลุ่มธุรกิจที่พลิกแพลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา เริ่มต้นสั่งสมทุนด้วยธุรกิจภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ครั้นถึงจุดจุดพลุกลับหักเหเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีศักดิ์ศรี บัดนี้ส่งมอบสู่มือที่ 2 ด้วยความมั่นคงและท้าทายที่จะเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยุคใหม่อย่างแท้จริง…

ความผันแปรต่อนเองของสถานการณ์แต่ละยุคสมัยให้คำตอบที่แจ่มชัดมากกว่าธุรกิจที่เคลื่อนไฟวไม่หยุดนิ่ง ปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเยี่ยงธุรกิจของ "เลี่ยวไพรัตน์" นั้นทรงอิทธิพลมากพอที่จะตัดสินชะตากรรมคนในประเทศให้ร้อนๆ หนาวๆ ได้ไม่ยากเย็น

"เลี่ยวไพรัตน์" ปรากฏตัวให้เป็นที่กล่าวขานด้วยการจ้วงจาบยามที่ ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะอึมครึมของสงครามโลกครั้งที่สองประสานเข้ากับหมากกลทางการค้าที่ตัวเองมีอยู่แล้วอย่างเหมาะเจาะ "เลี่ยวไพรัตน์" อาศัยฐานความเป็นโรงสีไฟขนาดใหญ่ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการส่งมอบข้างเปลือกขายให้กับบริษัทข้าวไทย ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำและผ่อนคลายการกุมอำนาจเศรษฐกิจในการขายข้าวที่ตกอยู่ในกำมือของคนต่างชาติเสียเป็นส่วนใหญ่

ความสำเร็จของบริษัทข้าวไทยที่เอื้อพยุงฐานะของประเทศให้ทรงตัวอยู่ได้นั้น ในอีกด้านหนึ่งย่อมต้องเป็นความสำเร็จของ "เลี่ยวไพรัตน์" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และคนที่ต้องพูดถึงเป็นคนแรกของเลี่ยวไพรัตน์ ก็ย่อมหนีไม่พ้น พร เลี่ยวไพรัตน์

พร เลี่ยวไพรัตน์ - เป็นลูกชายคนแรกของเปี๊ยะยู้-ไน้ แซ่เลี่ยว คหบดีใหญ่ของเมืองสระบุรีที่มีกิจการค้ามากมายทั้งโรงสี โรงฆ่าสัตว์ โรงเหล้า โรงยาฝิ่น เดิมทีครอบครัวของพรจะส่งเขาไปเรียนต่อที่เซี่ยงไฮ้ บังเอิญเกิดสงครามโลกขึ้นมาเสียก่อน เขาเลยชวดโอกาสดังกล่าว ทำให้พรต้องกลับมาช่วยทางบ้านทำการค้าอย่างจริงจัง และเป็นเขานี่ล่ะที่เสนอความคิดขยายกำลังผลิตของโรงสีที่มีอยู่แลว้ให้ผลิตได้สูงถึง 40 เกวียน ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังควบคุมการส่งมอบข้าวให้กับบริษัทข้าวไทย

พรทำให้ "เลี่ยวไพรัตน์" ร่ำรวยขึ้นมาจนพุ่งขึ้นเป็นนายทุนข้ามชาติภาคเกษตรกรรมได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว กระทั่งทำให้สนามภูธรที่เขาคลุกคลีอยู่กับพวกพืชไร้ทั้งหลายนั้นแคบเกินไปเสียแล้ว ที่สุดพรจึงตัดสินใจเข้ามาวัดดวงความยิ่งใหญ่ในเมืองกรุงหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง

คนที่รู้จักพรดีบอกว่า "พรทะเยอทะยานมานานแล้วที่จะเป็นพ่อค้าระดับโลก"!?

การย้ายฐานเข้ามาในกรุงเทพฯ แทนที่พรจะปักหลักหากินกับธุรกิจเดิม เขากลับปรับทิศไปตามความต้องการของสังคม ซึ่งระยะนั้นการขายผ้าเป็นกิจการที่ทำรายได้ดีมาก พระจึงร่วมกับคนในตระกูล "แต้ไพสิฎพงศ์" ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกันมาจากสระบุรีตั้งร้านฮ่งเฮี้ยะเซ้ง เพื่อเป็นเอเยนต์ค้าผ้าในระยะไล่เลี่ยกับที่สุกรี โพธิรัตนังกูร "เจ้าพ่อสิ่งทอ" ตั้งร้านกิมย่งง้วน

ทั้งพรและสุกรีจับเส้นสายนายทหารถูก จึงทำให้กิจการค้าไปได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะพรในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เขาสามารถเข้านอกออกในกลุ่มซอยราชครูของจอมพลผิน ชุณหะวัณ พล.อ.เผ่า ศรียานนท์ และ พล.ต. ประมาณ อดิเรกสาร ได้อย่างสบายๆ และพรก็ไม่รอช้าที่จะแฝงบารมีกลุ่มอำนาจกลุ่มนี้ให้ช่วยสนับสนุนเขาตั้งโรงงานทอผ้าลักกี้เท็กซ์ขึ้นมาในราวปี 2530

พรตัดสินใจได้รวดเร็วมาก เพราะหากเขายึดเวลาออกไปหนทางอาจไม่สะดวกอย่างที่คิดไว้ก็เป็นได้ เนื่องจากหลังปี 2500 กลุ่มซอยราชครูที่เขาสนิทสนมอยู่ด้วยนั้นได้หมดอำนาจวาสนาลง พร้อมๆ กับที่กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ก้าวขึ้นครองอำนาจทดแทน

ในการตั้งโรงงานลักกี้เท็กซ์พรได้เลือกเอาสมาน โอภาสวงศ์ แห่งบริษัทฮ่วยชวนค้าข้าว ซึ่งเป็นผู้ส่งส่งออกข้าวรายใหญ่ในขณะนั้น และเป็นคนที่กว้างขวางในกลุ่มอำนาจต่างๆ เข้าร่วมหุ้นด้วย นอกจากจะเป็นการกระจายความเสี่ยงแล้ว บารมีของสมานช่วงนั้นยังเกื้อหนุนช่วยเหลือพรในการติดต่อค้าขายกับส่วนงานต่างๆ ให้หายใจได้คล่องคอยิ่งขึ้น

……………………

"เลี่ยวไพรัตน์" เป็นปึกแผ่นมากขึ้นเมื่อพรตัดสินใจตั้งบริษัทค้าข้าวธนาพรชัย ด้วยความได้เปรียบที่มีโรงสีไฟปากเพรียว สระบุรี เป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่จึงไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงอะไรเลย ที่ธนาพรชัยจะกระโจนขึ้นติดอันดับ 1 ใน 5 ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อย่างรวดเร็ว

"เลี่ยวไพรัตน์" ในยุคของพร ตามเก็บดอกผลอยางมหาศาลได้อีกเมื่อเขาตั้งโรงงานทอกระสอบสหธัญพืชขึ้นมาเป็น "เสือนอนกิน" เพราะเพียงแค่รับออร์เดอร์ผลิตกระสอบบรรจุข้าวให้กับผู้ส่งออกและโรงสีทั่วประเทศก็ลอยตัวได้แล้ว พรยังใช้โรงสี-โรงทอกระสอบเป็นฐานรับซื้อพืชไร่ชนิดอื่นเพื่อส่งออกอีกด้วย

ในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งทศวรรษกลุ่มเลี่ยวไพรัตน์ เศรษฐีภูธรก็ผันตัวเองเป็นนายทุนระดับชาติที่น่าครั่นคร้ามยิ่งนัก!?

การขยายตัวของเลี่ยวไพรัตน์ในรุ่นที่ 1 นั้น ระยะแรกมุ่งอยู่กับภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก กระทั่ง มาลินี เลี่ยวไพรัตน์ ลูกสาวคนโตของพรเรียนจบ

ระยกปี 2516 เป็นต้นมานับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่งของกลุ่มเลี่ยวไพรัตน์ เนื่องจากในห้วงเวลานั้นกลุ่มนี้ได้แตกตัวขยายธุรกิจออกไปจากภาคเกษตรกรรมที่เคยทำมา ที่สำคัญก็คือ การไปร่วมทุนกับตระกูลแต้ไพสิฎพงศ์ตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์เบทาโกร-เซนทาโกร ซึ่งถ้าเลี่ยวไพรัตน์ไม่แยกตัวออกมาเสียก่อนตามโครงการที่สมบูรณ์แบบของเลี่ยวไพรัตน์ แต้ไพสิฎพงศ์จะพัฒนาตัวเองให้เป็นกลุ่มปศุสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ ไม่แพ้กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์

ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ลูกชายคนโตของพร ได้เคยบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า หากคุณย่าของเขาไม่ขอร้องให้เลิกทำกิจการอาหารสัตว์แล้ว รับรองได้ว่า เลี่ยวไพรัตน์เอาแน่ที่จะวัดดวงกับกลุ่มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ทั้งหลาย ด้วยเชื่อว่าฐานกำลังเงินของเขากับแต้ไพสิฎพงศ์นั้นมีมากพอที่จะสู้คู่แข่งได้อย่งสบายๆ

……………………….

ดร.ประมวล เลี่ยวไพรัตน์ ลูกชายคนที่สามของพร เขาเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยความรู้ด้านวิศวเคมีที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในปี 2521 ทันทีที่เขากลับมาและพบว่า หุ้นส่วนที่เลี่ยวไพรัตน์เคยถืออยู่ในเบทาโกร-เซนทาโกรได้ขายออกไปแล้วนั้น เขาจึงเสนอความคิดที่จะดำเนินธุรกิจปิโตรเคมี-อุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งเป็น "ของใหม่" ในเมืองไทยกับพี่น้อง

ปิโตรเคมีนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมพลาสติก ที่ประมวลมองว่าจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์มากขึ้นในอนาคต เดิมทีโครงการนี้เคยมีคนศึกษามาแล้ว 2 ราย โดยรายหลังสุดก็คือ ปูนซิเมนต์ไทย แต่พบว่าไม่มีทางเป็นไปได้จึงเลิกรา ทว่าด้วยความเชื่อมั่นในวิชาความรู้กอปรกับตรวจสอบก๊าซธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตมีมากพอที่จะทำได้ ดังนั้นพี่น้องเลี่ยวไพรัตน์อันประกอบไปด้วย ประชัย - ประทีป - ประมวล จึงตัดวนใจตั้งบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมิคัลไทย (ทีพีไอ.) ขึ้นมาในปี 2521 นั้นเอง นับเป็นการเปิดศักราชรุ่นที่ 2 ของเลี่ยวไพรัตน์ที่กระโดดเข้าสู่การลงทุนภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว

รุ่นที่ 2 ของเลี่ยวไพรัตน์เปิดตัวด้วยความแข็งแกร่งทางการเงิน แต่ในสายตาคนทั่วไปมองเห็นถึง "ความเปราะบาง" ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ของโครงการปิโตรเคมี!?

การขยายฐานธุรกิจของเลี่ยวไพรัตน์ในรุ่นที่ 2 นี้จะพบว่ายุทธศาสตร์ที่พวกเขาเลือกใช้นั้น ค่อนข้าง "เสี่ยง" เอามากๆ ซึ่งหลายคนที่รู้จักตระกูลนี้ดีบอกว่า "มันเป็นจิตสำนึก เป็นวิญญาณของลูกชายพรไปเสียแล้ว โดยเฉพาะกับประชัย ลูกชายคนโต"

ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ - ปริญญาโท วิศวกรรมไฟฟ้า จากเบอร์กเลย์คนนี้ เขากลับมาเป็นแม่ทัพเอกของเลี่ยวไพรัตน์ทันทีที่เรียนจบ แม้จะเรียนมาด้านวิศวกรรม แต่ประชัยก็แหลมคมในเรื่องการตลาดไม่แพ้กัน ระยะที่ธนาพรชัยรุ่งโรจน์ที่สุดในปี 2520 ก็เป็นปีที่ประชัยเข้ามาคุมกิจการแทนพ่ออย่างเต็มตัวแล้ว

ประชัยกับธนาพรชัยสร้างความตะลึงให้กับวงการค้าข้าวอย่างมาก เมื่อเข้าประมูลขายข้าวล็อตใหญ่ๆ ได้ติดต่อกันหลายปี บางปีกลุ่มนี้สามารถส่งข้าวออกไปขายได้ถึง 500,000 ตัน โดยเฉพาะการเสี่ยงขายข้าวให้กับตะวันออกกลางและอเมริกา ก็เป็นประชัยที่เป็นคนต้นคิด ซึ่งสองตลาดนี้ยังไม่มีพ่อค้าข้าวรายไหนจะแหย่ธนาพรชัยได้เลย

ความกล้าที่จะเสี่ยงของหัวขบวนรุ่นที่ 2 อย่างประชัยมีอีกก็ในเรื่องการสต็อกข้าว ซึ่งวิธีการนี้สุ่มเสี่ยงอยู่ไม่น้อย เนื่องจากราคาข้าวผันผวนขึ้นลงไม่แน่นอน แต่ปรากฏว่าในปี 2530 ธนาพรชัยทำกำไรจากการสต็อกข้าว 200,000 ตันได้หลายร้อยล้าน เพราะตอนซื้อ ซื้อมาแค่ตันละ 5,000 บาท ทว่าช่วงขายออกไปกลับขายได้สูงถึงตันละ 6,000 บาท

แต่ปี 2531 ที่ราคาขาวยังไม่สูงมากนัก และเป็นปีที่ธนาพรชัยสต็อกข้าวไว้อย่างมากมาย จะเป็นการพิสูจน์ว่า "สิ่งที่ประชัยคาดคิดเอาไว้นั้นจะทำให้เขาเจ็บตัวหรือยิ้มระรื่น"!?

"ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า พวกเรากะเก็งอะไรไม่เคยผิดพลาด" ประชัยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

สำหรับโครงการปิโตรเคมีผลิตเม็ดพลาสติกของเลี่ยวไพรัตน์ในนาม ทีพีไอ. เมื่อตกลงว่าเอาแน่จึงยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอในปีนั้นเอง โดยจะเริ่มผลิตเม็ดพลาสติกชนิด LDPE ได้ในปี 2526 ซึ่งเม็ดพลาสติกชนิดนี้เดิมทีไทยต้องนำเข้าจากญี่ปุ่นเสียเป็นส่วนใหญ่

โครงการของทีพีไอ.สะดุดขวากหนามเป็นระยะนับจาก หนึ่ง - แบงก์ปฏิเสธเงินกู้ต้องร่อนจม.ขอสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจาก UDHE และการเงินจาก KREDITANSTALTFUR WIEDERAUFBAW แห่งเยอรมนี สอง - ได้รับการคัดค้านจากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมว่า โรงงานของ ทีพีไอ.ที่ จ.ระยองจะเป็นตัวทำให้เกิดปัญหามลพิษ และ สาม - ถูกขัดขวางจากลุ่มผู้นำเข้าเม็ดพลาสติกที่จะต้องสูญเสียผลประโยชน์ไป หากโครงการของ ทีพีไอ.ปรากฏผลเป็นจริง

ปี 2525 ทีพีไอ. เริ่มเดินเครื่องผลิตเม็ดพลาสติกชนิด LDPE แล้วมาปี 2527 ได้ขยายโรงงานการผลิตเม็ดพลาสติกชนิด LDPE/HDPE ปีละ 60,000 ตันเพิ่มขึ้นอีก ปี 2529 โครงการทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ และทีพีไอ.ยังกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งในบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นแกนหลักของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อเนื่องอีกด้วย

การกล้าเสี่ยงของทีพีไอ.สำเร็จผลค่อนข้างจะงดงามในก้าวเดินขั้นที่ 1 ถึงแม้จะมีกลุ่ม อุตสาหกรรมอื่นกระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ในระยะต่อมาของโครงการปิโตรเคมีแห่งชาติระยะที่ 1 (NPC 1) แต่กลุ่มเหล่านั้นจะพูดได้เต็มปากหรือว่า "เขาเป็นผู้บุกเบิก" ว่าไปแล้วมีเพียง ทีพีไอ. ที่สามารถอ้าปากพูดถึงศักดิ์ศรีดังกล่าวนี้เพียงรายเดียวเท่านั้นจริงๆ

การที่ ทีพีไอ.เป็นผู้ผลิตรายเดียวในระยะ 4-5 ปีก่อนหน้านี้ ทำให้กลุ่มนี้ถูกมองอย่างมากว่า เป็นผู้สร้างบาดแผลให้กับผู้ใช้เม็ดพลาสติกอย่างมาก เนื่องจากราคาเม็ดพลาสติกได้เขยิบขึ้นอยู่บ่อยๆ และมีบางครั้งที่ยี่ปั๊วหลายรายโวยวายจ่ายเงินล่วงหน้าให้ ทีพีไอ.แล้วแต่ไม่ได้รับของ เป็นเพราะเหตุผลนี้เองที่ทำให้ทีพีไอ.ถูกเบรกอย่างมาก เมื่อขอรับการส่งเสริมผลิตเม็ดพลาสติกชนิดต่างๆ ในโครงการ NPC 2

ไม่มีใครใคร่ไว้เนื้อเชื่อใจ ทีพีไอ. มากนักว่าจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นมาอีก แต่แล้วด้วยสายสัมพันธ์ที่แข็งโป๊กกับหน่วยราชการทุกหน่วย ที่สุดโครงการ NPC 2 ก็เป็นโครงการที่ ทีพีไอ. ได้รับสิทธิ์ส่งเสริมอย่างมากมายหลายโครงการ ทำให้มองเห็นกันเลาๆ ได้แล้วว่า อนาคตของเศรษฐกิจไทยได้เลื่อนไหลไปอยู่ในอุ้งมือของเลี่ยวไพรัตน์ไม่น้อยเลย !!??

อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่น่าชมเชยอย่างมากของคนรุ่นที่ 2 เลี่ยวไพรัตน์ ก็คือความหาญกล้าที่จะท้าทายการปฏิวัติอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ไม่มีใครคิดลองดีมาก่อน ทั้งๆ ที่โลกของอุตสาหกรรมพลาสติกอันเป็นผลต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้นนับว่าจะทวีความสำคัญมากขึ้นๆ

เครดิตที่ทำให้ทีพีไอ.ทำได้ เห็นจะเป็นเพราะความเป็น "มืออาชีพ" ที่รู้จริงและรู้ลึกของคนในตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ ซึ่งเครดิตนี้เห็นทีจะต้องยกให้กับ พร เลี่ยวไพรัตน์ อีกครั้งว่าเป็นเพราะเขาวางพื้นฐานการศึกษาของลูกๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคตได้อย่างดีไม่มีที่ติ

พร มีลูกชาย-ลูกสาว ที่จะเข้ามาสานต่อความยิ่งใหญ่ของเลี่ยวไพรัตน์ 6 คนคือ มาลินี เลี่ยวไพรัตน์ - นายกสมาคมประกันวินาศภัยผู้หญิงคนแรกของเมืองไทย มาลินีจบปริญญาตรีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ แล้วได้รับทุนไปเรียนต่อด้านประกันภัยที่มหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยที่เธอจบมานั้น มีคนไทยจบมาไม่กี่คน มาลีนี้ดูแลงานด้านไฟแนนซ์อยู่ที่บางกอกสหประกันภัยและคาเธ่ย์ไฟแนนซ์ ปี 2529 เธอทำกำไรให้กับบางกอกฯ ถึง 70 ล้าน

ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ - มือขวาคู่บุญของพร เรียนปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เพียงปีเดียวแล้วได้รับทุนโคลัมโบไปเรียนต่อที่สาขาเดิมที่นิวซีแลนด์ จากนั้นจึงเรียนต่อจนจบปริญญาโทวิศวกรรมไฟฟ้า ที่มหาวิทยาลัยเบอร์กเลย์ ประชัยเคี่ยวกรำงานอย่างหนักในธนาพรชัยเพื่อรับภาระเป็นเสาหลักของตระกูล ปัจจุบันนี้เขาเป็นเสนาธิการของเลี่ยวไพรัตน์ที่จะทำธุรกิจทุกประเภท

ประทีป เลี่ยวไพรัตน์ - จบปริญญาตรี วิศวกรรม จุฬาฯ แล้วไปจบโทวิศวกรรม สาขา INDUSTRIAL ENGINEERING ที่สแตนฟอร์ด ก่อนเข้ามารับผิดชอบในโรงงานอาหารสัตว์เบทาโกร-เซนทาโกร ปัจจุบันนี้เขาเป็นผู้ดูแลด้านการตลาดเม็ดพลาสติกของ ทีพีไอ.

ดร.ประมวล เลี่ยวไพรัตน์ - จบปริญญาตรีที่เบอร์กเลย์ แล้วสนใจเรียนด้านปิโตรเคมีที่เอ็มไอทีจนจบปริญญาเอก เขาเป็นกำลังหลักในเรื่องความคิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของเลี่ยวไพรัตน์เป็นคนเดียวที่เลี่ยวไพรัตน์กล้าพิสูจน์ว่า "รู้ดีที่สุดในเรื่องปิโตรเคมีของเมืองไทย"

ประหยัด เลี่ยวไพรัตน์ - จบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แล้วไปจบปริญญาโทที่มิชิแกน ปัจจุบันรับผิดชอบคุมโรงงานทอกระสอบสหธัญพืช

ดวงมณี เลี่ยวไพรัตน์ - จบปริญญาตรี บริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วแต่งงานกับนักธุรกิจชาวมาเลเซีย ซึ่งมีโรงงานผลิตแป้งสาลีขนาดใหญ่ในกัวลาลัมเปอร์

พร เลี่ยวไพรัตน์ เขาอาจมีพื้นฐานมาจากธุรกิจภาคเกษตรกรรม แต่จะเห็นได้ว่าพรกลับไม่ได้ปูพื้นการศึกษาด้านเกษตรกรรมให้กับลูกๆ เลย เขาส่งเสริมให้ลูกๆ เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์-วิศวกรรมศาสตร์เสียมากกว่า อาจเป็นเพราะว่า พรมองการณ์ไกลว่า อนาคตประเทศไทยจะเบี่ยงเบนสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่มากยิ่งขึ้น

สิ่งที่พรคิดและเป็นเรื่องที่ลูกๆ ของเขาชอบอยู่ด้วยกำลังจะเป็นจริงในไม่ช้า ประเทศไทยกับความหวังใหม่ของการเป็น "นิคส์" นั้นอยู่ไม่ไกลเกินฝัน!!!!

การบริหารธุรกิจครอบครัวของ "เลี่ยวไพรัตน์" นั้นแม้ว่าลูกๆ ของพรทุกคนจะเป็นคนสมัยใหม่ แต่จะเห็นได้ว่าพวกเขาไม่ได้นำเอาระบบบริหารด้วยมืออาชีพเข้ามาใช้มากนัก ทั้งนี้เพราะว่าพวกลูกๆ ทุกคนมีความสามารถเพียงพอที่จะเป็นมืออาชีพเสียเอง มีคนพูดกันมากว่าโครงสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศไทย ที่เสียดุลมาช้านานแล้วนั้นอาจได้รับการยกระดับขึ้นมาก็ด้วยฝีมือของคนในตระกูลเลี่ยวไพรัตน์!!!!

ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เขาเอ่ยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "พวกน้องๆ ของผมเขาบรรลุความตั้งใจในสิ่งที่เขาเรียนกันมาแล้ว ประมวลก็ทำให้ ทีพีไอ.กับปิโตรเคมีเป็นจริง สำหรับผมเองนั้นยังไม่ได้ทำในสิ่งที่ผมชื่นชอบเลย นั่นก็คือ ผมสนใจงานด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างมาก"

เขาตอกย้ำกับ "ผู้จัดการ" อีกครั้งว่า ทิศทางเดินต่อไปของเลี่ยวไพรัตน์ในรุ่นที่ 2 นั้นจะให้ความสนใจงานด้านอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล้กทรอนิกส์ที่จะต้องเข้ามามีส่วนสำคัญต่อชีวิตคนเราอย่างมากในอนาคตนั้น ณ เวลานี้เขากับเลี่ยวไพรัตน์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ….

ก็ถ้าดูพื้นฐานความรู้ของประชัยกับน้องๆ ของเขาแล้ว เรื่องที่เลี่ยวไพรัตน์จะเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยก็สำเร็จไปแล้วหลายส่วน ซึ่งถ้าจะให้ถึงที่สุดแล้ว เครดิตความเป็นนักเรียนทุนวิศวกรรมของคนในตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ทั้งหลายน่าจะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพลิกผันพัฒนาเทคโนโลยีทีเป็นของไทยๆ เราขึ้นมาเอง

น่าเชื่อว่า คนรุ่นที่ 2 เลี่ยวไพรัตน์ก็ปรารถนาจะให้เป็นอย่างนี้เช่นกัน!!!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us